เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
of Dust and PaperSchvala_
Lord of the flies : สัตว์ประหลาด กองไฟ และความเดียงสาของวัยเยาว์

  • “— อย่างไรก็ตาม ไซมอนนึกถึงสัตว์ประหลาด เป็นภาพที่ปรากฎขึ้นในจิตใจของเขา ภาพนั้นเป็นภาพของมนุษย์ที่ทั้งกล้าหาญและโหดร้ายทารุณในเวลาเดียวกัน”

    - Lord of the flies (William Golding) -



    เมื่อไม่นานมานี้ เราได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันดี
    “Lord of the flies” หรือ “เจ้าแห่งแมลงวัน” ในชื่อภาษาไทยในการตีพิมพ์ฉบับแรก และ “วัยเยาว์อันสิ้นสูญ” ในการตีพิมพ์ครั้งต่อมาของไลต์เฮาส์ หนังสือที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมของโลกสมัยใหม่

    หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นวรรณกรรมเด็ก และเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กมัธยมปลายในหลายๆ ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถึงอย่างนั้น นักวิจารณ์หลายคนก็ลงความเห็นว่าเนื้อหาของเรื่องหนักหน่วงและแฝงนัยยะเกินกว่าจะเป็นหนังสือสำหรับเด็ก
    ตัวเราเอง อ่านในวัยที่ไม่ได้เป็นเด็กอีกแล้ว แต่ยังไม่โตพอจะเรียกว่าผู้ใหญ่ เราก็รู้สึกว่ามันลึกซึ้งและโหดร้ายเกินไปสำหรับเด็กมัธยมปลายจริงๆ

    ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’  ชื่อภาษาไทยนี้ฟังดูหดหู่และโหดร้ายในเวลาเดียวกัน แต่เมื่ออ่านจนจบ เราจะเข้าใจว่าทำไมจึงใช้ชื่อนี้ แม้จะไม่ตรงกับคำแปลต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่กลับสะท้อนเนื้อหาในเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง


    —————

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กชายชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบิน และพบว่าพวกเขาติดอยู่บนเกาะร้างแห่งหนึ่งที่มีปะการังล้อมรอบ ไม่มีผู้ใหญ่อยู่เลย ในกลุ่มนี้จะมี ‘เด็กเล็ก’ ซึ่งอายุประมาณ 6 ปี และ ‘เด็กโต’ อายุ 10-12 ปี 

    ในตอนแรก เด็กๆพยายามปรับตัวโดยสร้างระบบขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับอารยธรรมที่พวกเขาทิ้งไว้ภายนอกเกาะ พวกเขาเลือก ‘ราล์ฟ’ เด็กชายผมทองที่ดูดี สง่างาม มาจากครอบครัวทหารเรือ มาเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม เด็กอีกคนคือ ‘แจ็ค’ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มนักร้องประสานเสียง ก็ต้องการเป็นหัวหน้าเช่นกัน แต่เมื่อแพ้เสียงโหวต เขาจึงอาสาเป็นนักล่าแทน
    เนื้อเรื่องดำเนินไปผ่านปมใหญ่ๆ สองปมคือ ความขัดแย้งระหว่างแจ็คและราล์ฟ ซึ่งเป็นภาพแทนของการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผลกับความป่าเถื่อน ราล์ฟให้ความสำคัญกับการสร้างที่พักและก่อกองไฟเพื่อส่งสัญญาณควันขอความช่วยเหลือ ในขณะที่แจ็คให้ความสำคัญกับชีวิตอันเป็นอิสระ การล่าสัตว์ และการเล่นสนุก

    อีกปมคือสัตว์ประหลาด
    ในตอนแรกที่มาถึงเกาะ มีเด็กเล็กคนหนึ่งพูดถึงสัตว์ประหลาด ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ ทุกคนหัวเราะ คิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มีคนพบเห็นสัตว์ประหลาดมากขึ้น และความกลัวก็เริ่มครอบงำทั้งเกาะ

    แล้วเกาะแห่งนี้ก็ค่อยๆ ทำลาย ‘ความเป็นเด็ก’ ของพวกเขาไป


    —————

    ตอนเราอ่านเรื่องนี้เราปวดใจมากเลยค่ะ
    หนังสือตีแผ่ด้านมืดเบื้องลึกในจิตใจคนได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างที่ทำให้เชื่อได้สนิทใจว่ามันเกิดขึ้นได้จริง จากเด็กที่ตอนแรกหัวเราะเล่นสนุกด้วยกัน วาดฝันถึงความสนุกผ่อนคลายบนเกาะ เรื่องราวได้พาเราดำดิ่งขึ้นเรื่อยๆ ลงไปในจิตใจของพวกเขา ความหวาดกลัว ความโหดร้าย ความเกลียดชัง ความป่าเถื่อนบ้าคลั่ง ที่สุดท้ายได้เปลี่ยนให้เด็กที่อายุไม่เกินสิบสองปี กลับมาไล่เข่นฆ่าทำลายกันเอง
    พออ่านจบแล้ว มันเลยหน่วงไปหมดเลยค่ะ


    เมื่อลองวิเคราะห์คร่าวๆ แล้ว เราคิดว่าประเด็นที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์อย่างถึงแก่น ที่พบในหนังสือเล่มนี้ มีอยู่สามเรื่องใหญ่ๆ คือ

