เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-
  • เมื่อคุณติดกับดักความศรัทธาต่อศาสนาจนหน้ามืดตามัวและพร้อมจะทำทุกอย่างกับผู้ที่คุณมองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายศาสนาที่คุณนับถือ สิ่งแรกที่คุณฆ่าไปแล้วคือความเมตตาในหัวใจตัวเองและมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

    ...จากนั้นคุณก็พร้อมแล้วที่จะฆ่าผู้อื่นในนามของศาสนา


    น่าจะต้องเกริ่นก่อนว่า ถ้าคุณเป็นผู้ศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างหนักแน่นและยากจะทนการวิพากษ์วิจารณ์ได้ การบอกเล่าเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ผ่านมุมมองของผมอาจทำให้ขุ่นเคืองใจ


    ผมเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่เกิดจากศาสนา 'THE SRI LANKAN CIVIL WAR' หรือ 'สงครามกลางเมืองศรีลังกา' ของปรีดี หงษ์สต้น ก็เลยตอบโจทย์ความสนใจ รีบซื้อ รีบอ่าน


    หนังสือเล่มนี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ศรีลังกาช่วงอาณานิคมไล่มาจนถึงการเกิดสงครามกลางเมืองที่กินเวลเกือบ 4 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1973 และจบลงในปี 2009 เมื่อรัฐบาลของมหินทะ ราชปักษ์ สามารถสังหารเวลุปิลไล ประภาการัน ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีลัมได้สำเร็จ


    พระสงฆ์นิกายสยามวงศ์ในศรีลังกาโดยเฉพาะในที่ราบสูงแคนดีเชื่อมโยงตนเองกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด สะสมอิทธิพลทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และกีดกันการบวชให้กับพระนอกวรรณะโคยิคามะ ทำให้เกิดการแตกนิกาย ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างพระนิกายสยามวงศ์กับกษัตริย์ก็เริ่มอ่อนแรงลงหลังการเข้ามาของอังกฤษและศาสนาคริสต์


    เมื่อเวลาผ่านไป การต่อต้านคริสตศาสนาก็เริ่มขึ้น ลากยาวไปสู่การต่อต้านระบบอาณานิคม ขณะเดียวกันเหล่ากระฎุมพีชาวสิงหลที่สะสมทุนขึ้นมาได้จากระบบอาณานิคมก็ต้องการมีอำนาจนำเหนือกลุ่มอื่นๆ ในศรีลังกา เกิดขบวนการรื้อฟื้นพุทธเพื่อต่อต้านศาสนาอื่น แน่นอน มันตามมาด้วยการกีดกันและกดขี่ศาสนิกอื่น


    4 กุมภาพันธ์ 1948 ศรีลังกาได้รับเอกราชพร้อมกับมรดกการแบ่งแยกผู้คนตามชาติพันธุ์จากเจ้าอาณานิคม ชาวสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าคนกลุ่มอื่น ในที่สุดอัตลักษณ์สิงหลก็หลอมรวมกับพุทธศาสนาและชาตินิยม เวลาที่ 3 สิ่งนี้ถูกเอามารวมกัน ปัญหาเป็นต้องตามมา นักการเมืองหยิบประเด็นนี้มาใช้เพื่อเรียกคะแนนเสียง การอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมเหลือเพียงอดีต ให้ความสำคัญกับพุทธเถรวาทและชาวสิงหล พุทธเถรวาทต้องได้รับความสำคัญมากกว่าศาสนาอื่น ชาวสิงหลต้องมาก่อน ภาษาสิงหลต้องเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ไม่มีที่ทางให้ภาษาทมิฬ


    องค์กรพุทธในศรีลังกายังเสนอรายงานที่ชื่อว่า การทรยศพุทธศาสนา พูดถึงความตกต่ำ การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และรัฐต้องทำหน้าที่ฟื้นฟู พร้อมข้อเสนอ 4 ข้อง หนึ่ง-รัฐบาลต้องหยุดให้ความช่วยเหลือศาสนาคริสต์และชดเชยให้แก่ศาสนาพุทธ สอง-ต้องตั้งสภาพุทธศาสนาแห่งชาติ สาม-ต้องตั้งกระทรวงการศาสนาเพื่อดูแลกิจการพุทธศาสนาของประเทศ และสี่-รัฐบาลต้องย้ายไปอยู่ในดินแดนของชาวสิงหล แม้โซโลมอน บันดารานายเก นายกรัฐมนตรีจะพยายามหาข้อตกลงที่พอยอมๆ กันได้ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเขาต้องสังเวยชีวิตจากการลอบสังหาด้วยน้ำมือพระสงฆ์


    ในที่สุด การถูกเลือกปฏิบัติก็นำพาให้ชาวทมิฬต้องจับอาวุธขึ้นสู้ 1983 เมื่อทหารชาวสิงหลถูกสังหาร 13 ราย การจราจลใหญ่ก็เกิดขึ้น ชาวสิงหลรวมตัวกันเข้าทำลาย-ทำร้าย-สังหารชาวทมิฬ ตายไป 3,000 คน หนีภัยกว่า 200,000 คน


    พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงออกมาให้การสนับสนุนการปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีลัมอย่างเด็ดขาด พระคะนานานันทะกล่าวในทำนองว่าการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มกบฏได้รับการยกเว้นความผิดบาปจากศีลข้อ 1 เพราะเป็นการสร้างสันติภาพและความสงบสุขให้ชาวศรีลังกาและปกป้องมรดกของชาวพุทธสิงหล มีการเข้าไปให้กำลังใจทหารในค่าย มีการอ้างคัมภีร์มหาวงศ์และจักกวัตติสูตรในพระไตรปิฎกเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อชาวทมิฬ


    ปี 2004 พรรคชาติกาเหละอุรุมายะก็ส่งพระสงฆ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อสร้าง 'ธรรมรัฐ' และออกแถลงการณ์ 12 ข้อ เช่น ศรีลังกาควรถูกปกครองภายใต้หลักพุทธศาสนา ผู้ปกครองควรนำแนวคิดธรรมราชามาใช้ปกครองตามอย่างพระเจ้าอโศก ควรรักษาสภาศาสนาพุทธและนำข้อเสนอต่างๆ ไปปฏิบัติ เป็นต้น


    เมื่อกลุ่มปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีลัมถูกปราบ ศาสนาคริสต์ถูกมองเป็นภัยคุกคามน้อยลง ศัตรูของพุทธจัดก็เคลื่อนจากชาวทมิฬ ศาสนาคริสต์ ไปสู่ศาสนาอิสลาม องค์กรพุทธจัดอย่างพุทธพลเสนาแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เชื่อเรื่องพหุวัฒนธรรม ต่อต้านชาวมุสลิม เป็นผู้เฝ้าระวังทางศีลธรรม ปล่อยข่าวเท็จเพื่อโจมตี ก่อความไม่สงบ ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม


    พุทธพลเสนายังประกาศเป็นพันธมิตรกับขบวนการ 969 ของพระวีระธุในพม่าเพื่อร่วมกันต่อต้านศาสนาอิสลาม แถมพระวีระธุกับกลุ่มผู้สนับสนุนยังเคยเดินทางมาไทยเพื่อรับรางวัลจากองค์กรพุทธศาสนาของไทย มีการพูดถึง 'วีระธุโมเดล' โดยอดีตพระมหาอภิชาติ


    เป็นเพียงเรื่องย่อๆ ต่อจากนี้เป็นความคิดเห็นของผม สังคมไทยเองก็ผูกความเป็นไทย ความเป็นชาติ และความเป็นพุทธรวมไว้เช่นกัน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน การจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เราก็ยังมองความต่างเป็นสิ่งแปลกปลอม พูดแบบนี้คงจะมีคนด่าผมว่าสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็คนละเรื่องกันอีก อีกทั้งความขัดแย้งที่ปลายด้ามขวานก็มาจากประวัติศาสตร์บาดแผลจากอดีตถึงปัจจุบันที่รัฐก็ยังคงสร้างบาดแผลไม่หยุด ศาสนาเพียงถูกนำมาเป็นเครื่องมือเท่านั้น แทนที่เราจะพยายามทำความเข้าใจ เรากลับมองมันเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ฆ่ามาต้องฆ่ากลับ ตกอยู่ในกับดักของศรัทธาทั้งที่มีบทเรียนมากมายบนโลกนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน


    เมื่อดูข้อเรียกร้องของกลุ่มพุทธจัดในศรีลังกาจะเห็นว่าหลายข้อไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ความพยายามเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็เป็นรูปแบบหนึ่ง คำสอนหรือพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ตั้งคำถามไม่ได้ แต่คือคำตอบของทุกเรื่องราวบนโลก ศาสนาพุทธต้องได้ทรัพยากรจากรัฐมากกว่าศาสนาอื่น มีการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม


    ศรัทธากับงมงายถูกกั้นด้วยเส้นบางๆ ผมกำลังพูดถึงทุกๆ ศาสนานั่นแหละ ศาสนาไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น ทำไมจึงคิดว่ามนุษย์ตัวเล็กๆ จะปกป้องพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพได้ ทำไมถึงคิดว่าพระพุทธเจ้าจะโกรธเคืองกับการดูหมิ่นและคำนินทา คุณเป็นใครถึงคิดแทนศาสดาที่จากไปแล้ว 2,500 ปี มันไม่แปลกหรอกที่คนรุ่นใหม่จะไม่นับถือศาสนามากขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นทางออกของคำตอบในชีวิต ตรงกันข้าม มันกลับเต็มไปด้วยพิธีกรรม ค่าใช้จ่าย คำสอนที่บางครั้งก็หาเหตุผลไม่ได้ และการฆ่าแกงกัน


    เมื่อคุณติดกับดักความศรัทธาต่อศาสนาจนหน้ามืดตามัวและพร้อมจะทำทุกอย่างกับผู้ที่คุณมองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายศาสนาที่คุณนับถือ สิ่งแรกที่คุณฆ่าไปแล้วคือความเมตตาในหัวใจตัวเองและมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น


    ...จากนั้นคุณก็พร้อมแล้วที่จะฆ่าผู้อื่นในนามของศาสนา


    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/132422241523229?__tn__=K-R-R


    https://wandering-bird.blogspot.com/2019/11/blog-post.html


    #TheSriLankanCivilWar #ปรีดีหงษ์สต้น #สงครามกลางเมืองศรีลังกา #สำนักพิมพ์Gypzy #ศาสนาพุทธ #ความรุนแรง #WanderingBird #WanderingBook

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in