เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-ว่าด้วยความคิดฆ่าตัวตาย-
  • สำหรับมนุษย์คนหนึ่ง ไม่เฉพาะผู้ป่วยหรอก หากยังมีความหวัง ความเชื่อมโยงกับผู้อื่น และความหมายต่อการดำรงอยู่ แม้เพียงน้อยนิด ความตายก็อาจไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาเลือก



    เล่มนี้ผมเคยเขียนถึงในเฟสส่วนตัวเมื่อนานมาแล้ว ขอนำมาเผยแพร่อีกครั้ง ถือเป็นการสารภาพว่าทำไมผมจึงต้องทำบล็อก ทำเพจ ก็เพื่อให้ตัวเองมีอะไรทำและไม่ฟุ้งซ่าน


    ........


    ในรอบ 15 วัน ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับบุคลิกภาพและจิตวิทยาจบไป 3 เล่ม นี่คือเล่มที่ 3
    .
    หนังสือของคุณหมอประเสริฐเล่มนี้ให้ภาพรวมของโรคซึมเศร้าได้ดี คุณหมอพยายามเน้นย้ำเสมอถึงความป่วยไข้ซึ่งมีปัจจัยทั้งชีววิทยา จิตใจ และสังคมที่มาประกอบกัน ย้ำถึงสิทธิของผู้ป่วย และสื่อกับผู้ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยอยู่ในทีว่า สิ่งนี้คือความป่วย ผู้ป่วยไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้าใจชีวิต หรือไม่รู้จักปล่อยวาง มันวางได้ ถ้าไม่ป่วย แต่เพราะป่วยไง ถึงวางไม่ได้
    .
    บทที่อ่านแล้วรู้สึกชื้นๆ ในดวงตา เพราะผู้เขียนเขียนราวกับว่าเข้าไปนั่งภายในสมองของผู้ป่วยคือบทที่ว่าด้วยการฆ่าตัวตาย
    .
    หนังสือพูดถึงการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่ามีลำดับขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่อยากหลับไปนานๆ ไม่ต้องรับรู้เรื่องราวใดๆ ต่อมาคืออยากหายไปจากโลก หายไปจากสิ่งแวดล้อมและผู้คนเดิมๆ มันคือความเบื่อหน่ายขั้นสุด อันดับที่ 3 คือคิดถึงความตายบ่อยครั้ง ไม่ได้อยากตายจริงๆ แต่ไม่ยินดียินร้ายกับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี จะได้พ้นทุกข์ อันดับที่ 4 อยากตายจริง แต่อยากตายด้วยสาเหตุอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย
    .
    อันดับ 5 ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายจริงๆ แต่เป็นความคิดที่นานๆ มาที มาแบบครั้งคราว แล้วก็สลายไป อันดับ 6 คิดบ่อยมากขึ้น คิดนานมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น คิดวิธี แต่ไม่ถึงกับตระเตรียม สุดท้ายคือวางแผน เวลา สถานที่ วิธีการ เขียนจดหมายลา
    .
    หนังสือยังบอกอีกว่า คลื่นความคิดการฆ่าตัวตายมักมาตอนที่อยู่คนเดียว
    .
    ตัวผมผ่านเกือบทุกขั้น มาไกลสุดคือแตะๆ ระดับ 6 ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ ระดับ 5
    .
    คุณหมอยังตั้งคำถามว่า การคิดฆ่าตัวตายสมเหตุสมผลหรือเปล่า คำตอบคือมันสมเหตุสมผลสำหรับผู้ป่วยในห้วงที่ไร้ทางออก ไม่มีทางช่วยเหลือ เหนื่อยกับความเศร้าโศก
    .
    ประโยคที่ทำดึงน้ำตาออกมาคือ
    .
    "แต่ยามที่คลื่นความคิดฆ่าตัวตายพัดมา ผู้ป่วยจะหาเหตุผลมารองรับความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นและหลงเชื่อว่าเราผิดจริงๆ เราสมควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องยุ่งยากทั้วปวงที่เกิดแก่คนรอบข้าง หากตนเองจากโลกนี้ไปเสีย นอกจากจะไถ่โทษแล้ว ยังช่วยลดภาระให้แก่คนอื่นไปได้มาก โดยเฉพาะลดภาระให้แก่คนที่ตนรัก การฆ่าตัวตายเช่นนี้จึงสมเหตุสมผลมาก"
    .
    ใช่เลย ผมยังจับและรับรู้อารมณ์ตนเองได้แบบที่สัมปชัญะไม่บกพร่อง เพราะในบันทึกผมก็เขียนความรู้สึกประมาณนี้ลงไป ตัวความเศร้า การเหนื่อยจากความเศร้า และความรู้สึกเป็นภาระนี่แหละที่เสือกไสความคิดอยากตายออกมา
    .
    ในหนังสือยังพูดถึงว่า บางทีผู้ป่วยก็คิดว่าตัวเองป่วยจริงหรือเปล่าด้วย ซึ่งก็ตรงกับที่ผมมักคิดเสมอๆ ผมยังคิดด้วยซ้ำว่า ถ้าไม่ไปหาหมอและถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า อาการอาจไม่กำเริบเสิบสานก็ได้
    .
    คนที่อยากรู้จักโรคซึมเศร้า คนที่ต้องอยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้า และคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ควรอ่านครับ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น


