เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่ By บุณฑริกา พวงคำ
  • รีวิวเว้ย (1617) ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างเพศต่าง ๆ จะได้รับการยอมรับอย่างในปัจจุบัน โลกแบ่งเพศออกเป็น 2 เพศที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการทั้งจากรัฐและจากศาสนา คือ เพศชายกับเพศหญิงที่เพศทั้ง 2 ต่างมีภาระหน้าที่ในตัวของตัวเองโดยห้ามบิดพริ้วหรือห้ามละเลยการกระทำการตามหน้าที่ แน่นอนว่าเมื่อหมุนทวนเข็มนาฬิกากลับไปหลายร้อยปีก่อน เราจะพบว่าการแบ่งบทบาททางเพศที่ชัดเจนนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นมาตรวัดในการแบ่งหน้าที่แล้ว บทบาททางเพศยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมการกระทำผ่านบทบาททางเพศอีกด้วย โดยบทบาทของเพศหญิงคือการเป็น "แม่" และ "เมีย" หากมีใครที่ทำเกิดกว่านั้นหรือเลือกที่จะละเลยบทบาทเหล่านั้น มักพบจุดจบในฐานะของ "แม่มด" (ในยุคกลาง) ซึ่งหากขยับเวลาขึ้นมาอีกหน่อยความแปลกแยกของผู้หญิงจากมาตรฐานของสังคมยังคงถูกมองว่าเป็น "ความวิปลาส" ที่ยากจะให้อภัยและต้องถูกนำไปรักษาควบคุม
    หนังสือ : นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่
    โดย : บุณฑริกา พวงคำ
    จำนวน : 256 หน้า
    .
    "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงในรัฐสยามถึงไทย ที่ถูกผูกโยงเอาไว้ด้วยเรื่องของสุขอนามัยทางการแพทย์และความเป็นปกติผ่านมุมมองทาง "จิตเวช" ผ่านความพยายามในการยกฐานะของรัฐให้มีความทันสมัย ผ่านกระบวนการในการปรับตัวสู่การเป็นรัฐจิตเวชสมัยใหม่ ที่รับเอาความรู้ แนวทาง เทคโนโลยี ชุดวิธีคิดและเครื่องมือของความเป็นสมัยใหม่ทางการแพทย์จิตเวช มาใช้ในการบอกเล่าและอธิบายเรื่องของรัฐและผู้หญิงของรัฐ ผ่านมุมมองของรัฐจิตเวชสมัยใหม่ตามกรอบเวลาช่วง พ.ศ. 2430-2520
    .
    สำหรับเนื้อหาที่ "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" ต้องการจะนำเสนอนั้นถูกบอกเล่าเอาไว้อย่างชัดเจนในเนื้อหาของหนังสือ โดยมีใจความบางส่วนดังนี้ "...ทั้งนี้การศึกษาการทำงานของจิตเวชที่มีต่อเรื่องเพศไม่สามารถอธิบายแค่ในฐานะเครื่องมือที่รัฐใช้ครอบงำและควบคุมพลเมืองในสังคม แต่องค์ความรู้ดังกล่าวทำงานซับซ้อนหลากหลายมากกว่านั้น… หนังสือเล่มนี้จะศึกษาผ่านงานเขียนจิตเวช จิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ผู้หญิง และครอบครัว ซึ่งถูกผลิตขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500-2520 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการประกอบสร้างองค์ความรู้จิตเวชสมัยใหม่ ที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างเข้มข้น รวมถึงยังเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างมากต่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของแนวคิดและความรู้จิตเวชที่มีต่อเรื่องเพศในสังคมไทย"  (น.9)
    .
    โดยเนื้อหาของ "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" ถูกแบ่งเป็น 8 บท ดังนี้
    .
    บทนำ
    .
    ความบ้าและจิตเวชในสังคมไทย ทศวรรษ 2430-2490
    .
    ร่างกายและความเจ็บป่วยของผู้หญิงในสังคมไทย ก่อนทศวรรษ 2500
    .
    สงครามเย็นกับการพัฒนาองค์ความรู้จิตเวชสมัยใหม่ยุคพัฒนา
    .
    ผู้หญิงกับความผิดปกติทางจิตใจในความรู้จิตเวชไทยสมัยใหม่ ทศวรรษ 2500-2520
    .
    ความรักความอบอุ่นในครอบครัว: ปัญหาทางจิตใจของเด็กที่เชื่อมโยงอยู่กับผู้หญิง ทศวรรษ 2500-2520
    .
    สุขภาพจิตผู้หญิง: หัวใจของสุขภาพจิตเด็กและสุขภาพจิตครอบครัว ทศวรรษ 2500-2520
    .
    บทสรุป .
    จะเห็นได้ว่า "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" มิได้เพียงมุ่งหวังในเรื่องของการนำเสนอในเรื่องของการควบคุมของรัฐ หรือทัศนะต่อผู้หญิงในรัฐผ่านมุมมองของรัฐจิตเวชสมัยใหม่แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" นำเสนอมุมมองในเรื่องของ "ครอบครัว" และการควบคุมเด็กและเยาวชนของรัฐผ่านการกำหนดบทบาทของสตรีที่ทำหน้าที่ แม่ เมีย และผู้หญิงที่ดี (ของรัฐต) ามทัศนะของรัฐจิตเวชสมัยใหม่
    .
    อีกทั้งการที่ "นารีวิปลาส: ตัวตนผู้หญิง (ประหลาด) ในรัฐจิตเวชสมัยใหม่" แสดงให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของวิธีคิดที่มีต่อ "คนบ้าหรือคนวิปลาส" ในรัฐทั้งการรับมือและการเตรียมการรับมือนับตั้งแต่ยุคสยามจนถึงไทย สมัย พ.ศ. 2520 เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเราจะพบว่า การควบคุมคนวิปลาสของรัฐเป็นการควบคุมเพื่อเป้าหมายบางประการที่สำคัญไปกว่าการแก้อาการให้หายบ้า หากแต่การควบคุมคนวิปลาสของรัฐจิตเวชสมัยใหม่ คือ ความพยายามในการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐ และแน่นอนว่าบทบาทของสตรีที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม จำเป็นต้องติดตามมาด้วยการควบคุมความประพฤติที่มากไปกว่าการกำหนดตัวควบคุมผ่านบทบาทของแม่และเมียในแบบเก่า หากแต่ต้องเพิ่มบทบาทของความเป็น "แม่" และ "เมีย" ที่ต้องสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงไปของรัฐ เพื่อป้องกันมิให้เกิด "นารีวิปลาส" ที่มากเกินไปกว่ารัฐจะสามารถควบคุม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in