เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cinema SleeperSuburban Ghost
Foreign Parts: ความเป็นไปในชุมชนอะไหล่ต่างด้าว
  • Foreign Parts (2010, Verena Paravel/J.P. Sniadecki, USA-France)

    นี่คือสารคดีของ Sensory Ethnography Lab (SEL - แล็บมานุษยวิทยาเชิงประสาทสัมผัสที่สร้างหนังสารคดีเลื่องลืออย่าง Leviathan ซึ่งจับภาพบนเรือประมงกลางทะเลได้ชวนคลื่นเหียนหลุดโลก) ถ่ายทอดเรื่องชีวิตคนชุมชนร้านค้าอะไหล่/ซ่อมรถยนต์ในย่านควีนส์ของนิวยอร์ค โดยมีคอนฟลิคต์หลัก ๆ คือชุมชนกำลังโดนทางการยึดพื้นที่เอาไปพัฒนาใหม่ แล้วหนังกระตุ้นให้ครุ่นคิดมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่มัน(ดูเหมือน)แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากสำรวจและถ่ายทอดความเป็นไปของผู้คนในชุมชนนี้ เราได้เห็นทั้งความลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญ ความสัมพันธ์และความรักที่พวกเขามีให้กันในขณะที่พวกเขาพยายามเอาตัวรอดต่อไปในโลกใบเล็ก ๆ ที่ใกล้จะพังครืน

    ชอบการวางตำแหน่งแห่งหนของคนทำ สังเกตจากวิธีพูดคุยและพฤติกรรมคนในชุมชนก็รู้เลยว่าคนทำเก่งและเข้ากับคนในชุมชนได้ดีมาก เพราะมีหลายฉากที่หนังเผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนหน้ากล้องกับคนหลังกล้อง นั่นก็คือคนทำไม่ได้พยายามแสร้งเหมือนว่าตัวเขาและเธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น คือในขณะที่หนังสารคดี/สารคดีบางเรื่อง คนดูสัมผัสถึงระยะห่างระหว่างคนทำกับซับเจ็คต์ได้ชัดมาก ๆ บางเรื่องคนทำอาจจะถามคำถามซับเจ็คต์ไปตรง ๆ หรือบางเรื่อง คนทำจะพยายามทำเหมือนตัวเองไม่ได้อยู่ตรงนั้นไปเลย สำหรับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่คนทำก็อยู่หลังกล้องแล้วปล่อยให้คนหน้ากล้องทำนู่นทำนี่ของเขาไปนั่นแหละ แต่พอมีสถานการณ์ที่มันจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับซับเจ็คต์ คนทำก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปมีบทบาทหรือส่วนร่วม เช่น ฉากที่ผู้หญิงคนหนึ่งในชุมชนกำลังเล่าว่าผัวตัวเองโดนจับเข้าคุก แล้วอยู่ ๆ ผัวเธอโทรเข้ามือถือทีมงานพอดี (ยังไงของมันก็ไม่รู้อ่ะนะ) ปรากฏว่าคนทำมันก็เดินเข้าจอไปยื่นโทรศัพท์ให้เลย หรือตอนที่ผัวมันกลับมา มันก็กอดจูบกับเมียไป แล้วหันมาทักทายของคนทำที่อยู่หลังกล้อง คนทำก็ทักตอบจับมือแสดงความยินดีอะไรของมันไป หรือจะในอีกฉากที่ดีมาก ๆ คือคนทำเต้นรำกับคุณยายคนหนึ่ง (ที่เหมือนจะเป็นนายแม่ในชุมชนนั้น) แล้วคือมันก็เต้นหมุน ๆ กันไปทั้ง ๆ ที่ยังถือกล้องถ่ายอยู่อย่างนั้นอ่ะ ภาพมันก็หมุน ๆ แล้วก็เห็นยายเต้นไปหัวเราะไปอยู่หน้ากล้อง ซึ่งเป็นชั่วขณะที่งดงามมากจริง ๆ 

    พอคนทำวางตัวเองอยู่ในลักษณะนี้ มันไม่เพียงแต่จะแสดงให้เราเห็นความเป็นไปในโลกที่หนังหยิบเอามาบอกเล่า แต่ยังได้เห็นว่าตัวคนทำเองก็มีส่วนร่วมในโลกใบนั้น จุดนี้ Foreign Parts จึงยืนยันกับเราว่า ในการศึกษาความเป็นไปของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง (เราอาจกล่าวได้ว่ามันก็คือการศึกษาเชิงมานุษยวิทยานั่นแหละ) คนที่เข้าไปศึกษา (ซึ่งเป็นคนนอกชุมชน) ไม่อาจละทิ้งมุมมองหรือทัศนคติที่ตัวเองมีอยู่ก่อนหน้าได้... นั่นคือแทนที่คนทำจะตัดบทบาทของตนเองในฐานะผู้มองเข้าไปในชุมชนออกไป กลับใส่ตัวเองเข้าไปเลยเพื่อชี้ว่าความจริงที่ปรากฏอยู่ในหนังเป็นความจริงที่ปนเปื้อนด้วยมุมมองของคนนอก ว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเอากล้องเข้าไปถ่ายความเป็นไปบางอย่าง 'การจัดกระทำ' (manipulation) จำต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ความวิเศษของ Foreign Parts (หรือเอาเข้าจริง ๆ ก็หนังเกือบทุกเรื่องของ SEL) อยู่ตรงที่มันหลีกเลี่ยงที่จะสร้างภาพลวงให้คนดูตายใจ ภาพที่ปรากฏในหนังหาใช่สาส์นความจริงเพียงหนึ่งเดียวไม่ และเป็นหน้าที่ของคนดูที่จะต้องกระตือรือร้นเข้าหาความจริง

