เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
watch like proletPBwrite
Hospital Playlist : ปลูกถ่ายตับกับคุณหมออีอิกจุน
  •         Hospital Playlist ซี่รี่ย์เกาหลียอดนิยมจาก Netflix ที่แทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ตัวเรื่องเล่าถึงกลุ่มเพื่อนหมอผ่าตัดห้าคนที่เรียนจบและทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน ทั้งห้าคนมีบุคลิกและนิสัยที่แตกต่างกันชัดเจนแต่พออยู่ด้วยกันก็มักจะแสดงความตลก ความสนุกสนานในกลุ่มเพื่อนออกมาได้อย่างครบรส หนึ่งในนั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ แพทย์ศัลยกรรมทั่วไปที่มีความถนัดในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเป็นพิเศษอย่างอีอิกจุนแสดงโดยโจจองซอกหนึ่งในพระเอกสายฮาที่แฟนๆซีรี่เกาหลีต้องรู้จักเป็นอย่างดี


          อีอิกจุนถึงแม้จะเปิดตัวในเรื่องได้อย่างมีสีสรรค์ของความตลกด้วยการใส่หน้ากาก Dark Vader จากเรื่อง Star wars เข้าผ่าตัด แต่แท้จริงเขาคือมือฉมังในการผ่าตัดปลูถ่ายตับ โดยในเรื่องอิกจุนถือว่าเป็นแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายตับที่มีความสามารถและอยู่ในอันดับต้นๆ การปลูกถ่ายที่เขามักจะทำในเรื่องก็คือการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือ Living Donor Liver Transplant ซึ่งยังถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงโดยทั่วไปแต่ทีมเขียนบทก็เลือกที่จะนำเสนอเข้ามาในซีรี่ย์ชุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำให้ตัวซี่รี่มีความน่าสนใจอย่างมาก




                                              ( credit : shorturl.at/c3689 )

            หลังจากได้ดูใน season 1 แล้วหลายคนคงมีความสงสัยกันถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและมีความสำคัญในระบบย่อยอาหารรวมทั้งระบบการเผาผลาญ การบริจาคตับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เนื่องจากผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องใช้อวัยวะนั้นๆแล้ว แต่ในผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะศึกษาเนื่องจากมนุษย์แต่ละคนย่อมมีตับแค่คนละหนึ่งอัน การจะบริจาคนั้นไม่เหมือนกับไตที่ว่าขาดไปหนึ่งก็ใช้ที่เหลือ แล้วตับล่ะถ้าขาดไปผู้บริจาคที่มีชีวิตจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

            การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตเริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1989 โดยเริ่มจากการผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้กับเด็ก ซึ่งในซีรี่ชุดนี้ก็จะเห็นได้ว่านำเคสปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยเด็กเข้ามานำเสนอด้วย การปลูกถ่ายตับโดยผู้บริจาคที่มีชีวิตถูกนำมาช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคตับรุนแรงที่รอคอยการบริจาคได้อย่างมาก เนื่องจากอวัยวะที่ถูกบริจาคมีไม่พอกับจำนวนผู้ที่ต้องการ การรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตายก็ยังถือว่าป็นการรอคอยที่ยาวนานสำหรับผู้รับบริจาคและครอบครัว การได้รับบริจาคจากผู้บริจาคที่มีชีวิตจึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะบริจาคได้มาก 

           การบริจาคตับทั้งผู้บริจาคและผู้รับต้องผ่านการคัดกรองอย่างถี่ถ้วน สภาพร่างกายต้องพร้อม กรุ๊ปเลือดต้องตรงกัน และผู้ที่รับบริจาคทางทีมแพทย์ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตต่อไปหลังได้รับตับใหม่แล้ว จึงมีการใช้ Model for End-stage Liver Disease หรือ MELD เป็นตัววัดว่าผู้ป่วยรายใดมีความเร่งด่วนควรได้รับการปลูกถ่ายก่อน แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่อาการแย่ที่สุดจะได้ผ่าตัดเป็นรายแรก แต่จะเลือกผู้ป่วยที่มีคะแนน MELD อยู่ที่ประมาณ 15-30 คะแนน ซึ่งในคะแนนช่วงนี้ผู้ที่ได้รับบริจาคจะมีอัตราการรอดชีวิตหลังได้รับอวัยวะสูง 



    (อีพี 9 มีการพูดถึงคะแนน MELD กับคุณพ่อที่ต้องการบริจาคตับลูกสาว credit : shorturl.at/buyBM )

