เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-ถ้าศากยมุนีต่อสู้กับแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ การท้าทายความศักดิ์สิทธิ์-
  • คุณจินตนาการในใจได้ ทว่า การแสดงออกจะไม่มีทางไปไกลกว่ากรอบความศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมและวัฒนธรรมของเราขีดเส้นไว้
    ถ้าคุณคิดจะข้าม คุณอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่สูงมาก

    (มีสปอยล์นิดเดียว ไม่มาก)

    วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงมังงะบ้าง

    คุณจะรู้สึก เอ๊ะ! หือ? เฮ้ย! สนใจ หรือน่าสนุกหรือเปล่า ถ้าศากยมุนีหรือพระพุทธเจ้าต้องต่อสู้แบบเอาเป็นเอาตายกับแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่องแห่งย่านอีสต์เอนด์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือสู้กับนิโคลา เทสลา ยอดอัจฉริยะนักวิทยาศาสตร์ หรือสู้กับรัสปูติน พ่อมดจอมฉาวแห่งจักรวรรดิรัสเซียก่อนล่มสลาย

    หรือในทางกลับกัน ถ้ามนุษย์เหล่านี้ต้องต่อสู้กับพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดแห่งศาสนาฮินดู ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า ท้าวเวสสุวรรณ เจ้าแห่งภูติผีปีศาจ หรืออนูบิส ผู้ทำหน้าที่ดองศพของเทพเจ้าโอซิริสในปกรณัมอียิปต์

    ผลการต่อสู้จะออกมาเป็นอย่างไร?

    ผมเห็นชื่อมังงะเล่มนี้ แล้วก็ เอ๊ะ! พลิกอ่านด้านหลัง บอกเล่าแกนเรื่องหลักว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพเจ้าที่แข็งแกร่งที่สุด 13 องค์กับมนุษย์ที่แข็งแกร่งที่สุด 13 คน เพื่อตัดสินว่ามนุษยชาติจะได้ไปต่อหรือควรถูกทำลายล้างโดยเงื้อมมือเหล่าเทพเจ้า

    ‘มหาศึกคนชนเทพ’ หรือ ‘Record of Ragnarok’ เรื่องและภาพโดย อาจิจิกะ เรื่องต้นฉบับโดย ชินยะ อุเมมุระ และลำดับเรื่องโดย ทาคุมิ ฟุคุอิ ผู้แปลคือปงคิจิ สำนักพิมพ์ Phoenix

    คงไม่ถือเป็นการสปอยล์มาก เพราะบนตัวเล่มก็บอกชัดอยู่แล้ว เล่มแรกเป็นการต่อสู้ระหว่างธอร์กับลิโป้ ขุนศึกที่เก่งกาจที่สุดแห่งสามก๊ก ส่วนเล่ม 2 อาดัม มนุษย์คนแรกตามคัมภีร์ไบเบิ้ล ปะทะกับซุส ประมุขของเหล่าทวยเทพแห่งเทือกเขาโอลิมปัส ทั้งสองคู่สู้กันยังไง ใครแพ้ ใครชนะ ...บอกไม่ได้

    ตอนท้ายของเล่มแรก ผู้เขียนเปิดเผยชื่อเทพเจ้าทั้ง 13 องค์และมนุษย์ทั้ง 13 คนที่จะต้องต่อสู้กัน ชื่อที่เอ่ยไปข้างต้นก็อยู่ในนี้ด้วย เพียงแต่ไม่ได้บอกว่าใครจะต้องประลองกับใคร

    แฟนพันธุ์แท้มังงะญี่ปุ่นอาจจะไม่ตื่นเต้นกับเนื้อเรื่องทำนองนี้ (หรือเปล่า?) เพราะการสร้างสรรค์เนื้อเรื่อง บุคลิกตัวละคร เส้นเรื่อง พล็อตหลัก พล็อตรอง ความแปลกใหม่ แหวกแนว ต้องยอมยกให้มังงะ แต่กับคนที่อ่านมังงะน้อยๆ อย่างผม มันน่าตื่นเต้นดีที่จะเห็นคนกับเทพเจ้าสู้กัน

    มังงะเล่มนี้เพิ่งออกมาเพียง 2 เล่ม ยังมีหลายสิ่งให้ติดตามและเรื่องหักมุมอีกมาก

    แล้วยังไงล่ะ? มันสำคัญอย่างไรผมจึงต้องพูดถึง?

