เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cinema SleeperSuburban Ghost
By the Time It Gets Dark - เราจะเขียนถึง 'ดาวคะนอง' อย่างไร?
  • ดาวคะนอง / By the Time It Gets Dark (2016, อโนชา สุวิชากรพงศ์, France-Netherlands-Qatar-Thailand)

    เราจะเขียนถึงดาวคะนองอย่างไร ... 

    อาจต้องเริ่มที่คำถามที่(ดูเหมือนจะ)เป็นคำถามตั้งต้นของหนัง นั่นคือเราจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านภาพยนตร์อย่างไร ผู้กำกับ (คุณใหม่-อโนชา) พยายามตอบคำถามดังกล่าวหรือพยายามจะ 'เล่า’ 6 ตุลาผ่านเรื่องราวของผู้กำกับที่พยายามเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลาอีกที เหตุการณ์ที่เป็นหมุดให้กับหนัง (อย่างน้อยก็คือในความรู้สึกเรา) คือการมาพักโรงแรมในจังหวัดน่านของผู้หญิง 2 คน หนึ่งคือแต้ว อดีตนักศึกษาคนเดือนตุลา อีกคนคือแอน ผู้กำกับที่สนใจจะนำชีวิตของอีกฝ่ายมาปรับเป็นเรื่องเล่าภาพยนตร์ และใช้การมาพักครั้งนี้เพื่อรีเสิร์ชเขียนบท

    ลำพังแค่การที่อโนชาทำหนังที่ว่าด้วยผู้กำกับที่จะทำหนังนั้น ก็ได้ใส่สถานะ metacinema ให้กับหนังไปแล้วเรียบร้อย นั่นคือเป็นหนังที่เล่นกับความจริงต่างจากหนังเรื่องอื่นทั่วไป ในขณะที่สถานะความจริงในหนังเรื่องอื่นมักเป็นความจริงที่เราพร้อมใจจะเชื่อว่าจริง หนังอิงประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคยจึงอาจจะเล่าประวัติศาสตร์ตรงๆ ให้คนดูรู้สึกร่วมเหมือนได้ไปอยู่ตรงนั้น แต่ metacinema เหมือนคอยหยิกคนดูให้รู้ว่าที่กำลังเกิดขึ้นบนหน้าจอเป็นเพียงภาพมายา เป็นเพียงการจำลองภาพของเหตุการณ์ดังกล่าว ดาวคะนองคอยบอกเราซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าตัวมันเป็นหนัง เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นนำมาวางต่อกัน และในหนังนั้นย่อมมีมุมมองของผู้เล่า/คนทำ/ผู้กำกับอยู่อย่างไม่อาจหนีได้พ้น เราจึงได้เห็นภาพที่แอนวิ่งคู่ขนานกับอีกแอนในป่า ความฝันของแอน(?)ถึงเห็ดราที่งอกเงย ผี(?)ชงชาที่แอนได้พบในห้วงฝัน-ตื่น หรืออยู่ๆ เรื่องเล่าประหลาดในวัยเด็กของแอนโผล่ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

    ในฉากหนึ่งที่แต้วถามแอนว่าทำไมถึงอยากทำหนังเล่าชีวิตเธอ แอนตอบว่าเพราะชีวิตแต้วมีคุณค่า มีความ eventful ในแบบที่เธอไม่มี แอนบอกว่าตัวเธอนั้นธรรมดา มีชีวิตที่ banal และ mundane ในขณะที่แต้วเป็นถึง “ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” การที่แต้วตอบกลับมาแอนเข้าใจผิด... ว่าจริงๆ แล้วตัวเธอไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตแต่เป็นเพียง “ผู้รอดชีวิต” นั้นก็ชวนให้คนดูใคร่สงสัยว่าในการเอาชีวิตคนอื่นมาเล่า ไม่ว่าจะเป็นหนัง เป็นละคร หรือนิยาย ผู้เล่ามีวันที่จะเข้าใจตัว subject ได้อย่างครบถ้วนตรงกับความเข้าใจที่ subject มีต่อตัวเองได้จริงๆ หรือ? เราสงสัยในแบบที่หญิงสาวพนักงานร้านอาหาร/กาแฟในโรงแรมสงสัย ว่าเราจะมีสิทธิ์มีเสียงอะไรไปพูดแทนเจ้าของเรื่องอย่างต้องตรงกับความจริงได้จริงๆ แอนจะเล่าเรื่องของแต้วโดยไม่เจือปนการตีความของแอนได้อย่างไร

