เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว By กำพล จำปาพันธ์
  • รีวิวเว้ย (1482) ใครจะไปคิดว่าคำที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบันอย่าง "ไปดูแมวที่ห้องเราไหม ?" คำที่มาก่อน "ไปดู Netflix ที่ห้องเราไหม ?" จะมีรากและลักษณะที่มาของการใช้คำในแบบเดียวกันที่ตกทอดกันมาแต่ครั้งอดีต อย่างการชวนไปนมัสการรอยพระพุทธบาท แต่เหตุไฉนจากการชวนไปทำบุญในครั้งอดีตถึงได้เปลี่ยนความหมายไปไกลโพ้นในปัจจุบัน (ซึ่งไม่มีคำตอบในหนังสือเล่มนี้) อาจจะด้วย "แมว" เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมของการเริ่มต้นบทสนทนา แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดหาคำตอบในไกลไปกว่าเรื่องของการชวนไปดูแมวที่ห้อง คำถามตัวโต ๆ ก็เกิดขึ้นมาในใจว่า "แมวเข้ามามีบทบาทในสังคมนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ?" เพราะสมัยเราเป็นเด็กเราก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางหมู่แมวรอบตัว อีกทั้งแบบเรียนสมัยเด็กยังมีเรื่องของ "แมวแต้ม" ที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนแก้ว-กล้า เสียแล้ว
    หนังสือ : Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว
    โดย : กำพล จำปาพันธ์
    จำนวน : 344 หน้า
    .
    "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" หนังสือที่จะพาเราย้อนกลับไปหาคำตอบในเรื่องของ "แมว" ในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ สยามสมัยและช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยที่ "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" จะพาเราไปดูตามช่วงเวลาต่าง ๆ ว่าแมวอยู่อย่างไร ? โผล่ตัวออกมาเมื่อไหร่ ? และแมวเหล่านั้นเข้าไปมีบทบทเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร 
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" เป็นการมุ่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในส่วนแรกของหนังสือว่าหนังสือเล่มนี้นับเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สัตว์ (History of animal) ที่ถูกขยับขยายพรมแดนมาสู่การศึกษาในมิติของ Animal History ที่มีแมวสยามหรือสยามวิฬาร์ เป็นวัตถุแห่งการศึกษา อย่างที่บอกไปในเบื้องแรกว่าเนื้อหาของ "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" มุ่งนำเสนอเรื่องของแมวโดยแบ่งเป็นช่วงเวลาตามการแบ่งยุคประวัติศาสตร์ในแบบที่เราคุ้นเคยจากระบบการศึกษาไทย ทำให้การอ่านเพื่อวางแมวลงในบริบทของกาลเวลาในประวัติศาสตร์ มิใช่เรื่องยากลำบาง โดยเนื้อหาของ "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" แบ่งได้ดังนี้
    .
    01 Ayutthayan cat & แมวในประวัติศาสตร์อยุธยา 
    .
    02 Early Bangkokian cat & แมวในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ 
    .
    03 Origin of “Cat Treatises” & แรกเริ่มก่อเกิดตำราแมวโบราณ
    .
    04 The Rise of “Siamese cat” & “แมว” กับ “สยาม” ในโลกยุคอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิ์
    .
    05 การเมืองเรื่องหมาแมวและการอภิวัฒน์สยาม หลัง 2475
    .
    06 สู่โลกลี้ลับหลัง 2500 & แมวในสังคมวัฒนธรรมไทย-ตะวันตก-อุษาคเนย์ 
    .
    07 บทสรุปและส่งท้าย: จาก “ผู้มีบุญ” สู่ “ไอดอลสี่ขา” & ประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ของแมวในสังคมไทย-สากล 
    .
    "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" ทำให้เราเข้าใจในเรื่องของแมว (และหมา) ที่มีที่ทางในประวัติศาสตร์ของสังคมนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ใน "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" ทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงบางประการของสิ่งมีชีวิต 4 ขา ที่เราเองไม่มีทางคาดคิดว่าเหตุทางประวัติศาสตร์หลายเรื่องของสังคมนี้ผูกและโยงอยู่กับสิ่งมีชีวิตที่ในปัจจุบันหลายครั้งเรามองมันแค่ในฐานะของ "มีม" หรือแค่ใช้มันเป็นเครื่องมือในบทสนทนาที่ว่า "ไปดูแมวที่ห้องเราไหม ?" หากแต่ "Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว" ทำให้ค้นพบว่าอันที่จริงแล้วถ้าลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ไปอ่านหนังสือเรื่องแมวที่ห้องเราไหม ?" ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันนะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in