เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
of Dust and PaperSchvala_
หน้ากากสีและวัยเยาว์อันสิ้นสูญ : วิเคราะห์ Lord of the Flies (2)


  • สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาวิเคราะห์ต่อในเรื่องของด้านมืดในจิตใจมนุษย์ค่ะ

    สำหรับรีวิวและวิเคราะห์พาร์ทแรก เราแปะลิ้งค์ไว้ตรงนี้นะคะ
    https://minimore.com/b/8Osvk/1 - Lord of the flies : สัตว์ประหลาด กองไฟ และความเดียงสาของวัยเยาว์
    https://minimore.com/b/8Osvk/2 - หอยสังข์ กองไฟและการชุมนุม : วิเคราะห์ Lord of the Flies (1)


    **Spoiler Alert

    --------------------

    หนึ่งในแก่นที่สำคัญ ที่ผู้เขียนต้องการสื่อในเรื่องนี้ คือ ‘ด้านมืด’ อันซับซ้อนภายในจิตใจมนุษย์

    ก่อนอื่น เรามานิยามกันก่อนว่า ‘ด้านมืด’ ที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องนี้ หมายถึงสิ่งใด

    Willium Golding ผู้เขียน มีความเชื่อว่ามนุษย์ล้วนแต่มีด้านที่ชั่วร้ายอยู่ในตนเอง แม้กระทั่งในตัวของเด็ก ซึ่งเขาได้แสดงทัศนะนี้ออกมาผ่านงานเขียนของเขานั่นเอง โดยการจับเอาเด็กๆ ในวัยเรียนที่ยัง ‘ไร้เดียงสา’ ซึ่งเดิมถูกปกป้องอยู่ภายใต้ปีกของพ่อแม่ โรงเรียน และกฎหมาย ไปอยู่ร่วมกันบนเกาะร้างห่างไกลอันไร้ซึ่งสิ่งปกป้องเหล่านั้น

    ผู้เขียนได้เอ่ยถึงเกราะป้องกันของเด็กเหล่านี้ ผ่านการกระทำของเด็กชายที่ชื่อโรเจอร์ ในฉากที่เขาพยายามขว้างหินใส่เด็กชายเล็กๆคนหนึ่ง แต่กลับเว้นระยะให้ห่างออกจากตัวเด็กชายเป็นวงกลม เขามองมันเป็นสิ่งที่ติดมาจากชีวิตก่อนหน้า แม้จะมองไม่เห็นแต่มีอิทธิพลมากจนสะกดแขนของเขาไว้ มันคือ “เกราะคุ้มครองจากพ่อแม่ โรงเรียน ตำรวจ และกฎหมาย” (Golding,91)

    ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เกราะอันมองไม่เห็นเหล่านี้ย่อมค่อยๆ ถูกพังทลายลง เมื่ออยู่ในภาวะอันไร้ข้อบังคับ ตัวตนลึกสุดในใจมนุษย์จึงเปิดเผยตัวออกมา
    ในหนังสือ แสดงถึง ‘ด้านมืด’ ของมนุษย์ ว่าเป็นส่วนที่มีความป่าเถื่อนโหดร้าย ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และแรงปรารถนา ทำตามสัญชาติญาณ ไม่สนใจกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนของสังคม จนนำไปสู่คำถามว่า แท้จริง พวกเขาเป็นสิ่งใดกันแน่ มนุษย์ คนป่า หรือสัตว์ป่า

