ทริปหนึ่งวัน (ครึ่งวัน)ของดิฉัน มาจบที่ จุดที่เป็น Highlight ที่สุดของเอธิโอเปีย
“National Museum of Ethiopia”
แล้วพิพิทธภัณฑ์มันจะที่สุดยังไงล่ะ
ตอนแรกดิฉันก็นึกภาพตามไม่ออก ว่าตึกหลังเก่าๆนั่น มันจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ยังไง
แต่พอพี่ไกด์ขายาวของดิฉันพูดออกมาคำเดียวว่า “Lucy”
ดิฉันเองก็เป็นฝ่ายเร่งเขาให้เข้าไปข้างในเร็วๆ
พิพิทธภัณฑ์แห่งชาติเอธิโอเปียแบ่งออกเป็น 4 ชั้น
ชั้น Ground เป็นชั้นที่แสดงวัตถุและของสะสมทางประวัติศาสตร์ เช่นพวกเครื่องทรงของกษัตริย์เอธิโอเปียยุคต่างๆเป็นต้น
ชั้น 1 แสดงงานศิลปะจากศิลปินชาวเอธิโอเปีย เช่นภาพวาด ภาพเขียนสี เน้นไปที่ภาพแสดงประวัติศาสตร์และภาพวิถีชีวิตของชาวเอธิโอเปีย
ชั้น 2 แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆของคนเอธิโอเปียตั้งแต่สมัยชนเผ่า
และชั้นที่ถือว่าเด็ดสุด คือชั้นใต้ดิน ที่แสดงโครงกระดูก และนิทรรศการเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ ตั้งแต่ลิง จนมาเป็นมนุษย์ปัจจุบัน และที่สำคัญ เป็นที่จัดแสดงโครงกระดูกของป้าลูซี่ บรรพบุรุษของมนุษย์ คนที่โด่งดังที่สุดในโลกด้วย
นิทรรศการในชั้นอื่นๆยอมรับว่าดิฉันไม่ค่อยอินเท่าไหร่ และไม่ได้มีความรู้เรื่องอะไรมากเป็นพิเศษ พอสรุปได้เป็นใจความว่า เอธิโอเปียประกอบขึ้นจากกลุ่มชาติพันธ์ุหลายๆชาติพันธุ์รวมๆกัน ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็มีวัฒนธรรมเฉพาะและภาษาของตัวเอง หลักๆคือชาว Aromo มีจำนวนเยอะที่สุด ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเขต Hi-land (บริเวณพื้นที่ทางตะวันตกของเอธิโอเปียที่ยกตัวขึ้นเป็นที่ราบสูง มีอากาศเย็น และทำการเกษตรได้ผลดี) รองลงมาคือชาว Amhara ซึ่งจะอยู่ทางตอนเหนือของเขต Hi-land ตัวอักษรและภาษาราชการของเอธิโอเปียคือ Amharic ซึ่งก็คือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นี้นั่นเอง โดยแต่ละชาติพันธุ์ก็แบ่งเขตการปกครองออกเป็นแคว้นๆของตัวเอง ถึง 9 แคว้น
เมื่อดูชั้นอื่นไปเสร็จดิฉันไม่พูดพร่ำทำเพลง รีบลงไปยังชั้นใต้ดิน เพื่อที่จะพบกับป้าลูซี่ ตัวเป็นๆ (ความจริงคือตายนานแล้ว)
ใครคือ “ป้าลูซี่”
ดิฉันทำความรู้จักป้าลูซี่ครั้งแรก
เมื่อตอน ม. 1 ที่ดิฉันสมัครไปทัศนศึกษากับชมรมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน เพราะแอบชอบพี่แว่น ม.3 ที่เป็นหัวหน้าชมรม
ที่พิพิทธภัณฑ์วิทยาศาสตร์รูปลูกเต๋าคลองห้า ปทุมธานี
และเนื่องจากดิฉันอยากให้พี่เขาสนใจ จึงต้องตั้งอกตั้งใจจดรายงานทุกอย่างในพิพิทธภัณฑ์ให้ดีที่สุด
และหนึ่งในรายงานที่ต้องจดไปทำคะแนน นั่นก็คือเรื่องราวของป้าลูซี่
รูปปั้นเหมือนของป้าลูซี่จัดแสดงที่ชั้นหนึ่งในอาคารพิพิทธพัณฑ์รูปลูกเต๋า