    เช่นนี้เอง Foreign Parts จึงเชื้อเชิญให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมกับโลกในหนังไปด้วยอย่างแยบยล ซึ่งมันยิ่งมีประสิทธิภาพเมื่อหนังพยายามทำให้เห็นว่าโลกของผู้คนในชุมชนมันเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับวิถีชีวิตของเขาอย่างไร อาจบอกได้ด้วยซ้ำว่า ในขณะที่วิถีชีวิตของพวกเขาผสานอยู่กับเครื่องยนต์ พวกเขาเองก็ดูจะไม่ต่างไปจากเครื่องยนต์เหล่านั้นเช่นกัน (นี่เองคือมุมมองจากคนนอกที่มองเข้าไปข้างใน) เพราะในขณะที่ผู้คนนอกชุมชนต่างพากันขับรถยนต์มาหาพวกเขา เพื่อให้ซ่อมแซมหรือเพื่อทิ้งเอาไว้รอการรื้อให้กลายเป็นอะไหล่นั้น วิถีชีวิตของพวกเขาเองก็คอยวันที่จะถูกคนที่มีอำนาจมากกว่า มีทุนทรัพย์มากกว่ามารื้อทิ้งอย่างไม่ไยดีเฉกเช่นกัน... หนังทำให้เห็นภาพโดยรวมถึงสังคมเราทุกวันนี้ ที่วัตถุ-ทุน-เครื่องยนต์มีความสำคัญมหาศาลต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมาตัดสินว่าดีว่าชั่วแต่อย่างใด เพราะหนังบอกเป็นนัยว่าหากเครื่องยนต์ได้กลายมาเป็นส่วนต่อขยายของมนุษย์ (เครื่องยนต์กลายมาเป็นยานพาหนะที่พามนุษย์ไปไหนต่อไหนได้โดยไม่ต้องก้าวขา) มนุษย์เราเองจะต่างอะไรจากส่วนต่อขยายของเครื่องยนต์ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบซับซ้อนที่เราสรรค์สร้างกันขึ้นมา สังคมมนุษย์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยระบบบางอย่าง แต่ก็ไม่วายต้องกีดกัน แบ่งแยกเราออกจากกันอย่างน่าเศร้า -- ไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเรียกคนในชุมชนนั้นว่าเป็นคนต่างด้าวได้หรือไม่ (เพราะที่เห็นก็มีทั้งคนขาว ดำ ละติน ยิว) แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือด้วยกับระบบสังคมที่ว่า พวกเขากลับกลายเป็นเพียงส่วนตกค้างของระบบ เป็นคนต่างด้าว (พูดให้สุดกว่านั้นคือชิ้นส่วนอะไหล่ต่างด้าว -ตามชื่อหนัง) ต่อโลกของพวกเขาเอง

    ภาพที่เห็นบ่อย ๆ ในหนังคือในขณะที่ธุรกิจอะไหล่รถยนต์ดำเนินไปอยู่เบื้องหน้า เราได้เห็นรถไฟฟ้าวิ่งแล่นภาพชุมชนนั้นไป (เครื่องบินที่บินผ่านไปบนท้องฟ้า/ไปในเงาสะท้อนของแอ่งน้ำขัง), ฝูงนกที่บินกระจายกันออกไปในท้องฟ้า ฯลฯ มันต่างอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไม่อาจแยกขาด ไม่มีวันที่รถไฟจะไม่วิ่งผ่านเขตนั้น เครื่องบินก็ไม่มีวันหยุดบินผ่านน่านฟ้านั้น และเช่นเดียวกับฝูงนกที่คอยกลับมาแถบชุมชนนั้นตามฤดูกาล ...แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าคนที่นั่งบนเครื่องบินหรือรถไฟฟ้าก็คงไม่ได้เหลียวแลลงมามองคนในชุมชนนั้น พวกเขาต่างก็แยกกันมีชีวิตในวิถีของตนกันต่อไป เผชิญกับความยากลำบากในแบบฉบับของตนกันต่อไป มันจึงงดงามที่หนังเรื่องนี้พยายามเปล่งเสียงให้คนในชุมชนนี้ -ที่ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากในกระแสหลักของโลก- และทำให้มองเห็นว่ามนุษย์เรานั้นใกล้ชิดกันเพียงไร ต่อให้วิถีชีวิตแยกเราจากกันจนทำให้หลงลืมข้อเท็จจริงนั้นไปบ้างก็ตาม
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in