เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
To Play is To ReadHarmish
อีกด้านหนึ่งของมิดการ์: ชีวิตใต้ร่มเหล็กและอดีตที่ถูกกลืนกิน

  • เชื่อว่าถึงตอนนี้แฟน ๆ เกมระดับตำนานอย่างไฟนอลแฟนตาซี 7 คงจะได้เล่นภาครีเมคที่รอมานานเกือบ 10 สิบปีหลังจากประกาศครั้งแรกกันจบไปหลายรอบแล้ว และคงไม่ต้องแนะนำให้รู้จักเมืองมิดการ์ (Midgar) เมืองหน้าตาประหลาดลักษณะเป็นแผ่นวงกลมขนาดยักษ์ ที่ยิ่งใหญ่ราวกับเมืองหลวงของโลกไฟนอลแฟนตาซีภาคนี้ และคนที่เคยเล่นภาครีเมคคงจะได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ โลดแล่น สัมผัสความมีชีวิตชีวาของผู้คนในเมืองแบบที่เทคโนโลยีในยุคภาคดั้งเดิมทำไม่ได้มาก่อน

    ในครั้งนี้ผู้เขียนไม่ขอพูดถึงเนื้อเรื่องในเกมที่ทุกคนได้เล่นและประทับใจกันไปแล้ว แต่จะขอสะกิดให้คิดถึงเมืองใหญ่แห่งนี้ ทั้งหน้าตาของเมืองและความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วที่เกิดขึ้นในเมือง ทั้งทางด้านสังคม ความเศรษฐกิจ และความเชื่อ อันเกิดจากความชั่วร้ายของบริษัทเอกชนอย่างชินระ ที่ไม่ใช่แค่สร้างหุ่นยนต์และอาวุธสงคราม กองทัพกระหายเลือด แต่คือการกดขี่และครอบงำตัวตนความเป็นปัจเจกของชาวเมือง ให้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจและเมินเฉยต่อความไม่ยุติธรรมนั้น 

    ในบทความนี้ผู้เขียนจะอ้างอิงจาก Lore ของเกมที่สามารถหาอ่านได้จาก final fantasy wikia และจากการสังเกตของตัวผู้เขียนเองขณะเล่น

    เมืองเล็ก ๆ ที่เคยมีตัวตน

    รู้หรือไม่ว่าในอดีตมิดการ์เคยเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านเล็ก ๆ 8 หมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากกัน แต่ละหมู่บ้านก็ต่างมีชื่อเรียกของมัน มีผู้คนและประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง จนกระทั่งบริษัทพลังงานที่ชื่อว่า Shinra Electric Company ได้คิดค้นการดึงธารแห่งชีวิตใต้พื้นพิภพอันเป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในโลกขี้นมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า และเรียกมันว่าพลังงานมาโค่ (Mako) 

    ความเจริญของชินระสร้างงาน สร้างความเจริญ สวัสดิการ ถนนหนทางให้กับผู้คนในหมู่บ้านเหล่านั้น ท้ายที่สุดชินระก็กลายเป็นผู้ปกครองไม่ต่างจากรัฐบาลที่ประชาชนคือพนักงานบริษัทคนหนึ่ง ผู้คนค่อย ๆ ลืมอดีต ความเป็นชุมชน ตัวตน กลายเป็นพนักงานให้กับชินระ จนชื่อของหมู่บ้านเหล่านั้นถูกลบเลือนไป ไม่นานการสูบพลังงานมาโค่ขึ้นมาใช้อย่างไม่หยุดยั้งก็ทำให้ภูมิประเทศรอบด้านแห้งเหือดกลายเป็นทะเลทราย มีเมืองที่มีแสงไฟสีเขียวเรืองรองพวยพุ่งอยู่ที่ใจกลาง

    เราอาจะได้เห็นเมือง Dystopia แบบนี้มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่ไม่มีความเป็นส่วนตัวใน 1984 ของจอร์จ ออร์เวล เมืองอนาคตสุดเศร้าหมองใน Blade Runner แต่เมืองที่ใกล้เคียงกับมิดการ์มากที่สุดคงจะเป็น Metropolis จากหนังขาวดำของฟิตจ์ แลง เมืองที่ปกครองด้วยระบบทุนนิยมสุดโต่งที่ผู้คนคือแรงงาน ศูนย์กลางอยู่ที่การผลิต ผู้ปกครองการผลิตคือผู้ปกครองคน ผู้ที่ไม่ได้เป็นแรงงาน คือผู้ที่ไม่มีคุณค่าต่อการเป็นพลเมือง 

