เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-‘ช่างสักแห่งเอาช์วิทช์’ ในแสงสว่างและความมืดมิดของความรัก-
  • หลายต่อหลายครั้งเราเลือกความรักที่เข้ามาในชีวิตไม่ได้
    แต่เราเลือกวิธีที่จะรักได้....ว่าจะรักเพื่อเกื้อกูลชีวิตหรือจะรักเพื่อเข่นฆ่าชีวิต

    เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความรักและจบลงด้วยความรัก

    เล่มนี้หลายคนน่าจะเคยอ่านกันแล้ว ‘ช่างสักแห่งเอาช์วิทช์’ หรือ The Tattooist of Auschwitz

    ชื่อค่ายกักกันชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดในยุคนาซีครองอำนาจ สถานที่แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พอจะเรียกว่าป่าเถื่อนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

    ผู้เขียน Heather Morris เขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยใช้เรื่องจริงของชายที่ชื่อ ลาลี เป็นเค้าโครง เธอใช้เวลาสัปดาห์ละ 2-3 วันตลอด 3 ปีในการพูดคุยกับลาลีเพื่อให้ได้เรื่องราวและข้อมูลสำหรับเขียนหนังสือเล่มนี้

    ถ้าคุณยังไม่ได้อ่าน เป็นไปได้ว่าคุณคงคิดว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่เล่าถึงความโหดร้ายในค่ายเอาช์วิทช์ ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ผิด มีหลายฉาก หลายตอนที่ชวนหดหู่และอกสั่นขวัญแขวน

    เมษายนปี 1942 ลาลีหรือชื่อจริงว่า ลุดวิก ไอเซนเบิร์ก ชาวเมืองคร็อมปาคี ประเทศสโลวาเกีย สมัครใจไปทำงานกับรัฐบาลเยอรมนี อย่างน้อยก็ตามที่โปสเตอร์ว่าไว้ เขาไปแทนพี่ชายของตนที่มีลูกเมียแล้ว เขาทนไม่ได้ที่ต้องทนเห็นพี่ชายต้องพลัดพรากจากครอบครัว ส่วนเขาซึ่งยังโสด ยังไม่มีพันธะใด ทั้งยังหวังว่าถ้าเขาไปแต่โดยดีจะช่วยให้ครอบครัวปลอดภัย อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความรัก

    ลาลีถูกต้อนขึ้นไปบนรถไฟสำหรับปศุสัตว์ เป็นยานพาหนะที่ทหารเอสเอสของเยอรมนียัดชาวยิวเข้าไปจำนวนมากอย่างไม่ใยดีว่าจะเกิดอะไรกับผู้โดยสาร ลาลีไม่รู้เลยว่ากำลังจะต้องเจอกับอะไร เขาถูกส่งไปที่เอาช์วิทช์-เบียร์เคอเนา ค่ายกักกันที่นาซีใช้เป็นห้องทดลอง ลานประหาร และเตาเผาศพในเวลาเดียวกัน

    สิ่งแรกที่นักโทษมาใหม่ทุกคนจะต้องทำคือการถูกสักหมายเลขที่ข้อมือ นักโทษทุกคนจะกลายเป็นแค่หมายเลขสำหรับทหารเยอรมัน ไร้ชื่อ ไร้ตัวตน

    หมายเลขของลาลีคือ 32407 และต่อจากนี้ เขาไม่ใช่ลาลี เขาคือ 32407

    ลาลีสัญญากับตัวเองว่าเขาต้องรอดออกไปจากนรกแห่งนี้ เพราะเขารักชีวิต

    ก็เหมือนที่เราพอจะได้ยินกันมาบ้างว่าเอาช์วิทช์นั้นเป็นอย่างไร นักโทษในค่ายกักกันสามารถเป็นเป้าซ้อมยิงของทหารเอสเอสได้ทุกเมื่อ ถูกใช้แรงงานอย่างหนักสวนทางกับอาหารแต่ละมื้อที่ได้ บ้างถูกส่งไปเป็นหนูทดลอง บ้างถูกใช้เป็นเครื่องบำเรอราคะของนายทหาร บ้างก็ถูกรมแก๊สให้ตาย อีกไม่น้อยจากไปเพราะความหิวโหย โรคภัย และความเย็นยะเยือกของฤดูหนาว

