ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ทำบล็อก WanderingBird และเพจ WanderingBook เพื่อบอกเล่าถึงหนังสือที่อ่านอย่างเดียว ผมมีความเชื่อว่ากระแสหนังสือที่ออกมาสะท้อนความเป็นมาเป็นไปของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ประเภทของหนังสือจึงบอกเล่าเรื่องราวสังคมโดยตัวมันเอง
และผมก็เลือกจะวิพากษ์วิจารณ์กระแสของหนังสือที่หลั่งไหลออกมา แน่นอนที่สุด ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม
ผมเคยซื้อหนังสือที่ว่าด้วย ‘อิคิไก’ มาอ่าน จากคำโปรยและการจัดรูปเล่มดูน่าอ่าน น่าสนใจ แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ความสนใจก็ลดน้อยลง อ่านจบ ผมก็แทบจำอะไรไม่ได้เลย
หลังจากนั้นไม่นาน ผมไปเดินร้านหนังสือคิโนะฯ ที่สยามพารากอน สายตาเหลือบเห็นหนังสือภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า Lagom แล้วก็อ่านคำโปรย แม่นยังกะหมอดู ผมคิดว่าเดี๋ยวต้องมีคนแปลหนังสือหัวข้อนี้ออกมาแน่ๆ แล้วก็เป็นจริง
มันชวนคิดอยู่เหมือนกันที่มนุษย์เราอยากมีความสุข แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีมันได้อย่างไร จนต้องหันไปหาหนังสือที่แนะนำวิธีที่จะทำให้เรามีความสุข
ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมไม่ได้วิจารณ์เนื้อหา แต่ผมอยากสะท้อนมุมมองของตัวเองถึงแนวคิดที่ปรากฏในคำโปรยปกหน้า
‘ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในแบบ “ลากอม” ปรัชญาการใช้ชีวิตจากสวีเดน ประเทศที่มีความสุขอันดับต้นๆ ของโลก’
ใครบ้างไม่อยากมีความสุข? ผมเชื่อว่าลากอมน่าจะเป็นแนวคิดที่ดีของชาวสวีเดนในการมีความสุขกับชีวิต ประเด็นคือเราต้องตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วปรัชญาความคิดแบบลากอมเติบโตขึ้นมาในสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมแบบไหน? (เราสามารถตั้งคำถามนี้กับอิคิไกได้เช่นกัน)
หลายคนรู้อยู่แล้วว่า สวีเดนเป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงเพื่อใช้ในการดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน (รัฐสวัสดิการก็มีปัญหาในตัว แต่ไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึง) ช่องว่างระหว่างคนมีมากกับคนมีน้อยแคบ มีระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คุณภาพการศึกษาดี ถ้าลากอมเกิดในบริบทแบบนี้ ลองนึกดูว่าจะเอาลากอมมาใช้กับผู้คนในสังคมไทยที่แตกต่างราวฟ้ากับเหวได้จริงเหรอ?
ผมเชื่อว่าคนไม่น้อยที่ซื้ออ่าน ชื่นชอบ และนำไปปฏิบัติ แต่ถามได้ไหมว่าเป็นคนกลุ่มไหนในสังคมไทย ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากแห่งหนึ่งของโลก คนส่วนใหญ่ยังมีน้อยเกินไป ขณะที่คนส่วนน้อยมากๆ มีมาก มาก และมากจนเกินไป
งานของผมเปิดโอกาสให้ผมรับรู้เรื่องราวชีวิตผู้คนที่เรียกได้ว่าอยู่ใต้ถุนสังคมจำนวนมาก พวกเขาอยากมีความสุขไหม? อยากสิ แล้วมีได้ไหม? มีได้ ทว่า มันไม่ใช่ความสุขแบบลากอมของชาวสวีเดน เพราะพวกเขามีน้อยเกินไป ความจน ความหิว การขาดโอกาส มันถีบให้พวกเขาต้องทำงานสารพัดรูปแบบเพื่อหาเงินมาดูแลตัวเองและครอบครัว
กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือของไทยคนหนึ่งรับจ้างขนยาเสพติดแลกค่าจ้าง 30,000 บาท ใช่ ที่รู้เพราะเขาโดนจับและคดียาเสพติดส่วนใหญ่ที่จับได้คือปลาซิวปลาสร้อยทั้งนั้น ตัวใหญ่ๆ ยังมีความสุขกับชีวิตอยู่ ถามว่าทำไมเขาถึงยอมเสี่ยงเพื่อแลกกับเงิน 30,000 บาท เขาตอบว่า เขาแค่อยากได้เงินไปซื้อรถมอร์เตอร์ไซค์เพื่อขี่ส่งลูกไปโรงเรียน
เรายังมีคนป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษาอยู่ ยังมีระบบขนส่งมวลชนที่ย่ำแย่ ไม่ก็ราคาแพง คนแก่หลังงุ้มแทบเดินไม่ไหวยังต้องกรำงานหนักหาเลี้ยงชีวิต การศึกษาฟรียังเป็นถ้อยคำหรูหราในรัฐธรรมนูญ คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมืองกับชนบทแตกต่างกันอย่างลิบลับ และอีกมากมาย การคิดว่าถ้าเรานำแนวคิดแบบลากอม อิคิไก หรืออีกสารพัดมาใช้แล้วจะมีความสุขได้ด้วยตัวเองโดยไม่ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เลย มันเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน
หนังสือแนวนี้จับกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ ที่มีกำลังซื้อ พูดให้ง่ายเข้าคือชนชั้นกลาง-กลางขึ้นไป คนกลุ่มนี้มีศักยภาพที่จะมีความสุข ผมไม่เถียง เป็นสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะมีความสุข ส่วนพวกมหาเศรษฐีนั่นอยู่คนละโลกกับเราแล้วครับ ความสุขอันเรียบง่ายของเขาอาจเป็นการขับรถสปอร์ตกินลมที่เขาใหญ่ ...ก็ว่ากันไป
ความสุขในชีวิตจะว่าเป็นเรื่องปัจเจกก็ได้ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะหาความสุข แต่เราอยู่ในสังคมที่เปิดโอกาสให้คนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีความสุข และคนอีกจำนวนมากดิ้นรนแสนสาหัสที่จะมีความสุขหรือแค่มีกิน มีใช้ และมีใช้หนี้ไปวันๆ ความสุขในชีวิตจึงไม่ได้อยู่ที่ความพอดี การเอาแนวคิด แนวปฏิบัติเก๋ไก๋มาใช้ แต่มันต้องถูกโอบอุ้มจากโครงสร้างทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพและนโยบายด้วย
ถ้าเราต้องการแค่มีความสุขของเราเองคนเดียวหรือเฉพาะครอบครัวของเรา นั่นไม่ใช่ปัญหา ส่วนที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาคือการบอกว่าทำแบบนี้สิแล้วจะมีความสุข โดยไม่ดูบริบทของแต่ละสังคม แล้วไม่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงบริบทนั้นเพื่อเอื้อให้ทุกคนมีความสุข
เพราะมันจะเป็นเพียงความเพ้อฝัน...
https://www.facebook.com/NokPanejorn/?modal=admin_todo_tour
https://wandering-bird.blogspot.com/
#LAGOM #ลินเนียร์ดันน์ #รัตนาธรรมพักตรกุล #STEPS #ความสุข #สวีเดน #รัฐสวัสดิการ #WanderingBird #WanderingBook
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in