ในฐานะบรรพบุรุษหญิงคนแรกของมนุษยชาติ ซึ่งตอนเด็กๆคุณครูก็บอกดิฉันอย่างนั้น
ในความเป็นจริงแล้วป้าลูซี่นั้นเป็นโครงกระดูกของ
Australopithecus afarensis
สายพันธุ์ต้นตระกูลก่อนที่จะมาเป็นมนุษย์แบบเราๆสักหลายๆล้านปี
(มนุษย์เราเป็น Homo Sapeins)
แต่ถึงป้าจะไม่เชิงเป็นมนุษย์ แต่ป้าก็สำคัญทางการศึกษาวิวัฒนาการเอามากๆ
สำคัญยังไง ก็เพราะว่า Australopithecus afarensis เป็นสายพันธุ์แรกสุด ที่วิวัฒนการ ก้าวหลุดแยกออกมาจากความเป็นลิง( apes เช่นพวก ชิมแปนซี กอริลลา เป็นต้น )
โดยมีลักษณะเฉพาะของมนุษย์ที่กระดูกสะโพกผายออกไปทางด้านข้างและด้านหลัง เพื่อรองรับอวัยวะภายในสำหรับการเดินสองขา
พอเดินสองขาได้ปุ๊ป สายพันธุ์ป้าลูซี่ก็ไม่ใช่ลิงเลย แต่ก็ยังไม่เชิงใช่มนุษย์อย่างเราๆอยู่ดี ต้องผ่านการวิวัฒนาการต่อมาอีกมากๆหลายล้านปี เป็นสายพันธุ์อื่นๆอย่าง Homo Habilis , Homo Electus
แตกย่อยออกเป็นสายพันธุ์ย่อยๆอีกมากมาย ที่มีทั้งอยู่รอดและสูญพันธุ์ไป ขึ้นอยู่กับว่าปรับตัวได้ดีขนาดไหนในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ตามทฤษฏีของดาร์วิน
จนสุดท้ายเหลือเป็นพวกเรา Homo Sapeins
และป้าลูซี่นี่เอง ที่ถือเป็นการค้นพบที่ฮือฮาเอามากๆ เพราะแต่ก่อน
เราค่อนข้างงงทีเดียว ว่าเราวิวัฒนาการออกมาจากลิงได้ยังไง
ถึงแม้จะมีทฤษฎีแต่ก็ไม่มีหลักที่ยืนยันชัดโป้ง
จนมาเจอป้าลูซี่ ในผืนแผ่นดินของเอธิโอเปีย
เท่านั้นแหละ ก็เหมือนจิ๊กซอว์แห่งสาแหรกต้นตระกูลมนุษย์ได้รับการเติมเต็ม
คำว่า Australopithecus Afarensis เป็นภาษาละติน หากจะแยกความหมาย ก็คือ Australopithecus แปลว่า South Ape(ลิงทางใต้) และ Afarensis แปลว่า from Afar
(จากเขตอะฟาร์) รวมๆจึงแปลว่า ลิงที่พบทางใต้จากเขตอะฟาร์
ซึ่ง Afar ในที่นี้ คือ แคว้น Afar แคว้นหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปีย ที่ซึ่งมีภูเขาไฟ ทะเลทรายอันแห้งแล้ง ทุรกันดาน และเขตนรก จุดหมายที่เรากำลังจะเดินทางไปหาในอีกสองวัน
เอาจริงๆแล้ว นอกจากป้าลูซี่ แคว้น Afar ยังพบ Australopithecus afarensis คนอื่นๆมากมาย ทั้งเด็ก. ทั้งผู้ชาย แต่พอป้าลูซึ่ดังไปแล้ว โครงกระดูกอื่นๆก็เลยมีชื่อเสียงน้อยกว่า
นอกจาก Australopithecus afarensis ดินแดนนรกแคว้น Afar แถบนั้น ยังพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคบรรพกาลอีกหลายสายพันธุ์กระจายให้ทั่ว Ethiopia
จึงมีทฤษฏีที่ว่า เขต Horn of Africa(บริเวณแหลมๆทางตะวันออกของแผนที่ทวีปแอฟริกาซึ่งรวมเอธิโอเปียด้วย) เป็นจุดต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มนุษย์คนแรกเกิดจากที่นั่น ก่อนจะค่อยๆกระจายไปทั้วทวีปแอฟริกา กระจายไปคาบสมุทธอาหรับ แตกสายกระจายไปทั่วโลก ซึ่งระหว่างทางก็ได้มีวิวัฒนาการเพิ่มๆขึ้นๆ มาเรื่อยๆ จนเป็นเรามาจนถึงทุกวันนี้