    แต่แม้ว่า Final Fantasy VII จะไม่ได้มีเนื้อเรื่องที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้เราได้สัมผัสชีวิตชีวาของผู้คนที่อยู่ภายใต้การกดทับแบบนี้มาก่อน 

    เมืองมิดการ์นั้นประกอบไปด้วย ชนชั้น ที่ถูก "แยกชั้น" อย่างชัดเจน ด้วยการสร้างเมืองลอยฟ้า ยกตัวเหนือพื้นดินที่มันเคยอยู่ เรียกว่า Plate ย้ายทุกสิ่งขึ้นไปอยู่บนแพลทแห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเตาปฏิกรณ์มาโค่ หมู่บ้านพนักงาน โรงพยาบาล โรงละคร ค่ายทหาร ทุกอย่างต่างเป็นของบริษัทชินระ และรวมไปถึงสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเมืองนั้นคือตึกสำนักงานใหญ่ที่ตระหง่านอยู่ที่ใจกลางของทุกสิ่ง 


    ในขณะที่เมืองที่อยู่ติดพื้นดินอันแห้งแล้งนั้นกลายเป็นสลัม แหล่งที่อยู่ของผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานหรือพนักงานชั้นผู้น้อยของมิดการ์ สลัมของคนที่คนด้านบนไม่ต้องการ ไม่มีสวัสดิการใด ๆ นอกจากโคมไฟขนาดยักษ์ที่ช่วยส่องแสงจากใต้แพลทและส่งทหารมาตรวจตราบ้าง 

    ต่างจากเมือง Dystopian อย่าง The Capitol ใน The Hunger Games ที่มีการแบ่งเซคเตอร์เพื่อส่งทรัพยากรเข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง และความบันเทิงทั้งหมดอยู่ที่เมืองหลวงเท่านั้น แต่สำหรับมิดการ์แล้วคนที่อยู่บนแพลตไม่ต้องการอะไรจากคนด้านล่างเลย พวกเขาสามารถผลิตทุกอย่างเองได้หมด อาศัยเพียงแรงงานคนบ้างบางครั้ง แต่ความเป็นอยู่ของผู้ปกครองกับแรงงานนั้นแตกต่างกันลิบลับทั้งสองเมือง

    สำหรับบริษัทชินระแล้ว สลัมด้านล่างเป็นแค่ที่ทิ้งขยะและสนามทดลองอันตรายใต้ดิน แต่สำหรับคนในสลัม มันคือชุมชนที่ถูกลืม ลืมแม้กระทั่งตัวเอง จาก 8 หมู่บ้าน กลายเป็น 8 เซคเตอร์ ตามเลขของแผ่นเหล็กของเมืองใหม่ขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ด้านบน มีเพียงเสาค้ำไว้ 8 ต้น หากวันไหนแผ่นเหล็กนั้นถล่มลงมา เมืองด้านล่างทั้งเมืองใต้นั้นจะไม่มีวันรอด 

    เมืองแบบนี้มีอยู่จริง

    (ภาพประกอบ: แคมปัสสไตล์ยูโรปของ Huawei ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน)

    มิดการ์คือภาพแทนอันสุดโต่งของ company town หรือเมืองที่สร้างโดยบริษัทใหญ่ มีหลายแห่ง หลากหลายยุคสมัยทั่วโลก อย่างเช่นที่เห็นได้บ่อยในหนังคาวบอยมักจะมีเมืองเล็ก ๆ ในแคลิฟอร์เนีย หรือเท็กซัส ที่คนทั้งเมืองทำเหมืองหรือรับจ้างตัดไม้ให้บริษัทเดียว เมื่อบริษัทที่มีเงินมากพอที่จะสร้างที่อยู่อาศัย ร้านค้า สถานที่ทางศาสนา ให้กับผู้คนในเมืองที่ส่วนเป็นพนักงานของบริษัทนั้น หรือได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทติดพันอยู่กับบริษัทนั้น หรือสุดโต่งขึ้นอีกหน่อยก็คือบริษัทนั้นเป็นเจ้าของกิจการของธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไปเลย

    ในยุคปัจจุบันเราอาจจำภาพเมืองลักษณะนี้จากจีนหรือดูไบ ที่เป็นการแทนที่ชุมชนเก่าให้หายวับไป และจากการตัดไม้หรือถ่านหินก็เปลี่ยนเป็นเมืองของบริษัทเทคโนโลยี ที่ไม่ต้องมองไกลนั้นคือ Silicon Valley ในแคลิฟอร์เนีย แหล่งรวมตัวของสาขาใหญ่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple, Google หรือ Facebook ที่เรามักได้ยินข่าวเรื่องการรุกคืบของบริษัทเทคโลยีระดับโลกเหล่านี้ เพราะพนักงานเทคเงินเดือนสูงจากทั่วโลกเข้ามายืดครอง ทำให้ค่าครองชีพในเมืองแพงขึ้นจนคนที่ทำอาชีพอื่นต้องย้ายออกจากเมืองไป นอกจากนี้ยังมี Samsung Digital City แคมปัสสำนักงานของซัมซุงด้วยพื้นที่กว่า 395 เอเคอร์ และพนักงานราว 35,000 เท่ากับประชากรของเมืองเล็ก ๆ เมืองนึงเลย

    แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่ได้เลวร้ายเหมือนชินระ และไม่ได้มีการกดขี่แบบมิดการ์ (เท่าที่ผู้เขียนทราบ) แต่ก็ทำให้เห็นว่ามิดการ์นั้นถูกสร้างขึ้นตามแบบฉบับของ company town ที่มีอยู่จริงมากมาย และผู้คนที่อยู่รอบด้านก็ต่างใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงานในบริษัทนั้นไม่ต่างจากชามสลัมที่อยากย้ายขึ้นไปเป็นพนักงานของชินระที่ด้านบน

    แม้แต่คนในสลัมก็ไม่เรียกร้องหาความยุติธรรม 

    นอกจาก Avalanche ซึ่งเป็นขบวนการณ์ต่อต้านของพวกพระเอกแล้ว เรื่องน่าเศร้าของชาวสลัมคือพวกเขาต่างเป็นแฟนคลับตัวยงของชินระ จะสังเกตได้ตั้งแต่ตอนแรกของเกมที่เกิดระเบิดขึ้นในเตาปฏิกรณ์ด้านบน แต่คนด้านล่างกลับเป็นเดือดเป็นร้อนไปด้วย พวกเขาเชื่อในทุกมายาคติที่ถูกป้อนให้ ต่างแหงนหน้ามองแผ่นเหล็กด้านบนว่าเป็นความเจริญก้าวหน้า ใฝ่ฝันจะยกระดับขึ้นไปใช้ชีวิตบนแพลท เพราะพวกเขาไม่เห็นว่าจะมีที่ไหนอีกที่จะมีโอกาสได้รับการศึกษา คุณภาพชีวิต และการเติบโตในอาชีพได้มากกว่าด้านบน นั้นคือ "ความหวัง" สำหรับคนในสลัม แต่ไม่มีความหวัง หรือแม้แต่จะคิดว่าจะสร้างการปกครองที่เป็นเอกเทศน์ภายใต้ร่มเหล็กทะมืนแห่งนี้

    เพราะมองไปก็เห็นแต่ด้านใต้ของแผ่นเหล็ก ไม่เห็นความเจริญด้านบน และไม่เห็นผู้ปกครองที่อยู่จุดสูงสุดบนยอดปีระมิดนั้น ดั่งฉากหนึ่งในเกมเมื่อบาเร็ตมองจากหน้าต่างบนตึกสำนักงานใหญ่ชินระลงมาสู่เมืองด้านล่าง เขามองผ่านช่องแหว่งที่หายไปของเซคเตอร์เจ็ด ลงไปถึงความพินาศของสลัมเบื้องล่าง เป็นครั้งแรกที่คนบนยอดตึกสามารถมองลงมาเห็นสลัมข้างใต้ เป็นสัญลักษณ์ว่าการต่อสู้เชิงชนชั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว...




       

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in