Midnight Special (2016, Jeff Nichols, USA-Greece)
ชอบเลย แม้จะยังชอบไม่สุดเท่าที่อยากชอบเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นหนังที่น่าสนใจมากๆ นอกจากการผสมผสานองค์ประกอบของ genre ที่เยอะไปหมด (ตั้งแต่เป็นเรื่องหนีหัวซุกหัวซุน มาเป็นหนังสืบสวนสอบสวน หนังซูเปอร์ฮีโร่ หนังลัทธิคัลต์ หนังวันสิ้นโลก หนังไซไฟ ไปจนหนังดราม่าครอบครัว) เราชอบที่หนังพาคนดูเข้าสู่สถานการณ์เรื่องราวโดยไม่เกริ่นให้ข้อมูลมากมาย มันค่อยๆ คลี่คลายตัวเองแล้วเล่นกับความรู้-ไม่รู้ของคนดูไปเรื่อยๆ โดยความรู้-ไม่รู้ (หรือความเชื่อ-ไม่เชื่อ) ของตัวละครเองก็ยังเป็นแก่นที่ขับเคลื่อนเรื่องราว
หนังเล่าเรื่องของ รอย อดีตสมาชิกลัทธิที่ลักพา อัลตัน เด็กชายวัย 8 ขวบที่เป็นลูกชายของตน (ซึ่งถูกชุบเลี้ยงอยู่ในลัทธิที่เชื่อว่าเขาคือผู้ลงมาโปรด) ออกเดินทางไปทำภารกิจสำคัญบางอย่าง ระหว่างทางก็โดนไล่ล่าทั้งจากตัวลัทธิเองและจากทางการ คนดูถูกทิ้งให้สงสัยว่าตัวละครพากันหนีไปไหน ภารกิจที่ว่าคืออะไร และพลังปล่อยลำแสงจากตาของอัลตันมีความหมายอย่างไร ความงดงามอีกประการของหนังอยู่ที่ภารกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ชนิดที่ว่าฉันจะเอาพลังไปกู้โลก ช่วยมนุษยชาติ เปล่า ภารกิจนั้นเป็นไปเพื่อเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ และพลังพิเศษก็ไม่ได้แผ่มาเกื้อกูลให้เป็นประโยชน์กับใครนอกจากตัวอัลตันเอง (แถมยังสร้างความเสียหายหรือความลำบากให้คนอื่นด้วยซ้ำ)
ว่าแต่พลังพิเศษที่ว่ามัน ‘พิเศษ’ เพราะอะไร? เพราะมันคือความแตกต่าง เพราะอัลตันไม่เหมือนเรา เพราะเรามองอัลตันจากมุมของมนุษย์ปุถุชนใช่หรือไม่?
สำหรับคนดูอย่างเรา พลังพิเศษของอัลตันเป็นปริศนาก็จริง แต่เราคงไม่ตีความมากไปกว่าคอยเฝ้าดูว่าหนังจะเฉลยว่าอะไร (เพราะเรารู้ว่ามันเป็นแค่หนัง) แต่สำหรับตัวละครในหนัง ลำแสงที่พุ่งออกมาจากดวงตาคือแสงส่องทางรอดทางจิตวิญญาณของบรรดาผู้ศรัทธาในลัทธิ หากมันอาจเป็นลำแสงทำลายล้างไม่ต่างจากขีปนาวุธในสายตาของผู้สืบสวนอย่างตัวเซเวียร์ (อดัม ไดรเวอร์นี่เล่นบท goofyๆ แบบนี้ดีจริงๆ) ตัวละครในเรื่องติดกับอยู่กับบ่วงแห่ของความเชื่อที่แตกต่างกันไป ที่เรียกว่าเป็นความเชื่อนั้นอาจเป็นได้เพราะว่าพวกเขาต่างก็ไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าพลังของอัลตันคืออะไร จึงเติมเต็มความไม่รู้ต่อสิ่งที่พิเศษนั้นด้วยการตีความและความเชื่อของตน แสงสว่างแห่งปัญญาของอัลตัน(ที่อาจเผยให้ได้รู้ถึงความจริงที่เหนือขึ้นไป)กลายมาเป็นแสงแห่งความเชื่ออย่างเสียมิได้
