เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Urban in Love Projecturbaninlove ♡
แนวคิดลักษณะผังเมือง : กระจุกใจกลาง ทอดทิ้งชุมชนแออัด
  •            เป็นที่แน่นอนว่า ‘เมือง’ ถือเป็นเป็นศูนย์กลาง เป็นแหล่งรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการให้บริการ ตอบสนองความต้องการให้กับประชาชนและชุมชน จึงดึงดูดให้เกิดการย้ายถิ่นและการอพยพของประชากรจากรอบนอกของเมืองเข้าหาบริเวณที่เป็นเมืองเพื่อความสะดวกสบายในชีวิต เมื่อมีผู้ย้ายเข้าไปอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น เมืองก็ต้องเติบโตและขยายตัวออกไปตามความต้องการของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการอยู่อาศัยหรือความต้องการทางเศรษฐกิจ แต่เมืองจะขยายตัวออกไปอย่างไรบ้างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบลักษณะผังเมืองของเมืองต่าง ๆ ว่าจะสามารถทำให้เมืองขยายไปในทิศทางใดได้บ้าง

              บทความนี้มุ่งแสดงให้เห็นว่า ลักษณะผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานครนั้นยังไม่มีระเบียบ ทำให้เมืองไม่สามารถขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ มีการพัฒนาเขตศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกันทำให้เขตอื่น ๆ โดยเฉพาะชุมชนแออัดถูกทอดทิ้ง ต่อไปนี้ผู้เขียนจะอธิบายตัวแบบลักษณะผังเมืองแบบต่าง ๆ รูปแบบการขยายตัวตามลักษณะผังเมืองนั้น แล้วจึงวิเคราะห์ลักษณะผังเมืองกรุงเทพฯ รวมถึงการขยายตัวของเมืองโดยเน้นไปที่บริบทของปัจจุบันเป็นหลัก


    ตัวแบบลักษณะผังเมืองต่าง ๆ

    1. ลักษณะผังเมืองรูปดาว (Star Theory)

              ผังเมืองลักษณะนี้อธิบายว่า การขยายตัวของเมืองเริ่มจากศูนย์กลางเมืองที่เป็นจุดรวมของเส้นทางคมนาคมสายหลักของเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนนหรือเส้นทางรถไฟ ดังนั้นการขยายตัวของเมืองในผังเมืองลักษณะนี้ จึงขยายออกไปตามเส้นทางคมนาคมสายหลักเหล่านั้น ผลที่ตามมาคือผู้คนย้ายเข้ามาอาศัยอย่างหนาแน่นขึ้นตามพื้นที่ใกล้กับเส้นทางคมนาคม และทำให้พื้นที่ใกล้เคียงเส้นทางคมนาคมนั้นเชื่อมต่อเป็นพื้นที่เดียวกัน


    2. ลักษณะผังเมืองแบบวงแหวน (Concentric Zone Theory)



              ดังที่เห็นในภาพ วงแหวนนั้นแบ่งวงแหวนข้างในออกเป็น 5 เขต แต่ละเขตถูกอธิบายไว้ดังนี้

         1) Central Business District เขคศูนย์กลางธุรกิจ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมากมายในเขตนี้เนื่องจากเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม และสำนักงานทางเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้คนเดินทางเข้ามาทำงาน ทำธุระ จับจ่ายใช้สอยในตอนกลางวันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อหมดธุระเหล่านี้แล้วก็เดินทางกลับที่อยู่อาศัยรอบนอก

         2) The zone in transition เขตศูนย์กลางการขนส่ง หรือเขตขายส่งและอุตสาหกรรมเบา มักเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเก่าและเขตที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ต่ำที่พักอาศัยเพื่อความสะดวกในการเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น และเป็นเขตที่เกิดปัญหาสังคมสูง

         3) The zone of warkingmens homes เขตที่อยู่อาศัยกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน ที่อยู่อาศัยไม่แออัดเท่าเขตก่อนหน้า

         4) The middle class zone เขตชนชั้นกลาง มีที่พักอาศัยแบบบ้านเดี่ยว ห้องชุด คอนโดมิเนียมสำหรับชนชั้นกลาง ผู้บริหารระดับกลาง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น

         5) The commutes zone เขตที่พักอาศัยชานเมือง ส่วนใหญ่มีชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงและชนชั้นสูงอาศัยอยู่ มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและใช้รถยนต์ส่วนตัวสำหรับเข้าเมือง


    3. ลักษณะผังเมืองเป็นสัดส่วนรูปพาย (Sector Theory)

