เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-‘ฆ่า’ ชีวิต เพื่อ ‘รักษา’ ชีวิต-
  • กรณีดังในบทละครถือกรณีคลาสสิกในทางปรัชญาจริยศาสตร์ที่มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ไม่จบไม่สิ้น มันไม่ง่ายเลยที่จะตอบหรือตัดสิน

    เริ่มด้วยคำถามว่า ถ้าการฆ่าคน 1 คนเพื่อช่วยชีวิตคน 1 คน คุณจะทำมั้ย?

    แล้วถ้าต้องฆ่าคน 1 คนเพื่อช่วยชีวิตคน 10 คนล่ะ?

    แล้วถ้าต้องฆ่าคน 10 เพื่อช่วยชีวิตคน 100 คนล่ะ?

    แล้วถ้าต้องฆ่าคน 164 คนเพื่อช่วยชีวิตคน 70,000 คนล่ะ?

    แล้วถ้าคนคุณที่ต้องฆ่ามีคนที่คุณรักรวมอยู่ด้วยล่ะ?

    และกลับกัน ถ้าคนที่จะได้รับการช่วยชีวิตมีคนที่คุณรักรวมอยู่ด้วยล่ะ?

    คิดว่าคำถามนี้ยากหรือเปล่า?

    นี่คือประเด็นหลักของบทละครเรื่องนี้ ‘สะพรึง’ หรือ ‘Terror’ ของแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค (Ferdinand von Schirach) แปลโดยศศิภา พฤกษฎาจันทร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS EDITIONS เป็นบทละครที่จำลองการพิจารณาคดีฆาตกรรมของศาลเยอรมนี จำเลยเป็นนายทหารอากาศชื่อ ลาร์ส ค็อค โดยให้ผู้ชมละครหรือผู้อ่านรับบทเป็นลูกขุนที่จะต้องพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดหรือจะยกฟ้อง

    เรื่องนี้อ้างอิงเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ปี 2005 เยอรมนีได้ออกรัฐบัญญัติความมั่นคงทางอากาศที่อนุญาตให้กองทัพสามารถยิงเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกผู้ก่อการร้ายจี้ได้ แล้วปี 2006 ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีก็ตัดสินให้บทบัญญัติส่วนนี้เป็นโมฆะ เพราะการพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์เพื่อรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญเยอรมนีระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” ซ้ำยังถูกตอกย้ำไว้ในมาตรา 79 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า มาตราแรกได้รับความคุ้มครองอันเป็นนิรันดร์ (ผมอ่านตรงนี้ถึงกับเอามือทาบอก แล้วเปรียบเทียบอย่างเศร้าสร้อยกับรัฐธรรมนูญของบางประเทศ)

    แต่จำเลยของเราตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสารที่มีลูกเรือและผู้โดยสาร 164 คน ที่โดนผู้ก่อการร้ายจี้เพื่อพุ่งชนสนามกีฬาที่มีคนเต็มสนาม 70,000 คน.ถ้าเป็นคุณจะยิงหรือไม่ยิง?

    เนื่องจากผู้เขียนเคยเป็นทนายความ ฉากและบทสนทนาจึงสมจริง เข้มข้น โดยเฉพาะคำแถลงปิดท้ายคดีของทั้งฝั่งอัยการและฝั่งทนายจำเลยถือว่าทรงพลังทั้งคู่ในการให้เหตุผล

    อัยการอ้างอิงกับหลักการและรัฐธรรมนูญ

    ทนายจำเลยอ้างอิงกับมโนธรรมสำนึก สิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่า และประโยชน์สุขของคนจำนวนมากกว่า

    เรียกว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ กับ ‘สำนักกฎหมายธรรมชาติ’ ฝ่ายแรกเห็นว่าควรยึดกฎหมายเป็นหลักเพราะมโนธรรมสำนึกของมนุษย์นั้นไม่มีความแน่นอน ฝ่ายหลังเชื่อว่ามีคุณงามความดีบางอย่างที่อยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง และมนุษย์ควรเชื่อฟัง

