เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
From Ears to Eyes "เสพเสียงสร้างสรรค์เป็นอักษร"ปลายฟ้า
เมื่อรู้ตัว ต้องเตรียมอย่างไรให้ใจพร้อม
  • บ้านคลับเฮ้าส์ “เมื่อโลกเป็น 0 กับ 1”* ครั้งแรกหลังปีใหม่ เปิดมาในหัวข้อ “เมื่อรู้ตัว ต้องเตรียมอย่างไรให้ใจพร้อม**

    ที่มาของเรื่องนี้ คือเพื่อนรักของสมาชิกในบ้านคนหนึ่งป่วยหนัก ความรู้สึกหลายอย่างจึงประเดประดังถั่งโถมเข้ามา เพราะเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ดูเหมือนว่ากำลังลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ความตั้งใจหลายอย่างที่อยากจะทำให้เพื่อน ยังไม่สามารถทำได้...

    ค่ำคืนของวันอังคารที่ผ่านมา  บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาเล่าประสบการณ์แห่งชีวิตที่ ช้า เร็ว เราทุกคนจะได้พบเจอ  

    คำถามแรกหลังจากทักทายกันไปเพียงเล็กน้อย  "เมื่อได้ยินหัวข้อนี้ แล้วคิดอย่างไร"  ทำให้ฉันได้เห็นว่ามองได้หลายมุมอยู่เหมือนกัน อาทิ ในแง่ของตัวเราที่รู้ตัว หรือเป็นคนใกล้ชิดของผู้รู้ตัวว่าจะจากไป หรือ เป็นเรื่องของสติ การรู้ตัว หรือความรู้สึกตัวที่ฝึกในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อเจอเหตุการณ์พรากจากจริงๆ จะยังสามารถประคองสติที่มีอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งยังมีเรื่องการจากเป็น และการจากตายที่สอดแทรกมาด้วย

    เมื่อถามถึงประสบการณ์ในเรื่องนี้ของแต่ละคน เรื่องราวเข้มข้นจึงปรากฏขึ้น  ประเด็นอันหลากหลายเมื่อครู่ค่อยๆเบนเข็มแคบลง  เหลือเพียงว่า หากเราเป็นผู้รู้ตัวว่าต้องไป กับ คนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารักจากไป  เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง  

    ฉันเล่าเรื่องแม่ที่จากไปด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวัยยังไม่ถึง 60 ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายสิบปี แต่ความรู้สึกแห่งการสูญเสีย ณ ตอนนั้น ยังจารึกอยู่ในส่วนลึกของความทรงจำ ที่พอขุดไปทีไรก็เจอมันนอนอยู่ที่ก้นบึึ้ง  แม้ทุกวันนี้ ฉันจะไม่ได้ร้องไห้กับการจากไปของแม่แล้ว แต่ตอนนั้นฉันร้องไห้ ละเมอร้องไห้อยู่เป็นเดือน ความที่เป็นคนที่รักที่ใกล้ชิดที่สุด แม้บางทีมีทะเลาะกันบ้างในช่วงที่ฉันวัยรุ่นใจร้อน แต่เมื่อปรับความเข้าใจได้ความรักความไว้วางใจจึงทวีคูณ ดังนั้น แม่จึงเป็นที่หนึ่งในใจของฉันเสมอมา

    การร้องไห้เป็นเพราะความอาลัย อาดูรอย่างสุดซึ้ง  ที่ปะปนมาอีกส่วนที่เด่นมากคือความห่วงใย ทั้งที่แม่จากไปแล้ว  ฉันจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ว่า แม่จะเป็นอย่างไรบ้างนะ  ภาพที่เขานำโลงศพวางลงไปในหลุมที่สุสาน แล้วค่อยๆให้ญาติๆ เอาดินโยนลงไป ก่อนกลบให้เป็นเนินดิน แม้ร่างแม่จะถูกฝังอยู่ใต้พื้นดิน  แม่ไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว  แต่ความคิดที่ว่าแม่จะเป็นอย่างไรบ้างนะ มีอยู่ตลอดในช่วงเดือนแรกๆ ที่แม่ตาย  ฟังดู มันอาจไร้สาระ แต่ฉันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ  

    น้องผู้ดำเนินรายการสะท้อนว่าสิ่งที่ได้ยินจากฉัน ทำให้เขาเห็นภาพของเงื่อนที่ผูกไว้อย่างแน่นหนา เป็นเงื่อนแห่งความผูกพันที่มีต่อกัน ยิ่งเงื่อนมัดแน่นเท่าไร กว่าจะคลายลงได้ ต้องใช้เวลา... และเมื่อมีการคลายของเชือก  ฉันค่อยๆยอมรับในการจากลาที่เป็นการสูญเสียครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

