Makers
Store
Log in
You don't have any notification yet.
See All
My Wallet
null
Library
Settings
Logout
เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว
เพื่อใช้บริการเว็บไซต์
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ
Better Day
–
Sopon Supamangmee
สู่การสูญพันธ์ครั้งที่ 6
Bill Gates เป็นบุคคลหนึ่งที่ผมชื่อชอบเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่แค่ชื่นชมในความฉลาดหลักแหลมของเนื้อสมอง แต่รวมไปถึงความอ่อนโยนของจิตใต้สำนึกที่เขามีต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสมากกว่าในหลายพื้นที่บนโลกใบนี้ (สนใจลองเข้าไปหาข้อมูลของ Bill & Melinda Gates Foundation ได้นะครับ) แถมเขายังเป็นนักอ่านตัวยงที่ชอบแนะนำหนังสือที่น่าสนใจลง Blog ส่วนตัวของเขา (thegatesnotes.com) อยู่เป็นประจำ มีวันหนึ่งในปี 2014 ที่เขาพูดถึงหนังสือ "The Sixth Extinction : An Unnatural History" เขียนโดย Elizabeth Kolbert ว่ามันเป็นหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแต่อุณหภูมิของโลกที่กำลังร้อนขึ้นทุกขณะ (ซึ่งคงไม่มีใครกล้าเถียง) แต่มันเป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติโดยน้ำมือของมนุษย์ การขยายตัวของเมือง การคมนาคมที่รวดเร็ว การขนส่งสัตว์ชนิดต่างๆจากมุมหนึ่งของโลกไปยังอีกมุมหนึ่ง การประมงที่มากเกินพอดี การเปลี่ยนแปลงของค่ากรดด่างในทะเล สารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในแม่น้ำลำคลองและผลกระทบที่เกิดขึ้น เชื้อราที่ฆ่าล้างเผ่าพันธ์กบจนเกลี้ยงป่า ค้างคาวหลายล้านตัวที่สืบสายพันธ์มานับร้อยนับพันปีตอนนี้เหลือเพียงเศษกระดูกทับถมกันในถ้ำ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเรียกน้ำย่อยเพียงเล็กน้อยของหนังสือที่ได้รางวัลชนะเลิศของ Pulitzer Prize ข้อมูลมากมายที่เป็นหลักฐานว่าสิ่งต่างๆที่มนุษย์กำลังทำอยู่ตอนนี้กำลังนำพาโลกเข้าสู่การสูญพันธ์ุอันยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 - ลองนึกภาพถึงมหาอุกกาบาตก้อนที่ตกลงบนโลกเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อนที่ลบล้างสายพันธ์ไดโนเสาร์จากพื้นผิวโลก ณ เวลานี้ด้วยสองมือของเราเองมันกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง...อ่านถึงตรงนี้ขนคอผมลุกชัน แทบรอวันที่หนังสือเล่มนี้จะถูกแปลเป็นภาษาไทยไม่ไหว งานหนังสือเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเหมือนพระเจ้าตอบคำอธิษฐาน สนพ.openworld ประกาศว่าหนังสือเล่มนี้จะออกวางจำหน่ายในงานนี้ด้วย (ขนคอตั้งชันด้วยความตื่นเต้นอีกครั้ง)
ต้องบอกตั้งแต่เริ่มเลยว่าหนังสือเล่มนี้ผมใช้เวลาอ่านประมาณเกือบหนึ่งเดือนเต็มซึ่งนานกว่าปกติเกือบสิบเท่า ติดภาระหน้าที่การเป็นพ่อมือใหม่เลี้ยงดูลูกอ่อนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม หาเวลาว่างหยิบหนังสือได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่ตัวผมเองอย่าได้กังวลว่ามันเป็นหนังสือเรียนเล่มหนากลืนฝืดจืดชืดไร้รสชาติ ผู้เขียนไม่ใช่แค่นำข้อมูลตัวเลขสถิติไร้ชีวิตชีวามาจัดเรียงยาวเหยียดตีแผ่ขายเป็นปึกกระดาษหนาสามร้อยกว่าหน้าชวนเวียนหัว ในทางกลับกัน Elizabeth Kolbert สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนดูน่าเบื่อ (ลองนึกถึงภาพของห้อง lecture วิชา biology 101 ในมหาวิทยาลัย) ได้อย่างออกรสออกชาติตื่นเต้นน่าสนใจ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ได้พบเจอมาในแต่ละบททำให้เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่ชวนง่วงเหงาหาวนอน คล้ายกับว่าตัวเราถูกดึงเข้าไปประจันหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองยังไงยังงั้น
เนื้อหาในหนังสือนั้นอันแน่นและเจาะลึกไปทีละประเด็น ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการค้นพบการสูญพันธ์ุในธรรมชาติ (แม้ในปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่องการสูญพันธ์ุของสัตว์ แต่ย้อนกลับไปประมาณ 300 ปีก่อนหน้านี้มันยังเป็นความรู้แปลกใหม่ที่นักวิชาการหลายแขนงถกเถียงกันถึงโครงกระดูกที่ถูกขุดพบของ 'สัตว์ที่หายสาบสูญ' ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกมัน) นับตั้งแต่สัตว์มีกระดูกสันหลังเริ่มคืบคลานบนพื้นโลก (หลังการสูญพันธุ์สิ้นยุคออร์โดวิเชียนประมาณ 400 ล้านปีก่อน) จนถึงทฤษฎีเรื่องการสูญพันธ์ุสิ้นยุคครีเทเชียสครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีว่าเป็นจุดสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ครองโลก (ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จบจะรู้ว่า Jarrassic Park ของ Steven Spielberg เป็นความฝันลมๆแล้งๆที่เป็นไปไมได้แม้แต่น้อย)
จากนั้นผู้เขียนได้พูดถึงการไล่ล่าที่เกินพอดีของนกอ็อกใหญ่ในช่วงปี 1800 จากที่พวกมันมีอยู่มากมายเต็มพื้นที่เกาะ เมื่อมนุษย์เริ่มไล่ล่ามันเพื่อเป็นอาหาร เพียงร้อยสองร้อยปีประชากรของพวกมันก็กลายเป็นศูนย์เพราะความไม่รู้จักพอ ละโมบมักง่ายที่มากเกิน ก่อนจะเล่าต่อไปถึงผลกระทบต่อสัตว์ทะเลไปถึงแนวปะการังอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงค่า กรด-ด่าง ในทะเลที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในทะเล สภาพป่าไม้ที่ถูกรุกรานจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของประชากรที่เพิ่มขึ้น สายพันธ์ุพื้นเมืองที่ถูกรุกรานจากการขนส่งคมนาคมที่รวดเร็วสะดวกสบาย ประวัติศาสตร์ของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่เป็นญาติสนิทใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคใหม่มากที่สุดและสาเหตุของการสูญพันธ์ุไปของพวกเขา ความแตกต่างระหว่างญาติห่างๆของมุษย์อย่างลิงชิมแปนซีกับตัวเราเอง ตอบคำถามที่ว่า "อะไรกันคือความเป็นมนุษย์" การอัลตราซาวน์แรดสุมาตราเพื่อทำการผสมเทียมหรือแม้แต่การช่วยสำเร็จความใคร่ให้นกกาฮาวายเพื่อช่วยให้สายพันธ์ุของมันดำรงอยู่ต่อไป เพียงเพราะพื้นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกมันถูกรุกรานจนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ การตายของค้างคาวที่สืบสายพันธุ์มาหลายร้อยหลายพันปี ตอนนี้เหลือเพียงแต่เศษกระดูกเล็กๆกองเต็มพื้นถ้ำ...