อาจกล่าวได้ว่าหนังกร่อนกะเทาะให้เห็นเนื้อแท้ของความเชื่อ ว่ามันคือประสบการณ์ subjective ของคนที่ถือความเชื่อนั้นล้วนๆ วัตถุของความเชื่อ (สิ่งที่เราเชื่อใน) อาจเป็นคนละอย่าง คนละเรื่อง คนละสิ่งกับสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นเลยก็ได้ ตัวละครที่ไล่ล่าอัลตันต่างก็วิ่งไล่ไขว่คว้าหาแสงสว่างอย่างมืดบอด กระทั่งจับเอาวัตถุของความเชื่อมาตีค่าตีความแล้วบิดมันเข้ามาให้ตรงกับเจตจำนงหรือข้อสันนิษฐานตั้งต้นของพวกเขาเอง หารู้ไม่ว่าวัตถุของความเชื่อของพวกเขา (ตัวอัลตัน) นั้นก็มีเจตจำนงของตัวมันเองเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจตจำนงของวัตถุของความเชื่อหาได้สอดรับกับเจตจำนงของผู้เชื่อ (ลองจินตนาการถึงเจตจำนงของพระเจ้าที่หาได้สอดคล้องกับเจตจำนงของผู้ศรัทธาดูสิ!) ความเชื่อในลักษณะนี้จึงกลายมาเป็นตัวกีดขวางการเข้าถึงความรู้หรือความจริง เพราะมันเป็นการพยายามเข้าหาความจริงที่ปนเปื้อนด้วยปมส่วนบุคคลนั่นเอง
ในส่วนของเจตจำนงของผู้เชื่อที่สอดคล้องกันกับเจตจำนงของสิ่งที่ถูกเชื่อนั้น เห็นแต่จะเหลืออยู่แค่ตัวรอย ซาร่า และลูคัส (ผู้เป็นพ่อแม่และสหายผู้ช่วยเหลือ) ซึ่งเชื่ออย่างหมดใจในสิ่งที่อัลตันเป็นและแสดงให้เห็น พวกเขาไม่พยายามจะบิดเอาพลังของอัลตันมาสนองตอบต่อ agenda ของตัวเองอย่างที่คนอื่นทำ เช่นนี้เองหนังจึงตบเข้ามาปมครอบครัวได้ทรงพลัง อบอุ่น และชวนใจสลายไม่น้อย เมื่อการเข้าใจ เชื่อ และยอมรับในตัวลูกอย่างที่ลูกเป็นคือการยอมให้ลูกเติบโตในโลกที่เขา belong to แม้ตัวพ่อแม่เองจะไม่ได้ belong ต่อโลกใบนั้นเลยก็ตาม นี่อาจเป็นปมที่ธรรมดาสามัญที่สุดที่คนเป็นพ่อเป็นแม่เผชิญเลยก็ว่าได้ คือการเฝ้ามองลูกตัวเองเติบโตไปมีชีวิตของเค้าเอง ชีวิตที่พ่อแม่ไม่อาจเข้าไปสอดส่องสายตาหรือเฝ้ามองได้ตลอดเวลาเหมือนตอนลูกเป็นทารก และหนังก็แสดงให้เห็นฉากที่พ่อแม่ยอมปล่อยมือจากลูกตัวเองได้อย่างเรียบง่าย ไม่ฟูมฟาย ทว่าทรงพลังสุดๆ ซึ่งการแสดงของไมเคิล แชนน่อนกับเคียร์สเท่น ดันสต์ (การแสดงของดันสต์นี่ดูแล้วรู้สึกหนักมาก คือการแสดงสีหน้าของเธอมันเหมือนชีวิตพังแล้วพังอีกไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆ หนังก็แทบจะไม่ได้เล่าเลยว่ามันพังยังไง) ก็มอบโมเมนตัมทางอารมณ์ที่หนังต้องการได้อย่างงดงาม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in