    เมื่อเร็วๆนี้ฉันไปเข้าร่วมอีกเวทีหนึ่ง หัวข้อทำนองเดียวกัน ฉันเล่าเรื่องแม่อีกครั้ง โดยเสริมเพิ่มว่าแม้แม่จะจากไปนานมากแล้ว แต่พอฉันอายุมากขึ้น ฉันพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างของแม่หลงเหลือเป็นร่องรอยอยู่ในตัวฉัน โดยเฉพาะการทำอะไรบางอย่าง ที่พอทำแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า นี่มันเหมือนที่แม่เคยทำเลยนี่นา เพราะฉะนั้น คิดอีกที  แม่ยังไม่ได้ไปจากฉันเสียทีเดียวทั้งหมดหรอกนะ 

    กระบวนกรบอกว่าฟังแล้ว ทำให้เธอนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าว่าการตายของคนเรามี 3 ครั้ง ครั้งแรกคือตายจริง สภาพร่างกายคือตาย การตายครั้งที่ 2 คือการตายจากความคิด ความจำของคนที่ยังอยู่ ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการตายโดยสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดมาเป็นวัฒนธรรมครอบครัวสูญสิ้นไป เช่นสูตรอาหารของอาม่า เป็นต้น  ฉันว่าเป็นข้อคิดที่น่าสนใจทีเดียว  

    ใน CH มีคำถามเกิดขึ้นว่า
    "การรับรู้ข่าวร้าย นี่ เรามีสิทธิที่จะรับรู้ใช่ไหม และพอรับรู้แล้ว มันมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง"

    ฉันเชื่อว่ามีสิทธิแน่นอนเพราะมันเป็นเรื่องของตัวเรา เราจึงควรมีสิทธิโดยสมบูรณ์ แต่ด้วยโครงสร้างทางครอบครัวของไทยที่เป็นครอบครัวขยาย/ กึ่งขยาย จึงมีลูกๆ หลานๆ หรือคนใกล้ชิดเป็นผู้มีสิทธิไปด้วย ทำให้บางทีอาจไปละเมิดสิทธิที่เจ้าตัวควรรู้ก็มี

    ส่วนขั้นตอนหลักของปฏิกริยาตอบสนองต่อการรับรู้ข่าวร้าย มี 5 ขั้นตอน คือ ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง ยอมรับและซึมเศร้า***  บางคนมีปฏิกริยาเป็นขั้นตอน  ขณะที่บางคนไม่ และปฏิกริยาเหล่านี้อาจหวนกลับมาเป็นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า 

    น้องสาวหน้าใหม่ผู้มีหัวใจเปราะบาง เพิ่งเข้าวงการ CH เป็นครั้งแรก เล่าด้วยนำ้เสียงที่ยังแฝงความตื่นเต้นว่า ปีที่แล้ว เธอต้องผ่าตัดโรคเกี่ยวกับหัวใจ ต้องไปหาหมอหลายรอบ เหมือน รพ. แทบจะกลายเป็นบ้านที่สอง เกิดเหตุที่ทำให้หัวใจเธอเต้นช้าลงมาก ประมาณครึ่งหนึ่งของคนปกติ  จนสุดท้ายต้องติดตั้งเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ เพราะถ้าช้าลงไปกว่านี้อีก หัวใจเธออาจหยุดเต้นเมื่อไรก็ได้ ก่อนผ่าตัด ความว้าวุ่นใจของเธอพุ่งเป็นกราฟขึ้นๆลงๆ  เพราะไม่รู้ว่าระหว่างผ่า จะเกิดอะไรขึ้น แม้จะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องการอยู่กับลมหายใจมา แต่พอถึงเวลาจริง มันไม่ง่าย มันยังวุ่นวายใจอยู่เป็นพักๆ  

    เธอบอกว่าไม่มีคู่มือเรื่องการเตรียมตัวตายเสียด้วย  แต่เธอเคยคุยธรรมะกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าเป็นกุญแจไขทั้งหมดในเรื่องของการพ้นจากความทุกข์ แต่ด้วยเป็นภาษาทางศาสนา ทำให้เธอไม่ค่อยเข้าใจนัก อยากรู้เรื่องนี้มาก นี่จึงอาจจะเป็นอีกหัวข้อที่เราจะคุยกันต่อในภาษาที่ง่ายขึ้น

    ระหว่างที่เธอเล่า ฉันอดถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ ชื่อเรื่องว่า Advice for Future Corpses หรือที่แปลเป็นไทยว่า วาระสุดท้าย: คู่มือสบตากับความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง   ฉันเลยเล่าให้ฟัง ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวปฏิบัติให้ผู้ป่วยวาระสุดท้ายและคนใกล้ชิดได้เตรียมพร้อม พอดีฉันยังอ่านไม่จบ เลยยังเล่าในรายละเอียดไม่ได้ 

    สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันเมื่อได้ถกอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือ คือ การอ่านจบ ไม่ได้แปลว่าคนอ่านจะสามารถตายได้อย่างอบอุ่นและซื่อตรงจริงๆ  ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตจำนวน ได้พบได้เห็นสถานการณ์ของการจากไปอย่างใกล้ชิด แต่การตายไม่ใช่สูตรสำเร็จรูป ที่จะเหมือนกันทุกคน   มันจึงเป็นชุดความรู้ที่รวบรวมมา ถึงอ่านรับรู้ เข้าใจ แต่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ทุกสิ่งทุกอย่างต้องการการนำไปสานต่อ ถ้ายิ่งเป็นทักษะหมายความถึงการฝึกฝน เพื่อให้เริ่มทำเป็น ก่อนจะก้าวไปสู่การทำคล่อง และทำได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม เรื่องนี้ก็เช่นกัน คงต้องไปดูว่าเขาให้ทำอะไร เตรียมการอะไรบ้าง ควรทำในช่วงเวลาใด ฯลฯ

    ในอีกด้านของสิ่งที่รักจากไป เธอมีกระต่ายที่อยู่กันมานานเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว วันหนึ่งมันตายเพราะวัยอันชรา ดังเฉกเช่นสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก เธอเสียใจมากราวกับคนในครอบครัวจากไป ถึงกับเมื่อพระบิณฑบาตรผ่านหน้าบ้าน เธออยากจะทำสิ่งดีๆให้กับเจ้าตัวน้อยนี้ เลยขอให้พระช่วยสวดบังสกุลให้  ไม่รู้หรอกนะว่าทำได้ไหม แต่เธอขอพระไปแบบนัั้นในเช้าวันหนึ่งที่พระบิณฑบาตผ่านมาพอดี  พระมีเมตตาสวดให้... ความรักความผูกพันยังเป็นสิ่งสำคัญที่ยึดโยงกันไว้ ไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายจากกันไป

    มีน้องอีกคนเล่าถึงการจากไปของพ่อ เสียดายที่สัญญาณ wifi ของฉันเกิดขัดข้อง ฉันฟังได้ไม่ครบถ้วนในตอนสำคัญช่วงต้น มาได้ยินอีกทีเป็นช่วงท้ายๆ จับความได้ว่าเธอได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่จะหมดลง ได้สบตากับพ่อในช่วงเวลาที่จะจากกันไป ชั่วขณะนั้น กลับสร้างการรับรู้ใหม่ในการลาไปสู่อีกภพภูมิหนึ่งของพ่อ ทำให้เธอไม่รู้สึกคั่งค้าง หรือเสียใจมากนัก เหมือนพ่อจะส่งสัญญาณการเตรียมตัวให้เธอ และเธอรับสัญญาณนั้นได้ เธอไม่แน่ใจว่าผิดปกติไหมที่ไม่ได้เสียใจแบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน ... ไม่มีคำตอบจากคนในวงสนทนา... บางเรื่องไม่จำเป็นต้องคำตอบ ...บางเรื่องไม่มีคำตอบ

    เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ตั้งไว้ ผ่านไปดั่งติดปีก 

    เรื่องเล่าที่ได้ยินล้วนมีความหมายสำหรับ “ผู้เล่า” ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวครั้งแรก ...ครั้งเดียวในชีวิต (ณ เวลานี้) ... เมื่อเล่า ทำให้ได้ทบทวนความรู้สึกของตนเองที่ชัดขึ้นทั้งในระหว่างเกิดเหตุ  หลังเกิดเหตุ และปัจจุบัน ...ได้ครุ่นคำนึงถึงคนที่จากไปด้วยความรัก ความหมาย และความทรงจำ 

    “ผู้ฟัง” ต่างได้ยินสถานการณ์ของการตาย/ เฉียดตาย สิ่งที่เกิดขึ้น ในความสูญเสีย/ การรับรู้ข่าวร้าย  ความทุกข์ ความวุ่นวายใจทีเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่าง แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่   ความสามารถของการเรียนรู้ เติบโต ก่อร่างสร้างใหม่ ภายหลังความทุกข์นั้นๆ    

    เป็นค่ำคืนดีๆ ในบ้านหลังนี้อีกครั้ง...





    _______________________________________________________
    *บ้านคลับเฮ้าส์ “เมื่อโลกเป็น 0 กับ 1:  เมื่อชีวิตเป็นทั้ง 0 และ 1 ไปพร้อมกันได้  บ้านหลังนี้ ชวนคุยและสำรวจมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและเทคโนโลยีไปพร้อมกัน กำหนดเปิดบ้านทุกวันอังคารสัปดาห์ที่สองของเดือน 
    ** หัวข้อ “เมื่อรู้ตัว ต้องเตรียมอย่างไรให้ใจพร้อม" ค่ำคืนนั้น มีคุณธเนศ ม่วงทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ
    *** จากหนังสือ "ล้อมวงสนทนา" โดย นพ. โรจนศักดิ์​ ทองคำเจริญ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in