คุณเคยเห็นเส้นพรมแดนจริงๆ ที่ขีดลงไปบนภูเขา ป่า ผืนดิน หรือแม่น้ำมั้ย?
คุณเคยเห็นกำแพงที่สร้างจากศรัทธาและความเชื่ออันแตกต่างมั้ย?
ไม่เคย ไม่เคยมีใครมองเห็น เพราะมันถูกสร้างขึ้นในใจของเราก่อน
อาหารอันโอชะของสงครามและการเข่นฆ่ามีอะไรบ้าง?
ความโกรธ ความโลภโมโทสัน ความต้องการอำนาจ ศักดิ์ศรี ดูจะเป็นคำตอบพื้นฐาน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือศรัทธาในนามของศาสนา
‘The Night Diary’ หรือ ‘ถ้าแม่ฟังอยู่โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง’ โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ผู้เขียนคือวีรา หิรานันดานิ แปลโดยแพน พงศ์พนรัตน์ ผมว่าชื่อภาษาไทยความหมายไม่ค่อยตรงกับชื่อภาษาอังกฤษเท่าไหร่ และดูจะไม่ค่อยเข้ากับเนื้อหานัก
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวการเดินทางของเด็กหญิงณิชาวัย 12 ขวบกับครอบครัวที่มีพ่อ ดาดีหรือย่า และน้องชาย-อมิล ทั้งหมดเป็นชาวฮินดู จะเรียกว่าการเดินทางอาจไม่ตรงนัก เราควรจะเรียกมันว่าการอพยพหนีตายเสียมากกว่า
ทั้งหมดในเล่มคือบันทึกของณิชาที่เล่าเรื่องราวในแต่ละวันให้แม่ผู้ล่วงลับฟังผ่านตัวอักษรในช่วงกลางปี 1947
ความเป็นอยู่ อารมณ์ ความรู้สึกในบ้านเกิดเมืองนอนที่ชื่อมีร์ปุรคัส มันเป็นปีเดียวกับกับที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ใช่ มันควรเป็นห้วงเวลาเฉลิมฉลองอิสรภาพอันแท้จริงของชมพูทวีป ทว่า ด้วยความไร้สาระของโลกใบนี้กลับเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น
เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพ มุฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้นำกลุ่มพันธมิตรมุสลิม เชื่อว่าชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูไม่อาจได้รับความยุติธรรม เขาจึงต้องการแบ่งแผ่นดินออกไปสำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะ ยวาหร์ลาล เนห์รู แห่งพรรคคองเกรซและคานธีไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อาจคัดค้านได้
ณ วินาทีนั้น ชมพูทวีปก็ถูกขีดลมเป็นพรมแดนกั้นระหว่างอินเดียและปากีสถาน เพราะศรัทธาไม่เหมือนกัน พวกเขานับถือพระเจ้าคนละองค์
เมื่อเส้นสมมติเกิดขึ้น ศรัทธาเปลี่ยนเป็นกำแพง มีร์ปุรคัสกลายเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน ถึงตรงนี้คงเข้าใจแล้วว่า ทำไมณิชาและครอบครัวต้องอพยพหนีตาย
บันทึกของเด็กวัย 12 ขวบจึงเต็มไปด้วยคำถามที่เธอไม่เข้าใจ และผมก็ไม่เข้าใจเช่นกัน
“ประเทศเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรเพียงข้ามคืนจากเส้นที่ถูกขีดเพียงเส้นเดียว” ณิชาถาม
เธอจดจำภาพจากตำราแพทย์ของพ่อว่า ทุกคนต่างมีเลือดเนื้อ ร่างกาย กระดูก และเลือดเหมือนๆ กันไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรมิใช่หรือ?
ก่อนแบ่งประเทศ ชาวซิกข์ ชาวมุสลิม ชาวฮินดู อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในมีร์ปุรคัส คาซิ พ่อครัวของเธอก็เป็นชาวมุสลิม เป็นน้อยคนที่เธอสบายใจที่จะพูดคุยด้วย แล้วทำไม? แค่เส้นพรมแดน ทำไม?
