Detroit Become Human:
สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ควรได้รับความยุติธรรมแบบมนุษย์หรือไม่?
หรือการปฎิบัติกับผู้อื่นอย่างเป็นธรรม เป็นกฏที่มนุษย์สร้างเอาไว้เพื่อใช้ในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แล้วถ้าหากมีหุ่นแอนดรอยด์ที่หน้าตาเหมือนคน คิด และกระทำเหมือนคนทุกอย่าง พวกเขา (หรือพวกมัน) จะถูกปฎิบัติเป็นมนุษย์หรือสิ่งของ? ควรถูกให้เกียรติเทียบเท่ามนุษย์หรือไม่ และควรผ่านขั้นตอนความยุติธรรมเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่
หรือถ้ามันทำผิดก็เพียงทำลายทิ้ง เหมือนหม้อข้าว เครื่องล้างจาน ก๊อกน้ำเก่าๆ ที่ถ้าไม่ซ่อมก็เปลี่ยนเสีย
Detroit: Become Human เป็นเกมที่ทำให้คุณต้องขบคิดกับปัญหาเหล่านี้ นี่คือเกมลำดับที่ 4 โดยฝีมือเดวิด เคจ เจ้าพ่อเกมแนวการตัดสินใจจากค่าย Quantic Dream ที่สร้างเกมเนื้อหาเข้มขนมามากมายไม่ว่าจะเป็น Fahrenheit (2005), Heavy Rain (2010) และ Beyond: Two Soul (2014) -- โดย Detroit ชูจุดแข็งการเกมที่มีฉากจบกว่า 50 แบบ และมีความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่ต้องตัดสินใจนับร้อย ๆ แบบ ทำให้เราเลือกตัดสินใจตามที่เราเชื่อ หรือ "ตอบคำถาม" ที่ผู้เขียนได้ถามไปข้างต้นได้ตามใจและรอดูผลลัพธ์ของคำตอบได้เลย
แม้จะพูดถึงอนาคตเหมือนกัน แต่ Detroit: Become Human นั้นต่างจาก Blade Runner หรือ Ghost in the Shell ตรงที่นี่ไม่ใช่เรื่องของซูเปอร์ค็อปที่ไหน แต่มันคือเรื่องของชาวบ้านชาวเมืองธรรมดา ที่ต้องอยู่กับโลกที่เปลี่ยนไปเพราะแอนดรอยด์ เรื่องของอนาคตที่ใกล้จะเป็นจริงมาก ๆ ในโลกนอกจอ
Welcome to Detroit
ผู้กำกับ เดวิด เคจ ไม่ได้เลือกเมืองดีทรอยต์มาเป็นฉากหลังของเกมอย่างไร้เหตุผล ดีทรอยต์ในอดีตเคยเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของอเมริกา ในช่วงทศวรรศ 1950s เมืองแห่งนี้คือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์รายใหญ่สามเจ้านั่นคือ General Motors, Ford และ Fiat Chrysler เป็นแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ของชาวอเมริกันในยุคนั้น แต่เมื่อถึงปลายศตวรรศที่ 20 แรงงานการผลิตเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรไปทีละช้า ๆ คนที่เคยย้ายมาทำงานที่ดีทรอยต์ก็ทะยอยย้ายออกไปทีละคนสองคน จำนวนประชากรลดลงไป 60% และเป็นเมืองที่มีการแจ้งล้มละลายสูงที่สุดในอเมริกา เต็มไปด้วยบ้านร้างและอาชญากรรม นี่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปพอจะนึกออกถ้าคิดถึงดีทรอยต์ เป็นตัวอย่างที่น่าหดหู่ของ Digital disruption หรือการแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้คนตกงาน
เกมจึงชวนให้คุณนึกต่อยอดถึงความคับแค้นในจิตใจมนุษย์ ถ้าหากว่าเมืองอย่างดีทรอยต์ถูกซ้ำเติมอีกครั้งด้วยการมาถึงของหุ่นแอนดรอย์สารพัดประโยชน์ที่สามารถทำได้ทุกงานนี้ เรายังจะปฎิบัติกับพวกมันอย่างเป็นธรรมอยู่ไหมถ้าวันหนึ่งมันมาแย่งงานเรา ?