    1. ความปรารถนาในการสร้างสังคมและการเมือง ซึ่งแทนภาพให้เห็นในความพยายามสร้างสังคม เลือกผู้นำ การชุมนุม และกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในตอนเริ่มเรื่อง ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองของเด็กสองกลุ่ม

    2. ความดำมืดป่าเถื่อนและการใฝ่หาความรุนแรงในใจมนุษย์ ซึ่งเห็นได้ทั้งในโลกของผู้ใหญ่และเด็ก ในเกาะเล็กๆ ของเด็กๆ เริ่มจากการล่าสัตว์ ก่อนจะหันมาทำร้ายเข่นฆ่ากันเอง ในขณะที่มีฉากหลังเป็นสงครามไกลออกไปนอกเกาะ

    3. ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ การบูชาพลังที่หนือกว่าตนเอง และความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ อธิบายไม่ได้ จะเห็นได้จากการกลัวสัตว์ประหลาด ซึ่งต่อมา หลังการล่าสัตว์จึงได้ตัดหัวหมูเอาไว้ เพื่อเป็นการ ‘สังเวย’ แก่สัตว์ประหลาด


    —————

    สำหรับเรา นี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่เรายกขึ้นหิ้งเลยค่ะ
    เราคิดว่าการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ไม่ต่างจากการหย่อนเมล็ดพันธุ์บางอย่างลงในใจ และหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ หลังจากไม่ได้รู้สึกมานานแล้ว
    แต่มันคือเมล็ดอะไรและจะโตไปเป็นสิ่งใด เราเองก็ยังบอกไม่ได้เช่นกัน เราแค่รู้สึกว่ามีมันอยู่
    บางทีเมล็ดนั้นอาจโตในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ หรืออาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะโต
    หรือบางทีมันอาจจะตายก็ได้

    แต่เราไม่อยากให้มันตายหรอกค่ะ
    ไม่ว่าเมล็ดอะไร เราก็อยากให้มันเติบโต อยากจะเห็นว่ามันจะเปลี่ยนแปลงตัวเราไปในทิศทางไหน มันอาจดีอาจชุบชูจิตใจเรา หรือมันอาจทำให้เราแตกสลายในวันหนึ่ง
    แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ เราคิดว่าชีวิตก็เป็นแบบนั้น
    ถ้าเมล็ดนี้ทำให้เราแตกสลาย เราก็ไปหาเมล็ดใหม่มาปลูกก็ได้

    อืม แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังหวังว่าเมล็ดพันธ์ุจากหนังสือเล่มนี้จะเติบโตไปเป็นต้นไม้ที่ดีนะคะ

    —————

    เกร็ดนิดหน่อย

    - ในหนังสือมีการเสียดสีถึงหนังสือผจญภัยบนเกาะที่เล่าเรื่องด้านสวยงามหลายเรื่อง โดยที่ชัดเจนที่สุดคือ The Coral Island (R.M.Ballantyne) ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กชายสามคนที่ไปติดเกาะ ชื่อ ราล์ฟ แจ็ค (ใช่ค่ะ ชื่อเหมือนตัวเอกในเรื่องนี้เลย) และปีเตอร์คิน โดยในเรื่องนั้นนำเสนอภาพเกาะร้างที่ล้อมรอบด้วยแนวปะการังเป็นเกาะอันสุขสันต์ งดงาม ราวกับสรวงสวรรค์
    ซึ่งภาพเกาะอันราวกับสวรรค์นี้ได้ปรากฏขึ้นในช่วงแรกของ Lord of the flies ก่อนการมาถึงของสัตว์ประหลาด ก่อนความดำมืดจะเริ่มกลืนกินจิตใจของเด็กๆ และเปลี่ยนมันกลายเป็นเกาะแห่งความป่าเถื่อนโหดร้าย

    - Lord of the flies หรือ เจ้าแห่งแมลงวัน เป็นอีกชื่อของปีศาจหรือซาตาน Beelzebub ในคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ เป็นหนึ่งในเทวทูตผู้ร่วงลงจากสวรรค์ และกลายเป็นตัวแทนแห่งความตะกละตะกลาม (Gluttony) หนึ่งในบาปทั้งเจ็ด
    ในตำนานเล่าว่าแต่เดิม Beelzebub เป็นเทวทูตที่สอนให้มนุษย์รู้จักใช้สอยสิ่งของ เลือกอาหารการกิน แต่ต่อมาถูกซาตานชักชวนไปอยู่ด้วย เมื่ออยู่ในนรก จึงกลายเป็นผู้ล่อลวงจิตใจมนุษย์ มีรูปลักษณ์เป็นแมลงวัน และทุกที่ที่ไปจะมีฝูงแมลงวันติดตามไปด้วย เป็นภาพแทนของความตะกละ โรคร้ายและความตาย

    —————

    จบแล้วค่ะ ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ
    ใครอ่านเรื่องนี้แล้ว ชอบไม่ชอบ คิดเห็นยังไง มาคุยกันได้นะคะ
    ที่จริงเราอยากเขียนวิเคราะห์เรื่องนี้แบบจริงจัง แต่พอลองมาดูแล้ว เนื้อเรื่องและนัยยะที่แฝงอยู่ค่อนข้างซับซ้อนมากเลยค่ะ สัปดาห์นี้ขอเป็นรีวิวคร่าวๆ ก่อน แล้วถ้าทัน วันจันทร์หน้า เราจะมาลงวิเคราะห์เต็มๆ ตามแบบฉบับของเรานะคะ :)

    Schvala
    29 June 2020
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in