             แบ่งออกเป็น 5 เขต ตามในภาพ ได้แก่ 

         1) ใจกลางเมือง

         2) เขตขายส่งและอุตสาหกรรมเบา

         3) เขตที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้ต่ำ

         4) เขตที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้ปานกลาง

         5) เขตที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้สูง


              การแบ่งเขตในตัวแบบนี้ยังคงคล้ายคลึงกับตัวแบบลักษณะวงกลม แตกต่างกันเพียงรูปแบบพื้นที่ ตัวแบบนี้มองว่าเมืองมีการขยายตัวออกไปเป็นเสี้ยววงกลมหรือรูปขนมพาย โดยมีลักษณะการขยายตัวตามเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมสู่ศูนย์กลางธุรกิจและที่อยู่อาศัยอื่น ๆ และขยายตัวตามที่อยู่อาศัยของที่อยู่อาศัยราคาสูง ซึ่งมักจะตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงเขตที่อยู่อาศัยเก่า  นอกจากนั้น เขตที่อยู่อาศัยราคาสูงจะมีที่ตั้งติดกับเขตที่อยู่ราคาปานกลาง


    4. ลักษณะผังเมืองหลายจุดศูนย์กลาง (Multiple Nuclei Theory)

              หนึ่งเมืองสามารถมีได้หลายจุดศูนย์กลาง ซึ่งจุดศูนย์กลางมักจะเกิดใกล้กับเขตที่พักอาศัยผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงรายได้สูง ที่เกิดจุดศูนย์กลางหลายแห่งเนื่องจากความสามารถในการจ่ายค่าเช่าที่ต่างกัน ทำให้กิจกรรมหลายอย่างเกิดการจับกลุ่มแยกกันในเขตต่าง ๆ และมีแนวโน้มจะรวมตัวกันในบริเวณนั้นเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยให้ลูกค้าเปรียบเทียบและเลือกซื้อระหว่างร้านที่ขายสินค้าหรือบริการเหมือนกันในเขตหนึ่ง ๆ และธุรกิจจะต้องตั้งในสถานที่ที่อำนวยความสะดวกให้การเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เช่น มีขนส่งสาธารณะวิ่งผ่าน ส่วนกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์จะถูกกันออกไปอยู่ชานเมือง ตัวแบบนี้แบ่งออกเป็น 9 เขตด้วยกัน ดังในภาพนี้

              มากไปกว่านั้นยังได้อธิบายการขยายตัวของเมืองเพิ่มเติมว่า บริเวณที่ดินซึ่งมีราคาสูงนั้นเป็นอุปสรรคสำหรับการทำธุรกิจบางประเภท เนื่องจากว่า หากเข้าไปในพื้นที่นั้นอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่สูง อาจได้ผลกำไรไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ จึงต้องหาทำเลที่ตั้งใหม่ ๆ เสมอ



    ลักษณะผังเมืองกรุงเทพฯ

    เส้นทางคมนาคมและการขยายตัวของเมือง

    สำหรับการคมนาคม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงเส้นทางคมนาคมที่สำคัญอย่างมากในเมืองกรุงเทพฯปัจจุบัน คือ รถไฟฟ้า BTS และ MRT รถไฟฟ้า 2 เจ้านี้มีเส้นทางการเดินรถที่ต่างกัน โดย BTS เน้นเดินทางเป็นทางตรง ขนส่งผู้คนจากเขตนอกเมืองกรุงเทพฯ จากสถานีปลายทางอย่างสถานีคูคตในจังหวัดปทุมธานี สถานีเคหะฯในจังหวัดสมุทรปราการ สถานีบางหว้าในฝั่งธนบุรี ให้สามารถเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯได้ เช่น สถานีสยาม สถานีอโศก ส่วน MRT (ในที่นี้หมายถึงสายสีน้ำเงินเป็นหลัก)นั้นเดินทางเป็นวงกลมรอบเมือง มีทั้งสถานีในสถานที่ที่สามารถท่องเที่ยวตามท้องถนนต่อได้ เช่น สถานีวัดมังกร ใกล้กับถนนเยาวราช และสถานีห้วยขวางที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารจีน เป็นต้น และสถานีที่ไม่มีสถานที่อันเตะตาหรือดึงดูดใจให้ท่องเที่ยว แต่เป็นถนนเขตที่อยู่อาศัยธรรมดาและเป็นถนน เช่น สถานีบางขุนนนท์ สถานีจรัญฯ 13 เป็นต้น MRT จึงเน้นเข้าถึงและขนส่งผู้คนรอบเมือง ทั้งเขตธุรกิจและเขตที่อยู่อาศัย แต่ยังไม่ถึงกับเขตนอกเมือง 