ถ้าวันนึงเกิดมีเผ่าพันธุ์หนึ่งที่ไม่ต้องกิน ไม่ต้องนอน ไม่ป่วย ไม่บ่น ทำงานได้เรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจกฎหมายแรงงาน แถมยังมีฐานข้อมูลใหญ่ยักษ์ยิ่งกว่ากูเกิ้ลอยู่ในสมอง เรียนรู้ได้เอง แถมประมวลผลอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วินาที มันอาจแย่งงานเรา แย่งแฟนเรา หรือวันหนึ่งอาจจะปกครองประเทศแทนเราก็ได้ ถึงตอนนั้นเราจะยังต้องการความยุติธรรมกับมันอยู่ไหม ยังใช้กรอบมนุษยธรรมมาจับได้อยู่หรือเปล่า เรารับได้หรือไม่ที่จะไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาที่สุดในโลกอีกต่อไป ?
คนแตกต่างจากแอนดรอยด์อย่างไร?
อะไรคือมาตรวัดความเป็นมนุษย์ การเกิดมาจากครรภ์มารดาไม่ได้เกิดจากโรงงานทีละพันคน หรือเพราะความอิจฉา ความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบทางร่างกายและจิตใจต่างหากที่แยกเราออกจากแอนดรอยด์
ยังไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกม ที่แอนดรอยด์เกิดความเพี้ยนในระบบ ทำให้สามารถตระหนักรู้ได้ถึงสภาพความทาสที่พวกมันเป็นอยู่ รับรู้ได้ถึงความอิจฉา ความเกลียดชังจากมนุษย์ และรับรู้ความโกรธ ความผิด และความรักได้เหมือนมนุษย์ และเริ่มเรียกร้องขอให้ยกเลิกความเป็นทาสรับใช้และขอโอกาสได้ปกครองตัวเอง ถ้าเป็นแบบนั้นแอนดรอยด์ที่ระบบเสีย ก็ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ที่ไม่มีเลือดเนื้อใช่หรือไม่ เพราะพวกเขาก็มีหัวใจแล้วเหตุใดพวกเขาจึงไม่ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์ล่ะ ? เหตุใดจึงปล่อยให้พวกเขากลายเป็นทาสอารมณ์ ทาสความรุนแรงของมนุษย์ต่อไปเรื่อย ๆ โดยคิดเสียว่าพวกเขาเป็นแค่เครื่องใช้ไฟฟ้าไปได้
นั่นคือเหตุผลที่ Detroit: Become Human คือเกมแห่งการเลือก เพราะมันมีแต่คำถาม-คำตอบอยู่เต็มไปหมด แต่สิ่งทีคนเล่นอย่างเราต้องทำคือ เลือก เลือกฝ่าย เลือกวิธีการ และดูว่ามันจะนำไปสู่เหตุการณ์ไหน เราสามารถเลือกอยู่ฝ่ายมนุษย์ที่ชังแอนดรอยด์ในใจ เพราะเราอยากให้มันไปสู่ฉากจบของการทำลายล้างแอนดรอยด์ให้หมดสิ้นเพราะมันคือความผิดพลาดที่เราสร้างมันขึ้นมา ต้องทำลายมันก่อนที่มัน (ซี่งเป็นสิ่งที่ทรงอาณุภาพกว่า) จะทำลายเรา หรือเราสามารถเลือกที่จะต่อสู้ด้วยความเชื่อว่าแอนดรอยด์สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ในฐานะหนึ่งชีวิต เขียนกฏใหม่ให้เราไม่ก้าวก่ายและเอาเปรียบกันไม่ว่าจะต้องแลกด้วยการต่อสู้กับความเกลียดชังแค่ไหนก็ตาม
เล่นเกมนี้แล้วก็สังหรณ์ใจไม่น้อย เมื่อมองไปถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในไทยและต่างประเทศ ล้วนเกิดจากการมองคนอื่นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่าคน ไม่ใช่เรื่องของอนาคตไกลที่ไหน แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
การที่คนด้วยกันเองยังต้องพิสูจน์ว่าฉันไม่ได้มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าใครก็มีให้เห็นมากมาย ไปจนถึงสันดานมนุษย์กระหายสงคราม และการตัดสินใจที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นคนเสมอ และไม่เคยห่างเราไปไหนเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in