    หากวิเคราะห์ในทางจิตวิเคราะห์ มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมจิตใจส่วนนี้ ...ส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาติญาณ (Instinct) และแรงขับดัน (Drive) โดยเฉพาะแรงขับดันทางเพศ (Sexual drive) และความก้าวร้าว (Aggressive urge) ซึ่งฟรอยด์ (Freud) นิยามมันว่า ID ขณะที่จุง (Jung) เรียกมันว่า Shadow จิตส่วนนี้เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก และเป็นจิตใจมนุษย์ส่วนที่ใกล้เคียงกับความเป็น ‘สัตว์’ มากที่สุด
    กระนั้น นี่ก็เป็นจิตใจส่วนที่เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์และแรงขับเคลื่อนเพื่อเอาชีวิตรอด
    ต่อมาเมื่อมนุษย์เติบโตขึ้น ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและระเบียบของสังคม เขาจะเริ่มพัฒนาจิตใจในส่วนจิตสำนึกจากสภาพแวดล้อมที่เขาเรียนรู้ Freud อธิบายว่ามันคือ Superego จิตใจส่วนนี้มีหน้าที่เก็บกดความไม่พอใจและสัญชาติญาณในรูปแบบศีลธรรม เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้
    ในขณะเดียวกัน Jung เรียกจิตที่พัฒนาขึ้นเพื่ออยู่ในสังคมนี้ว่า Persona หรือ หน้ากาก เป็นรูปแบบแรกเริ่มของการปรับตัวเข้ากับสังคม เป็นบทบาทภาพลักษณ์ที่เราแสดงออกสู่สังคม
    Ego เป็นตัวเชื่อมประสานจิตใจทั้งสองส่วนเอาไว้ มีหน้าที่ควบคุมแรงขับดันตามสัญชาติญาณ จิตใจที่ดีควรจะมีความสมดุลระหว่างทั้งสองฝั่ง
    อย่างไรก็ตาม จิตใจฝั่งสัญชาติญาณนั้นเป็นส่วนที่มีพลังรุนแรงและปรารถนาจะแสดงออกมาอยู่เสมอ ดังที่เราจะได้เห็นกันในหนังสือเล่มนี้

    --------------------

    แจ็ค

    ตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนได้แสดงให้เราได้เห็นว่ามนุษย์ล้วนแต่มีด้านมืดในใจ โดยตัวละครที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทนของด้านที่โหดร้ายมากที่สุดคือ แจ็ค

    แจ็คมีพื้นฐานเป็นเด็กที่มีนิสัยก้าวร้าวและทำอะไรตามใจ เราจะเห็นได้จากฉากแรกที่เขาออกคำสั่งกับคณะประสานเสียงด้วยท่าทางวางอำนาจ ความปรารถนาจะเป็นผู้นำ เพราะตัวเอง ‘ร้องเสียงสูง’ ได้ เขาไม่เคยทำตามกฎหอยสังข์ และยังเป็นต้นเหตุให้เด็กคนอื่นเริ่มละทิ้งหน้าที่ของตนเอง

    ที่จริง ผู้เขียนได้หย่อนถึงคำใบ้เกี่ยวกับแจ็คตั้งแต่แรกๆ ในฉากการสำรวจเกาะครั้งแรกที่ประกอบด้วย แจ็ค ราล์ฟ และไซมอน พวกเขาได้พบทางเดินในป่า เมื่อคาดเดาว่าสิ่งใดที่ทำให้เกิดทางเดินนี้ ราล์ฟเสนอว่า “คนรึเปล่า” ในขณะที่แจ็คกลับบอกว่า “สัตว์ต่างหากล่ะ” แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่เด็กๆ ไม่รู้ตัว แต่พวกเขาต่างเอ่ยออกมาถึงสิ่งที่พวกเขา represent

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของเรื่องแจ็คยังคงมีความเป็นมนุษย์จากสังคมเก่าอยู่ ตอนสำรวจเกาะครั้งแรกและพบหมู เขาไม่กล้าลงมีดเพื่อฆ่ามัน 

    “พวกเขารู้ดีอยู่ในใจว่าทำไมเขาไม่ทำ เพราะไม่อาจทนความชั่วร้ายของมีดที่เงื้อลงไปเชือดเฉือนเนื้อของสิ่งมีชีวิต ไม่อาจทนเลือดที่พุ่งทะลักออกมาได้” (Golding,44)

    ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เกาะแห่งนี้ได้เปลี่ยนเขา แจ็คค่อยๆ เลิกสนใจกองไฟและความช่วยเหลือ หรือหากพูดให้ชัดเจนก็คือ เขา “ต้องนิ่งคิดชั่วขณะหนึ่งก่อนที่เขาจะรำลึกได้ว่าให้คนมาช่วยเหลือหมายถึงอะไร” (Golding,78) แจ็คพอใจกับการล่า สนุกกับการแกะรอย คิดเพียงว่าจะล่าหมูให้ได้เท่านั้น

    ความมืดดำในใจของเด็กชายถูกปลดปล่อยออกมาอย่างแท้จริง เมื่อ ‘หน้ากากสี’ ถูกสร้างขึ้น

    --------------------

    หน้ากากสี

    หน้ากากสีถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์แรกคือเพื่อใช้พรางตัวในการล่าสัตว์ การกำเนิดขึ้นของมันมีความหมายเชื่อมโยงกับความรุนแรงแต่แรก แต่ผลของหน้ากากกลับมีอำนาจมากกว่าที่ใครจะคาดคิด เมื่อพวกเขาทาสีลงบนหน้า เด็กชายก็ได้กลายเป็นใครที่คนที่แม้กระทั่งตนเองยังไม่ตระหนัก

