เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-เมื่อระบอบกษัตริย์ชั่วร้าย ‘สามัญสำนึก’ จึงนำอเมริกาปลดแอกจากอังกฤษ-
  • "ความไร้สาระของการสืบทอดทางสายเลือดก็ยังไม่น่าวิตกต่อมนุษยชาติเท่ากับความชั่วร้ายของมัน หากระบบนี้มีหลักประกันว่าจะสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์แสนดีแสนฉลาด มันคงได้รับลัญจกรประทับรับรองจากสวรรค์ แต่เนื่องจากระบบนี้เปิดประตูให้คนเบาปัญญา คนชั่วช้า และคนไม่เหมาะสม โดยเนื้อแท้แล้วมันจึงส่งเสริมการกดขี่"

    เรามาเริ่มกันก่อนว่า ‘Common Sense’ หรือ ‘สามัญสำนึก’ ของโธมัส เพน แปลโดยภัควดี วีระภาสพงษ์ สำนักพิมพ์ bookscape สำคัญอย่างไร?

    มันสำคัญขนาดที่จอห์น อดัมส์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในบิดาผู้สร้างสหรัฐอเมริกา ถึงกับกล่าวว่า

    “หากปราศจากปากกาของผู้เขียนสามัญสำนึก ดาบของ (จอร์จ) วอชิงตันก็คงกวัดแกว่างอย่างสูญเปล่า”

    พูดได้ว่าถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ การปฏิวัติอเมริกาเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษอาจไม่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นเนิ่นช้ากว่านั้น หมายถึงประวัติศาสตร์โลกมีโอกาสที่จะมีหน้าตาต่างจากที่เราเห็นทุกวันนี้

    สามัญสำนึก พิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 10 มกราคม 1776 วันที่ 4 กรกฎาคมปีเดียวกัน อเมริกาก็ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินต่อมา กระทั่งอเมริกาได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี 1783 มันจึงถูกยกย่องให้เป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่ง มันเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่วางลงไปบนหลังอูฐ และมันเป็นใบมีดที่ตัดสายใยระหว่างชาวอาณานิคมอเมริกาจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษ

    ไม่เพียงเท่านั้น สามัญสำนึก ยังส่งแรงกระเพื่อมข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แปรเปลี่ยนการกดขี่ ความอัดอั้นตันใจของผู้คน เป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

    นอกจากเนื้อหาที่หลักแหลม คมคาย การเปรียบเปรยที่เด่นชัด และวรรณศิลป์ที่งดงาม สามัญสำนึก ยังได้วางรากฐานให้กับแนวคิดสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยในกาลต่อมาอีกด้วย

    สามัญสำนึก พูดถึงอะไร?

    3 เรื่องหลักที่สามัญสำนึกกล่าวถึงคือการกำเนิดขึ้นของรัฐ การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษอย่างดุเดือด และเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่อเมริกาจะแยกตัวจากอังกฤษ นี่เป็นบางประโยคที่ถูกยกขึ้นมาเกี่ยวกับการกำเนิดรัฐ

    “สังคมเกิดจากความต้องการของเรา ส่วนรัฐบาลเกิดจากความชั่วร้ายของเรา สังคมส่งเสริมความสุขของเราในด้านบวกด้วยการเกี่ยวร้อยประสานสิ่งที่เรารัก ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ในด้านลบคือคอยระงับยับยั้งความชั่วของเรา สังคมเกื้อหนุนการมีปฏิสัมพันธ์ ส่วนรัฐบาลสร้างการกีดกันแบ่งแยก สังคมคือผู้อุปถัมภ์ รัฐบาลคือผู้ลงโทษ”

    การที่เพนพูดแบบนี้ก็เพื่อนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญและสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษในขณะนั้น ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อดูแลผู้คน เพนพูดถึงระบอบการปกครองของอังกฤษผ่านคำถามว่า

    “เหตุใดกษัตริย์จึงเป็นอำนาจที่ประชาชนไม่กล้าไว้ใจและต้องคอยถ่วงดุลไว้เสมอ?”

