เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-'เจ้าผู้ปกครอง' การเป็นคนดีไม่สำคัญเท่ากับการเสแสร้งเป็นคนดี-
  • เป็นอีกเล่มที่เปิด-ปิดหลายรอบ เพราะความฟุ่มเฟือยของเชิงอรรถ เพื่อให้การอ่านราบรื่น ผมเลือกข้ามเชิงอรรถไปเสีย


    กล่าวกันว่าเพลโต้ดึงการเมืองขึ้นไปสู่สวรรค์ มาเคียวเวลลีกระชากมันกลับลงมาสู่พื้นดิน 'เจ้าผู้ปกครอง' จึงถูกปักหมุดให้เป็นจุดเปลี่ยนของปรัชญาการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดคลาสสิกแบบเพลโตมาหลายพันปีที่เห็นว่า เจ้าผู้ปกครองต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นปราชญ์ มาเคียวเวลลี่กลับเห็นว่าเจ้าผู้ปกครองที่มุ่งแต่จะเป็นผู้มีคุณธรรมคือเจ้าผู้ปกครองที่โง่เขลาและต้องประสบความพินาศย่อยยับ


    จากความเข้าใจของผม เจ้าผู้ปกครองจะเป็นคนดีก็ได้ มันก็ดีแหละ ในเวลาเดียวกันต้องรู้ด้วยว่าจะชั่วร้ายในจังหวะเวลาใด มนุษย์ในมุมมองของมาเคียเวลลี่ช่างชั่วร้าย (ไม่รู้ว่าเป็นต้นทางให้ฮ็อบส์คิดดั่งที่ปรากฏในเลอไวอะธันหรือเปล่า?) ทว่า การเป็นคนดี ไม่สำคัญเท่าการทำให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นคนดี


    "ไม่จำเป็นสำหรับเจ้าผู้ปกครองที่จะมีคุณสมบัติ (ที่ดีๆ) ทั้งปวง... แต่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องทำทีว่ามีคุณสมบัติเหล่านั้น"


    "เขาไม่ควรจะหันเหจากสิ่งที่ดี ถ้าเขาสามารถทำได้ แต่เขาควรรู้ว่าจะเข้าไปสู่สิ่งที่เลวได้อย่างไร เมื่อความจำเป็นบีบให้ทำอย่างนั้น"


    "มีการต่อสู้อยู่สองชนิด ชนิดที่หนึ่งคือการต่อสู้ด้วยกฎหมาย ชนิดที่สองคือการต่อสู้ด้วยกำลัง ชนิดแรกเหมาะสมกับมนุษย์ ชนิดที่สองเหมาะกับสัตว์ป่า แต่เพราะบ่อยครั้งชนิดแรกได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ เราจึงต้องพึ่งชนิดที่สอง ดังนั้น จึงเป็นการจำเป็นสำหรับเจ้าผู้ปกครองที่จะต้องรู้เป็นอย่างดีว่าจะใช้สัตว์ป่าและมนุษย์อย่างไร"


    จุดที่รู้สึกสนใจจุดหนึ่ง มาเคียวเวลลีตั้งคำถามว่า เจ้าผู้ปกครองควรทำตนให้เป็นที่รักหรือเป็นที่หวาดกลัว เขาตอบว่า


    "ข้าพเจ้าขอสรุปว่า โดยที่มนุษย์รักตามความพอใจของตนและกลัวตามความพอใจของเจ้าผู้ปกครอง เจ้าผู้ปกครองที่ทรงปัญญาจึงควรวางรากฐานของตนบนสิ่งซึ่งเป็นของตน ไม่ใช่บนสิ่งซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่น"


    แต่ข้อที่มาเคียวเวลลีจะย้ำมากก็คือ เจ้าผู้ปกครองควรทำตนให้เป็นที่หวาดกลัว แต่จงอย่าทำตนให้เป็นที่เกลียดชัง เพราะสิ่งหลังจะนำความตายมาสู่


    นี่แหละที่ทำให้ชื่อของเขาแปรเป็นคำศัพท์แทนคนมากเล่ห์เพทุบาย ปลิ้นปล้อน และทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตน


    เอาเข้าจริง อ่านไปๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนังสือสำหรับผู้ปกครอง ขุนศึก หรือผู้บริหาร แต่เป็นหนังสือที่บรรยายถึงความเป็นมนุษย์ อันมีความชั่วร้ายเป็นส่วนผสมที่แยกไม่ขาด


    ตามประสาคนฟุ้งซ่าน ผมชอบถามลอยๆ ว่าความชั่วร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร? การมีอยู่ของมันมีหน้าที่อันจำเป็นหรือไม่? มนุษย์ชั่วร้ายหรือใฝ่ดี? การเติบโตสั่งสอนว่าแม้เราจะมีความคิดชั่วร้าย แต่เราจะเก็บมันไว้ และเผยแสดงเฉพาะความดีงาม เพราะมันง่ายดายกว่าที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น เราเรียนรู้สิ่งนี้เมื่อไหร่และอย่างไร? (คำถามเหล่านี้ ผมไม่ได้คิดบนฐานที่เกี่ยวโยงอะไรกับพระเจ้า ทางตะวันตก พระเจ้ากับความชั่วร้ายเป็นมหากาพย์ที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น)


    ยังไม่เห็นหนังสือภาคภาษาไทยที่มุ่งศึกษาความชั่วร้าย หนังสือภาษาอังกฤษมีเยอะ แต่ก็อ่านไม่ใคร่จะออก


    สำหรับผม 'เจ้าผู้ปกครอง' ไม่ได้สอนสั่งวิธีการขึ้นสู่และอยู่ในอำนาจเพียงเท่านั้น แต่มันชวนให้เราพิจารณาถึงความเป็นมนุษย์และใคร่ครวญต่อความชั่วร้ายทั้งภายในและภายนอกตัวเรา


    https://www.facebook.com/NokPanejorn/photos/a.133869988045121/146939273404859/?type=3&av=114768633288590&eav=AfZqYaFum3hjkzEyC8Sx8zalIB5bUIMPwwkYOSL9lxVvbgPWXgqvACNbMWHgQfO7uS8&__tn__=-R-R


    https://wandering-bird.blogspot.com/2019/11/blog-post_8.html


    #เจ้าผู้ปกครอง #คบไฟ #สมบัติ_จันทรวงศ์ #มาเคียวเวลี #ปรัชญาการเมือง #WanderingBird #WanderingBook

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in