คงเป็นการยากที่ผมจะยกมาพูดทั้งหมดตรงนี้ แต่ขอยกตัวอย่างตอนหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ของเธอในปี 2008 ที่เดินทางไปยังเมืองเอลบาเยอันตนในปานามาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการหายไปของกบสีทองปานามา (Atelopus zeteki) จากธรรมชาติ แค่ประมาณ 20 - 30 ปีก่อนสัตว์เหล่านี้ยังร้องระงมลั่นป่าอยู่เต็มลำธารของเมืองแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้ที่เป็นลูกหลานของสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกของสัตว์ที่เดินย่ำบนพื้นผิวโลก รอดผ่านการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่มาแล้วถึงห้าครั้ง ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยตนเองในธรรมชาติได้อีกต่อไป สถานที่เดียวบนโลกใบนี้ที่กลุ่มสุดท้ายของพวกมันยังใช้ชีวิตอยู่คือตู้กระจกในศูนย์อนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเมืองเอลบาเย (EVACC) เพียงเท่านั้น ผู้ฆ่าลึกลับที่อยู่เบื้องหลังเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งบนผิวกบ มีผลต่อความสามารถในการดูดซึมสารอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นผ่านผิวหนัง ทำให้กบเหล่านี้หัวใจวายตาย ซึ่งต่อมาค้นพบอีกว่ามันเป็นเห็ดรากลุ่มหนึ่งที่ชื่อไคทริด (chytrid) ที่มีอยู่แทบทุกที่ ตั้งแต่บนยอดไม้และลึกลงไปใต้ดิน แต่มันเป็นสายพันธ์ุในสกุลใหม่ชื่อว่า Batrachochytrium dendrobatidis เรียกสั้นๆว่า Bd
โดยปกติแล้วเจ้า Bd เคลื่อนที่ด้วยตัวมันเอง เห็ดราสร้างสปอร์ขนาดจิ๋วที่มีหางเรียวยาว อาจลอยตามน้ำไปไกลหรือเอ่อล้นตามสายฝน แต่สิ่งที่น่าแปลกและแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติคือ Bd อยู่ๆก็โผล่มาบนโลกพร้อมๆกัน ทั้งในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ทฤษฎีแรกคือการขนส่งกบน้ำแอฟริกาเพื่อใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ในช่วงปี 1960 (ถ้าฉีดปัสสาวะของผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าไปในตัวกบน้ำแอฟริกามันจะวางไข่ภายในไม่กี่ชั่วโมง) ส่วนทฤษฎีที่สองคือการขนส่งกบอเมริกาเหนือ เพื่อนำไปเป็นอาหารในส่วนต่างๆของโลกทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกาใต้ กบทั้งสองสายพันธุ์มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่สะทกสะท้านต่อ Bd และไม่ว่ามันจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามเป็นตัวพาหะนำ Bd แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ใครกันหล่ะที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ถ้าไม่ใช่มนุษย์เราเองที่ขนพวกมันขึ้นเรือขึ้นเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติธรรมดา จากแอฟริกาไปออสเตรเลีย จากอเมริกาไปยุโรป สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตในช่วง 3500 ล้านปี
หนังสือเล่มนี้เป็นกระจกสะท้อนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ชวนให้ติดตามความพยายามของกลุ่มคนที่หาทางหยุดยั้งและช่วยเหลือสายพันธ์ุต่างๆที่อยู่ในโค้งสุดท้ายของการสูญหายไปอย่างถาวร และเป็นการคาดเดาถึงอนาคตอันใกล้ที่กำลังมาถึงในไม่ช้า การล้มหายตายจากของสัตว์ชนิดต่างๆที่ผิดธรรมชาติทั่วโลก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจเป็นมรดกชิ้นเดียวที่มนุษย์ยุคนี้เหลือทิ้งไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า
ชาวบ้านของเมืองเอลบาเยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกบสีทองปานามาเหล่านั้น แต่มันก็สายไปเสียแล้ว พวกเขาบอกว่า "เกิดอะไรขึ้นกับกบ เราไม่ได้ยินเสียงร้องของพวกมันอีกแล้ว"
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมพยายามเงี่ยหูฟังเสียงกบที่มักร้องระงมหาคู่ในช่วงกลางดึกของฤดูฝนแบบนี้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เสียงของพวกมันดูแผ่วเบาลง...กว่าทุกปีที่ผ่านมา
#animal
# elizabethkolbert
# extinct
# frog
# golden
# panama
# the6thextinction
# การสูญพันธ์ครั้งที่หก
Sopon Supamangmee
Report
Views
Better Day
–
Sopon Supamangmee
View Story
subscribe
Previous
Next
Comments
()
Facebook
(
0
)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in
ยืนยันการซื้อ ?
เหรียญที่มีตอนนี้: null
มีเหรียญไม่พอซื้อแล้ว เติมเหรียญกันหน่อย
เหรียญที่มีตอนนี้ : null
Please Wait ...
ซื้อเหรียญเรียบร้อย
เลือกแพ็คเกจเติมเหรียญ
เลือกวิธีการชำระเงิน
Credit Card
Cash @Counter
Line Pay
ระบบจะนำคุณไปสู่หน้าจ่ายเงินของผู้ให้บริการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in