เรียงความชิ้นนี้ได้รับรางวัล "ขวัญใจกรรมการ" จาก สถาบันขีดเขียนอะคาเดมี
ถึงแม้ว่า "ลิ" ที่ย่อมาจากคำว่า "ลิขิต" ซึ่งหมายถึง "การเขียน" จะอยู่ท้ายสุดของหัวใจนักปราชญ์
"สุ จิ ปุ ลิ" ที่เป็นหลักสำคัญในทางพุทธศาสนามานานแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า
การเขียนมีความสำคัญน้อยไปกว่าการฟัง การพูด และการอ่าน มิหนำซ้ำ การเขียนยังได้กลายเป็น
หนึ่งในการกระทำที่ทรงอิทธิพลต่อสังคม ประเทศชาติ และโลก ในด้านของการเป็นพื้นฐานสำคัญ
ในการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกช่วงวัย ตลอดจนในด้านของการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
ซึ่งกาลเวลาไม่อาจพรากให้สูญสลายหายไปตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้เอง
ใครหลายคนจึงมีความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนไม่ต่างอะไรจากฉันที่อยากเป็นเช่นกัน
ชีวิตนักเขียนของฉันอาจแตกต่างจากใครหลายคนไปมากโขตรงที่ฉันไม่ได้เริ่มต้นจากการ
เป็นนักอ่าน ฉันเป็นคนเรียนรู้ทุกอย่างผ่านภาพและอาศัยการฟังกับการรับชมเป็นส่วนใหญ่
และวิถีที่ฉันเป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ทำให้ฉันสามารถจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
ในฐานะของบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ทั้งยังได้ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสองคนของประเทศไทย
ที่ได้รับทุนสนับสนุนวิทยานิพนธ์ด้านภาพยนตร์ ประจำปี 2566 จาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการได้มีโอกาสทำวิจัยในระดับปริญญาโท ทว่าในแง่ของความปรารถนา
อันแรงกล้าที่ฉันอยากเป็นนักเขียนซึ่งมีโอกาสได้ออกหนังสือและเห็นผลงานของตัวเองบน
ชั้นวางหนังสือในหมวดนวนิยายภายในร้านหนังสือทั่วไปกลับยังคงไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้
เพราะตัวฉันเองก็เคยผ่านการถูกปฏิเสธมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากคนรู้จักที่เป็น
นักเขียนเหมือน ๆ กัน จากกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ชื่อดังระดับประเทศ และจากกลุ่มคน
ในวงการน้ำหมึก ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ฉันเจ็บปวดรวดร้าวและหมดพลังใจ
หากแต่ไม่อาจทำให้ฉันคิดคดทรยศต่อการเขียนที่ฉันลุ่มหลงยิ่งกว่าสิ่งใด และเพราะฉัน
ประสบความสำเร็จในแง่ของการเขียนผลงานวิชาการ ฝีไม้ลายมือที่ทีแรกฉันคิดว่า
"ฉันไม่เอาอ่าว" จึงได้สำแดงผ่านงานเขียนเหล่านั้นจนกลายเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาหลายคู่มาแล้ว
เพราะมีการเขียนจึงทำให้ฉันได้อ่าน เพราะมีการอ่านจึงทำให้ฉันได้เขียน
ฉันจึงเชื่อมั่นเหลือเกินว่า"งานเขียนเปลี่ยนโลกได้" ไม่ใช่เพียงแค่โลกทั้งใบของฉัน
แต่อาจหมายถึงโลกของใครอีกหลายคนที่มีโอกาสได้อ่านงานเขียนที่ทรงคุณค่า ถึงแม้ว่า
"ชีวิตของคนเราจะไม่อาจอยู่ยั้งยืนยงมากพอสำหรับการอ่านงานเขียนดี ๆ ทั้งหมดบนโลกใบนี้" ก็ตามที
พรชา จุลินทร (สบาย)
20 มกราคม 2568
16.15 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in