เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Urban in Love Projecturbaninlove ♡
แนวคิดการวางผังเมือง : ก่อนจะสร้างเมืองก็ต้องวางผัง
  •           ในโรงเรียนและมหา’ลัย เราถูกสอนกันมาเสมอว่าจะทำอะไรก็ต้องมีแผน ไม่ว่าจะเขียนรายงาน โครงงาน วิจัย ชีวิตหลังเรียนจบก็ต้องวางแผน แล้วกรุงเทพฯ เมืองหลวงประเทศไทยที่เราอาศัยอยู่กันตอนนี้มีการวางแผนวางผังมาอย่างไรบ้างตามแนวคิดการวางผังเมือง ? มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ? บทความนี้จะแสดงให้เห็นการแบ่งเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพตามการใช้ประโยชน์ ปัญหาเส้นทางคมนาคม ความไม่เชื่อมต่อของถนนที่ส่งผลให้เกิดรถติด ปัญหาระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ระบบสาธารณูปการที่คุณภาพต่างกันและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในพื้นที่


    การวางผังเมือง คือการกำหนดรูปร่างและขนาดของเมืองที่ต้องการพัฒนาให้เพียงพอ เหมาะสมกับจำนวนประชากร บทบาท กิจกรรมภายในเมืองนั้น ๆ และวางผังให้มีความสัมพันธ์กับเมืองอื่น ๆ ได้ โดยกำหนดผังเมืองหลัก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ กำหนดผังโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท กำหนดผังระบบคมนาคมและขนส่ง และกำหนดผังระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ


    การวางผังระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน

              เป็นการวิเคราะห์ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีแนวทางคือการพิจารณาจากประเภท ขนาด ทำเล และที่ตั้งของการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท คำนึงถึงพื้นที่และความหนาแน่นของประชากร ความสัมพันธ์กับกิจกรรมอื่น ๆ ของเมืองกับพื้นที่โดยรวม รวมถึงศักยภาพ ข้อจำกัด และปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันเพื่อกำหนดรูปร่างและโครงสร้างเมือง โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้


    1.  ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว ตึกแถว ห้องแถว คอนโดมิเนียม เป็นต้น และแบ่งประเภทย่อยออกเป็น 3 ประเภท คือ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย หนาแน่นปานกลาง และหนาแน่นมาก
    2. ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบอาชีพ มีการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการไหลเวียนของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย พื้นที่พาณิชยกรรมซึ่งเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจการค้า มีการใช้ที่ดินหนาแน่น และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มักจะต้องอาศัยระบบขนส่งเพื่อลดต้นทุนการผลิต 
    3. ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการบริการสาธารณะ คือพื้นที่ตอบสนองความต้องการผู้คนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา การสาธารณูปโภคต่าง ๆ

    กรุงเทพฯ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินดังในภาพที่ปรากฏข้างต้นนี้ เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยจะอยู่รอบนอกของเมือง ส่วนหนาแน่นปานกลางจะขยับเข้าไปใกล้กลางเมืองมากขึ้น และแน่นอนว่าเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากนั้นตั้งอยู่วงในสุด ติดกับเขตธุรกิจการค้า


    เขตธุรกิจการค้าซึ่งคือพื้นที่พาณิชยกรรมที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีเขตธุรกิจการค้าย่อยที่ขนาดเล็กกว่าใจกลางเมืองอย่างมากกระจายอยู่รอบ ๆ เขตที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง โดยเขตที่ตั้งสถาบันราชการทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ในดุสิต กระจายขึ้นไปทางเหนือของจังหวัดและกระจายในเขตที่อยู่อาศัยที่ไม่ห่างจากศูนย์กลางเมืองมากนัก มีสถาบันการศึกษาทั้งเอกชนและรัฐบาลกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ 


    จากภาพจะเห็นว่าเขตธุรกิจการค้า (สีแดงในแผนที่) ตรงกลางเมืองมีขนาดที่ใหญ่กว่าเขตธุรกิจการค้าที่กระจายออกไปรอบ ๆ อย่างมาก ในเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลืองในแผนที่) มีเขตธุรกิจการค้าอยู่น้อยมาก จริง ๆ ขนาดไม่ใช่ปัญหา ควรจะทำให้มีเขตการค้ากระจายรอบเขตที่อยู่อาศัยมากกว่านี้แม้จะมีขนาดเล็กก็ตาม 


    การวางผังระบบโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง

              การคมนาคมภายในนั้นใช้ถนนเป็นหลัก ต้องมีการสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการจราจร และถนนยังถูกใช้เป็นแนวในการวางระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์ เป็นต้น

