Imperium (2016, Daniel Ragussis, USA)
ดูแล้วนึกถึงที่ผู้กำกับคนนึง (จำไม่ได้แล้วว่าใคร ขี้เกียจค้น) เคยบอกประมาณว่าความน่าสังเวชอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการตกอยู่ในสภาพเปราะบางต่อความคิดฟาสซิสม์อย่างไม่อาจช่วยได้
แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (เล่นดีจริงๆ น่าจะเป็นนักแสดงจากพอตเตอร์ที่มีทางเลือกทางการแสดงน่าสนใจที่สุดแล้วใน 3 คน) เล่นเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ปลอมตัวเข้าไปตีสนิทกับกลุ่ม neo-nazi เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีในอนาคต โดยเคล็ดลับหนึ่งที่เจ้านายของเขาซึ่งเล่นโดย โทนี คอลเล็ตต์ (เสียดายบทไม่ค่อยส่ง) แนะคือ “มองพวกเขาให้เป็นคน” และนั่นแหละคือสิ่งที่หนังทำ
หนังทำให้เห็นภาพว่าบุคคลหรือสังคมของกลุ่ม neo-nazi หรือ white supremacist นั้นเป็นอย่างไร คือไม่ใช่ว่าเราไม่เคยอ่านหรือเห็นความคิดทำนองนี้มาก่อน ในทวิตเตอร์เราก็เห็นพวกทวีตของกลุ่ม alt-right, white supremacist หรือพวกคนที่สนับสนุนทรัมป์เยอะแยะ เรารู้อยู่แล้วว่ามันมี community แบบนี้อยู่ แต่การได้เห็นรายละเอียด เห็นเป็นคนแสดงในหนังมันกลับน่ากลัวกว่า พอเราเห็นถ้อยคำอย่างเช่น “คนขาวจงเจริญ สิทธิคนขาว-อำนาจคนขาว-อารยธรรมคนขาวจงเจริญ” หรือ “อารยธรรมถูกสร้างโดยคนขาวและการเข้ามาของคนยิวคนผิวสีจะทำให้คนขาวสูญสิ้น” ฯลฯ ถูกพูดออกมาผ่านปากคนจริงๆ มันก็เหมือนทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้แหละว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สถิตอยู่แค่ในโลกดิจิตอล หรือแค่ในเรื่องเล่าที่อ่านๆ มา แต่มันมีตัวตน มีเลือดเนื้อกายหยาบ และสืบทอดพงศ์พันธุ์มาในโลกแห่งความจริงจริงๆ
พอหนังใส่ความเป็นคนและรายละเอียดให้กับกลุ่มคนพวกนี้ (ว่าเออ ภายใต้ร่มของกลุ่มนีโอนาซีมันก็มีกลุ่มยิบย่อย อย่างกลุ่มอันธพาลโกนหัว หรือกลุ่มคนที่มีบ้าน มีครอบครัวดีๆ มีหน้ามีตา หรือกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธ ฯลฯ) เราจึงได้เห็นว่าที่จริงคนกลุ่มนี้อาจไม่ต่างอะไรจากเราๆ เลยก็ได้ พวกเขาบางคนก็ดูภูมิฐาน มีบ้าน มีครอบครัวอบอุ่น ไม่ต่างอะไรจากชนชั้นกลางทั่วๆ ไป (เผลอๆ เอาครอบครัวนี้ไปไว้ในบริบทอื่นอาจได้ดราม่าแฟมิลี่ซึ้งๆ ก็ได้ง่ะ 55) หากมองอย่างลวกๆ แล้ว กรอบคิดหรือค่านิยมที่พวกเขายึดถือก็ดูจะไม่ได้พิสดารพันธุ์ลึกไปกว่าคนที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งบาร์ริเคด กลุ่มลิเบอรัลต้านฟาสซิสม์อาจจะชอบโฆษณาตัวเองว่า ‘เราต้องต่อสู้เพื่อโลกในแบบที่เราอยากให้คนรุ่นลูกของเราอยู่’ แต่นั่นดูจะไม่ได้มีความหมายอะไรมาก เพราะนีโอนาซีก็พยายามต่อสู้เพื่อโลกในอุดมคติให้คนรุ่นลูกของพวกเขาเหมือนกัน และพวกเขาก็เชื่ออย่างสุดใจว่าสิ่งที่พวกเขาต่อสู้เพื่อนั้นคือสิ่งที่ดีจริงๆ และโลกที่พวกเขาต้องการคือโลกที่ดีจริงๆ ตรรกะบางอย่างที่เราเห็นว่าคนกลุ่มนี้ใช้ในการยืนยันความคิดหรือการกระทำตัวเองก็ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรานัก เช่นการใช้ทฤษฎีสมคบคิดไซออนนิสต์ต่างๆ นานามาเป็นตัวโบ้ยความไม่พึงพอใจที่พวกเขามีต่อโลก, การกีดกัน ’ความหลากหลาย’ เพื่อรักษา ‘ความบริสุทธิ์’ ในกลุ่มตัวเอง, การใช้สื่อหรือสถานีโทรทัศน์ของตัวเองในการกระจายข่าวและควบคุมการตีความข่าวของคนในกลุ่ม, หรือกระทั่งการมองย้อนกลับไปหยิบฉวยเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือข้อคิดบางอย่างที่แชร์กับคนทั้งโลกมาตีความให้เข้ากับ ideology ของตัวเอง จนกระทั่งหนังยื่นข้อสรุปมาให้ว่า การตกเป็นเหยื่อคือกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้กลุ่มทำนองนี้เกิดขึ้น (นั่นคือคุณตกเป็นเหยื่อของสังคม ของรัฐ คุณจึงพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองด้วยการรวมกลุ่ม หรือเชิดชูสิ่งที่เป็นของคุณ) สิ่งที่น่าคิดคือฟาสซิสม์ นีโอนาซี เผด็จการ กลุ่มหัวรุนแรง ฯลฯ คือปลายทางที่มนุษย์เราไม่อาจหลีกเลี่ยงจริงๆ หรือเปล่า เราจำต้องตกเป็นเหยื่อของกลไกความเป็นมนุษย์ของเราเสมอไปหรือไม่ และในบางที เรากับเขาที่ยืนกันคนละฟากฝั่งนั้นต่างกันแค่เพราะลมของชะตาชีวิตพัดเราให้ไปตกกันคนละที่แค่นั้นรึเปล่า เราจะ navigate ตัวเองเพื่อหลบหลุมพรางเหล่านี้ พร้อมทั้งยืนยัน ideology เพื่อโลกที่เราอยากเห็นจริงๆ ได้อย่างไร
(เซอร์ไพรส์กับหนังไม่น้อย ดีเลยทีเดียว รู้สึกมันลุ้นๆ กระตุ้นความคิดดี แต่แอบคิดว่าถ้ามันเฮี้ยนกว่านี้ หรือมีสไตล์ทางภาพยนตร์บางอย่างที่แข็งแรงกว่านี้มันคงจะเป็นหนังที่เราชอบได้สุดทางกว่านี้มากเลย / จริงๆ ดูหนังเน้นเรื่องพลังของถ้อยคำเยอะอยู่เหมือนกัน แต่เราคิดไม่ค่อยออกว่าแล้วมันยังไงต่อ 555 / เสียดายอีกอย่างคือตอนท้ายดูรีบๆ ง่ายๆ ไปหน่อย แต่โดยรวมก็ชอบแหละ ชอบเลย)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in