ต้องบอกว่า สำหรับผมนี่คือหนังสือประวัติศาสตร์ศาสนาที่ถักทอเรื่องราวความเป็นมาของศาสนาได้น่าสนใจและสนุกสนาน
ดีงามอย่างไร?
A Little History of Religion หรือ ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ อธิบายบ่อเกิดศาสนาหลักของโลก ศาสนาอื่นๆ ที่มีผู้คนนับถือไม่มาก จนถึงศาสนาใหม่ๆ ลัทธิ-นิกายใหม่ๆ แต่ถ้าแค่เล่าประวัติก็คงไม่ต่างจากหนังสือเรียนดาษดื่น ความคมคายของมันคือการชี้ให้เห็นแนวคิดต่างๆ ที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือจุดพลิกผันของรากฐานความเชื่อของศาสนานั้น (ส่วนใหญ่กล่าวถึงศาสนาที่มีพระเจ้า)
ความแหลมคมอีกประการคือการตั้งคำถามกับศาสนาอย่างท้าทาย หลายคำถามไม่เคยนึกถึงมาก่อน เช่น ความรุนแรง การเมือง ศาสนาเป็นยาฝิ่นจริงหรือ เป็นต้น อ่านแล้วก็ให้รู้สึกว่า ผู้เขียนต้องใคร่ครวญกับเรื่องนี้มาอย่างลึกซึ้ง
ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ ผู้เขียน เคยเป็นถึงบิชอปแห่งเอดินบะระและหัวหน้านักบวชแห่งคริสตจักรอิปิสโคปองแห่งสกอตแลนด์ แต่ลาออกมาเมื่อปี 2000 นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาลุ่มลึกกับประเด็นนี้มากๆ
นอกจากเนื้อหาแล้ว ที่เป็นความชอบอย่างพิเศษคือภาษา-สำนวน เป็นงานเขียนเรื่องยากที่มีภาษาสละสลวยอย่างกับอ่านงานวรรณกรรม ใช้การเปรียบเปรยที่คมคาย และอารมณ์ขันร้ายๆ ได้เหนือชั้น (ต้องยกความดีความชอบให้ผู้แปลด้วย) เนื้อหาจึงแทบจะเหมือนจับวาทะคมๆ มาเรียงต่อกัน
"ศาสนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองตั้งแต่ต้น เราอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติเป็นการเมืองรูปแบบหนึ่ง"
"เมื่อศาสนาเข้าร่วมการทะเลาะเบาะแว้ง มันเติมพิษลงไปในส่วนผสม ซึ่งพิษนี้มักไม่ปรากฏในข้อขัดแย้งอื่น เดิมทีมนุษย์นั้นชอบใช้ความรุนแรง แต่ถ้าพวกเขาปักใจว่าตนทำเพื่อสนองพระประสงค์ของพระเจ้า โอกาสที่พวกเขาจะปรานีและออมมือเมื่อมีข้อขัดแย้งย่อมมลายหายไป"
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพุทธศาสนาเพียงน้อยนิดและมีน้ำเสียงชื่นชมพระพุทธเจ้าอยู่ ผมไม่ได้สนใจอะไร แค่เกรงว่าพุทธไทยๆ อ่านแล้วจะยิ่งตอกหมุดความเชื่อว่าพุทธดีที่สุด...ก็แค่นั้น
ผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธไทยในมิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ความโปร่งใส ความเท่าเทียมระหว่างเพศมาอยู่บ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ศรัทธาศาสนาพุทธอย่างแรงกล้าคงเกลียดผมไปเลย แต่หากลองพิจารณาให้ดี ศาสนาเมื่ออยู่ในมือมนุษย์หาใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ มันเต็มไปด้วยการเมือง การแย่งชิงผลประโยชน์ การใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ใช้เป็นเครื่องเผยแพร่อุดมการณ์ ใช้เป็นเครื่องมือกดขี่เพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพศชาย ความคับแคบทางจิตใจของนักบวช ความหวาดกลัวศาสนาอื่น ความเกลียดชังเพราะนับถือศาสนาต่างกับตน ฯลฯ
ผมไม่ได้กล่าวเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ทุกศาสนาล้วนมีส่วนสวยงามและอัปลักษณ์ตามแต่ผู้ศรัทธาจะหยิบจับมันอย่างไร มีความรุนแรงซุกซ่อนอยู่ในคัมภีร์ และมักถูกใช้สร้างความชอบธรรมเพื่อทำลายผู้อื่น ยกตัวอย่างศาสนาพุทธที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ทว่า เมื่อการเห็นผู้อื่นไม่ใช่มนุษย์ ความเกลียดชังเข้าครอบงำ มันก็ใช่ฆ่าคนได้ทั้งในศรีลังกา ไทยในยุคคอมมิวนิสต์ หรือโรฮิงญาในพม่าที่เรามักเห็นคอมเม้นต์ของชาวพุทธที่ต้องการให้คนเหล่านี้ตายเพียงเพราะพวกเขาเป็นมุสลิม
ธรรมชาติของศาสนาคือการสร้างความเป็นอื่นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มันต้องเปิดพื้นที่ให้ความเป็นมนุษย์ด้วยไม่ว่าจะศรัทธาศาสนาใดหรือไม่ศรัทธาศาสนาใดเลยก็ตาม
โดยรวมหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ควรอ่านเพื่อทำความเข้าใจศาสนา อันเป็นองค์ประกอบหลักของชีวิตมนุษย์ เป็นบ่อเกิดความรุนแรงตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามและข้อสังเกตต่อมันอย่างรัดกุม
อย่างน้อยมันอาจช่วยให้เราฉุกคิดว่า เมื่อใดที่เราลงมือทำบางสิ่งในนามของความดี ก็จงระมัดระวังตัวให้มาก เพราะความดีนั้นอาจไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นเลยก็เป็นได้
https://wandering-bird.blogspot.com/2019/11/blog-post_29.html
https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/131470908285029?__tn__=K-R-R
#ALittleHistoryofRdligion #ศาสนาประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ #ริชาร์ดฮัลโลเวย์ #สำนักพิมพ์Bookscape #WanderingBird #WanderingBook
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in