ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของตัวคุณเอง คำถามสำคัญยิ่งยวดที่แต่ละคนต้องถามและหาคำตอบด้วยตนเองจึงอยู่ที่ว่า ณ เวลานี้ ตัวเราเป็นอิสระจากเทคโนโลยีหรือเรากำลังตกเป็นทาสของมัน
มันดูย้อนแย้งนิดหน่อยที่การพูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่บนเครือข่ายโซเชียล มีเดีย ที่เป็นแกนหลักของ ‘เศรษฐกิจของการดึงดูดความสนใจ’ คำที่หนังสือเล่มนี้ใช้สารภาพว่าก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คมีผลต่อสุขภาพจิตอันปรวนแปรของผมมากทีเดียว ทันทีที่ผมเห็นโฆษณาหนังสือเล่มนี้ ผมจึงตัดสินใจซื้อทันทีแบบไม่ยั้งคิด ความแปลกประหลาดของชีวิตคือยังไม่ทันได้รับหนังสือด้วยซ้ำ การใช้เฟสบุ๊คของผมดันน้อยลงไปเองอย่างมีนัยสำคัญ จนไล่ตามกระแสความนึกคิดไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณเป็นคนที่ใช้เวลากับโซเชียล มีเดียวันละหลายๆ ชั่วโมง คุณอาจมีปฏิกิริยาต่อ ‘ดิจิทัล มินิมัลลิสม์’ หรือ ‘Digital Minimalism’ เขียนโดย Cal Newport ผู้แปลคือบุณยนุช ชมแป้น สำนักพิมพ์ broccoli ในเครือมติชน 2 แบบ แบบแรกคือ “แกจะมายุ่งอะไรกับชีวิตฉัน ฉันจะเล่นโซเชียล มีเดีย แค่ไหน ยังไง มันก็เรื่องของฉัน” แบบที่ 2 “ใช่ ฉันใช้เวลากับโซเชียล มีเดียมากเกินไปแล้ว ฉันควรลดการเล่นลง”ไม่ว่าคุณจะเป็นแบบไหน หนังสือเล่มนี้ก็ให้ข้อมูลน่าสนใจและข้อคิดที่ชวนให้ไตร่ตรองผมขอเริ่มด้วยบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ (ไหงงั้น?) เพราะมันบอกหัวใจสำคัญของแนวคิดหรือปรัชญา (คำที่ผู้เขียนใช้) ดิจิทัล มินิมัลลิสม์ แนวคิดนี้ไม่ใช่การต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้บอกให้คุณเลิกใช้มัน แต่เป็นการ...“มองเทคโนโลยีว่าเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมสิ่งที่พวกเขา (ชาวดิจิทัล มินิมัลลิสม์) ให้คุณค่าอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ที่มาของคุณค่าเหล่านั้น”“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิต”“เราต้องการใช้เครื่องมืออะไร ด้วยเหตุผลอะไร และภายใต้เงื่อนไขอะไรด้วยตัวเองอย่างมั่นใจ นี่ไม่ใช่การต่อต้าน นี่คือการใช้วิจารณญาณ”ดังนั้น ถ้าคุณรู้ว่าคุณใช้โซเชียล มีเดีย เว็บ สตรีมมิ่งหนัง หรือใดๆ ก็ตามในโลกอินเตอร์เน็ตเพื่ออะไร มันไม่ครอบงำคุณ และมันยังช่วยส่งเสริมคุณค่าหรือความหมายในชีวิตที่คุณยึดถือ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คุณใช้มันในแบบที่ว่ามาหรือเปล่าผมสนใจเนื้อหาในบทที่ 1 เป็นการเฉพาะ มันบอกเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกเสพติดการใช้โซเชียล มีเดีย ผู้เขียนอ้างอิงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ค้นพบข้อสรุป 2 ประการคือเทคโนโลยีสามารถบ่มเพาะพฤติกรรมเสพติดได้เป็นอย่างดี และสอง-คุณลักษณะที่ทำให้เกิดการเสพติดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลายๆ กรณีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นลักษณะที่ผ่านการออกแบบทางวิศวกรรมมาอย่างตั้งใจนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาอีก 2 ข้อคือการเสริมแรงเชิงบวกเป็นครั้งคราวหรือการได้รับรางวัลบางอย่างที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้สมองหลั่งสารโดพามีน ฮอร์โมนแห่งความสุข และปุ่ม ‘ถูกใจ’ เฟสบุ๊คเริ่มใช้ในปี 2009 ก็คือสิ่งเดียวกัน ข้อต่อมาคือแรงขับเพื่อการยอมรับทางสังคม ข้อนี้น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก ฌอน ปาร์กเกอร์ ประธานผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค พูดในปี 2017 ว่า“กระบวนการคิดเบื้องหลังการสร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นเจ้าแรกในบรรดาทุกแอป...ล้วนเกี่ยวกับคำถามว่า ‘เราจะดึงเวลาและความสนใจของคุณมาให้มากที่สุดได้อย่างไร’ นั่นหมายความว่าเราต้องอัดโดพามีนให้คุณนิดๆ หน่อยๆ นานๆ ครั้ง ตอนที่มีคนมากดไลก์ คอมเมนต์รูป คอมเมนต์โพสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่”ผู้เขียนใช้คำว่า “มันคือการเล่นกับความเปราะบางของจิตวิทยามนุษย์”เนื้อหาส่วนที่เหลือเป็นการแนะนำวิธีการเป็นดิจิทัล มินิมัลลิสต์ โดยเริ่มจากหลักการดิจิทัล มินิมัลลิสม์ 3 ข้อ-ความรุงรังมีราคาแพง ถ้าคุณหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีใดมากจนเกินไป ผลเสียย่อมมากกว่าผลบวก-การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดคือสิ่งสำคัญ การจะเลือกใช้เทคโนโลยีใด สิ่งนั้นจะต้องก่อประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมคุณค่าที่ตนยึดถือ-ความตั้งใจสร้างความพึงพอใจ เป็นความพึงพอใจจากการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีด้วยตนเองและมีอิสระที่จะเลือกคำแนะนำในการเป็นดิจิทัล มินิมัลลิสต์แบบเร่งรัด 3 ข้อ ประกอบด้วย หยุดการใช้เทคโนโลยีทางเลือกต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต 30 วัน, ระหว่าง 30 วันให้สำรวจว่าอะไรคือกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่คุณพึงพอใจและมีความหมายเมื่อได้ลงมือทำ สุดท้าย หลังผ่านไป 30 วัน ให้คุณนำเทคโนโลยีทางเลือกที่หยุดใช้ไปกลับมาพิจารณาว่า เทคโนโลยีไหนที่สร้างคุณค่าต่อชีวิตคุณและจะใช้มันเพื่อคุณค่าสูงสุดอย่างไรหนังสือยกตัวอย่างผู้คนจำนวนหนึ่งที่ใช้กระบวนการนี้แล้วค้นพบว่า การไม่ใช้เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม อาจทำให้กระวนกระวายในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นคนเหล่านี้ก็พบว่าพวกเขาใช้ชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้หรือใช้มันเท่าที่จำเป็นหลายแสนปีที่มนุษย์วิวัฒนาการผ่านการปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตาหรือการพูดคุยแม้จะไม่เห็นหน้า (โทรศัพท์) แต่เพียงทศวรรษกว่าๆ นี่เองที่การแชทแปรรูปเป็นการสนทนา ซึ่งเรามักมีปฏิกิริยาทุกครั้งที่เสียงเตือนดังขึ้น เราจะกุลีกุจอตอบกลับ มันเป็นการปฏิสัมพันธ์ชนิดใหม่ที่ขัดแย้งกับวิวัฒนาการของมนุษย์และส่งผลเสียต่อสุขภาวะ ผู้เขียนเห็นว่าเราควรกลับมาให้ความใส่ใจกับ ‘การสื่อสารที่ยึดบทสนทนาเป็นหัวใจ’ กลับไปพูดคุยกันด้วยเสียง ด้วยการนัดพบ หรือแม้แต่การใช้วีดิโอคอลก็ยังได้อย่าให้การสนทนาหลงเหลือเพียงแค่ตัวอักษรดิจิทัล(ใน 