    “แจ็คจ้องมองอย่างตะลึงงัน นี่ไม่ใช่ใบหน้าเขา แต่เป็นหน้าของใครคนหนึ่งซึ่งน่ายำเกรง” (Golding,93)

    ในขณะที่หน้ากากในสังคม (Persona) ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดตัวตนเนื้อแท้ของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบภายใต้กฎระเบียบของสังคม หน้ากากสีกลับทำตรงข้าม มันได้ปลดปล่อยเอาด้านมืดภายในใจจิตในมนุษย์ออกมา

    “หน้ากากมันมีชีวิตของมันเองซึ่งแจ็คแอบซ่อนอยู่ข้างหลัง มันปลดปล่อยเขาจากความละอายและจิตสำนึกทั้งปวง” (Golding,93)

    ต่อมาเมื่อแจ็คแยกตัวออกไปตั้งเผ่าใหม่ เขาก็ได้บังคับให้เด็กที่มาอยู่เผ่าเขาทาสีใบหน้าเช่นเดียวกัน หน้ากากสีได้กลืนกินเด็กๆ เหล่านั้น พวกเขาไม่ใช่เด็กชายคนเดิมอีกต่อไป หากแต่กลายเป็น ‘คนป่า’ ที่ทาสีเป็นลายบนเคลือบอยู่บนหน้า หน้ากากนั้นได้ชะล้างศีลธรรมและกฎระเบียบจากโลกเก่าออกไปจนหมด มันดึงพวกเขาให้เข้าใกล้ความเป็น ‘สัตว์’ ทำให้กล้าปลดปล่อยเอาด้านอันป่าเถื่อนออกมาสู่ภายนอก
    กระทั่งในตอนท้ายเมื่อราล์ฟและพรรคพวก ข้ามเกาะมาเผชิญหน้ากับกลุ่มของแจ็ค เขาก็ไม่อาจแยกได้อีกต่อไปว่าใครเป็นใคร

    นอกจากนี้ ในทำนองเดียวกับ Persona ซึ่งหน้ากากที่เราสวมเพื่อกำหนดบทบาทในสังคม หากเราจมกับบทบาทนั้นมากเกินไป เราย่อมถูกมันกลืนกิน เด็กชายในเกาะก็ถูกหน้ากากสีกลืนกินเช่นกัน ความบ้าคลั่งป่าเถื่อนค่อยๆ บดบังดวงตาพวกเขา และทำลายหลักการเหตุผลทั้งปวง พวกเขาฆ่าหมูด้วยความสนุกและเพื่อให้ได้เลือด ฆาตกรรมโดยไม่รู้สึกผิด และในตอนจบก็ไล่ล่าราล์ฟจนเผาทำลายทั้งเกาะ

    “หน้ากากมีอำนาจเหนือพวกเขาทุกคน” (Golding,93)

    --------------------

    การล่าและการเต้นรำ


    ในตอนแรก พวกเขาล่าหมูโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนในกลุ่มมีเนื้อกิน ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ดีและยังคง ‘มีเหตุผล’ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการล่าครั้งแรกภายใต้หน้ากากสี ความมืดดำในใจได้ถูกปลดปล่อยออกมา นักล่าพบความสนุกในการล่าและการพรากชีวิต ความป่าเถื่อนจึงเริ่มมีอำนาจในใจของพวกเขายิ่งขึ้น

    “ฆ่ามันซะ! เชือดคอมัน! ให้เลือดสาดกระจาย!”

    การเต้นรำกลายเป็นพิธีกรรมสำคัญภายหลังล่าหมูได้ โดยมีลักษณะคือ เด็กคนหนึ่งจะแสดงเป็นหมูอยู่ตรงกลางวง ในขณะที่เด็กคนอื่นรายล้อมอยู่ภายนอกและพากันทำท่าแทงลงไปเหมือนแทงหมู พวกเขาทำราวกับกำลัง ‘เล่น’ กัน แต่เด็กที่แสดงเป็นหมูนั้นกลับเจ็บตัวจริง หวาดกลัวจริง มีรอยฟกช้ำจนร้องไห้ออกมา
    แต่เมื่อการเต้นรำจบลง พวกเขากลับทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่เด็กที่ถูกทำร้ายก็ถูกปล่อยไว้ให้หยุดร้องไปเอง ไม่มีใครรู้จักผิดปกติใดกับการกระทำเหล่านี้เลย