อมิลเกือบเอาชีวิตไม่รอดในการเดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อไปพักค้างยังบ้านน้าราชิด น้าราชิดที่เป็นชาวมุสลิม ใช่แล้ว แม่ของณิชาและอมิลเป็นมุสลิม การแต่งงานระหว่างแม่และพ่อของเธอถูกคัดค้านจากครอบครัวทั้งสองฝ่าย พวกเขาจึงหนีมาตั้งรกรากที่มีร์ปุรคัส
อมิลพูดว่า “เราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสองฝ่าย”
ณิชาเขียนลงไปในบันทึกว่า
“ไม่มีใครรังเกียจที่แม่เป็นชาวมุสลิมและพ่อเป็นชาวฮินดู อมิลกับหนูเก็บรักษาทั้งสองฝ่ายของพ่อและแม่ได้ในหัวใจ”
แต่พวกผู้ใหญ่ทำไม่ได้ ณิชาไม่เข้าใจ ก่อนจะถึงบ้านน้าราชิด เธอถูกชายชาวมุสลิมคนหนึ่งจับตัวและเอามีดจ่อคอ เขาตะโกนก่นด่าว่า พวกแกฆ่าลูกเมียของฉัน พ่อของณิชาเกลี้ยกล่อมได้สำเร็จ เธอจึงรอด การแบ่งแยก ความเกลียดชัง แปรเปลี่ยนให้การทำสิ่งที่ชั่วร้ายของคนคนหนึ่งถูกเหมารวมเป็นของชาวฮินดูทุกคน และในทางกลับกัน ทั้งชาวซิกข์ ชาวฮินดู ชาวมุสลิมล้วนโทษอีกฝ่าย ไม่มีใครพร้อมจะบอกว่าตนเป็นฝ่ายผิดและหยุด
ระหว่างอยู่บ้านน้าราชิด ระหว่างที่ความสัมพันธ์ของณิชากับน้าราชิดพัฒนาขึ้น เธอแอบคุยกับเด็กหญิงฮาฟา เพื่อนข้างบ้านชาวมุสลิม อีกแล้ว ทันทีที่พ่อของเธอรู้ เขารีบจัดการข้าวของเพื่อเดินทางทันทีในวันรุ่งขึ้นโดยไม่แม้แต่บอกลาราชิด แม้แต่การเป็นเพื่อนก็ยังถูกกำแพงศรัทธากั้นขวาง โทษพ่อก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องรับผิดชอบชีวิตทุกคนให้ข้ามฝั่งไปยังอินเดียอย่างปลอดภัย
การแบ่งประเทศครั้งนั้นทำให้คนกว่า 14 ล้านคนต้องอพยพ นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คนอีกกว่า 1 ล้านคนต้องล้มตายระหว่างข้ามพรมแดน จากโรคภัย ความอดอยาก และการเข่นฆ่า
วันที่ครอบครัวของณิชาได้ขึ้นรถไฟ เธอเห็นชาวมุสลิม ชาวฮินดู ชาวซิกข์ฆ่าฟันกันต่อหน้า มือของศพชาวมุสลิมสัมผัสกับมือของศพชาวฮินดู ผู้ใหญ่จะให้เด็กเข้าใจภาพที่เห็นนี้ว่าอย่างไร?
ณิชาพูดกับอมิลว่า “...ถ้าเราไม่เลือกฝ่าย เราก็ไม่มีศัตรู” แต่เธอไม่มีสิทธิ์เลือก เธอไม่ได้เลือกเป็นศัตรูกับใคร ผู้ใหญ่ต่างหากที่ชี้ว่าเธอต้องอยู่ข้างไหน
ไม่น่าเชื่อนะครับ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ศาสนาและศรัทธายังคงเป็นเชื้อมูลของความรุนแรงมาตลอด ทำไมเราจึงปล่อยให้ความเชื่อต่างๆ เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ดำรงอยู่ร่วมกันไม่ได้
เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในพม่า เป็นตัวอย่างใกล้ตัว น่าตกใจและขมขื่นที่ชาวไทยพุทธจำนวนหนึ่งดูจะเห็นดีเห็นงานกับการกระทำของรัฐบาลพม่า ซึ่งมันสะท้อนอาการอิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia) หรืออาการเกลียดกลัวอิสลาม ใช่ เราอาจกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ประเด็นคือตัวเราเองหรือเปล่าที่ไม่พยายามรู้จักและเข้าใจ เราสร้างกำแพงกั้น เหมารวม และตีตราความชั่วร้ายให้กับสิ่งที่เราไม่แม้แต่จะพยายามเข้าใจ
บันทึกของณิชาตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก...
“หนูเคยนึกถึงคนจากชื่อและลักษณะหรือสิ่งที่พวกเขาทำ ซาฮิลขายพาโกราที่หัวมุมถนน ตอนนี้หนูมองและคิดว่าเขาเป็นชาวซิกข์ ครูของหนูที่ชื่อฮาบิบ ตอนนี้กลายเป็นครูชาวมุสลิมของหนู ซาบีนเพื่อนของหนูที่ร่าเริงและพูดมาก ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนชาวมุสลิมของหนู คุณหมออาเหม็ดเพื่อนของพ่อ ตอนนี้กลายเป็นคุณหมอชาวมุสลิม หนูนึกถึงทุกๆ คนที่หนูรู้จักและพยายามจดจำให้ได้ว่าใครเป็นชาวฮินดู หรือชาวมุสลิม หรือชาวซิกข์ และใครที่ต้องย้ายไป และใครที่อยู่ได้”
เราแบ่งคนได้ตามลักษณะทั่วไปเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิสัมพันธ์ ทำความรู้จัก เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร แต่ความเชื่อ ความศรัทธาเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน เราแบ่งแยกมนุษย์จากสิ่งที่เขาเชื่อและศรัทธาได้อย่างไร บันทึกจากมุมมองของเด็กสื่อความได้ลุ่มลึกยิ่งกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก
คุณเคยเห็นเส้นพรมแดนจริงๆ ที่ขีดลงไปบนภูเขา ป่า ผืนดิน หรือแม่น้ำมั้ย?
คุณเคยเห็นกำแพงที่สร้างจากศรัทธาและความเชื่ออันแตกต่างมั้ย?
ไม่เคย ไม่เคยมีใครมองเห็น เพราะมันถูกสร้างขึ้นในใจของเราก่อน
ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราต้องเห็นก่อนจะเห็นพระเจ้า ศาสดา หรือคัมภีร์ คือเราต้องเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เพราะความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกแบ่งแยกจากการขีดลมเป็นพรมแดนหรือการสร้างศรัทธาเป็นกำแพง และผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ศาสดาของแต่ละศาสนาต้องการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in