มันคือ 'กระบวนการค้นหาสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเราจริงๆ' ...และพลันที่เราค้นพบ เราก็จะตระหนักโดยอัตโนมัติว่า อาจบางทีหลายสิ่งอย่างที่เราอยากได้ ยึดถือ เหนี่ยวรั้ง หรือกำมันแน่นจนปวดร้าวทั้งมือและหัวใจ
...เป็นเพียงความฟุ่มเฟือยที่ชีวิตเราแบกเอาไว้โดยไม่รู้ตัว
ออกตัวก่อนว่า พาดหัวไม่ใช่การการันตีผลลัพธ์ เป็นเพียงการบอกเล่าการตีความของผมจากการอ่านหนังสือเล่มนี้
เชื่อว่าคนที่ชีวิตยุ่งเหยิงมากๆ มีงานต้องสะสางกองเป็นภูเขาเลากา เขียนบันทึกและใช้แพลนเนอร์อยู่แล้ว รู้จักวิธีการบันทึกแบบ Bullet Journal หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Bujo อยู่บ้างแล้ว ส่วนผมไม่รู้จักมันมาก่อนเลยกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้
โปรยปกหน้าที่ว่า ‘บันทึกอดีต จัดระเบียบปัจจุบัน ออกแบบอนาคต’ กับโปรยปกหลังที่สื่อในทำนองว่า นี่ไม่ใช่เพียงวิธีการจดบันทึกเพื่อจัดระเบียบความคิดและการทำงาน แต่เป็นมากกว่านั้น เป็นเครื่องมือถามไถ่ถึงความหมายของชีวิต การก้าวเดินไปสู่สิ่งที่เราปรารถนา หรือกระทั่งการค้นพบตัวเอง เหล่านี้ดึงดูดให้ผมสนใจ
‘THE BULLET JOURNAL METHOD’ หรือ ‘วิถีบันทึกแบบบูโจ’ ของ Ryder Carroll แปลโดยนรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์ BOOKSCAPE ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของหนังสือผมก็ได้กลิ่นอายของมินิมัลลิสม์และแนวคิดสโตอิก (สรุปรวบรัดคือแนวคิดที่มองว่าโลกนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งเดียวที่เราพอจะควบคุมได้คือจิตใจของเราเองว่าจะตอบสนองกับโลกนี้อย่างไร) คละคลุ้งอยู่ในตัวหนังสือ
ผมคิดว่าเนื้อหาแบ่งเป็น 2
ส่วน คือส่วนที่พูดถึงวิธีการทำ Bujo
และส่วนที่เป็นแก่นแกนความคิดของมัน ซึ่งผู้เขียนเล่าทั้งสองส่วนนี้เหลื่อมซ้อนกันในหลายจังหวะ ดังนั้น เราสามารถมองหนังสือเล่มนี้เป็น how to
และแนวพัฒนาตนเองก็ได้ แต่มันก็ปะปนความคิดทางปรัชญาและจิตวิญญาณ (ไม่ได้หมายถึงศาสนา) อยู่ไม่น้อย
ผมไม่บอกเล่าวิธีการทำ Bujo แน่นอน บอกตามตรงผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก แม้จะเริ่มทดลองทำแล้วก็ตาม พูดอย่างกว้างๆ คือการบันทึกแบบ Bujo มี 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วยดัชนี บันทึกอนาคต บันทึกประจำเดือน และบันทึกประจำวัน ทั้ง 4 ส่วนจะเชื่อมโยง ส่งต่อ ถ่ายเทข้อมูลกันและกัน เพื่อให้การจัดระเบียบชีวิต การทำงาน การเดินไปสู่เป้าหมายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เป็นสิ่งที่เราสามารถติดตาม ทำให้เกิดผลิตภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีการเขียน? ผู้เขียนแนะนำให้เขียนอย่างกระชับ สั้น น้อย แต่มีบริบท ให้เรากลับมาทบทวนชีวิตได้ในอนาคต บวกกับการสร้างเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับหัวข้อต่างๆ เช่น งาน โน้ต แรงบันดาลใจ เป็นต้น
ในบทท้ายๆ บอกเล่าถึงวิธีการทำคอลเล็กชั่นพิเศษโดยใช้ตัวอย่างการพักร้อน การใช้ Bujo เพื่อทำให้การพักร้อนสมบูรณ์แบบ การแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ การวางแผน การติดตามความก้าวหน้า บลาๆๆ ซึ่งคอลเล็กชั่นนี้สามารถนำไปประยุกต์กับโครงการอื่นๆ ได้ตามใจปรารถนา ตั้งแต่การจัดตู้เสื้อผ้า การลดน้ำหนัก หรือการบริหารโครงการอสัหาริมทรัพย์
