“คุณจะมองว่าคนที่อยู่นอกกลุ่มของคุณดูเหมือนกันไปหมดจนเกินความเป็นจริง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า อคติจากการมองคนนอกกลุ่มเหมือนกันไปหมด ซึ่งเป็นต้นตอของการเหมารวมและความลำเอียง คุณเคยสังเกตไหมครับว่าในภาพยนตร์แนวไซไฟจะมีแต่มนุษย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของใครของมัน ในขณะที่มนุษย์ต่างดาวทุกตัวนั้นดูเหมือนกันไปหมด”
ผมเคยเล่าเรื่องราวหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว ใน https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/168509541247832มันช่วยตรวจสอบอคติในใจ ในสังคม และในโลก ที่เต็มไปด้วยข้อมูลล้นเหลือเฟือฟาย แล้วผ่านเข้ามาในชีวิตเพื่อให้เราต้องตัดสินใจ ซึ่งเรามักทำไปผ่านอคติ ความเชื่อที่ผิด หรือเหตุผลวิบัติบางอย่างRolf Dobelli เขียน The Art of Thinking Clearly เล่มที่ 2 ออกมาเมื่อปี 2012 สำนักพิมพ์ WE LEARN จัดพิมพ์อีกครั้ง ตั้งชื่อว่า ’52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด’ แปลโดยอรพิน ผลพนิชรัศมีเช่นเดิม (มีข้อติติงเล็กน้อยคือทางสำนักพิมพ์ไม่ให้เครดิตผู้แปลบนปก แต่กลับไปอยู่ในหน้าเครดิต ซึ่งถ้าผู้อ่านเปิดข้ามก็จะไม่รู้ว่าใครแปล แบบนี้ผมว่าไม่เหมาะเท่าไหร่) ตามสไตล์ WE LEARN ครับที่มักจะตั้งชื่อให้ดูเป็น how to ทั้งที่ชื่อภาษาอังกฤษคือศิลปะการคิดให้กระจ่างชัดเจนบทนำของเล่ม 2 น่าสนใจ ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการสนทนาระหว่างพระสันตะปาปากับไมเคิล แองเจโล ฝ่ายแรกถามว่า “บอกความลับเกี่ยวกับความอัจฉริยะของเจ้ามาหน่อยสิ เจ้าสร้างเดวิดซึ่งเป็นสุดยอดแห่งประติมากรรมชิ้นเอกทั้งมวลขึ้นมาได้อย่างไร” ไมเคิล แอลเจโลต่อว่า “ไม่ยากเลย ข้าแค่กำจัดทุกสิ่งที่ไม่ใช่เดวิดทิ้งไปเท่านั้น”Dobelli เขียนต่อว่าเราไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุขและประสบความสำเร็จ แต่เราค่อนข้างรู้แน่ชัดว่าอะไรไม่ใช่ ซึ่งผมค่อนไปทางเห็นด้วย มันคือความรู้ในเชิงปฏิเสธหรือที่ในทางปรัชญาเรียกว่า Via Negativa เพราะการที่เรารู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรถือเป็นความรู้แบบหนึ่งและสำคัญมากเสียด้วยมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ แต่ผมขอยกมาแค่ 4 หัวข้อเริ่มจาก Introspection Illusion ผู้แปลใช้คำว่า ‘ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการใคร่ครวญความคิดของตัวเอง’ สรุปอย่างสั้นกระชับคือมนุษย์สามารถหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อตัวเองได้เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง ศาสนา การซื้อของ ฯลฯ ผู้เขียนอ้างอิงงานวิจัยด้านจิตวิทยาเพื่อระบุว่าเราเชื่อการใคร่ครวญความคิดของตัวเองไม่ได้ และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการคิดใคร่ครวญนั้นเป็นเพียงการเชื่อมโยงข้อมูลมากมายในหัวเท่านั้น แต่ผลของสิ่งนี้อาจร้ายแรงกว่าที่คาดคิดDobelli เขียนว่าเมื่อเราเชื่อในความคิดตนเองมากๆ ยามที่พบเจอกับคนที่เชื่อต่างจากเรา เราจะเกิดปฏิกิริยา 3 แบบ หนึ่ง-การสันนิษฐานว่าอีกฝ่ายไม่รู้ สอง-การสันนิษฐานว่าอีกฝ่ายโง่เขลา และสาม-การสันนิษฐานว่าอีกฝ่ายมุ่งร้าย แล้วยิ่งเชื่อความคิดตนเองมากเท่าไหร่กลับยิ่งมองเห็นความจริงได้ยากขึ้นเพียงนั้น รู้สึกมั้ยครับว่ามันช่างคล้ายกับที่สังคมไทยเป็นอยู่ตอนนี้จริงๆเชื่อมโยงกับหัวข้อก่อน In-Group/Out-Group Bias หรือ ‘อคติที่มีต่อคนในกลุ่มและคนนอกกลุ่ม’ คงพอจะเดาได้ว่าหมายถึงอะไร ปฏิกิริยาที่เรามีต่อผู้คนที่อยู่ในและนอกเส้นที่เราขีดย่อมต่างกัน ซึ่งนักจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประการคือเราจะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่มีอะไรเหมือนกับเราแม้เพียงเล็กน้อยสอง-“คุณจะมองว่าคนที่อยู่นอกกลุ่มของคุณดูเหมือนกันไปหมดจนเกินความเป็นจริง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า อคติจากการมองคนนอกกลุ่มเหมือนกันไปหมด ซึ่งเป็นต้นตอของการเหมารวมและความลำเอียง คุณเคยสังเกตไหมครับว่าในภาพยนตร์แนวไซไฟจะมีแต่มนุษย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของใครของมัน ในขณะที่มนุษย์ต่างดาวทุกตัวนั้นดูเหมือนกันไปหมด” เออ...