    การเต้นรำถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปลดปล่อยอารมณ์และความก้าวร้าวที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก โดยเลียนแบบจากการล้อมจับและฆ่าสัตว์ มันถูกแสดงออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับ ‘การละเล่น’ ทว่าความรุนแรงนั้นเป็นของจริง
    นอกจากนี้ ลักษณะของการเต้นรำยังดูคล้ายกับการร่วมเพศของสัตว์ เพราะมันคือการปลดปล่อยอย่างรุนแรงของจิตไร้สำนึก และแรงขับดันทางเพศก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นเช่นกัน

    ทว่าในอีกแง่หนึ่ง การเต้นรำราวสัตว์ป่านี้กลับทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยจากการเป็นส่วนหนึ่งของฝูง การเต้นรำร่วมกันเป็นการแสดงถึงความเป็นพวกพ้อง เป็นความบ้าคลั่งที่จะปกป้องจากสัตว์ประหลาดและสิ่งน่ากลัวจากภายนอก

    "ภายใต้ท้องฟ้าอันเกรี้ยวกราดเช่นนี้ หมูอ้วนกับราล์ฟอยากที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความคลุ้มคลั่งที่ส่วนหนึ่งก็ให้ความคุ้มภัยจากการเป็นหนึ่งเดียวกัน" (Golding,227)

    หากนี่เป็นเพียงการละเล่นภายหลังการฆ่าหมูก็คงไม่เป็นไร
    ทว่าการเต้นรำของเด็กเหล่านี้กลับทวีความโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ และการเต้นรำครั้งที่โหดร้ายที่สุดก็เกิดขึ้นในค่ำคืนแห่งพายุ อันเป็นจุดสิ้นสุดของความเป็นระเบียบ และการสิ้นสูญของวัยเยาว์อย่างแท้จริง

    --------------------

    การตายของไซมอน : การสิ้นสูญของวัยเยาว์

    สำหรับเรา ไซมอนเป็นภาพแทนของความไร้เดียงสา เขาเป็นเด็กชายลึกลับที่เดินสำรวจและค้นพบมุมลับของตนเอง เขามองทุกสิ่งด้วยดวงตาที่เป็นกลางทว่าลึกซึ้ง ไซมอนเป็นเด็กชายคนแรกที่ตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของสัตว์ประหลาดในใจมนุษย์ ทั้งยังเป็นเด็กชายผู้ค้นพบสัตว์ประหลาดตัวจริงอีกด้วย

    การตายของไซมอนจึงเป็นฉากที่สะเทือนใจมาก

    ความตายมิได้มาสู่เด็กชายเพียงคนเดียว แต่ยังหมายถึงความตายของความไร้เดียงสาและความดีงามทั้งหลายบนเกาะแห่งนี้ คล้ายเป็นสัญญาณว่าหลังจากนี้ทุกสิ่งย่อมไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก

    วัยเยาว์ของเด็กชายเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงแล้ว

    ที่จริงแล้ว หากพูดถึงการสูญสิ้นของความไร้เดียงสา เรากลับมองว่าไม่ว่าจะเป็นด้านมืดดังในเรื่องหรือด้านอันเป็นระเบียบในใจมนุษย์ ล้วนแต่ทำลายวัยเยาว์ได้ทั้งสิ้น ในสังคมโลกที่มีอารยธรรม ความไร้เดียงสาของเราคงอยู่ในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่ยังมีอิสระและยังมีพันธนาการต่อสังคมน้อยนัก แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น บทบาทของเราในสังคมย่อมถูกสร้างและแข็งแกร่งขึ้น กระทั่งวันหนึ่งหากเราจมลงกับบทบาทนั้นมากเกินไป มันก็ย่อมกลืนกินความไร้เดียงสาของเราไป
    หรือที่เรียกกันด้วยคำสวยงามว่า ‘การเติบโตเป็นผู้ใหญ่’

    ในขณะที่เด็กบนเกาะร้างเหล่านี้ ความไร้เดียงของพวกเขาสูญสลายไปจากการกลืนกินของด้านมืดในใจ เช่นนี้แล้ว เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การเติบโตเป็นผู้ใหญ่’ ได้เช่นกันหรือไม่ 

