สวัสดีครับ
เพื่อนๆ หลายคนอ่านเรื่องของผมเมื่อวานแล้วตะลึง คงคิดไปว่าเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ หนักอึ้งขนาดปาหัวใครก็แตกได้เลย ๕๕๕๕๕ เพื่อแก้คำครหาอย่างที่ว่า ขอแนะนำให้ทุกคนลองอ่าน เรื่องเล่าของผมในวันนี้ ซึ่งเกิดจากที่ไปค้นพบสิ่งหนึ่ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบใน “ลิ้นชักแห่งความทรงจำ” ของชีวิตเกือบ ๓๓ ปีที่ล่วงไปนั้นเข้าครับ
นั่นคือเพลงสากล ซึ่งเริ่มสร้างชื่อเสียงเป็นที่จดจำ จากภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จ อย่างมากมายสูงสุดในขณะนั้น ไม่น้อยไปกว่าตัวเพลงเลย และทั้งสองก็ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึง ของบรรดาผู้คนที่เคยดูเคยฟัง หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งล้วนแต่ประทับใจกันแทบทั้งนั้น
ผมกำลังหมายถึง เพลงรักอมตะที่มีชื่อว่า “Unchained Melody” และภาพยนตร์ชื่อดัง ในปีแรกของยุค ๙๐s เรื่องนั้นก็คือ “Ghost” (วิญญาณ ความรัก ความรู้สึก; แต่บางคนเล่นเป็นมุกตลก ด้วยชื่อภาษาลาวที่เขาตั้งให้ว่า “ปั้นหม้อล่อผัว”) ซึ่งนำแสดงโดยคู่พระนาง Demi Moore (เดมี มัวร์) และ Patrick Swayze (แพทริก สเวย์ซี) นั่นเอง
ฉากสำคัญซึ่งอยู่ในความทรงจำ ของผู้ชมทั้งหลายตลอดมา ก็คือช็อตที่ Molly Jensen (มอลลี เจนเซน; แสดงโดยมัวร์) ซึ่งอยู่ในเสื้อเชิ้ตเพียงตัวเดียว นั่งอยู่หน้าเครื่องหมุนวน สำหรับปั้นภาชนะจากดิน มือทั้งสองกำลังสร้างแจกันใบย่อม ขณะเดียวกับที่ Sam Wheat (แซม วีธ; แสดงโดยสเวย์ซี) เดินเข้าไปหามอลลีจากด้านหลัง แล้วสวมกอดเธอโดยนุ่มนวล ตามด้วยพรมจูบอย่างละมุนละไม ฯลฯ
ผมเพิ่งทราบข้อมูลจากที่ค้นหา เมื่อคิดจะเขียนเรื่องนี้ว่าเพลง “Unchained Melody” ซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อนำมาประกอบภาพยนตร์สุดฮิตนี้ ถือกำเนิดครั้งแรกมีเพียงทำนองโดย Alex North (อเล็กซ์ นอร์ธ) และ Bing Crosby (บิงก์ ครอสบี) ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ดังนั้นเมื่อล่วงมาถึงปัจจุบัน เพลงนี้จึงมีอายุถึง ๘๐ ปีแล้ว!! แต่เมื่อแรกนั้น ทั้งสองเขียนขึ้นเปล่าๆ ไม่ได้ตั้งชื่อเพลง นำมาบรรเลง หรือบันทึกเสียงแต่อย่างใด
จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) นอร์ธนำทำนองเดิมนั้นมาให้ Hy Zaret (ไฮ ซาเร็ต) แต่งเนื้อเพลงลงไป เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Unchained” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ต้องขังชายคนหนึ่ง ที่ต้องการอยู่กับภรรยาและลูกภายนอก จึงตัดสินใจเลือกว่าจะแหกคุกออกไปทันที หรือจะรอคอยให้พ้นโทษเสียก่อน เนื้อหาของเพลงจึงกล่าวถึงความผูกพันในรัก และการรอคอยอย่างทรมาน โดยเปรียบกับสายแม่น้ำไหลสู่ทะเล รวมถึงเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า
เพียงครั้งแรกที่เป็น Soundtrack นั้นเอง ก็มีการเสนอชื่อเพลงนี้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปีถัดมาคือ ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) แต่ไม่ได้รางวัลนี้ ต่อมาหลังจากนั้น ยังมีการบันทึกเสียงอีกหลายครั้ง โดยศิลปินอีกหลายคน ทั้งแบบร้องเนื้อเพลงประกอบ และบรรเลงเฉพาะทำนอง นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง “Goodfellas” ซึ่งกำกับโดย Martin Scorsese (มาร์ติน สกอร์เซซี) ที่ออกฉายในปีเดียวกับเรื่อง “Ghost” ก็นำเพลงนี้ไปใช้ประกอบด้วยเช่นกัน
สำหรับตัวเพลงที่บรรเลง ในภาพยนตร์ “Ghost” นั้นผมก็เพิ่งทราบเหมือนกัน ที่ผ่านมาไม่เคยรู้เลยว่า เป็นผลงานของวงดูโอ “The Righteous Brothers” (เดอะ ไรต์เชียส บราเธอร์ส) อันมีสมาชิกประกอบด้วย Bobby Hatfield (บ็อบบี แฮ็ตฟิลด์; ๒๔๘๓-๒๕๔๖) ผู้ขับร้องเพลงนี้ และ Bill Medley (บิลล์เมดเลย์; ๒๔๘๓-ปัจจุบัน) ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘)
ขอเล่าเพิ่มเติมถึงการที่ผมเริ่มรู้จัก ภาพยนตร์และเพลงนี้ แน่นอนว่าผมร่วมสมัยอยู่กับตัวหนัง ซึ่งออกฉายตามโรงเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) แม้ว่าจะมีอายุเพียง ๗ ขวบก็ตามเถอะ แต่ก็โตพอจะรู้ความแล้ว เห็นสื่อทั้งหลายพากันประโคมว่า เป็นหนังรักโรแมนติกสุดประทับใจ แล้วก็ตามด้วยเพลงประกอบนี้ ซึ่งเป็นเพลงรัก “แบบผู้ใหญ่” ของฝรั่งเพลงแรกๆ (นอกจากที่เคยฟังเพลงรุ่นคุณพ่อตามท่าน) ที่ผมเปิดรับฟังด้วยตัวเอง แน่นอนว่าติดหูได้ไม่ยาก เมื่อโตขึ้นกว่าเวลานั้น ก็เริ่มแปลความหมายของเนื้อเพลง ซึ่งก็ไม่เป็นศัพท์ยากอะไรมาก แต่กินใจประทับใจเหลือเกิน
อย่างไรขอฝากเพลงรักอมตะนี้ ไว้ให้ทุกคนรับฟังกัน ผู้ที่เคยฟังจะได้รำลึกถึงอดีต ส่วนเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะได้เพลิดเพลินกับทำนอง และซาบซึ้งกับเนื้อหา อย่างที่ผมรู้สึกมาตลอด ทุกครั้งที่ได้ฟังครับ.
Patrick Sylvester
๐๑ มีนาคม ๒๕๕๙
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in