เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ตามพ่อไป...วัดWorakhun Boon
วัดชมภูเวก
  • สวัสดีครับ
    ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพวาดพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งมักจะวาดอยู่บนผนังฝั่งตรงข้ามกับพระประธานในโบสถ์ เพราะพระแม่ธรณีปรากฏกายเพื่อบีบน้ำจากมวยผมให้ท่วมพญามารที่รังควาญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้
    ลักษณะของพระแม่ธรณี ตามที่ปรากฏ โดยมากมักจะเป็นรูปเทวดาผู้หญิง มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน หรือในบางแห่งจะมีรูปร่างอ้อนแอ้น มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือมวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผมแสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผมนั้น ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์มีกรอบหน้าและจอนหู เป็นต้น
    พระแม่ธรณีเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น การประปานครหลวง และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

    จิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ณ อุโบสถ วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี ที่กล่าวกันว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีที่งดงามที่สุด ได้รับการยอมรับว่ามีชิวิตชีวา มีแขนดังลำเทียน งอเหมือนอย่างแขนนางรำ แต่มีความแข็งแรง อวบอิ่มไปทั้งเรือนร่าง นิ้วมือเรียวงาม นิ้วกลางและนิ้วนางข้างขวาที่ขดเป็นดังก้นหอย ซึ่งเป็นจิตรกรรมแบบสกุลช่างนนทบุรี
    วัดชมภูเวกตั้งอยู่ในตำบลท่าทราย บริเวณเขตเชื่อมต่อระหว่างอำเภอเมืองฯ กับ อำเภอปากเกร็ด วัดนี้สร้างขึ้นโดยชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ แต่เดิม เงียบสงบมาก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "วัดชมภูวิเวก" ภายหลังเหลือเพียง "วัดชมภูเวก" เท่านั้น
    ภายในวัดมีศาสนสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์แบบมอญ เรียกว่า "พระมุเตา" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยพระสงฆ์จากเมืองมอญ สันนิษฐานว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

    พระอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นลักษณะทรงไทยใต้ถุนสูง ๒ ชั้น หลังคาลด ๓ ชั้น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ซุ้มหน้าต่าง และประตูประดับด้วยกระจก ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าและพระวิหาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องพุทธประวัติและทศชาติ 
    ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวกเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลายช่วงแรก ราวๆ สมัยพระนารายณ์ ซึ่งสมัยพระนารายณ์นั้นมีอิทธิพลศิลปะฝรั่งเข้ามามาก โดยดูจากงานปูนปั้นสมัยนั้นจะมีการผสมผสานอิทธิพลของฝรั่งเข้าไป แต่ภาพเขียนนั้นยังนิยมเขียนเลียนตามลัทธิโบราณแบบภาพไทยไว้ โดย น. ณ ปากน้ำได้กล่าวไว้ในหนังสือ "วิวัฒนาการลายไทย" ว่า "แสดงว่าสมัยที่อิทธิพลศิลปะฝรั่งเข้ามานั้น ศิลปะไทยเดิมของเรายังคงนิยมอยู่ เป็นแต่เพียงว่าเดินทางเป็นเส้นขนานกันเท่านั้น"

    แล้วเจอกันใหม่ครับ
    ก๊อบกับแก๊บ

    ภาพงามแท้ แม่ธรณี บีบมวยผม
    มีให้ชม บนผนัง ดั่งเมขลา
    อุโบสถ งดงาม ตามวัดวา
    ฟังเนื่องมา คราเรื่องราว คราวปราบมาร

    ภาพวาดมี ที่วัด ชมภูเวก
    งามดั่งเฉก เสกมนต์ขลัง ทั้งอ่อนหวาน
    ประดุจดัง ดั่งหยดย้อย สร้อยสังวาล 
    จินตนาการ ปานเปรียบ เทพธิดา

    แขนขวาซ้าย ผายแข็งแรง แฝงอ่อนช้อย 
    นิ้วน้อยน้อย คล้อยขดกัน พลันหวนหา
    ศิลปิน ว่ามี เช่นชีวา
    ไม่อาจหา ที่ใด ให้เทียมทัน

    สันนิษฐาน งานสร้าง ครั้งเมืองมอญ
    สร้างขึ้นตอน อยุธยา คราก่อนนั้น
    มีเจดีย์ มุเตา เข้าเคียงกัน
    เชิญชวนกัน ไปเยี่ยมชม สมอุรา
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in