    เป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดจริยศาสตร์ 2 แบบที่ทรงอิทธิพลคือ ‘หน้าที่นิยม’ แบบค้านท์ กับ ‘ประโยชน์’ แบบเบนแธม ฝ่ายแรกเสนอว่าเราต้องปฏิบัติต่อมนุษย์เสมือนเป็นเป้าหมายโดยตัวมันเอง มิใช่เครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ต้องคำนึงถึงว่าสิ่งที่เรากระทำลงไปควรจะเป็นกฎสากล ยกตัวอย่างให้ง่าย ถ้าการโกหกเป็นสิ่งผิด มนุษย์ต้องไม่โกหกทุกกรณี ส่วนฝ่ายหลังมีแนวคิดรวบยอดว่าประโยชน์สุขมากที่สุดของผู้คนจำนวนมากที่สุด แปลว่าสิ่งใดถูกหรือผิด พิจารณาจากผลลัพธ์เป็นสำคัญ หากการกระทำนั้นสร้างประโยชน์สุขให้แก่คนจำนวนมากที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่ดี

    กรณีดังในบทละครถือกรณีคลาสสิกในทางปรัชญาจริยศาสตร์ที่มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ไม่จบไม่สิ้น มันไม่ง่ายเลยที่จะตอบหรือตัดสิน

    อันที่จริงมันเคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วในประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรสามารถถอดรหัสอีนิกมาของฝ่ายอักษะได้ ทำให้รู้ว่าเยอรมนีกำลังจะโจมตีทางอากาศใส่เมืองเมืองหนึ่ง เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้นต้องตัดสินใจว่าจะทำการอพยพคนในเมืองเพื่อแลกกับการเปิดเผยให้ฝ่ายเยอรมนีรู้ว่าตนถอดรหัสได้แล้ว คนจะตายอีกมหาศาล และสงครามจะยืดเยื้อต่อไป กับสองคือไม่ทำอะไรเลย ยอมแลกเมืองกับประชาชนในเมืองกับชัยชนะในอนาคตเพื่อจบสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก

    เชอร์ชิลเลือกอย่างหลัง

    เราทำได้ทั้งประณามและสรรเสริญเชอร์ชิล เช่นเดียวกันกับลาร์ส ค็อค

    บทละครมีตอนจบ 2 แบบ-พิพากษาว่าค็อคมีความผิดและยกฟ้อง ต้องไปอ่านเหตุผลล่ะครับว่าแต่ละคำพิพากษาให้เหตุผลไว้อย่างไร

    ถ้าเป็นคุณจะตัดสินให้ผิดหรือยกฟ้อง?

    เราคงคิดว่ามันก็แค่เรื่องแต่ง แต่เชื่อเถอะ ชีวิตมักหยิบยื่นโจทย์ยากๆ ให้เสมอ ผมเชื่อว่าเชอร์ชิลเองต้องคิดอย่างหนักหน่วงและตัดสินใจอย่างเจ็บปวดกับทางเลือกของตน

    เราเองก็เหมือนกัน บ่อยครั้งที่การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตไม่ได้หมายถึงการพรากชีวิต แต่มันก็ต้องแลกด้วยบางสิ่งในราคาที่แพงมากๆ สำหรับเรา ซ้ำเมื่อเลือกไปแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจตัดสินใจผิด อีกทั้งมันไม่มีกรอบเกณฑ์ทางกฎหมายใช้ยึดถืออ้างอิงเสียด้วย

    แน่นอนว่าผมมีคำตัดสินคดีนี้ แต่ขอเก็บมันไว้ในใจ

    คำถามที่ผุดขึ้นมาหลังจากอ่านจบ....ถ้าลาร์ส ค็อคตัดสินใจไม่ยิง ผลทางกฎหมายและมโนธรรมสำนึกที่เขามีต่อตัวเอง และอารมณ์ความรู้สึกที่ประชาชนชาวเยอรมนีมีต่อการตัดสินของเขาจะเป็นอย่างไร?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in