    ลาลีอาจไม่รอดชีวิตถ้าโชคชะตาไม่พัดพาให้เขาเป็นแท็ททูเวียร์เรอร์หรือช่างสัก ผู้ที่ต้องสักหมายเลขให้แก่นักโทษทุกคน ผู้ที่ต้องตีตราคนอื่น ผู้ที่ต้องลบตัวตนของใครต่อใครแล้วใส่หมายเลยลงไปแทน เขาขยะแขยงกับหน้าที่นี้ เพราะลาลีจดจำเวลาถูกสักหมายเลขได้ดี เขาไม่ต้องการทำในสิ่งที่เขาก็ไม่ต้องการให้ใครทำกับเขา ทว่า เขาก็รักชีวิตเกินกว่าจะปฏิเสธ

    ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นผมหรือคุณที่ต้องอยู่ในสภาพนั้น เราจะฟังมโนธรรมสำนึกหรือสัญชาติญาณในการเอาชีวิตรอด? ผมเลือกอย่างหลัง

    แต่ในนรก ลาลีก็มิได้ละทิ้งความรัก เขาเอื้ออาทรกับทุกชีวิตที่ผ่านเข้ามา ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ เก็บอาหารส่วนหนึ่งไว้คอยแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ ติดต่อกับคนที่เข้ามาทำงานในค่ายให้ช่วยหาอาหารและยารักษาโรค เล่นกับเด็กๆ ชาวยิปซี และอื่นๆ

    กระทั่งวันหนึ่ง หญิงสาวนาม กิทา ยื่นมือมาให้เขาสักหมายเลข และความรักก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง.ลาลีหาวิธีให้กิทาได้ทำงานนั่งโต๊ะที่สบายกว่า หายา หาช็อกโกแลตมาให้เธอ ดูแลและให้กำลังใจ ความสัมพันธ์ระหว่างลาลีกับกิทางอกงามโดยไม่ใยดีต่อความทารุณในเอาช์วิทช์และเบียเคอเนา ทั้งสองคนสัญญากันและกันว่าต้องมีชีวิตรอด จะแต่งงานกัน และร่วมรักกันในทุกที่ที่ต้องการ

    มีสถานการณ์ที่ลาลีเกือบต้องตาย แต่เพราะความรัก ความเอื้ออาทรที่เขามีต่อคนอื่น มันช่วยปกป้องให้เขารอดตายอย่างไม่คาดคิด

    แต่ในสถานที่แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความรักไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลาลีได้พบเจอ ความพลัดพรากก็เช่นกัน เด็กๆ ชาวยิปซีที่เขามักเล่นด้วย นัดยา หญิงชาวยิปซีที่เขาชอบสนทนาด้วย ค่ำคืนหนึ่ง คนเหล่านี้ทั้งหมดถูกกวาดต้อนออกไปและไม่กลับมาอีกเลย เช้าวันต่อมาขี้เถ้าโปรยปรายไปทั่วบริเวณที่เขาทำงาน เขาคิดว่าขี้เถ้าเหล่านี้คงเป็นส่วนหนึ่งของนัดยาและเด็กๆ ชาวยิปซี ลาลีเศร้า เสียใจ โกรธแค้น และชิงชัง

    ในเอาช์วิทช์ โรงเผาศพแทบไม่เคยหยุดพัก ควันสีดำล่องลอยจากปล่องขึ้นสู่ท้องฟ้าไม่ว่างเว้นวัน

    กว่า 3 ปีต่อมา เยอรมนีเพลี้ยงพล้ำให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพรัสเซียสร้างความระส่ำระสาย ทำให้ทั้งกิทาและลาลีมีโอกาสหนีรอดออกจากนรกที่ชื่อว่าเอาช์วิทช์ แต่ทั้งคู่ไม่ได้หนีไปด้วยกัน พวกเขาพลัดพรากไปคนละทิศคนละทาง ดิ้นรนเอาชีวิตรอด และพยายามรักษาสัญญาที่มีต่อกันอย่างถึงที่สุด