    กรุงเทพฯมีถนนทั่วถึง ทว่าไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะในซอยเล็ก ๆ ที่มักจะมีซอยตัน เพราะถนนในซอยเหล่านั้นไม่ถูกจัดระเบียบให้เชื่อมต่อกันไว้ตั้งแต่แรก จากถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีซอยตันถึง 45% ซอยตันเป็นสาเหตุของรถติดภายในเขตที่อยู่อาศัย เพราะรถทุกคันต้องออกจากถนนเล็ก ๆ ในซอยไปสู่ถนนใหญ่ แต่ซอยกลับไม่เชื่อมกัน ทำให้เหลือเพียงทางเดียวในการออกสู่ถนนใหญ่ แทนที่รถจะติดเพียงช่วงใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องรถติดตั้งแต่ยังไม่ถึงถนนใหญ่ เป็นทั้งการจำกัดทางเลือกเส้นทางและทำให้การเดินทางไม่มีประสิทธิภาพ 


              ถนนในกรุงเทพฯไม่มีทางลัดเป็นซอยที่เชื่อมต่อสู่กันได้ ดังนั้นคนจึงต้องอาศัยถนนใหญ่ในการเดินทางเป็นหลัก เช่น ถนนลาดพร้าว ถนนพลโยธิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือรถติดอย่างหนัก ดังที่ได้กล่าวไปว่าผู้คนส่วนมากใช้ถนนใหญ่เนื่องจากไม่มีทางลัด ถนนที่เป็นซอยตันและไม่เชื่อมต่อสู่ซอยหรือถนนใหญ่อื่น ไม่มีการจัดระเบียบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรนี้เองเป็นตัวการสำคัญหนึ่งที่ทำให้รถติด 


    ปัญหารถติดและซอยตันจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองกรุงเทพฯไม่มีการจัดวางผังระบบโครงข่ายคมนาคมและแผนการจราจรที่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้ผู้คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่สามารถเลือกใช้เส้นทางอื่น ๆ ในการเดินทางได้นอกจากถนนใหญ่ ไม่ว่าจะพยายามแก้ไขสักเท่าใด รถก็ยังติดเป็นชั่วโมงอยู่ดี เพราะถนนใหญ่ยังคงเป็นเส้นทางหลักเส้นทางเดียว และถนนเล็ก ๆ ในซอยยังคงไร้ระเบียบไม่เชื่อมต่อถึงกัน


    การวางผังระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

    1. ระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรศัพท์ ระบบระบายน้ำ จะวางอยู่ตามแนวเส้นทางคมนาคมและต้องจัดเตรียมไว้ให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการด้วย

    2. ระบบสาธารณูปการ หรือบริการสาธารณะในชุมชน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยการวางระบบนี้ต้องพิจารณาถึงขนาดประชากรที่จะใช้บริการและที่ตั้งของบริการนั้น


    ระบบสาธารณูปโภคอย่างระบบไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์นั้นทั่วถึงอยู่แล้วในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศ ไม่มีปัญหามากนักต่างกับต่างจังหวัดที่มักจะมีปัญหาไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เข้าไม่ถึงพื้นที่ แต่ปัญหาในกรุงเทพฯเป็นระบบการระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะท่วมถนนอย่างรวดเร็วแม้จะมีท่อระบายน้ำเรียงข้างถนนก็ตาม กลายเป็นช่วงน้ำท่วมขังรอการระบาย 


    สาเหตุเชิงโครงสร้างส่วนหนึ่งที่ทำให้การระบายน้ำล่าช้า คือหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาท่อระบายน้ำใหม่ให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝนในปัจจุบันที่เกิดภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) “ท่อระบายน้ำแบบเก่าของกทม.มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 – 60 เซนติเมตร” ผอ.สำนักการระบายน้ำกล่าว ดังนั้นเมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักกว่า 60 มล.ต่อชั่วโมง ท่อจะรองรับน้ำไม่ได้ น้ำจึงท่วมขังและต้องรอการระบายต่อไป แต่กลับสามารถสร้าง Mega Project อย่างอุโมงค์ระบายน้ำได้


    นอกจากนี้ ในปีที่ผ่าน ๆ มา งบประมาณในการลอกท่อระบายน้ำนั้นไม่เพียงพอ ผู้คนในกรุงเทพต่างเทน้ำเสีย ทิ้งเศษอาหารและขยะลงในท่อระบายน้ำ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ก็ได้ส่งผลให้ท่อระบายน้ำอุดตันไปแล้ว แน่นอนว่าผู้คนที่ทิ้งขยะมีส่วนผิด แต่ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาซึ่งพบเจอได้ง่ายตามถนนและส่งผลให้น้ำท่วมขัง เหตุใดจึงไม่ได้รับงบประมาณที่สูงกว่าเพื่อแก้ปัญหาของชาวเมือง ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสาธารณูปโภคระบบระบายน้ำแม้ถูกวางผังท่อระบายน้ำเอาไว้ แต่เวลาผ่านไปไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าอุโมงค์ระบายน้ำที่ต้องรองรับน้ำจากท่ออีกที