100 เปอร์เซ็นต์ ภาษาที่เราพูดออกไปสื่อสารได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำเสียง โทนเสียง สีหน้า ท่าทาง อวัจนภาษาต่างๆ คือสัดส่วนใหญ่ที่ทำให้การสื่อสารบรรลุผลและเข้าใจอีกฝ่ายได้ นับอะไรกับแค่ตัวหนังสือ)ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่หรือเก่า คุ้นเคยกับการดึงโทรศัพท์ฉลาดขึ้นมาไถๆๆ เวลาที่ไม่มีอะไรทำ ไม่ว่าจะตอนอยู่บ้าน รอรถ กินข้าว หรือใช้เพื่อความบันเทิง ถ้าหยุดมัน แล้วจะเอา ‘เวลา’ ตั้งมากมายไปทำอะไรล่ะ? ผู้เขียนแนะนำให้หากิจกรรมที่ต้องลงมือ ใช้แรง เคลื่อนไหวร่างกาย การเข้าสังคมเพื่อสนทนากันจริงๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ และจัดเวลาสำหรับเล่นมือถือเป็นการเฉพาะเราทุกคนต่างตระหนักดีว่า มากไปหรือน้อยไป มักไม่ดี ทว่า มนุษย์มีข้อจำกัดในการตระหนักรู้ตัวเองและเฉลียวฉลาดในการหาเหตุผลเพื่อทำหรือไม่ทำบางสิ่งสำหรับคนที่มีอาชีพข้องเกี่ยวกับโลกโซเชียล มันยากเย็นอยู่ที่จะลดการใช้ ประเด็นคือผู้ใช้ต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรกับเทคโนโลยีและใครเป็นฝ่ายใช้ใคร “เวลาของคุณ=เงินของพวกเขา (เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี)”ผมยอมรับแนวคิดมินิมัลลิสม์ในมิติการทวงคืนอิสรภาพและเวลาของตัวผมเองจากเทคโนโลยี มันชัดเจนมาก ผมมีเวลาสะสางงานมากขึ้น ทำสิ่งที่รักมากขึ้น จิตใจผันผวนน้อยลง และช่วยให้มีพลังงานชีวิตเพิ่มขึ้นหลายครั้งที่ผมพูดถึงมินิมัลลิสม์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว ในเพจ หรือการสนทนาธรรมดา มันไม่ใช่การใช้สินค้าที่ออกแบบด้วยแนวคิดมินิมัลลิสม์เก๋ไก๋และราคาแพง แต่มันคือการค้นหาสิ่งที่สำคัญ มีความหมายต่อชีวิตของเราอย่างแท้จริง และมอบอิสรภาพให้แก่ตัวเราถ้าคุณเชื่อว่าการใช้เวลากับโซเชียล มีเดียนานๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ มีความหมาย และให้อิสรภาพกับคุณ คุณก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตามคำแนะนำในหนังสือ ในทางกลับกัน ถ้าเทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนผสมเล็กๆ ในชีวิตคุณอยู่แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตามคำแนะนำในหนังสืออีกนั่นแหละผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ชีวิตที่ดี ขั้นต่ำที่ต้องมี คือชีวิตที่มีอิสรภาพ เราคงไม่อยากถูกสิ่งใดกักขังจากอิสรภาพในการใช้ชีวิต ถ้าข้อมูล ข่าว รูปภาพ คลิปที่ท่วมทะลักในอินเตอร์เน็ต ทำให้เราติดอยู่ในเขาวงกต ทุกข์ใจกับยอดไลค์ต่ำๆ จนพาลคิดว่าฉันไม่มีคุณค่าเลยไม่มีใครสนใจ ขุ่นเคืองและริษยากับภาพชีวิตดีๆ (ที่อาจไม่จริงเลย) ของคนอื่นในเฟส ทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ นี่อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของตัวคุณเอง คำถามสำคัญยิ่งยวดที่แต่ละคนต้องถามและหาคำตอบด้วยตนเองจึงอยู่ที่ว่า ณ เวลานี้ ตัวเราเป็นอิสระจากเทคโนโลยีหรือเรากำลังตกเป็นทาสของมัน ถ้าเจอคำตอบ...นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in