    ..........


    ส่วนนี้เป็นต้นไปเป็นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ผมได้มาจากการทำงาน
    .
    อัตราการฆ่าตัวตายในระดับโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ 40 วินาทีบนโลกใบนี้จะมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน
    .
    ในส่วนของประเทศไทย สถิติย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยที่ 6-6.3 ต่อ 1 แสนประชากรต่อปี แปลว่าใน 1 ปีมีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 4,000-4,300 ราย เท่ากับทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีคน 1 คนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ขณะที่ 53,000 รายคือตัวเลขของคนที่พยายามฆ่าตัวตายต่อปีหรือ 9 นาที 55 วินาทีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน
    .
    ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายในปี 2561-2562 พบว่า มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์มากที่สุดร้อยละ 53.04 ปัญหาจากการใช้สุราร้อยละ 29 โรคทางกายร้อยละ 25.7 ปัญหาด้านเศรษฐกิจร้อยละ 19 ภาวะโรคจิตร้อยละ 12 และโรคซึมเศร้าร้อยละ 7.8
    .
    ประสบการณ์ส่วนตัวทั้งจากการพบนักจิตบำบัด จิตแพทย์ ไปตามงานเสวนาต่างๆ และการใคร่ครวญกับตัวเอง ผมพบว่ามี 3 สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น (ไม่รวมยา) และใน 3 สิ่งนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'ความสุข' รวมอยู่ด้วย
    .
    ไม่แปลกที่ใครๆ จะคิดว่าความสุขตรงข้ามกับซึมเศร้า ซึ่งผมมักบอกเสมอว่า ไม่ใช่ สิ่งที่อยู่อีกด้านของความซึมเศร้าคือพลังงานในการใช้ชีวิต
    .
    แล้ว 3 สิ่งที่ว่าคืออะไร?
    .
    ความหวัง
    ความเชื่อมโยง
    ความหมาย
    .
    ปัญหาคงอยู่ที่ว่าเราจะช่วยสร้างสิ่งนามธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในผู้ป่วยได้อย่างไร เพราะตัวอาการมันพาหนีจาก 3 สิ่งนี้อยู่แล้ว และผมก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่พลัดพรากจากทั้ง 3 สิ่งนี้เช่นกัน
    .
    ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะช่วยสร้างมันได้อย่างไร
    .
    รู้แต่ว่า สำหรับมนุษย์คนหนึ่ง ไม่เฉพาะผู้ป่วยหรอก หากยังมีความหวัง ความเชื่อมโยงกับผู้อื่น และความหมายต่อการดำรงอยู่ แม้เพียงน้อยนิด ความตายก็อาจไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาเลือก
    .
    ฌอง ปอลล์ ซาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสพูดไว้ทำนองว่า คนเราฆ่าตัวตายเพราะไม่เห็นความหมายของการดำรงชีวิตอยู่ เพราะชีวิตคือความหมาย คือการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ได้เสียแล้วก็ตายเสียดีกว่า
    .
    และการตายไม่ใช่หนทางของคนพ่ายแพ้ แต่เป็นวิธีการสิ้นสุดความหมายของการดำรงอยู่

    .

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in