เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
สงคราม สถานภาพ By พีระ เจริญวัฒนนุกูล
  • รีวิวเว้ย (1289) "สงคราม" เป็นคำที่หลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่าในโลกยุคปัจจุบัน (2566) จะยังมีเหตุการณ์สงครามขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ในโลกยุคที่ระเบียบโลกให้ความสำคัญกับการต่อสู้กันโดยไม่ใช้อาวุธ กระทั่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน อุบัติขึ้นอีกครั้งในฐานะของสงครามในยุคใหม่ที่หลายคนมีความวิตกขึ้นในช่วงแรกของสงครามว่า "เหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่" แน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปนับจากวันที่สงครามอุบัติขึ้นเราอาจจะได้คำตอบแล้วว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้นำพาไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หากแต่หลายคนยังคงแสวงหาคำตอบของคำถามว่า "อะไรทำให้สงครามในครั้งนี้อุบัติขึ้น" นักวิชาการด้านความมั่นคงและด้านรัฐศาสตร์ ต่างคาดเหตุผลของสงครามไปต่าง ๆ นา ๆ ในหลากหลายรูปแบบ เราอาจจะได้ยินเหตุผลในหลายข้อกระทั่งเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ น่าสนใจว่าหากเราลองมองปรากฏการณ์สงครามหรือเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นผ่านกรอบทฤษฎีที่ท้าทายความเคยชินอย่างการแย่งชิงทรัพยากรและดินแดน เราจะสามารถอ่านเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง
    หนังสือ : สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ
    โดย : พีระ เจริญวัฒนนุกูล
    จำนวน : 352 หน้า
    .
    "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" หนังสือที่ชักชวนให้ผู้อ่านได้มองเห็นปัญหาบางประการที่อาจจะเคยถูกมองข้ามหรือละเลยในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยข้อความบนปกหลังของหนังสือบอกเล่าเอาไว้ว่า "เหตุใด "เยอรมนี" ชาติที่ยุทธศาสตร์ทางทะเลไม่สำคัญเท่ากับยุทธศาสตร์ทางบก กลับต้องการสร้างกองเรือรบแข่งขันกับมหาอำนาจทางทะเลที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินอย่างอังกฤษ ... เหตุใด "ญี่ปุ่น" ชาติตะวันออกที่ถูกปรามาสจากชาติตะวันตกว่าไร้ความศิวิไลซ์ ถึงหาญกล้าทำสงครามกับจักรวรรดิรัสเซียที่มีกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าซาร์ ... เหตุใด "ไทย" ชาติเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกล้าเปิดฉากโจมตีและเป็นปฏิปักษ์กับจักรวรรดิฝรั่งเศสในดินแดนอินโดจีน" ข้อความที่ปรากฏบนคำโปรยปกหลังของ "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" เป็นการบอกเล่าในเบื้องแรกว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงเหตุการณ์ที่หลายคนอาจนะไม่คาดคิด
    .
    ว่าเหตุใดวันหนึ่งประเทศที่ไม่ได้ชำนานเรื่องการรบทางทะเลถึงประสงค์เข้าสู่สนามแข่งแห่งนี้ อะไรที่ทำให้ประเทศที่มีขนาดเล็กและเป็นเพียงหมู่เกาะเมื่อเทียบกับประเทศที่มรอาณาบริเวณใหญ่ที่สุดในโลกถึงกล้าทำสงครามและได้รับชัยชนะเหนือประเทศใหญ่ อะไรที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงหาญกล้าท้าทายมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส ประเทศเหล่านี้อาจจะไม่ได้หาญกล้าหรือบ้าบิ่นที่จะงัดข้อกับเหล่าประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า หากแต่ในการท้าทายและเบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นจาก "ความคาดหวัง" และ "การแสวงหาสถานะและจุดยืน" ของประเทศตัวเองเพื่อชดเชยบางสิ่งบางอย่างที่หายไป
    .
    สำหรับเนื้าหาของ "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" แบ่งออกเป็น 1 บทนำและ 6 บทหลัก ที่จะพาผู้อ่านทำความเข้าใจและแสวงหาคำตอบว่าประเทศเหล่านี้ไปกิน "ดีหมี" มาหรือไรจึงหาญกล้าท้าทายในสิ่งที่ตัวเองไม่ชำนานและไม่มรกำลังเพียงพอ โดยเนื้อหาของ "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" แบ่งเป็น
    .
    คำนำ
    .
    (1) บทนำ: สถานภาพทางสังคมกับการเมืองระหว่างประเทศ
    .
    (2) กรอบแนวคิดในการศึกษา: ทฤษฎีด้านสถานภาพและการเป็นที่ยอมรับ
    .
    (3) "ครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะไม่หดหัวอีกต่อไป": สถานภาพและนโยบายแข็งกร้าวของเยอรมนี ค.ศ. 1890-1914
    .
    (4) "สงครามระหว่างชาติศิวิไลซ์ควรค่าแก่การต่อสู้ยิ่งนัก": แผนโค่นรัสเซียของญี่ปุ่น ค.ศ. 1904-1905
    .
    (5) "เตรียมตัวเถิดพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย": ไทยรบฝรั่งเศส พ.ศ. 2483
    .
    (6) บทสรุปและนัยต่อกรณีอื่น ๆ
    .
    สำหรับเนื้อหาในแต่ละส่วนของ "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" การวางโครงวิธีการเขียนและการเล่าเรื่อง สำหรับผู้อ่านไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้โดยเริ่มจากบทที่ 1 หากแต่ผู้อ่านสามารถเริ่มที่บทใดก่อนก็ได้ (แม้แต่จะเริ่มที่บทสรุปก่อนก็ตาม)
    .
    "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" แสดงให้เราเห็นแง่มุมหนึ่งของการเกิดขึ้นของสงครามหรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในโลกโดยเฉพาะเหตุการณ์สงคราม ว่าในบางครั้งสงครามอาจจะมิได้เกิดขึ้นจากความต้องการในการขยายอำนาจหรือการล่าอาณานิคม แต่บางครั้งบางคราสงครามก็อาจจะเกิดขึ้นจากความต้องการในการ "แสวงหาสถานภาพ" ของรัฐหนึ่ง ๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือว่า "หมุดหมายของหนังสือเล่มนี้คือการชี้ให้เห็นว่า 'ความกังวลด้านสถานภาพระหว่างประเทศ' สามารถผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบายต่างประเทศที่อาจผิดแปลกไปจากปกติได้" (น. 17) น่าสนใจว่าหากเราลองเอาแนวคิดและกรอบทฤษฎีที่ปรากฏใน "สงคราม สถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ" มาอ่านกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เราอาจจะมองเห็นมุมมองที่แตกต่างต่อเหตุการเหล่านั้นได้อย่างน่าสนใจ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in