รีวิวเว้ย (1657) ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยที่เรายังเป็นเด็นนักเรียน การเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ นับเป็นทางเลือกหลักของนักเรียนสายสามัญในช่วงเวลานั้น เพียงเพราะเราและผู้ปกครองคิดเอาเองว่าเรียนสายวิทย์-คณิต จะทำให้ตัวเลือกในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีมากขึ้น น่าแปลกที่ในช่วงเวลานั้นเราหลายคนก็ทนเรียน ม.4 - 6 ในสายวิทย์-คณิตไปจนจบ เพื่อจะพบว่าตลอดเส้นทางของการเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แคลคูลัส ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งการบำเพ็ญทุกชั้นดี อาจจะด้วยความที่ในช่วงเวลานั้นการเข้าถึงความรู้ในโลกออนไลน์มีอยู่อย่างจำกัด (ขนาดจะเข้ามหาลัยยังต้องลงทุนซื้อผลสรุปคะแนนของแต่ละคณะมานั่งไล่ดู) การเรียนรู้เองก็ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยหลักสูตรแกนกลางของระบบการศึกษาและการเรียนพิเศษ และรวมไปถึงนักสื่อสารที่ทำให้วิชาการเป็นเรื่องน่าค้นหาอย่างในสมัยปัจจุบันแทบไม่มี การเรียนวิทย์-คณิตของใครหลายคนในยุคนั้นจึงเป็นการตัดโอกาสให้ใครหลายคนหนีห่างจากความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไปตลอดกาล
หนังสือ : พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค
โดย : ชัชพล เกียรติขจรธาดา
จำนวน : 359 หน้า
.
"พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ผลงานเขียนของหมอเอ้ว ชัชพล ที่ห่างหายจากการออกหนังสือใหม่มาหลายปี และการกลับมาครั้งนี้ของหมอนักเขียน ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ให้วิชา "วิทยาศาสตร์" เป็นเรื่องเข้าใจง่าย เข้าใจได้และช่วยกระตุ้นให้ใครหลายคนสนใจและเปิดใจให้กับวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ถูกเล่าให้ง่ายและทำให้สนุกผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ การยกตัวอย่างที่เข้าถึงง่ายและเข้าถึงได้ อีกทั้งหนังสือหลาย ๆ เล่มของหมอเอ้ว คือ การบอกเล่าความรู้แบบไม่ยัดเยียดและไม่ขู่เข็ญให้ต้องอ่านเพื่อจำและนำไปสอบ
.
การกลับมาครั้งนี้กับหนังสือ "พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ "พันธุกรรม" โดยเริ่มตั้งแต่สมัยที่พีทากอรัส อริโตเติล พากันตั้งคำถามเกี่ยวกับพันธุกรรม การค้นการส่งต่อทางพันธุกรรมของเมนเดล (หากใครยังจำเรื่องถั่วสมัยเรียนได้) การเหยียดเชื้อชาติผ่านการหยิบยกเอาเรื่องของยูจีนิกส์เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ จนถึงการค้นพบโครงสร้างพันธุกรรมของวัตสันและครีก (ที่ได้รับรางวัลโนเบล) และไม่ลืมเล่าเรื่องราวของโรซาลิน แฟรงคลิน สตรีคนสำคัญที่ถูกแย่งชิงเอาการค้นพบไปเพียงเพราะเป็นผู้หญิง (หากใครสนใจเพิ่งเติมสามารถรับชมได้ใน PYMK ตอน โรซาลิน แฟรงคลิน นักวิทย์หญิงไร้รางวัล ผู้ค้นพบโครงสร้าง DNA) กระทั่งถึงยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมผ่านเทคโนโลยีของมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของหลายหลายเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน "พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" โดยเนื้อหาของ "พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ถูกแบ่งออกเป็น 1 บทนำ 6 ตอนที่จะเล่าเรื่องของพันธุกรรม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ และปิดท้ายด้วยนิยายส่งท้าย โดยเนื้อหาทั้งหมดแบ่งเป็นดังนี้
.
บทนำ
.
ตอนที่ 1 พันธุกรรมก่อนการมาของวิทยาศาสตร์
.
ตอนที่ 2 ทฤษฎีเซลล์
.
ตอนที่ 3 กำเนิดพันธุศาสตร์
.
ตอนที่ 4 พันธุกรรมและการเหยียดเชื้อชาติ
.
ตอนที่ 5 ยุคใหม่ของพันธุศาสตร์
.
ตอนที่ 6 เข้าสู่ยุคการตัดต่อยีน
.
นิยายส่งท้าย BioRevolution
.
"พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของพันธุกรรม ทั้งในมุมของพัฒนาการ วิวัฒนาการ ทางด้านวิทยาศาสตร์ และในเรื่องของประวัติศาสตร์ที่มีพันธุกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงการที่พันธุกรรมถูกนำไปใช้ในฐานะของเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อยืดอายุของผู้คน และการถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายกลุ่มคนที่ถูกมองว่าแตกต่างผ่านการสนับสนุนด้วยแนวคิดในเรื่องของพันธุกรรม แน่นอนว่า "พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของพันธุกรรมได้อย่างครอบคลุมเรื่องทั้งหมดของพันธุกรรมในตลอดประวัติศาสตร์ได้ แต่อย่างน้อย "พันธุกรรมข้ามกาลเวลา จากยุคหินสู่นาซีถึงไบโอเทค" ก็ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับชีวิตของมนุษย์อย่างยากจะแยกขาดออกจากกันได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in