จริงแฮะสาม-กลุ่มต่างๆ มักเกิดจากการยึดถือค่านิยมเดียวกันทำให้ความคิดเห็นส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนถูกมองข้างผู้เขียนสรุปว่า “ความลำเอียงและความเกลียดชังเป็นปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติที่เรามีต่อคนนอกกลุ่ม และการรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มจะบิดเบือนมุมมองที่คุณมีต่อสิ่งต่างๆ ดังนั้น ถ้าถูกส่งเข้าสนามรบคุณก็ควรพิจารณาให้ดีว่าเป้าหมายของการสู้รบครั้งนี้คือสิ่งที่คุณต้องการหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็เดินออกมาเสีย การสู้รบตามความต้องการของคนในกลุ่มไม่ได้หมายความคุณกล้าหาญ หากแต่เป็นการกระทำที่ไม่ค่อยฉลาดนัก”What-Doesn’t-Kill-Me-Fallacy หรือ ‘เหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยการผ่านพ้นวิกฤติมาได้’ ผมเลือกหัวข้อนี้เพราะในสังคมอุดมไลฟ์โค้ชและถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจเป็นพะเรอเกวียน เราควรรู้ว่ามีกับดักทางการใช้เหตุผลหรือไม่คุณน่าจะเคยได้ยินถ้อยคำปลุกใจที่ว่า “สิ่งที่ฆ่าเราไม่ตาย มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” ใช่ มันชวนฮึกเหิมเหลือเกิน แต่เราเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า ทำไมเราจึงต้องปล่อยให้ตนเองประสบวิกฤตก่อนถึงค่อยเรียนรู้บทเรียนหลังจากนั้นในทางกลับกัน “ถ้ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราค้นพบหลังจากผ่านพ้นวิกฤติมาได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมจริงๆ เราก็น่าจะเห็นคุณงามความดีของมันตั้งแต่ก่อนวิกฤติแล้ว แต่ถ้าก่อนหน้านี้เราไม่เคยสังเกตเห็นมันเลยก็หมายความว่า เราไม่เคยพิจารณามันอย่างจริงจัง หรืออาจเพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวิกฤติเลยต่างหาก” คุณคิดว่าจริงมั้ย?ทุกครั้งที่คุณได้ยินเหล่าไลฟ์โค้ชและนักเขียนสร้างแรงบันดาลใจพูดหรือเขียนอะไรทำนองนี้ ผมอยากให้ชะงักสักครู่แล้วลองนึกเหตุผลวิบัติข้อนี้สุดท้าย ลองดูตัวเลขชุดนี้ครับว่ามีอะไรเหมือนกัน 724, 947, 421, 843, 394, 411, 054 และ 646 ตอนอ่านผมทายถูก คุณทายถูกมั้ย?ลองดูตัวเลขอีกชุดแล้วทายว่ามีอะไรที่เหมือนกัน 349, 851, 274, 905, 772, 032, 854 และ 311 ชุดนี้ผมคิดไม่ออกเลยด้วยซ้ำเฉลย-ตัวเลขชุดแรกมีเลข 4 เหมือนกัน ส่วนชุดที่ 2 คือมันไม่มีเลข 6 เลยสิ่งนี้เรียกว่า Feature-Positive Effect หรือ ‘อิทธิพลของสิ่งที่มีอยู่’ Dobelli ยกตัวอย่างได้น่าสนใจโดยยกความสำเร็จในแวดวงวิชาการ ถ้าสมมติฐานหนึ่งได้รับการยืนยัน ตีพิมพ์ และยอมรับอย่างกว้างขวาง มันก็จะนำพาผู้พิสูจน์สมมติฐานไปสู่รางวัลและการนับน่าถือตา แต่สมมติฐานที่ผิดพลาดกลับไร้การเอ่ยถึง ทั้งที่มันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนสมมติฐานที่ถูกต้อง ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างแรง“การตระหนักถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องยาก เราจะตระหนักถึงสงครามเมื่อมันเกิดขึ้น แต่กลับไม่เคยคิดว่าความสงบสุขเป็นผลจากการปราศจากสงคราม” และ “คำถามเชิงปรัชญาที่ล้ำลึกที่สุดก็คือทำไมสิ่งที่มีอยู่จึงนับว่ามีอยู่จริงและทำไมสิ่งที่ไม่มีอยู่จึงนับว่าไม่มีอยู่จริง”เราเชื่อความคิดตนเองอย่างแรงกล้า เราเชื่อคนในกลุ่มหรือคนที่เชื่อเหมือนเราอย่างหลับหูหลับตา เราเชื่อถ้อยคำที่ฟังดูดีและปลุกจิตปลุกใจ เราเชื่อสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เรามองเห็น ซึ่งโลกใบนี้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันอันตรายและเปล่าเปลืองแค่ไหนไม่แน่นะครับ เพียงเรายอมถอยออกมาสักครึ่งก้าว หนึ่งก้าว ภาพและสีสันที่เคยเห็นอาจเปลี่ยน แต่การถอยมันก็ยากเหลือเกิน ถ้าเรานำเรื่องการถอยผูกร้อยกับตัวตนของเรา การถอยย่อมหมายถึงความพ่ายแพ้ มันยากสำหรับมนุษย์ที่จะยอมพ่ายแพ้ มันยากสำหรับผมด้วย แต่การพ่ายแพ้อาจเป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่งก็ได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in