    ใช่, ที่สุดแล้วลาลีตามหากิทาจนพบ เขาและเธอใช้ชีวิตร่วมกันตราบจนแก่เฒ่า และมีลูกชายหนึ่งคนซึ่งเขียนคำตามไว้ในหนังสือเล่มนี้

    ดังที่กล่าวไป เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความรักและจบลงด้วยความรัก เราได้เห็นพลังของมันที่ทำให้คนสองหนึ่งยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ณ สถานที่ที่เหล็กกล้ายังต้องละลาย ณ สถานที่ที่ความตายมีโอกาสมากกว่าความเป็น

    อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาดูอีกด้านและรับรู้ประวัติศาสตร์สักหน่อย เราจะเห็นความรักอีกแบบที่ทั้งอันตรายและโหดเหี้ยม

    ความรักในเชื้อชาติอารยันบริสุทธิ์ ความรักในประเทศ ความรักในตัวผู้นำของเหล่านาซี มันปกปิดดวงตาให้มืดมิดและปกคลุมหัวใจจนเย็นชา พลังของความรักถูกแปรเป็นพลังของความโอหังลำพอง ความโกรธเกลียดชิงชัง กระทั่งมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

    ในช่วงที่ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในเดือนมกราคม 1933 เป็นต้นมา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 1941 ถึง 1945 มีการออกกฎหมายเพื่อแยกชาวยิวออกจากประชาชนกลุ่มอื่น คว่ำบาตรธุรกิจของชาวยิว เกิดค่ายกักกันชาวยิวขึ้นทั่วยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง ชาวยิวประมาณ 1.3 ล้านคนถูกสังหารหมู่ระหว่างปี 1941 ถึง 1945 จากน้ำมือของทหารและตำรวจ

    การปลุกปั่นให้เกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ การทำร้ายชาวยิวแพร่กระจายไปทั่ว ผมจินตนาการไม่ออกว่าอะไรทำให้ชาวเยอรมนีคลุ้มคลั่งได้เพียงนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวเยอรมนีทุกคน

    เป็นไปได้อย่างไรที่ความรักมาพร้อมความเกลียดชังได้มากมายเพียงนี้ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เท่าที่ได้ยินมามีการโฆษณาชวนเชื่อและปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังชนิดบ้าคลั่ง สื่อที่ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ ไม่เสนอข่าวเท็จ และการมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐจึงมีความจำเป็น

    เป็นความรักที่ช่างห่างไกลกับความรักของลาลีกับกิทาเหลือเกิน

    แล้วอย่างไรล่ะ?

    คิดหรือว่าความรักอย่างมืดบอดที่พร่าผลาญชีวิตคนไปกว่า 6 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หมดไปแล้ว เปล่าเลย ความรักประเภทนี้ยังดำรงอยู่ ซูดาน รวันดา การสังหารหมู่ในกัมพูชาจากความคลั่งต่อลัทธิการเมือง และอื่นๆ เป็นตัวอย่างที่ดี มันยังแทรกซึมอยู่ในความนึกคิดของผู้คน ผมไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ ว่าทำไมความรักบางประเภทจึงอนุญาตให้คนเราทำร้ายเข่นฆ่าผู้อื่นได้

    การฆ่าในนามของความรักคงสาหัสไม่แพ้การฆ่าในนามของความดี แล้วมันจะยิ่งโหดเหี้ยมขึ้นอีกหรือเปล่า หากทั้งความรักและความดีถูกผนวกรวมกันเพื่อฆ่าคนอื่นที่ไม่รักเหมือนเราและไม่ดีดังที่เราต้องการ

    ...ก็เป็นไปได้

    สำหรับผม ช่างสักแห่งเอาช์วิทช์คือภาพสะท้อนของความรัก

    หลายต่อหลายครั้งเราเลือกความรักที่เข้ามาในชีวิตไม่ได้

    แต่เราเลือกวิธีที่จะรักได้....ว่าจะรักเพื่อเกื้อกูลชีวิตหรือจะรักเพื่อเข่นฆ่าชีวิต

    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/366554418110009

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in