เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะไม่ใช่ความรู้สึก"-
  • หลายปีมาแล้ว ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเอง (เพราะไม่รู้จะถามใคร) ว่า ทำไมบทเพลงส่วนใหญ่มักว่าด้วยความรัก ทั้งที่บนถนนชีวิตของมนุษย์ ความรักเป็นองค์ประกอบหนึ่งท่ามกลางส่วนผสมมากมาย ตอบกับตัวเองว่าคงมีสาเหตุทางประวัติศาสตร์อะไรสักอย่างทำให้มันเป็นเช่นนี้


    ‘ความสัมพันธ์’ หรือ Relationships จาก The School of Life แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ผลิตและจำหน่ายโดย B2S เหมือนจะเป็นหนังสือ How to แต่ไม่ใช่แน่ๆ เนื้อหาไม่ได้บอกว่าเรา ‘ต้อง’ ทำอะไร พร้อมลิสต์รายการ หรือแนะนำให้เอากระดาษออกมาเขียนเป้าหมาย บลาๆๆ อย่างที่หนังสือแนวพัฒนาตัวเองชอบทำ ซ้ำยังมีกลิ่นอายจิตวิทยาและปรัชญาปะปนอยู่ด้วย ช่างเถอะ เอาเป็นว่าหนังสือช่วยให้คำตอบกว้างๆ แก่ผมว่า สาเหตุมันเกิดจากลัทธิโรแมนติกที่ถือกำเนิดขึ้นช่วงกลางคริสตศวรรษที่ 18 ในยุโรป ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลกและทุกอณูของความเสน่หาในจิตใจมนุษย์


    คู่แท้ คนที่ใช่ การยอมรับในตัวตนของอีกฝ่าย รักแรกพบ รักนิรันดร์ ความมั่นคง รักแท้ เงินทองเป็นสิ่งน่ารังเกียจของความรัก การบอกทุกสิ่งอย่างให้คู่รักรู้ เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ครอบงำเรื่องราวความรักมาตั้งแต่ผมจำความได้ ผู้คนเชื่อและหลงใหลความหวานชื่นของความรักแบบโรแมนติก เพลง นวนิยาย ละคร ภาพยนตร์อีกเป็นพะเรอเกวียนย้ำเตือนเราเสมอถึงรักแท้ที่่เราจะค้นพบและคงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย แต่หนังสือเล่มนี้กระเทาะเปลือกหนาๆ ของความโรแมนติกที่ครอบงำความคิด-ความเชื่อต่อความรัก มันมีถ้อยคำไพเราะ คมคาย และน่าสนใจหลายประโยคกระจัดกระจายอยู่ในเล่ม เช่น

    “ในหลายๆ สถานการณ์ คนรักที่ดีต้องมีความสามารถในการตัดทอนและเก็บงำสมรรถภาพของความตรงไปตรงมาและการเปิดเผยได้อย่างสมดุลรอบคอบ”


    “การเลือกคู่ครองจึงไม่ใช่การเลือกระหว่างความพึงพอใจกับความเศร้าโศกเสียใจ แต่เป็นเพียงการเลือกระหว่างความทุกข์ทั่วๆ ไปกับความไร้สุขในทุกๆ วันเท่านั้นเอง”


    “หนึ่งในสมมติฐานสำคัญในยุคสมัยเราบอกว่า หากเป็นรักแท้ก็ต้องคงอยู่ชั่วนิรันดร์ จึงเป็นธรรมดาที่เรามักจะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่ จริงใจ เทียบเท่ากับความสัมพันธ์ ชั่วชีวิต เสมอ”


    “เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเลิกหวังในแนวคิดที่ว่าชีวิตจะสมบูรณ์แบบกับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะดีที่สุดที่เราจะสามารถหวังได้ก็คือความสัมพันธ์ แบบดีพอ” หรือ


    “เราจะเห็นจุดจบของความรักเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสังคมบอกเราว่าอะไรคือความปกติ ในเรื่องสำคัญๆ หากความสัมพันธ์ถูกสร้างมาให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์ ทุกจุดจบก็จะต้องถูกมองเป็นความล้มเหลวที่น่าหวาดหวั่นเหลือเกิน แต่หากเรายอมให้มีที่ว่างในจินตนาการสำหรับความรักระยะสั้นได้ จุดจบก็อาจจะส่งสัญญาณความซื่อสัตย์ที่ลึกซึ้งกว่า”

