สวัสดีครับ
คุณพ่อพาไปเที่ยวอำเภอพานที่เป็นบ้านเกิดของคุณย่า แล้วก็ไปเที่ยวในตัวเมืองเชียงราย สมัยก่อนผู้คนที่ไปเที่ยวเชียงรายมักจะไปเที่ยววัดร่องขุ่นกัน (ปัจจุบันวัดร่องขุ่นปิดซ่อมแซมเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เชียงราย) แต่กลับมักจะมองข้ามวัดสวย ๆ ในตัวเมืองเชียงรายไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว หรือวัดพระสิงห์ โดยเฉพาะวัดพระแก้วนั้นเป็นวัดที่เคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน จากตำนานรัตนพิมพ์วงศ์ กล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ เทวดาได้สร้างพระแก้วมรกต ถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฎลีบุตร (ปัจจุบันเรียก เมืองปัตนะ) ประเทศอินเดีย ต่อมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองลังกา
ในสมัยพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ (พระเจ้าอนุรุทธะ) แห่งเมืองพุกามได้ส่งพระสมณทูตไปขอจากเจ้าเมืองลังกา ซึ่งถูกพวกทมิฬรุกราน จึงมอบพระแก้วมรกต และพระไตรปิฏกให้ แต่สำเภาที่บรรทุกพัดหลงไปเกยอยู่ที่อ่าวเมืองกัมพูชา พระแก้วมรกตจึงตกเป็นของกัมพูชา และต่อมาได้ถูกนำไปไว้ ที่เมืองอินทาปัฐ(นครวัด) กรุงศรีอยุธยา และกำแพงเพชร ตามลำดับ
เมื่อประมาณพ.ศ. ๑๙๓๓ พระเจ้ามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงราย ได้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชร และนำมาซ่อนไว้ที่เจดีย์วัดป่าเยียะ (ป่าไผ่ชนิดหนึ่ง) เมืองเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๗๗ ได้เกิดฟ้าผ่า องค์พระเจดีย์พังทลายลง และได้พบพระแก้วมรกตซ่อนไว้ในพระเจดีย์ วัดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "วัดพระแก้ว" หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
พระอุโบสถทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๕ พระประทานในอุโบสถ (พระเจ้าล้านทอง) เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปะปาละที่ใหญ่ และสวยงามที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีหอพระหยก เป็นอาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอาราม และมีโฮงหลวงแสงแก้ว อาคารทรงล้านนาประยุกต์ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย
ส่วนวัดพระสิงห์นั้น คำว่า พระสิงห์ นั้น หมายถึง วัดซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์ เป็นนามพระพุทธรูปอันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ตรงกับ พระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ทางภาคเหนือล้านนาไทย มิได้เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงห์ พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๗๐๐ ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา ๑๑๕๐ ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยพระพุทธรูปที่ทรงพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นมีอยู่ ๓ องค์ ๓ แห่ง คือ พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๑ ศิลปะลังกา ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ (องค์นี้ที่เคยประดิษฐานที่วัดพระสิงห์ เชียงราย) ปัจจุบันประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ, พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่, พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงห์องค์ที่ ๒ และองค์ที่ ๓ เป็นศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
พระอุโบสถวัดพระสิงห์ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๑๒๕๑-๑๒๕๒ รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง บานประตูหลวงทางเข้าพระอุโบสถทำด้วยไม้แกะสลักจิตรกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอกผู้มีผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลกนามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ แนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง ๔ ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ ๔ ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้ ช้างเป็นสัญลักษณ์ของดิน, นาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ, ครุฑเป็นสัญลักษณ์ของลม, สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของไฟ
แล้วเจอกันใหม่ครับ
ก๊อบกับแก๊บ
วัดเก่าแก่ แลมา น่านิยม
ไปเยี่ยมชม กราบไหว้ ใคร่ศึกษา
ตามประวัติ พระแก้ว แต่แล้วมา
เล่าไว้ว่า มาพักพิง อิงเชียงราย
อัญเชิญพา มาซ่อนไว้ ให้คลาดแคล้ว
วัดพระแก้ว ชื่อนี้ มีความหมาย
ศิลปะ เชียงแสน แดนเจียงฮาย
ทั้งหญิงชาย น่าไปชม งามสมจริง
วัดพระสิงห์ ยิ่งเด่น เป็นสง่า
ตั้งชื่อมา ตามพระพุท- ธสิหิงค์
ประตูโบสถ์ งดงาม ตามอ้างอิง
นับเป็นสิ่ง อาจารย์ถวัลย์ สร้างสรรค์มา
สลักร่าง ช้างนาค สิงโตครุฑ
เปรียบประดุจ ผุดให้คิด ปริศนา
คือธาตุสี่ มีดินไฟ ลมธารา
จิตรกรรม ล้ำค่า น่าชื่นชม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in