    เพราะแม้ว่าจะมีกษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญชนเพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจกันและกัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว อำนาจของพระเจ้าจอร์จที่ 3 กลับยังสามารถก้าวข้ามการถ่วงดุลเข้าแทรกแซงการออกกฎหมายได้

    ในประเด็นที่ 2 เพนตั้งชื่อบทว่า ‘ว่าด้วยระบอบกษัตริย์และการสืบทอดทางสายเลือด’ ซึ่งเผ็ดร้อนเสียยิ่งกว่าบทแรก

    “ทว่ามีการแบ่งแยกสำคัญกว่าอีกประการซึ่งไม่มีเหตุผลทางศาสนาหรือเหตุผลตามธรรมชาติที่แท้จริงอธิบายได้เลย นั่นคือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นการแบ่งแยกของธรรมชาติ ดีกับเลวเป็นการแบ่งแยกของสวรรค์ แต่เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติขึ้นมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่นและแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่”

    เพนยังวิจารณ์การสืบทอดทางสายเลือดว่า

    “นอกเหนือจากความชั่วร้ายของระบอบกษัตริย์แล้ว เราก็ยังซ้ำชั่วให้ด้วยการสืบทอดทางสายโลหิต เริ่มต้นก้าวแรกด้วยความเสื่อมและลดทอนตัวเราเองแล้วไม่พอ ยังมีก้าวที่สองตามมาโดยอ้างว่าเป็นสิทธิ์ นี่คือการดูแคลนและยัดเยียดให้คนรุ่นหลัง มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองอาจสมควรได้รับการยกย่องนับถือพอประมาณจากผู้คนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะควรค่าให้ยกย่องนับถือสืบต่อไป ข้อพิสูจน์ตามธรรมชาติที่หนักแน่นที่สุดประการหนึ่งต่อความเขลาของสิทธิการสืบทอดสายเลือดในหมู่กษัตริย์ก็คือ ธรรมชาติไม่เห็นชอบด้วย มิฉะนั้นแล้วธรรมชาติคงไม่แกล้งให้มันดูน่าหัวร่อร่ำไปด้วยการประทานลาคลุมหนังสิงโตแก่มนุษยชาติ"

    “ประการที่สอง ในเมื่อไม่มีมนุษย์คนใดสามารถครอบครองการยกย่องนับถือของสาธารณชนที่มีต่อผู้อื่น นอกเหนือไปจากการยกย่องนับถือที่มีต่อตัวเขา ดังนั้น ผู้ให้การยกย่องนับถือเองก็ย่อมไม่มีอำนาจตีขลุมเอาสิทธิของคนรุ่นหลังมาหว่านโปรยตามใจชอบ แม้ชนทั้งหลายอาจกล่าวว่า “เราเลือกท่านเป็นประมุขของเรา” แต่พวกเขามิควรกล่าวว่า “ลูกและหลานของท่านจะปกครองเหนือหัวเราตลอดไป” นี่คือการกระทำความอยุติธรรมต่อลูกหลานของตนเองอย่างเห็นได้ชัด"

    “แต่ความไร้สาระของการสืบทอดทางสายเลือดก็ยังไม่น่าวิตกต่อมนุษยชาติเท่ากับความชั่วร้ายของมัน หากระบบนี้มีหลักประกันว่าจะสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์แสนดีแสนฉลาด มันคงได้รับลัญจกรประทับรับรองจากสวรรค์ แต่เนื่องจากระบบนี้เปิดประตูให้คนเบาปัญญา คนชั่วช้า และคนไม่เหมาะสม โดยเนื้อแท้แล้วมันจึงส่งเสริมการกดขี่ คนที่มองว่าตัวเองเกิดมาเพื่อปกครองและผู้อื่นต้องเชื่อฟัง ไม่ช้าเขาจะกลายเป็นคนโอหัง เมื่อถูกเลือกให้อยู่เหนือมนุษยชาติที่เหลือ จิตใจของเขาจึงถูกวางยาพิษแห่งการสำคัญตนมาแต่ต้น อีกทั้งโลกที่เขาดำเนินชีวิตก็ผิดแผกจากโลกภายนอกอย่างมาก เขาจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเรียนรู้ความกังวลสนใจแท้จริงของคนหมู่มาก เมื่อคนเช่นนี้สืบทอดตำแหน่งประมุข จึงมักกลายเป็นคนโง่เขลาที่สุดและไม่เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับผู้คนทั่วทั้งอาณาจักร”