           ตับเป็นอวัยวะที่พิเศษกว่าอวัยวะอื่น มันสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ( Liver Regeneration ) หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือเติมให้เต็ม มันไม่สามารถงอกออกมาจากความว่างเปล่าเหมือนหางจิ้งจกที่ถูกสลัดทิ้งแล้วงอกขึ้นมาใหม่แต่มันสามารถงอกเพิ่มขึ้นจากตับบางส่วนที่เหลือจากการผ่าตัดเอาส่วนหนึ่งออกไปได้ กระบวนการนี้ต้องขอบคุณพระเอกของงานคือ HGF ( Hepatocyte Growth Factor ) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ตามตับ ไต ปอดฯลฯ โดย HGF จะมีหน้าที่สำคัญของมันคือการช่วยในแบ่งเซลล์ในอวัยวะที่มีการบาดเจ็บ การแบ่งเซลล์มีความสำคัญตั้งแต่เราเป็นทารกโดยช่วยในการสร้างอวัยวะต่างๆ เมื่อเราอยู่ในวัยผู้ใหญ่การแบ่งเซลล์ก็ช่วยในการซ่อมแซมอวัยวะที่บาดเจ็บ หรือขยายพื้นที่ในร่างกายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

           การผ่าตัดตับเพื่อการปลูกถ่ายก็ถือว่าเป็นการสร้างอาการบาดเจ็บให้ตับของผู้บริจาคเช่นกัน เมื่อร่างกายรับรู้ว่ามีการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่ตับจึงเกิดการหลั่ง HGF ขึ้น HGF ที่มากขึ้นจะกระตุ้นให้เซลล์ตับที่เหลืออยู่ของผู้บริจาคเกิดการแบ่งจำนวน เมื่อมีการแบ่งจำนวนเซลล์ก็ทำให้ขนาดของตับกลับมาเท่าขนาดปกติได้

           การปลูกถ่ายตับจะเริ่มจากการผ่าตัด Hepatectomy คือการผ่าตัดเอาตับจากผู้บริจาคบางส่วนออกมา ซึ่งตับนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ซ้ายและขวา โดยทั้งสองส่วนใหญ่นี้จะถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วนย่อยเรียกว่ Couinaud Segment โดยแพทย์จะเป็นคนพิจารณาว่าผู้ป่วยจะต้องการตับส่วนไหนและในปริมาณเท่าใดร่างกายของผู้ป่วยถึงจะสามารถทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งส่วนมากจะทำการผ่าตัดนำตับจากผู้บริจาคมาประมาณ 0.8 % ของน้ำหนักผู้รับ ปริมาณนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการตับวาย ( Liver Failure )ในผู้รับหลังการผ่าตัด หลังจากทำการนำตับบางส่วนจากผู้บริจาคมา ก็จะนำตับเก่าของผู้ป่วยออกและนำตับใหม่ใส่เข้าไป ซึ่งหลังจากการเชื่อมหลอดเลือดต่างๆเรียบร้อยตับใหม่ที่ใส่เข้าไปในผู้ป่วยควรจะทำงาน เช่น สร้างน้ำย่อย หรือเผาผลาญพลังงานได้ทันที จากการศึกษาพบว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ 85% ของเนื้อตับจะถูกซ่อมแซมกลับมาและการงอกของตับจะดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือนจนขนาดใกล้เคียงกับขนาดปกติ

    ( การแบ่งส่วนตับแบบ Couinaud Segment credit : https://bit.ly/3ib7rUk)

          จากที่เล่ามาข้างต้นใครที่ได้ดูเรื่อง Hospital Playlist คงจะเข้าใจหน้าที่การทำงานของคุณหมออีอิกจุนมากขึ้นแล้ว ตอนนี้ซี่รี่ก็ได้คลอด season 2 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย อย่าลืมไปให้ความรักและเชียร์คุณหมอทั้งห้าคนใน Netflix กันด้วยนะคะ แล้วถ้ามีหนังหรือซีรี่เรื่องไหนมีเรื่องน่าสนใจให้มาพูดคุย ผู้เขียนก็จะกลับมาเมาท์มอยกันใหม่ใน watch like a pro นะคะ ฝากติดตามด้วยค่ะ 

    Source :


    Michalopoulos, G., 2009. Liver regeneration. [online] Available at: <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2701258/> [Accessed 30 July 2021].


    Delgado-Coello, B., 2017. Why Is the Liver So Amazing?. [online] Frontiers for Young Minds. Available at: <https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2017.00038> [Accessed 30 July 2021].


    Nakamura, T., & Mizuno, S. (2010). The discovery of Hepatocyte Growth Factor (HGF) and its significance for cell biology, life science and clinical medicine. Retrieved 30 July 2021, from https://www.jstage.jst.go.jp/article/pjab/86/6/86_6_588/_pdf


    Roayaie, K., & Feng, S. (2021). Transplant Surgery - Liver Transplant. Retrieved 30 July 2021, from https://transplantsurgery.ucsf.edu/conditions--procedures/liver-transplant.aspx


    Nadalin, S., Bockhorn, M., Malagó, M., Valentin‐Gamazo, C., Frilling, A., & Broelsch, C. (2006). Living donor liver transplantation. Retrieved 30 July 2021, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2131378/


    Brown, R. (2008). Live Donors in Liver Transplantation. Gastroenterology, 134(6), 1802-1813. doi: 10.1053/j.gastro.2008.02.092





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in