    --------------------

    นอกจากเหตุการณ์หลักที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนยังได้สอดแทรกฉากที่แสดงถึงความโหดร้ายในใจมนุษย์ไว้ทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในการเล่นทรายของเด็กเล็ก แล้วทรายปลิวเข้าไปในตาของเด็กคนหนึ่ง เขาร้องไห้ออกมา เพื่อนเห็นแบบนั้นก็สนใจ พอเด็กหยุดร้องไห้ เพื่อนจึงโปรยทรายลงมาอีก เพื่อให้เด็กคนนั้นร้องไห้

    ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนยังแสดงให้เราได้เห็นความโหดร้ายของมนุษย์ผ่านทางสงครามของผู้ใหญ่ในฉากหลังอีกด้วย เพื่อจะบอกว่าด้านมืดของมนุษย์ มิใช่จะถูกดึงให้แสดงออกมาเมื่อมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมอันดิบเช่นเกาะร้างอันห่างไกลเท่านั้น หากแต่มันเกิดขึ้นได้ในทุกที่ แม้ในโลกที่เรียกตนเองว่า ‘มีอารยธรรม’

    ที่จริงแล้ว เราจะเห็นว่าแม้ในสังคมของเรา ที่ผู้เขียนกล่าวว่ามีเกราะปกป้องเด็กๆ เอาไว้ หากมองให้ดีย่อมเห็นว่ามีการแสดงออกของความร้ายกาจของเด็กๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง การแบนเพื่อนคนในคนหนึ่งในห้อง การลักขโมยของ ทว่าในสายตาผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้กลับถูกลดทอนลงเหลือเพียง ‘การกระทำของเด็กๆ’ เท่านั้น
    บางทีนี่อาจบอกเราว่า เด็กๆ หาใช่ ‘ผ้าขาว’ เสียทีเดียว

    ที่สุดแล้ว ปีศาจล้วนอยู่ในใจเราทุกคน

    และปีศาจตนนั้น มิได้เพียงนอนนิ่งอยู่ในใจเราเฉยๆ หากแต่เป็นส่วนที่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะถูกปลดปล่อยออกมา

    สุดท้าย ผู้เขียนได้สะท้อนความโศกเศร้าต่อมนุษยชาติของตน ผ่านการร้องไห้ของราล์ฟ ต่อ ‘ความมืดดำในใจมนุษย์’ ซึ่งเขาไม่เคยตระหนักถึงมาก่อน กระทั่งได้มาพบเจอและเกือบจบชีวิตเพราะมันบนเกาะแห่งนี้

    นอกจากนี้ เรายังลองคิดเล่นๆ ว่า หลังจากถูกช่วยไปจากเกาะ เด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ราล์ฟที่ได้เห็นด้านมืดและความตายของเพื่อน จะยังสามารถไปโรงเรียน เป็นเพื่อนกับเด็กคนอื่นได้ตามปกติหรือไม่
    แล้วเด็กที่กลายเป็นคนป่าเล่า เมื่อกลับสู่โลกอารยธรรมของผู้ใหญ่ พวกเขาจะเป็นอย่างไร

    โลกของผู้ใหญ่เอง ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยด้านมืดของมนุษย์ไม่ต่างกันไม่ใช่หรือ 

    --------------------
    ----------

    จบพาร์ทที่สองแล้วค่า ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ วันนี้ยาวหน่อย แต่เราไม่อยากแบ่งไปไว้พาร์ทอื่นน่ะค่ะ
    ที่ตั้งใจไว้คือเราจะทำอีกสองพาร์ท เรื่องความขัดแย้งที่ represent ในเรื่อง และประเด็นของสัตว์ประหลาดค่ะ

    ที่เรามาเขียนบทความนี้ เราตั้งใจทำมากและก็สนุกมากเลยค่ะ ได้เปิดมุมมองหลายอย่างเลย ถึงอย่างนั้นนี่ก็เป็นการตีความเอาของเราคนเดียว ถ้าหากมีอะไรผิดพลาดตรงไหน หรือใครมีความคิดอะไรอยากแลกเปลี่ยนก็มาคุยกันได้นะคะ

    Schvala
    13 July 2020

    --------------------

    อ้างอิง : 
    - หนังสือ พื้นฐานจิตวิเคราะห์ของจุง
    - จิตวิทยาของกลไกทางจิตและการเผชิญปัญหา จากหนังสือ จิตเวช ศิริราช
    - https://www.cliffsnotes.com/literature/l/lord-of-the-flies/critical-essays/major-themes
    - https://prezi.com/hc2ew9gifntb/lord-of-the-flies-a-psychological-approach/
    - https://medium.com/personal-growth/4-carl-jung-theories-explained-persona-shadow-anima-animus-the-self-4ab6df8f7971
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in