    แม้ว่า BTS และ MRT จะแตกต่างกันในเส้นทางการเดินรถ ไม่ทั่วถึงสถานที่ในกรุงเทพฯเท่าที่ควร และไม่ได้มีเส้นทางกระจายออกไปเป็นรูปดาว แต่การขยายตัวของเมืองไปตามเส้นทางคมนาคมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องทำให้เส้นทางเหล่านั้นกระจายออกเป็นรูปดาวอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรถไฟฟ้าทั้ง 2 เจ้าคือ การพัฒนาพื้นที่ สร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัยหรือคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ติดหรือใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้าเหล่านี้ เกิดเป็นเขตที่อยู่อาศัยย่อย ๆ สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและสูงที่สามารถเช่าหรือซื้อคอนโดมิเนียมได้ ตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ย้ายออกจากบ้านมาอาศัยคนเดียวเพื่อความสะดวกในการทำงาน การศึกษา และจุดประสงค์อื่น ๆ


    ดังที่ได้กล่าวไป การมีรถไฟฟ้าไม่กี่สายวิ่งตัดกลางเมืองและรอบเมืองยังคงไม่ทั่วถึงกรุงเทพฯเท่าที่ควร ซ้ำยังทำให้พื้นที่ที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านไม่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่าบริเวณที่มีสถานีรถไฟฟ้าเนื่องจากเดินทางลำบากกว่าอีกด้วย

       

    เขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ

    หากลองวิเคราะห์พื้นที่ในกรุงเทพฯตามตัวแบบ มีเพียง 2 เขตที่ไม่ได้ตรงตามตัวแบบที่ได้อธิบายไปข้างต้น ได้แก่ เขตศูนย์กลางการขนส่ง และเขตที่อยู่อาศัยกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน ที่ถูกอธิบายไว้ว่าอยู่ใกล้กับเขตศูนย์กลางธุรกิจและอยู่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม เขตโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯนั้นตั้งอยู่ทางเหนือ ที่นวนคร รังสิต ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้เขตศูนย์กลางธุรกิจแต่อย่างใด


    เขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯนั้นหนีไม่พ้นสยาม สุขุมวิท สีลม หรือพระราม 9 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจากกันมากนักและถือว่าเป็นใจกลางเมือง มีสถานีรถไฟฟ้าผ่าน มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สถาบันศึกษาชื่อดัง รวมถึงคอนโดมิเนียมราคาสูงมากมาย


    ปัจจุบันนี้ผู้คนมักย้ายออกมาอาศัยคนเดียวในคอนโดมิเนียมและหอพักตามแนวรถไฟฟ้า มีราคาตั้งแต่กลาง ๆ ไปถึงราคาสูง ขึ้นอยู่กับทำเลของสถานีรถไฟฟ้า แต่คอนโดมิเนียมใจกลางเมืองในเขตศูนย์กลางธุรกิจจะมีเพียงแบบราคาสูงเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าเขตชนชั้นกลางกระจายอยู่รอบเมือง เช่น ท่าพระ ห้วยขวาง บางอ้อ หรือสามย่านที่ไม่ได้อยู่รอบนอกตัวเมือง รวมถึงตามแนวรถไฟฟ้า MRT บางสถานีซึ่งยังไม่ถูกเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงจนเกินไป เป็นต้น


    เขตที่พักอาศัยชานเมืองสำหรับชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงกับชนชั้นสูง เช่น ปิ่นเกล้าและตลิ่งชัน นั้นเป็นเขตที่มีถนนใหญ่ สะดวกต่อการเดินทางเข้าใจกลางเมืองโดยรถยนต์ มีหมู่บ้านหรูตั้งอยู่หลายหมู่บ้านและอยู่รอบนอกของกรุงเทพ ติดกับจังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ เขตที่อยู่อาศัยย่อย ๆ สำหรับผู้มีรายได้สูงก็อยู่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจที่ยังคงมีการสร้างคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง บนที่ดินที่มีเพียงผู้มีรายได้สูงเท่านั้นที่สามารถจับต้องได้ ดังนั้นเขตศูนย์กลางธุรกิจจึงเป็นทั้งเขตธุรกิจและเขตที่พักอาศัยผู้มีรายได้สูงในเวลาเดียวกัน