    ประโยคที่ยกมาล้วนยืนตรงข้ามกับความรักแบบโรแมนติกที่ครองอำนาจอยู่เวลานี้

    หนังสือนำเสนอมิติทางจิตวิทยาและย้ำเสมอว่า มนุษย์ทุกคนล้วนพกพาบาดแผลทางจิตใจจากวัยเด็กติดตัวมาด้วย และมันจะแสดงออกมาเสมอไม่ว่าเราจะเต็มใจยอมรับหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จงรู้เถิดว่าทุกคนมีความบ้าเป็นของตัวเอง คู่รักของเราอาจทนไม่ได้เลยกับบางสถานการณ์หรือบางคำพูดที่ช่างดูขี้ประติ๋ว นั่นแหละ มันคือการแสดงออกของบาดแผลบางแห่งในใจเขา แต่เดี๋ยวก่อน หนังสือก็ไม่ได้บอกให้เรายอมรับความบ้าเพราะรัก

    หนังสือตั้งคำถามกับแนวคิดต่างๆ ของความรักแบบโรแมนติก เช่น เราต้องยอมรับตัวตนทุกแง่มุมของคนที่เรารักอย่างเต็มใจ หากไม่ยอมรับ ย่อมมิใช่รัก และความพยายามเปลี่ยนแปลงก็ช่างไม่โรแมนติกเอาเสียเลย หนังสือกล่าวว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงคนที่เรารักหรือคนที่เรารักพยายามเปลี่ยนแปลงเราไม่ใช่เรื่องที่น่าขุ่นเคืองและอาจจำเป็น และมองตรงข้ามกับความรักแบบโรแมนติกด้วยว่า การพยายามเปลี่ยนคนที่เรารักให้พัฒนาขึ้น ดีขึ้น ดูจะเป็นหน้าที่อันสำคัญประการหนึ่งของความรัก หนังสือตั้งคำถามไปถึงการนอกใจ การมีเซ็กส์กับความรัก ความมั่นคงในคู่ครอง ว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ไม่อาจหาคำตอบถูกที่สุดได้

    นอกจากนี้ หนังสือยังนำวิธีคิดแบบคลาสสิก (ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร เข้าใจว่าหมายถึงแนวคิดแบบกรีก) เป็นหนทางในการทำความเข้าใจและพยุงความสัมพันธ์ และย้ำว่า “ความรักไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นโดยบังเอิญ ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก”

    ในฐานะคนที่ทำข่าวเรื่องสิทธิผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศอยู่บ้าง มักได้ยินวาทกรรมเกี่ยวกับ ‘ครอบครัว’ ที่สร้างแรงบีบอัดให้ผู้คนทั้งชายและหญิง เมื่อเรือที่นั่งร่วมกันมาระยะหนึ่งผุรั่วเกินซ่อมแซม ความพยายามจ้ำแจวและวิดน้ำออกพร้อมๆ กันเพื่อไม่ถูกตราหน้าว่าล้มเหลวในชีวิตคู่ มันช่างเหนื่อยสาหัส ผมไม่รู้ว่าวาทกรรมครอบครัวในไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร ถึงกระนั้น ผมเชื่อว่ามันมีรากจากแนวคิดโรแมนติกไม่มากก็น้อย

    มีหลายประเด็นให้เถียงกับหนังสือได้ ผมเชื่ออย่างนั้น แต่ละคนน่าจะมีมุมมองต่อความรักต่างกันไป อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็พยายามเปิดโปงให้รู้ว่า เราอยู่ในกับดักความโรแมนติกหรือเปล่า (ผมก็เถียงในใจเหมือนกันว่า ถ้าความรักแบบโรแมนติกครอบงำโลกได้ขนาดนั้น ทำไมการแต่งงานเพื่อความมั่งคั่งหรือยกระดับฐานะทางสังคมกลับยังมีให้เห็นอยู่มากมาย)

    เอาเป็นว่า ใครสนใจก็ลองไปซื้อหามาอ่านดูครับ เล่มละ 215 บาท

    แม้หนังสือจะออก Anti-Romanticism และให้มุมมองความรักแบบที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่บางประโยคที่พยายามแอนตี้ก็ดูโรแมนติกอยู่ไม่น้อย เช่นประโยคข้างล่างนี้

    “บางที การตอบสนองอย่างสุภาพเหมาะสมต่อความรักอาจจะเป็นการชื่นชม ยกย่อง ดูแลเอาใจใส่-แล้วก็เดินจากไป”


    https://web.facebook.com/NokPanejorn/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in