    ถึงผมจะร้างลาการอ่านมังงะไปหลายนาน แต่เราต่างรู้ดีว่ามังงะรุ่นใหม่ๆ มี ‘สาร’ ที่ต้องการสื่อออกมามากกว่าตัวเนื้อหาที่สนุกสนาน บ่อยครั้งที่สารเหล่านั้นมีมวลหนัก เข้มข้น และต้องขบคิดอย่างตั้งใจ

    ทันทีที่งานวรรณกรรม (ผมนับมังงะเป็นวรรณกรรม ขายหัวเราะก็เป็นวรรณกรรม อันที่จริง ไม่อยากแบ่งชั้นว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นวรรณกรรมด้วยซ้ำ) เผยแพร่ออกมา การตีความเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน ส่วนผู้เขียนก็สูญสลายหายไป สำหรับผม ‘มหาศึกคนชนเทพ’ คือการท้าทายสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    หรือจริงๆ ก็คือการท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่มากมายในสังคม

    ผมไม่รู้ว่าในสังคมญี่ปุ่น ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ‘สิ่งต้องห้าม’ หรือ ‘เรื่องที่พูดถึงไม่ได้’ มีมากแค่ไหน แต่ผมก็มักเห็นการท้าทายสิ่งเหล่านี้เสมอในมังงะ

    ย้อนกลับมาสู่สังคมไทย เรามีคำพูดแดกดันว่า ‘ประเทศไทย ทุกอย่างศักดิ์สิทธิ์หมด ยกเว้นกฎหมาย’ (กฎหมายก็ศักดิ์สิทธิ์ครับ แต่มันเลือกคนที่จะศักดิ์สิทธิ์) และผมยอมรับว่ามันเป็นข้อเท็จจริง เกือบจะไม่มีทางที่เราจะอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในภาพของนักรบที่จะต้องฆ่าอีกฝ่ายให้ตาย พระพุทธเจ้าในฐานะคนธรรมดาที่ต้องอยู่ร่วมห้องกับพระเยซู แล้วยังถูกตีความว่าเป็นทั้งคู่เป็นเกย์ ในแวดวงวรรณกรรมไทย แค่รูปวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนก็ทำเอาคนจำนวนไม่น้อยถึงกับไฟลุกแล้ว

    เราจะไม่มีทางอ่านเรื่องราวของอดีตกษัตริย์สยาม ชาวบ้านบางระจัน หรือยุทธนาวีที่เกาะช้าง ถูกเล่าเป็นอย่างอื่นไปได้ ถ้าถูกทำเป็นภาพยนตร์ เรารู้โดยสามัญสำนึกว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ไม่มีการตีความเป็นอื่น

    ไม่มีทางที่เจ้าอนุวงศ์จะเป็นวีรบุรุษและท้าวสุระนารีเป็นผู้กดขี่ เหตุการณ์ในช่วงรัชกาลที่ 5 คือการเสียดินแดนเพราะมันไม่มีทางถูกเล่าว่าสยามก็แค่พ่ายแพ้ในการแย่งยึดดินแดนอื่นๆ แข่งกับฝรั่งเศสและอังกฤษ หรือเทวทัตอาจเห็นว่าสิ่งที่ศากยะมุนีกำลังทำจะเป็นเหตุให้โครงสร้างสังคมชมพูทวีปล่มสลายจึงต้องหาทางกำจัด มันเป็นข้อห้ามหรืออาจเป็นบาปที่จะตีความแบบนี้ในสังคมไทย ถ้าเราเอาแนวคิดแบบประโยชน์นิยมเข้าจับ การมอบลูกให้แก่ชูชกของพระเวสสันดรถือว่าถูกต้องในเชิง moral (ไทยแปลคำนี้ว่า ศีลธรรม แต่มันค่อนข้างต่างกันมากกับความหมายในภาษาอังกฤษ) แต่ถ้าเอาแนวคิดแบบหน้าที่นิยมมาจับ มันย่อมผิด moral อย่างไม่ควรอภัยเพราะมันเป็นใช้มนุษย์เป็นเครื่องไปสู่เป้าหมายที่พระเวสสันดรต้องการ

    คุณจินตนาการในใจได้ ทว่า การแสดงออกจะไม่มีทางไปไกลกว่ากรอบความศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมและวัฒนธรรมของเราขีดเส้นไว้

    ถ้าคุณคิดจะข้าม คุณอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่สูงมาก

    ถึงกระนั้น ผมกลับเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยจะถูกท้าทายสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากการผลัดเปลี่ยนรุ่นของประชากร เทคโนโลยี หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้สังคมคลางแคลงใจ คำถามจะดังขึ้นและมากขึ้น เส้นความศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกขีดไว้จะจางเบาลงหรือถูกลบเลือน

    อาจบางที คนธรรมดาๆ อย่างเราๆ นี่แหละที่ต้องเดินออกมาชนเทพ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in