เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-พระเจ้าไม่มี แต่ความเป็นมนุษย์นั้นมีอยู่-
  • ไม่ว่าคุณจะเป็นเทวนิยม อเทวนิยม คริสต์ พุทธ อิสลาม ฮินดู เชน ไม่นับถือศาสนา เราล้วนเป็นมนุษย์ก่อนสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น

    พระเจ้าไม่เคยตาย เพราะพระเจ้าไม่มีจริง

    ประโยคข้างบนคงสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ผู้ที่นับถือศาสนาแบบเทวนิยม แต่มันเป็นข้อสรุปของหนังสือ ‘ATHEISM: A VERY SHORT INTRODUCTION’ หรือ ‘อเทวนิยม ฉบับกระชับ’ โดยสำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS EDITIONS แปลโดย ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์

    เพราะหากนิชเช่กล่าวว่า “พระเจ้าตายแล้ว” ผู้เขียนจะต้องเถียงว่า “ไม่จริง พระเจ้าไม่เคยตาย เพราะพระเจ้าไม่มีจริง”

    ผมถือว่าเป็นหนังสือที่สนุกอ่าน เพราะผู้เขียน-จูเลียน แบ็กกีนี นักวิชาการปรัชญาชาวอังกฤษ ประกาศตัวชัดเจนว่าเขาเป็นอเทวนิยม อธิบาย ถกเถียง ในประเด็นต่างๆ ที่ชาวอเทวนิยมถูกเข้าใจผิด เขาให้นิยามของ ‘อเทวนิยม’ ไว้อย่างสั้นกระชับว่า

    “ความเชื่อที่ว่าไม่มีพระเจ้าหรือทวยเทพใดๆ อยู่จริง”

    ผมตั้งใจว่าจะไม่เอ่ยถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มากนัก เพราะคิดว่าผู้อ่านควรได้สนุก คิด และสนทนากับหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเอง

    แต่ผมอยากชวนคุยถึงส่วนที่สนุกรองลงมาจากเนื้อหา หรืออันที่จริงคงไม่สามารถแยกขาดกันได้เพียงนั้น สิ่งนั้นก็คือ ‘วิธีการให้เหตุผล’ และ ‘แหล่งที่มาของศีลธรรม’

    ขอยกตัวอย่างเรื่อง ‘การไม่มีและหลักฐาน’ ผู้เขียนกล่าวว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนการมีอยู่ของพระเจ้าจึงไม่มีเหตุผลให้คิดว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ข้อถกเถียงที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้คือ ‘การไม่มีหลักฐานไม่ใช่หลักฐานของการไม่มี’ ซึ่งผู้เขียนก็แย้งประเด็นนี้ด้วยตัวอย่างของเนยในตู้เย็น

    “ความแตกต่างระหว่างการไม่มีหลักฐานเมื่อเรายังไม่ได้เปิดตู้เย็นกับการไม่มีหลักฐานเมื่อเราเปิดตู้เย็นนั้นง่ายมาก ตอนที่เรายังไม่ได้เปิดตู้เย็น มันไม่มีหลักฐานะเพราะไม่ได้เข้าไปดูในที่ที่อาจมีหลักฐานอยู่ แต่เมื่อเราเปิดตู้เย็นดูแล้ว มันไม่มีหลักฐานเพราะเราไม่สามารถหาหลักฐานในที่ที่มันน่าจะอยู่ได้ การไม่มีหลักฐานในแบบหลังนับว่าเป็นหลักฐานที่แน่นหนาของการไม่มีอยู่”

    หรือข้อถกเถียงที่ว่า มนุษย์ได้รับการออกแบบจากพระเจ้า ซึ่งมีจุดประสงค์บางประการให้มนุษย์ไปถึง พูดง่ายๆ คือพระเจ้าและศาสนามอบความหมายและจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ให้แก่มนุษย์ ดังนั้น หากเลือกเป็นอเทวนิยมหรือไม่นับถือศาสนา แล้วชีวิตมนุษย์จะมีความหมายใดหรือจุดประสงค์ใดให้เสาะแสวงหาอีกเล่า ผู้เขียนใคร่ครวญกับประเด็นนี้และตอบโดยใช้เหตุผลได้อย่างน่าสนใจ

    “ถ้าหากจุดหมายเดียวของการมีชีวิตอยู่ของเราคือการรับใช้จุดหมายของผู้อื่น เราก็ย่อมไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองและกลายเป็นเพียงเครื่องมือของคนอื่น ไม่ต่างกับมีดตัดกระดาษหรือแรงงานโคลนนิ่ง”

