เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง (พิมพ์ครั้งที่ 2) By พีระ เจริญวัฒนนุกูล
  • รีวิวเว้ย (1505) ช่วงที่ผ่านมามีข้อถกเถียงในเรื่องของ "ปาฏิหาริย์" และ "ความบังเอิญ" อยู่หลายครั้ง โดยเมื่อเริ่มต้นคำถามเกี่ยวกับปาฏิหาริย์และความบังเอิญต่องานศึกษา "ทางวิชาการ" การตั้งโจทย์ของคำถามอยู่บน "ปาฏิหาริย์" และ "ความบังเอิญ" จึงกลายเป็นเรื่องดูตลกขบขันสำหรับบางคน ทั้งที่ในความจริงแล้วการสร้างกรอบการศึกษาและสร้างข้อถกเถียงผ่านกรอบคิดใหม่ ๆ ที่หลายคนละเลย มองข้ามและในหลายครั้งก็ไม่กล้าก้าวล่วง มักนำพามาซึ่งความเข้าใจ (เร้าใจ) ใหม่ การสร้างมุมมองใหม่ และรวมไปถึงการสร้างข้อค้นพบใหม่ที่ช่วยสร้างและสารบทสนทนาให้กับวงวิชาการ หากเริ่มต้นด้วยการเย้ยหยันวิธีการศึกษากันเสียแล้ว องค์ความรู้ทางวิชาการก็คงไม่แตกต่างกันกับสำนวนที่ว่า "ไม้ตายซาก (Deadwood)" ที่รอวันเหยี่ยวเฉา ร่วงโรยและสิ้นสลาย หากแต่การสร้างบทสนทนาใหม่ สร้างความท้าทายต่อการมองโลกแบบเดิม ๆ หนทางดังกล่าวจะไม่เป็นการดีกว่าหรือสำหรับโลกวิชาการ
    หนังสือ : ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พิมพ์ครั้งที่ 2)
    โดย : พีระ เจริญวัฒนนุกูล
    จำนวน : 408 หน้า
    .
    ความเชื่อหนึ่งของผู้คนต่อการอยู่รอดและปลอดภัยจากอันตรายทั้งป่วงสำหรับสังคมนี้ หลายหนคนก็ยกให้เป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และ "ปาฏิหาริย์" ที่เกิดจากการบันดาลดลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แน่นอนว่ากับสยาม-ไทย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นหัวเรือของการสร้างปาฏิหาริย์ คงหนีไม่พ้น "พระสยามเทวาธิราช" ที่ในทุกความช่วยเหลือและความปลอดโรคปลอดภัย ผ่อนหนักเป็นเบา เป่าร้ายให้กลายเป็นดี มักมีองค์พระสยามเทวาธิราชอยู่ในความเชื่อเหล่านั้นเสมอ แล้วถ้าเราลองตั้งคำถามในลักษณะนี้ต่อการ "รอดจากการสูญเสียเอกราชของสยามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้สยามรอดจากสถานะดังกล่าวในกาลครานั้น แน่นอนว่าคำตอบคงมีหลากหลายจากหลายหลากมุมมอง บางเชื่อว่าเป็นผลงานของเสรีไทย บ้างเชื่อว่าเป็นผลงานของอเมริกา บ้างเชื่อว่าเป็นเพราะความเสียหายของชาติพันธมิตรที่เคยอยู่ในเอเชียมีการเกินไป และแน่นอนว่าบ้างต้องมีคนเชื่อว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ "พระสยามเทวาธิราช" ซึ่งชุดของคำตอบเหล่านั้นเราไม่มีทางรู้ได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด จนกว่าเราจะได้ลงมือหาคำตอบและตอบคำถามนั้นกับตัวเราเอง
    .
    หนังสือ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ต่อไปนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" เริ่มต้นจากความต้องการศึกษาประเด็นเรืองของ "ความบังเอิญ" ในมุมมองของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ดังที่ปรากฏความประสงค์อยู่ในคำนำของหนังสือความว่า "...หนังสือตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่าในการศึกษาสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเตอร์เนชั่นแนลรีเวชั่น นั้น 'ความบังเอิญ' สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ ในกรณีศึกษาได้หรือไม่ และจะสามารถศึกษารวมทั้งพิสูจน์ถึงความสำคัญของความบังเอิญได้อย่างไร เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวหนังสือเล่มนี้จึงได้ตั้งคำถามต่อมาว่า กรณีศึกษาที่จะนำมาใช้ตอบคำถาม ดังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีของการรอดพ้นของไทยจากการลงโทษโดยอังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (สิงหาคม-ธันวาคม 2488) นั้น ความบังเอิญมีบทบาทสำคัญอย่างไรบ้างที่ช่วยให้ถ่ายรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ที่ว่า..."
    .
    เช่นนั้นจะเห็นว่า "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ตั้งใจศึกษาการรอดพ้นสถานะของการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของสยามในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านกรอบทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของ "ปาฏิหาริย์" และ "ความบังเอิญ" ในมุมมองของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ หลักฐานชั้นต้นทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกา ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ส่งต่อ และสร้างให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์โพดผลต่อสยามประเทศในครานั้น
    .
    โดยเนื้อหาของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการปรับปรุงเนื้อหาและการใช้ภาษาให้กระชับขึ้นจากฉบับพิมพ์ครั้งก่อน และมีการเพิ่มในส่วนของคำนิยมของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของเสรีไทยมาเนิ่นนาน และการตั้งคำถามในมุมมองของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นมุมมองของความเป็นไปได้บางประการที่สามารถและอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งปาฏิหาริย์ ความบังเอิญ ในฐานะของการสบโอกาสอย่างประจวบเหมาะพอดีของเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลา และเนื้อหาส่วนหลักของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ได้แบ่งออกเป็น 6 บท ที่ว่าด้วยเรื่องของทฤษฎี และการลงไปมีปฏิสัมพันธ์กับหลักฐานและเอกสารชั้นต้นต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามของงานศึกษาชิ้นนี้ สำหรับเนื้อหาของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    ปาฏิหาริย์ของปาฏิหาริย์ โดย สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ
    .
    เมื่อความบังเอิญสร้างปาฏิหาริย์ โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์
    .
    บทที่ 1 สภาพปัญหา ปาฏิหาริย์ และวิธีคิดอันสวนทางจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
    .
    บทที่ 2 ปัญหาของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488: ท่าทีอังกฤษ อเมริกาและไทย
    .
    บทที่ 3 ยอมทุกอย่างเพื่อยุติสงคราม: เจรจาที่แคนดีครั้งที่ 1
    .
    บทที่ 4 ต่อรองและเตะถ่วง: การเจรจาที่แคนดีครั้งที่ 2
    .
    บทที่ 5 ลงนามหรือไม่: ความแตกแยกมนรัฐบาลกับการเจรจาครั้งสุดท้ายที่สิงคโปร์
    .
    บทที่ 6 ด้วยปาฏิหาริย์และความบังเอิญ
    .
    การได้กลับมาอ่าน "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นเล็ก ๆ ว่าแท้จริงแล้วเราอาจจะหลงลืมเรื่องของความ "ประจวบเหมาะ" ที่ในหลายครั้งมันคือโอกาสสามัญที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อสบเวลาและสบโอกาส เช่นนั้นหากเราลองนำเอากรอบการมองของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ไปใช้กับงานหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบคำตอบของเหตุการณ์ที่ต่างออกไปจากสิ่งเดิมที่เราเคยเชื่อถือ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in