รีวิวเว้ย (1670) การพูดเรื่อง "ความตาย" และ "การตาย" ในสังคมไทยดูจะไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดยเฉพาะในครั้งอดีตที่การพูดถึงความตายแทบจะเป็นคำต้องห้าม ซึ่งมักถูกห้ามด้วยคำว่า "คนเขาถือกันว่าห้ามพูด" ดังนั้นในอดีตความตายและการตายดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ถูกทำให้ไกลตัว และมันมักถูกพูดถึงเฉพาะในทางศาสนาในมิติของบาปบุญเท่านั้น หากแต่ในปัจจุบันการพูดเรื่องความตายและการตาย ในสังคมไทยดูจะเปิดกว้างมากขึ้นและมิติของการพูดถึงความตายและการตายก็ขยับไกลออกมาจากเรื่องของศาสนา ที่แม้แต่ในทางศาสนาเองความตายและการตายก็ถูกพูดถึงและบอกเล่าในมิติที่มากไปกว่าเรื่องของบุญและบาป แน่นอนว่าเมื่อการตายและความตายเป็นเรื่องไกลตัวที่ใกล้ตัว การหาคำตอบในเรื่องของการตายและความตาย จึงเป็นสิ่งน่าสนใจที่จะลองตั้งคำถามและหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน เช่นนั้นเราอาจจะเริ่มจากคำถามแปลก ๆ สักข้ออย่าง "ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?"
หนังสือ : ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?
โดย : Caitlin Doughty แปล ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ
จำนวน : 264 หน้า
.
"ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?" หนังสือที่รวบรวมและตอบคำถามของ 34 คำถามเกี่ยวกับเรื่องราวของการตายและความตาย ที่ถูกถามโดยเด็ก ๆ และตอบโดยผู้ใหญ่นักจัดการศพ (สัปเหร่อ) ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขัน ซึ่งคำถามต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?" โดยส่วนใหญ่เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่มักจะไม่ถาม เพราะคำถามทั้ง 34 ข้อ เป็นคำถามที่อัดแน่นไปด้วยจินตนาการที่กล้าตั้งคำถามต่อความไม่รู้ของเด็ก ๆ อาทิ ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ? ตายแล้วจะอึแตกไหม ? ถ้าตายในอวกาศจะเป็นยังไง ? อยากจัดงานศพแบบไวกิ้งให้ยายได้ไหมนะ ? ถ้าเรากลืนเม็ดป๊อปคอร์นเข้าไปทั้งถุงก่อนตายตอนเผาจะเป็นยังไง ? ตายแล้วทำไมถึงเปลี่ยนสี ? ถ้าพ่อแม่ตายจะขอเก็บกะโหลกไว้ได้ไหมนะ ? และอีกหลายหลายคำถามที่ปรากฏอยู่ใน "ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?"
.
"ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?" คือการบอกเล่าเรื่องราวของการจัดการศพและความตายผ่านข้อคำถามที่ออกมาจากจินตนาการของเด็ก ๆ ที่ถูกให้ความสำคัญและถูกตอบคำถามโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการอาศัยข้อมูลจากประสบการณ์ หลักการทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม และข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดการศพและความตาย ที่ช่วยถ่ายทอดและบอกเล่ามุมมองในเรื่องของศพ คนตาย และความตาย ในแบบที่ไม่ยากเกินไปนัก
.
ความน่าสนใจอีกประการนอกเหนือไปจากเรื่องของเนื้อหาในหนังสือ "ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?" การเลือกตอบคำถามของเด็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" นับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามและการเรียนรู้ของเด็กที่จะเติบโตขึ้นในภายหน้า โดยไม่ตีกรอบและจำกัดความคิดของพวกเขาว่า "คำถามไร้สาระไม่มีวันเป็นไปได้" แน่นอนว่าการบอกปัดในลักษณะดังกล่าวย่อมง่ายต่อผู้ตอบและย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ตั้งคำถาม ซึ่ง "ถ้าฉันตายน้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ ?" แสดงให้เห็นแล้วว่า คำถามต่าง ๆ ที่ถูกถามไม่มีเรื่องไหนที่ "ไร้สาระ" และไม่ควรมีเรื่องไหน คำถามใดที่ควรจะถูกละเลย เพราะไม่แน่ว่าคำถามเหล่านั้นจากเด็ก ๆ จะนำพาพวกเขาไปสู่หนทางที่พวกเขากล้าที่จะเลือกเดินด้วยตัวเองในภายหน้า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in