    มันจึงวิพากษ์การเล่าถึงประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะหน้าประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายเสียจนรัฐพยายามเก็บกวาดไปซ่อนไว้ใต้พรม) ด้วยการแทบจะไม่ได้จำลองภาพเหตุการณ์ (มีบ้างแต่เราเห็นเป็นภาพน้อยมาก) แต่เน้นหนักไปที่การ ‘พยายาม’ จำลองหรือพยายามเล่านั่นแหละ เช่นนี้เองหนังจึงมีลักษณะสะท้อนในตัวเอง หรือ self-reflexive ได้อย่างอลังการสุดๆ คือนอกจากจะใส่ภาพกระจก ภาพเงาสะท้อน ภาพบิดเบือนผ่านกระจกมาไว้ในหนังอยู่เรื่อยๆ เรื่องราวในหนังยังสะท้อนตอบโต้กันเองอย่างมหาศาล ดังเช่นที่อโนชาพยายามเล่าเรื่อง 6 ตุลาผ่านความพยายามของผู้กำกับอีกคน (แอน) ตัวแอนเองก็ดูเหมือนจะพยายามเล่าเรื่อง 6 ตุลาต่ออีกทอด (เป็นพยายามในพยายาม 55) การใส่ฉากแต้ว-แอน ที่รับบทโดยนักแสดงอีกชุด (คุณต่าย-เพ็ญพักตร์กับคุณทราย) จึงพิเศษมาก ตรงที่มันเป็นภาพจำลองของภาพจำลองอีกทอด ซึ่งตัวมันก็ได้ส่งต่อให้เกิดภาพจำลองในตัวมันเองได้อีกจำนวนไม่รู้จบ (คือการเล่าซ้ำการมาพักโรงแรมของแต้วกับแอนนั้นกลายมาเป็น springboard ให้เกิดภาพจำลองแบบนี้ได้อีกไม่รู้จบ)

    แน่นอนว่าหนังไม่ได้หยุดตัวเองไว้ที่เรื่องของผู้กำกับกับผู้รอดชีวิตในโรงแรม จากจุดนั้นหนังทวีการยั่วล้อกับความจริงมากขึ้น ทำให้คนดูระแวง (หรือระแวดระวัง) มากว่าอะไรจริงหรือไม่จริง (อันใน ‘หนัง’ อันไหน ‘ไม่หนัง’) ไม่เพียงไม่อวดอ้างตนว่าเป็นผู้รู้ซึ้งถึงความโหดร้ายของ 6 ตุลา ยังใส่มุมมองของผู้สร้างกระทั่งขยับขยาย ทับซ้อน ซ้อนในซ้อน แตกหน่อออกเป็นอีกหลากหลายเรื่องราวภายใน ทั้งเรื่องของสาวร้านกาแฟที่เปลี่ยนงานต่อไปเรื่อยๆ กับเรื่องของดาราหนุ่ม ทำให้เราได้เห็นความโยงใยของหลากหลายชีวิตที่ส่งผลกระเพื่อมกันไปมา (โดยเฉพาะชีวิตของคนในวงจรของ ‘การสร้างภาพ’ หรือทำหนัง) ซึ่งมันอาจไม่ใช่ผลต่อกันทางตรง หากเชื่อมโยงกันด้วยเส้นใยบางๆ ของประวัติศาสตร์... นั่นทำให้เผลอๆ วิธีการเข้าถึงประวัติศาสตร์ของดาวคะนองนั้นอาจทรงพลังกว่าการจำลองภาพให้เห็นจะๆ เลยด้วยซ้ำ ในแง่หนึ่งมันบันทึกภาวะ ‘ไม่สามารถพูดถึงความโหดร้ายได้’ ลงไปด้วย มันรู้ตัวว่าความโหดร้ายที่ว่านั้นอาจโหดร้ายเสียจนไม่อาจถูกจำลองได้อีก และชีวิตที่ดำเนินต่อไปจากนั้นล้วนได้รับผลกระทบ -หรือดำรงสถานะผู้อยู่รอด- จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ทางหนึ่ง... ความโหดร้ายของ 6 ตุลาจึงเป็นเหมือนเงามืดที่ครอบทับชีวิตตัวละครและ reality ของหนังเรื่องนี้

    อนึ่ง การมีอยู่ของตัวละครหญิงสาวผู้เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ นั้นเองก็ทรงพลังเหลือเกิน สถานะของเธอเป็นเหมือนคนที่เห็นและรู้ความเป็นไปที่ซุกซ่อนอยู่ในเบื้องใต้ฉากอันสวยงามของความเป็นจริงอันเป็นสุขที่ทุกคนต่างยอมรับ เธอเหมือนกับอยู่ในฉากหลังความเป็นไป เราเห็นเธอทำงานทำความสะอาดห้องน้ำ ขัดเงากระจกเปรอะเปื้อนให้ใสสะอาด เก็บกองขยะปฏิกูลไปทิ้ง หรือเดินออกไปเสิร์ฟเครื่องดื่มบนเรือหรูแล้วกลับมาเก็บกวาดเศษซากอาหารทิ้งอยู่ที่หลังเรือ ตัวละครตัวนี้เหมือนมี metacinematic quality (ศัพท์อะไรก็ไม่รู้ 555) อะไรบางอย่างในตัวมันเอง คือทุกๆ ครั้งที่เธอโผล่มาเธอจะ disrupt หรือขัดจังหวะอะไรบางอย่างของหนัง (ในความรู้สึกของเรา) disrupt จนเกือบจะ comedic แต่ก็ไม่ถึงกับหลุดหัวเราะก๊าก อาจเป็นได้ว่าเธอเป็นตัวละครที่กระทุ้งคนดูเข้าหาความจริงมากขึ้น หรืออาจเป็นได้ว่าเธอแทนภาพของคนไทยบางกลุ่มที่ยังตกเป็นเหยื่อของเสียงเล่าหลักของรัฐอยู่ อย่างที่บอกไปว่าเธอทำงานอยู่กับขี้อยู่กับเศษอาหาร ปฏิกูลคือสิ่งที่เธอจดจ้องแม้เธอจะวนเวียนอยู่ในโรงแรมชั้นดี คอนโดมิเนียมหรู หรือเรือล่องแม่น้ำตระการตา ชวนให้คิดว่าระหว่างที่เรือกำลังล่องผ่านยอดโดมธรรมศาสตร์ หรือวัดวาอารามงามงด เธอเห็นอะไรในนั้น ความเรืองรองของมหานครและสติปัญญา หรือประวัติศาสตร์แห่งการกดทับและภาพอันไม่น่าพิสมัยที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในมัน

    ที่แต้วเล่าถึงภาพความโหดร้ายที่เธอเห็นผ่านจอทีวีในวันนั้น เธอบอกว่าเธอคงไม่อยากอยู่ในสังคมที่ยอมปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป แต่สังคมนั้นก็ได้ดำเนินฝีเท้าของมันเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ปัจจุบันที่ผู้คนยังเริงรื่นอยู่ท่ามกลางไฟประดับระยับ และเต้นรำในแสงสีกับเสียงเพลงเร้าใจต่อไป แม้ประวัติศาสตร์นองเลือดจะยังคงทอดเงาดำมืดของมันมาทาบทับชีวิตของพวกเขาอยู่-โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัวเลย-ก็ตาม

    ดาวคะนองจึงเป็นเห็ดราที่งอกเงยมาจากซากโหดร้ายของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของไทย อาจมองได้ว่าหนังทั้งเรื่องเป็นภาพสะท้อนไม่รู้จบจากกระจกบานใหญ่ของประวัติศาสตร์ ที่ส่งสัญญาณขาดรอนเล่าเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวโยงแต่ก็เชื่อมกันอย่างแนบชิด หรืออาจเป็นบทสนทนาระหว่างเรื่องราวหลายๆ เรื่องที่ส่งมาโต้ตอบกับเราคนดู ความซับซ้อนของหนังอาจเพื่อยืนยันสถานะความเป็นหนังของตัวมันเอง วิพากษ์วิธีที่เราจำลองความจริงลงไปในหนัง ให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นหนังกับความเป็นจริง แต่บางทีความเป็นจริงที่รายล้อมเราอยู่ทุกวันก็ดูเหมือนจะมีลักษณะ meta หรือซับซ้อนซ่อนเงื่อนในตัวมันเองอยู่แล้วหรือเปล่า? มันจึงอาจไม่มีวิธีใดที่ภาพยนตร์จะสามารถพูดเรื่อง 6 ตุลาได้อย่างเต็มปากเต็มคำนอกจากการเป็นหนัง meta ที่แสดงให้เห็นภาวะ meta ของความจริง ก่อนนำไปสู่การพังทลายลงของกรอบภาพและตัวภาพเองเพื่อที่คนดูจะได้เดินออกจากโรงไปเจอกับความจริงในชีวิตจริงกันต่อไป

    ในความเป็นจริงที่เราไม่อาจพูดเรื่อง 6 ตุลากันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ อย่างน้อยเราก็มีดาวคะนองที่บันทึก -พยายามบันทึก- มันเอาไว้ เพราะก็เหมือนอย่างที่สายโทรศัพท์ที่โทรมาแจ้งผู้กำกับสาวในหนัง (อีกคน - ที่เล่นโดยคุณโสรยา นาคะสุวรรณ) ว่าดาราหนุ่มได้ตายลงไปแล้ว แต่ภาพที่เขาขับรถบนทางด่วนไปดาวคะนองก็ยังคงเล่นอยู่บนจอต่อไป... ด้วยกับภาพยนตร์ -ภาพ- นี่เองที่ความตายหาใช่จุดสิ้นสุด ราวกับว่าภาพปลุกผีให้ชีวิตคน เรื่องราว และประวัติศาสตร์ของความเจ็บปวดฟื้นมาดำรงอยู่ได้ แต่ก็นั่นแหละ... มันก็เป็นเพียงภาพ ภาพที่แตกสลายลงได้อย่างง่ายดายในท้ายที่สุด

    เราจะเขียนถึงดาวคะนองอย่างไร

    อาจต้องจบที่การบอกว่าการดู 2 รอบก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจทุกอย่างในหนัง (ก็เหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆ กระมัง) และเราก็ไม่อาจหาญกล้าว่าสิ่งที่ได้เขียนลงไปคือสิ่งที่หนังเป็น
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in