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้เขียนย้ำว่าจงทำ Bujo ให้เป็นของคุณ ให้เหมาะกับคุณ แค่ทำความเข้าใจระบบ ส่วนที่เหลือก็แล้วแต่คุณว่าจะสร้างสรรค์มันออกมาฉูดฉาดหรือจืดชืด...ตามใจ ขอให้มันทำหน้าที่ได้ตามที่คุณต้องการก็พอ
ในโลกอินเตอร์เน็ตและยูทูบมีการแนะนำวิธีทำ Bujo อยู่มากมายครับ หาศึกษาได้เต็มที่
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ผมอยากพูดถึงมากกว่า ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมาก มันว่าด้วยความคิดที่เป็นกระดูกสันหลังของ Bujo
บรรยากาศคลับคล้ายหนังสือแนวพัฒนาตนเองทั่วไปพอสมควร เนื้อหาที่กระตุ้นให้คนอ่านรู้สึกฮึกเหิมและลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น การเริ่มต้น การมองหาความหมายที่ไม่เคยหา การตระหนักรู้ การเข้าใจในตัวเอง และอื่นๆ ซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียด
ดังที่บอกกล่าวไปตอนต้น เนื้อหาส่วนนี้แหละที่ซึมซาบปรัชญาสโตอิกและแนวคิดมินิมัลสม์เอาไว้ ผู้เขียนวางสถานะ Bujo ไว้มากกว่าเครื่องมือการจัดระเบียบชีวิตและการทำงาน แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นหาความหมายของชีวิตที่ดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าคืออะไร ทำไมเราจึงทำสิ่งนั้นๆ การเลือกหรือตัดสินใจทำบางอย่างมีความหมายต่อตัวเราอย่างไร เราจะใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือเวลาไปกับสิ่งไหน เราจะปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตอย่างไร
ในทัศนะของผู้เขียน Bujo ไม่ใช่เพียงวิธีการ หากเป็นวิถีหรือกระบวนการในการค้นหาตัวตนที่เราอาจทำหล่นหายไปนานแล้วกลับคืนมา
เมื่อเอาปรัชญาสโตอิกและแนวคิดมินิมัลลิสม์มาผนวกรวมกัน ในมุมมองของผม Bujo คือการนำความคิดที่ท่วมท้นแปลงออกมาเป็นตัวหนังสือด้วยการเขียน ทำความเข้าใจมัน อ่าน ใคร่ครวญ และทบทวนชีวิตที่ล่องไหลไปในกาลเวลาของตัวเรา
เพื่ออะไร?
เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ว่าเราเป็นใคร จะรับมือกับโลกและชีวิตอันผันผวนอย่างไร จะอยู่อย่างมีความหมายอย่างไรโดยที่ยังกล้าสบตาตัวเองในกระจกและไม่ทำให้สิ่งที่เรายึดถือต้องแตกสลาย สรุปให้ ‘น้อย’ ที่สุด สำหรับผม มันคือ 'กระบวนการค้นหาสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเราจริงๆ' ไม่ว่าจะเป็นงาน ผู้คน สถานที่ เป้าหมาย ความหมาย ฯลฯ และพลันที่เราค้นพบ เราก็จะตระหนักโดยอัตโนมัติว่า อาจบางทีหลายสิ่งอย่างที่เราอยากได้ ยึดถือ เหนี่ยวรั้ง หรือกำมันแน่นจนปวดร้าวทั้งมือและหัวใจ
...เป็นเพียงความฟุ่มเฟือยที่ชีวิตเราแบกเอาไว้โดยไม่รู้ตัว
นี่คือเนื้อสารที่ผมเข้าใจ มันอาจผิดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าผมเข้าใจผิดหรือถูก
ประเด็นอยู่ที่ตัวคุณต้องทดลองทำว่ามันได้ผลหรือเปล่า?
ถ้าได้ผล ทำต่อไป
ถ้าไม่ได้ผล ทิ้งมันไป
ผมยังเชื่อว่าชีวิตไม่มีสมการสำเร็จรูปที่เมื่อเราคำนวนค่า x หรือ y ได้ คำตอบก็จะปรากฏต่อหน้า
แต่มันคือการทดลองไปเรื่อยๆ ที่จะจบลงด้วยความตาย
แค่ในช่วงที่เราทดลองนี้ มันจะประหยัดพลังงานและเวลาได้มากขึ้นเรื่อยๆ
...หากเราค่อยๆ ค้นพบว่าอะไรที่สำคัญต่อชีวิตของเราจริงๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in