    ในด้านสาธารณูปการ กรุงเทพฯมีโรงพยาบาลกว่า 146 แห่ง และมีโรงพยาบาลที่ดีที่สุดอย่างศิริราชอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีคนเข้ารักษาที่รพ.ศิริราชจำนวนมาก เพราะเป็นหนึ่งใน 22 โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ ในขณะที่รอบ ๆ เมืองก็มีโรงพยาบาลอื่นนับร้อย เพียงแต่เป็นโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง 


    โรงเรียนนั้นกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่แม้จะมีโรงเรียนหลากหลายในแต่ละเขต ก็ไม่สามารถรักษามาตรฐานวิชาการแต่ละสถาบันให้ใกล้เคียงกันได้ นักเรียนจึงแข่งขันกันเข้าไปเรียนโรงเรียนใหญ่ใจกลางเมืองอย่างเตรียมอุดมศึกษา สาธิตปทุมวัน เป็นต้น


    สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพเช่นสวนสาธารณะนั้นมีน้อย และกระจุกในเขตใจกลางเมือง อาทิ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ สวนลุมพินี สวนเบญจกิติ เป็นต้น ตั้งอยู่ในเขตสยาม สีลม และสุขุมวิทตามลำดับ ทำให้สวนสาธารณะ 3 แห่งที่กล่าวมานี้เป็นที่นิยม มีผู้คนแวะเวียนไปชมวิว นั่งเล่นอย่างหนาแน่นเสมอในวันหยุด และพื้นที่สาธารณะของคนยุคใหม่มักจะเป็นพื้นที่เอกชนอย่างห้างสรรพสินค้า ลานกว้างสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ย่านศูนย์การค้า เช่นลานหลังอาคาร Siamscape และถนนโซนสยามร้อนที่เพิ่งเปิดใหม่ในปีนี้ ทันทีที่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้เปิดให้ใช้ ก็กลายเป็นสถานที่โด่งดังและมีผู้คนมาใช้พื้นที่อย่างหนาแน่น และยังมีเสียงเรียกร้องให้กรุงเทพฯมีพื้นที่สาธารณะนอกเหนือไปจากในพื้นที่ใจกลางเมืองอีกด้วย แสดงถึงความต้องการพื้นที่สาธารณะทั้งพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ยังไม่เพียงพอ


    จากที่อธิบายมา สามารถสรุปได้ว่า ตามแนวคิดการวางผังเมืองแล้ว เมืองกรุงเทพมีการแบ่งเขตตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มีการวางผังระบบคมนาคมและขนส่งที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถจัดการถนนที่เป็นซอยตันได้ ทำให้ถนนเส้นเล็ก ๆ ไม่เชื่อมต่อถึงกัน ทำให้เหลือเพียงทางเส้นทางเดียวคือถนนใหญ่ รถจึงติดที่ถนนใหญ่โดยไม่สามารถไปใช้เส้นทางอื่นได้ มีการวางผังระบบสาธารณูปโภคเรื่องระบบระบายน้ำ ทว่าไม่มีการพัฒนาให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้นและไม่แก้ไขปัญหาท่ออุดตัน และสุดท้ายปัญหาการวางผังระบบสาธารณูปการ โรงพยาบาลรัฐที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำมีน้อยกว่าเอกชนมาก โรงเรียนที่กระจายในจังหวัดไม่สามารถรักษามาตรฐานให้ใกล้เคียงกันได้ และมีพื้นที่สาธารณะที่กระจุกตัวบริเวณใจกลางเมือง ซ้ำยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของประชากรในพื้นที่


    - urbaninlove ♡

    อ้างอิง

    - ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้. “มหานครซอยตัน.” The Urbanis, 1 กันยายน  2563. https://theurbanis.com/insight/01/09/2020/2651.

    Chaiyapon, Keeratikasikorn and Stefania Bonafoni. “Urban Heat Island Analysis over the Land Use Zoning Plan of Bangkok by Means of Landsat 8 Imagery.” Remote Sensing 10, no. 3 (March 2018): 440. https://doi.org/10.3390/rs10030440.

    prarinya9. “Bangkok city vector map, Thailand.” Accessed December 19, 2022. https://www.123rf.com/photo_148028621_stock-vector-bangkok-city-vector-map-thailand.html.

    - Rocket Media Lab. “กรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหา ‘น้ำรอระบาย’ ไปอีกนานเท่าไร.” Rocket Media Lab, 4 พฤษภาคม 2565. https://rocketmedialab.co/bkk-flood/

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in