รีวิวเว้ย (1616) หลังจากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2567 ทำให้เราคิดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ที่ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ นำไปสู่ความสูญเสียชีวิตของบุคคลอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง การสลายการชุมนุมทางการเมือง เหตุการณ์กระทบกระทั่งกันนำไปสู่ความสูญเสียในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กระทั่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2576 สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีใครคาดคิดว่าคู่ขัดแย้งในทางการเมืองในตลอดหลายปีจะสามารถจับมือร่วมกันได้คล้ายกับความขัดแย้งและการสูญเสียในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ไม่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราคิดถึงข้อความหนึ่งที่เคยเห็นผ่านตาจากเหตุการณ์รำลึกถึงผู้สูญเสียทางการเมืองว่า "คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"
หนังสือ : ตาสว่าง
โดย : แปล นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
จำนวน : 224 หน้า
.
หนังสือ "ตาสว่าง" ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าหนังสืออะไรดี ? ระหว่างหนังสือนิยาย หนังสือนิยายภาพ หนังสือการ์ตูน หรือหนังสือนิยายที่มีภาพประกอบออกไปในแนวของภาพการ์ตูน ซึ่งการหานิยามให้กับอะไรบางสิ่งหรือของบางอย่าง มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พึงคิดว่าจะกระทำก็จะทำได้ทันทีทันใด
.
"ตาสว่าง" จัดเป็นหนังสือที่อยู่ในชนิดของสิ่งพิมพ์ที่บอกไปในตอนต้น ซึ่งใครจะนิยามอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกละเลยและถูกทำให้เป็นเรื่องตลกของคนบางกลุ่ม โดยที่หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทย ผ่านวิธีการบอกเล่าด้วยชีวิตของคนที่อาจจะนิยามได้ว่าเป็น "คนเสื้อแดง" เป็นตัวดำเนินเรื่องราวในหนังสือ โดยที่ผู้เขียน ได้ถ่ายทอดมุมมองของเรื่องเล่าของ "ตาสว่าง" ผ่านแนวทางของการศึกษาทางด้านสังคมวิทยา ทั้งจากการสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ การรวบรวมหลักฐานที่ถูกบันทึกเอาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราวของอาการ "ตาสว่าง" ดังเนื้อหาที่ปรากฏในเล่ม
.
ด้วยรูปแบบของการตีแผ่ชีวิตของ "คนธรรมดาสามัญ" คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่างจังหวัด ที่เดินทางเข้ามาหางานทำให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และเส้นทางชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงและพลิกผันอยู่ตลอดเวลา จนอาจจะเรียกได้ว่ามันคือภาพแทนของคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้าเมืองมาเพื่อต่อสู้ดิ้นรนหางาน หาเงิน เพื่อส่งกลับไปให้กับครอบครัวของตนเองในต่างจังหวัด อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ ยังได้เอาชีวิตของตัวละครหลัก (ที่มาจากเรื่องราวของคนจริง ๆ ในสังคมไทย) มาทาบทับลงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางการเมืองของไทย ที่กลายมาเป็นปัจจัยที่กำหนดสภาพการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบันนี้ (ก่อน 2567) ทั้งเรื่องของการรัฐประหาร การยึดอำนาจ การกราดยิงประชาชน การสลายการชุมนุม และในท้ายที่สุดก็นำพามาสู่เรื่องราวของการตั้งคำถามถึงเรื่องของคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ว่าในท้ายที่สุดแล้วในทุกการต่อสู่ ดิ้นรน เรียกร้องต่าง ๆ นั้น แลกมากด้วยเลือดเนื้อ น้ำตา และชีวิตของใครบางคนที่หลายครั้งถูกมองว่าเป็นเพียง "หมากและเบี้ย" ในกระดานอำนาจของคนบางกลุ่มก็เพียงเท่านั้นเอง การได้กลับมาอ่าน "ตาสว่าง" อีกหนในช่วงของเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2567 มันตอกย้ำให้เราคิดถึงข้อความที่ว่า "คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in