    จะเห็นได้ว่า การขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯเพื่อตอบสนองความต้องการด้านที่พักอาศัย ยังคงกระจุกตัวในเขตศูนย์กลางธุรกิจอย่างหนาแน่น แม้ในพื้นที่นั้นจะมีอาคารสูงมากมาย แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้สร้างคอนโดมิเนียมเสมอ และยังมีการกระจายตามแนวรถไฟฟ้าอย่างเบาบางลงมา ทำให้เขตศูนย์กลางธุรกิจเต็มไปด้วยผู้คนหนาแน่นทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ที่เดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยด้วยการเดินทางโดยรถไฟฟ้าที่วิ่งผ่านเขตศูนย์กลางเหล่านั้น ศูนย์การค้าในเขตนี้ถูกสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นที่สยามและมีบริการหลากหลายรูปแบบที่ไม่มีในเขตอื่น ผลที่ตามมาจึงเป็นการกระจุกตัวของสินค้า บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากเกินไปของเขตศูนย์กลางธุรกิจ กลายเป็นเขตซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักในการเดินทางของคนส่วนมาก ไม่ว่าจะด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ หรือรถไฟฟ้า เพราะเขตศูนย์กลางธุรกิจมีทุกอย่างที่ผู้คนในเมืองต้องการ แต่เขตอื่นนอกเหนือจากเขตธุรกิจไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่


    นักลงทุนและนักธุรกิจนั้นมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาอยู่เสมอ เช่นบริเวณคลองสานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของไอคอนสยาม ห้างหรูริมน้ำ ติดกับชุมชนแออัดคลองสานหรือชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ในปี 2565 ไอคอนสยามเรียกได้ว่าไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจการเดินเรือท้องถิ่นคึกคักขึ้นเท่าที่ควร เพราะห้างได้มีเรือรับส่งฟรีจาก BTS สถานีสะพานตากสินแล้ว มิหนำซ้ำการเกิดขึ้นของไอคอนสยามได้สร้างความกังวลให้กับชุมชุนมัสยิดสุวรรณภูมิมากกว่าสร้างความหวังในการหารายได้ ว่าบ้านอาจถูดยึดหรือรื้อถอน และคนในชุมชนต้องย้ายออก เนื่องจากมีแผนสร้างหอชมเมืองริมแม่น้ำและจะใช้พื้นที่ข้างไอคอนสยามสร้างหอชมเมืองนั้น หากไม่ต้องย้ายออก คนที่ยังอยู่ในชุมชนนี้ก็ต้องประสบกับมลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอาศ เพราะการก่อสร้างก่อให้เกิดเสียงดังและฝุ่นจำนวนมาก


    กล่าวโดยสรุป ลักษณะผังเมืองกรุงเทพฯนั้น มีเขตศูนย์กลางธุรกิจอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งตามเขตเหล่านั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทาง การทำงาน การศึกษา ความบันเทิงมากมาย ซึ่งยังได้รับการพัฒนาในเขตใจกลางเมืองต่อไปเรื่อย ๆ จนสินค้า บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกกระจุกตัวใจกลางเมือง มากไปกว่านั้น พื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาให้เป็นเขตธุรกิจใหม่ยังละเลยทอดทิ้งชุมชนที่อยู่มาก่อนโดยเฉพาะชุมชนแออัด


    - urbaninlove ♡

    อ้างอิง


    จิรัชญา ชัยชุมขุน, พระจันทร์ เอี่ยมชื่น และเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา. “เมืองซ่อนคนจน: เมื่อความศิวิไลซ์คือการไล่คนจนออกจากเมือง.” Way Magazine, 19 มกราคม 2562. https://waymagazine.org/civilized-city-poor-people/.


    - ฐานเศรษฐกิจ, “จากโกดังร้าง สู่ 'ไอคอนสยาม' ... อภิมหาโปรเจ็กต์ 5.4 หมื่นล้าน แลนด์มาร์กใหม่เมืองไทย. ฐานเศรษฐกิจ, 8 พฤศจิกายน 2561. https://www.thansettakij.com/business/343160.

    - Adulla, Suksheetha. “Understanding the Concentric Zone Model.” Urban Design lab, June 12, 2022. https://urbandesignlab.in/understanding-the-concentric-zone-model/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=understanding-the-concentric-zone-model

    Genie-Property. “NEW CBD คือ ทำเลไหนของกรุงเทพฯ?.” สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2565. https://www.genie-property.com/blog/new-cbd/.

    - “Hoyt Model (Sector Model) of Urban Land Use 1939 by Homer Hoyt.” Planning Tank, October 21, 2021. https://planningtank.com/settlement-geography/sector-model-hoyt-model.


    Understanding the Concentric Zone Model

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in