    ประเด็นต่อมา ด้วยชีวิตที่คุ้นเคยกับศาสนา ความคิดเรื่องศีลธรรมในสังคมไทยหรือในสังคมตะวันตกจึงผูกโยงกับศาสนา กล่าวคือศาสนาเป็นจุดกำเนิดของศีลธรรม หากไม่มีศาสนาหรือพระเจ้า มนุษย์ย่อมไม่อาจสร้างศีลธรรมเพื่อใช้เป็นแนวทางชีวิตได้ นี่ก็เป็นอีกข้อถกเถียงที่สำคัญมากๆ

    ลองเถียงกับตัวเองดูนะครับว่า ตัวของเราเองสามารถสร้างเกณฑ์ทางศีลธรรมเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้หรือไม่.เช่นกัน ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำได้ โดยมิต้องพึ่งพาพระเจ้า (หรือศาสนา-ส่วนนี้ผมเติมเอง) ศีลธรรมและความดีควรเป็นอิสระจากพระเจ้าด้วย เพราะมิฉะนั้นความดีจะเป็นสิ่งที่พระเจ้าเลือกเอาตามอำเภอใจ แบ็กกีนียังหยิบยกเอาจริยศาสตร์ของนักปรัชญา 3 คนมาอธิบายคืออริสโตเติ้ล ค้านท์ และเบนแธม ซึ่งก็คือแนวคิดว่าด้วยคุณธรรม หน้าที่นิยม และประโยชน์นิยม เพื่อให้เห็นว่าเหตุผลสร้างศีลธรรมได้ (ไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ เพราะผมก็ไม่มีความรู้ในส่วนนี้มากนัก)

    แล้วทำไมผมถึงเลือกนำ 2 เรื่องนี้มาพูดล่ะ?

    อย่างที่บอกครับ สำหรับผม ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือวิธีการที่ผู้เขียนโต้แย้งกับข้อโจมตีอเทวนิยมด้วยการให้เหตุผลอย่างละเอียด (ตามข้อจำกัดของหนังสือ) เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกันและทำให้เห็นว่า ข้อโต้แย้งของอีกฝั่งไม่มีเหตุผลน่าเชื่อถืออย่างไร

    การใช้เหตุผลน่าจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยเวลานี้กระมัง ช่วงเวลาที่การโต้เถียงส่วนใหญ่ใช้อารมณ์และข้อเท็จจริงผิดๆ เพื่อโจมตีหรือสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างหยาบๆ-เพราะเคยทำมาแบบนี้ ดังนั้น มันจึงเป็นสิ่งดี ใครที่ไม่คิดทำเท่ากับชั่วร้าย-การที่อดีตเคยทำ ไม่ได้แปลว่าปัจจุบันมันต้องเป็นสิ่งดี และยิ่งไม่เกี่ยวด้วยว่าผู้ที่ไม่ทำคือคนชั่วร้าย

    เรื่องศีลธรรมล่ะ?

    ศีลธรรมในศาสนาพุทธมีอิทธิพลต่อสังคมไทยสูงมาก สิ่งนี้มีประโยชน์แน่นอน แต่มันเพียงพอหรือเปล่าสำหรับโลกปัจจุบัน เราใช้ศีลธรรมแบบพุทธที่อิงกับรัฐทำร้ายกันและกันบ้างหรือเปล่า ศีลธรรมแบบพุทธเข้าแทนที่สิทธิมนุษยชนดังที่มีมักมีผู้กล่าวได้จริงหรือไม่ และอีกมากคำถาม

    ผมจึงอยากใช้ 2 ประเด็นนี้ในหนังสือเพื่อชวนคิดว่า เราใช้เหตุผลมากพอหรือยัง เราโต้เถียงกันด้วยเหตุผลมากพอหรือยัง หรือใช้ความเกลียดชังและข้อมูลผิดๆ เป็นตัวนำ

    เรา-ในฐานะมนุษย์-จะสร้างหลักการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างไร เนื่องจากแต่ละศาสนาล้วนมีแนวทางของตน ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับต่างศาสนิก เป็นคำถามร่วมสมัยและสำคัญ

    ไม่ว่าคุณจะเป็นเทวนิยม อเทวนิยม คริสต์ พุทธ อิสลาม ฮินดู เชน ไม่นับถือศาสนา เราล้วนเป็นมนุษย์ก่อนสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น

    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/343424123756372

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in