    และเมื่อระบอบกษัตริย์ ระบอบการปกครองของอังกฤษไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เป็นธรรมต่อชาวอาณานิคมในอเมริกา เพนจึงเห็นว่านี่คือเวลาอันเหมาะสมที่สุดแล้วที่ชาวอเมริกันจะตัดขาดจากระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ

    “อำนาจบังคับของเกรทบริเตนเหนือทวีปแห่งนี้คือรูปแบบการปกครองอย่างหนึ่งที่ไม่ช้าก็เร็วย่อมถึงจุดอวสาน ผู้คิดใคร่ครวญจริงจังมิอาจมองอนาคตด้วยความรื่นรมย์ เมื่อได้ข้อสรุปเจ็บปวดชัดเจนดังนี้ สิ่งที่เขาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” เป็นแค่รัฐธรรมนูญชั่วคราว หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ เราคงไม่ปลาบปลื้มหากรู้ว่า การปกครองนี้ ไม่ยืนยงเพียงพอเป็นหลักประกันให้แก่สิ่งที่เราจะทิ้งเป็นมรดกแก่ลูกหลาน ด้วยกระบวนเหตุผลอันชัดเจนนี้ หากเราจะผูกหนี้ให้คนรุ่นต่อไป เราก็ควรเป็นผู้ก่อหนี้ด้วยตัวเอง มิฉะนั้นก็เท่ากับเราใช้สอยลูกหลานอย่างเห็นแก่ตัวและน่าสมเพช เพื่อค้นพบหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา เราควรคำนึงถึงลูกหลานและตั้งหอสังเกตการณ์อนาคตล่วงหน้า ที่ซึ่งมองลงมาเราจะได้เห็นช่องทางต่างๆ ที่ความกลัวและอคติในปัจจุบันบดบังจากสายตา”

    ถ้อยคำของเพนที่ถือได้ว่าเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่ค้ำจุนสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ คือ

    “การปกครองตัวเราเองคือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ครุ่นคิดทบทวนถึงความหมิ่นเหม่ล่อแหลมในเรื่องต่างๆ อย่างจริงจัง เขาจะเริ่มคล้อยตามว่าการร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองด้วยเจตจำนงที่รอบคอบเยือกเย็นในขณะที่มีอำนาจอยู่ในมือเป็นวิธีการที่ฉลาดกว่าและปลอดภัยกว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม”

    ในช่วงท้ายของหนังสือ เพนยังย้ำหนักแน่นว่าอเมริกาไม่อาจแสวงหาความยุติธรรมได้จากระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ เพราะ...

    “ปืนใหญ่คือทนายความของระบอบกษัตริย์ และดาบของสงครามต่างหาก มิใช่ความยุติธรรม”

    หลังจากที่จอร์จ วอชิงตัน ในฐานะผู้นำการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชได้อ่านงานชิ้นนี้ เขาก็ไม่สามารถยกแก้วอวยพรให้กับพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษได้อีกต่อไป

    จากเรื่องราวและข้อความที่ยกมา ผมเชื่อว่าเราสามารถสัมผัสถึงพลังของตัวอักษรของเพนที่ปลุกเร้าชาวอาณานิคมให้รู้ว่าต้องตัดสินใจอย่างไร

    การปลดแอกตนเองจากระบอบการปกครองที่ชั่วร้ายของกษัตริย์อังกฤษจึงมิใช่ทางเลือก หากเป็นหนทางเดียวของชาวอเมริกันในการยืนยันสิทธิความเป็นมนุษย์ของตน

    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/194563405309112?__tn__=K-R
    https://wandering-bird.blogspot.com/2020/…/blog-post_14.html

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in