ต้องขอยอมรับเลยว่า นิทรรศการวิวัฒนาการมนุษย์ในชั้นใต้ดิน ทำได้ดี และเป็นอะไรที่ว้าวเกินคำบรรยาย
ต่อให้เด็กไทยสักคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้ หลุดเข้ามาที่นั่น คงตื่นตาตื่นใจ ไปกับแผนผัง และโครงกระดูก บรรพบุรุษยุคต่างๆ ไม่มากก็น้อย
ดิฉันเห็นเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ชาวเอธิโอเปียที่ยืนชมนิทรรศการร่วมกับดิฉัน ถกกันจนน้ำลายแตกฝอย ถึงหัวกระโหลกแต่ละหัว ลำดับก่อนหลังของมนุษย์แต่ละยุค อย่างฉะฉาน ถึงแม้มันจะเป็นภาษา Amharic แต่ก็มีคำหลุดที่ดิฉันพอจะเข้าใจว่าเขากำลังพูดกันเรื่องอะไรอยู่ อย่างเช่น “Australopithecus afarensis” “Lucy” “Homo Electus” “Neanderthal” “Hominide” เป็นต้น
ดิฉันค่อนข้างทึ่งที่เห็นเด็กตัวเล็กๆ สัก 8-9 ขวบพูดคำพวกนี้กับเพื่อนอย่างคล่องแคล่ว เป็นไปได้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์คงบูมเอามากๆในประเทศนี้ และป้าลูซี่ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของพวกเขา (เช่นเดียวกับ มาราธอน และกาแฟ)
ที่กลางห้อง ดิฉันยืนมอง ป้าลูซี่ตัวจริง นอนสงบเงียบอยู่ในตู้แก้วที่มีไฟส่องสว่างอย่างสวยงาม ด้วยว่าป้าตายจากโลกนี้ไปหลายล้านปีแล้ว ดวงวิญญาณจริงๆของป้าอาจไปเกิดใหม่แล้วแสนกว่าชาติ
โครงกระดูกไซส์มินิ ไม่ได้โตเต็มที่ บอกว่าป้าลูซี่น่าจะเป็นเพียงเด็กสาวคนหนึ่ง แต่โครงกระดูกขากรรไกรล่างของป้าแสดงให้เห็นว่าฟันกรามซี่ในสุดของป้าขึ้นแล้ว (หรือฟันคุดของพวกเรานั้นแหละค่ะ ปกติฟันซี่นี้จะขึ้นช้าสุด ตอนเราอายุ 18 ซึงมนุษย์ยุคก่อนขากรรไกรใหญ่กว่าเราฟันซี่นี้อาจจะขึ้นก่อนเราหลายปี ) จึงคิดว่าป้าน่าจะเป็นเด็ก แต่ก็อาจจะไม่เด็กขนาดนั้น น่าจะราวๆสัก 13-14 ปี
นึกภาพ จินตนาการว่าป้าเป็น Australopithecus afarensis วัยว้าวุ่นคนนึง ที่แก่นทะโมนชอบปีนป่ายต้นไม้ แต่ไม่ค่อยระวังตัว จับอะไรพลาดสักอย่าง (หรือโดนเพื่อนยัน) แล้วตกจากต้นไม้สูงๆ ลงมาตาย เพราะโครงกระดูกข้อมือ แสดงลักษณะของการเอามือยันพื้นตอนตกลงมาจากที่สูง (อันนี้อ่านตามข้อมูลในพิพิทธภัณฑ์ไม่ได้ดูกระดูกเอง)
ดิฉันยืนจ้องดูป้าอยู่สักพัก พลางคิดว่าชีวิตในสมัยนั้นจะเป็นยังไง ที่ภูมิภาค Afar ปัจจุบันนี้ ที่แห้งแล้งนรกแตก สักหลายล้านปีก่อน อาจจะเป็นป่าที่เขียวชะอุ่ม อุดมสมบูรณ์เอามากๆ มีต้นไม้สูงๆ ขึ้นเต็ม พอให้ป้าลูซี่ปีนขึ้นไปได้
แล้วป้าลูซี่ปีนขึ้นไปทำไม ไปหาอาหารจากผลที่อยู่บนยอด? หรือปีนขึ้นไปหนีสัตว์นักล่า อย่างเสือเขี้ยวดาบ?(สมัยนั้นมีรึเปล่านะ) หรือปีนประชดเพราะงอนคนรัก ที่แอบไปมีอะไรกับป้าตัวอื่น?(นี่ก็เว่อร์ไป)
แล้วอะไรที่ผลักดันให้ Australopithecus afarensis แยกออกมาจากลิงที่ชอบใช้ชีวิตบนต้นไม้
การลงมาเดินเท้าสองข้าง แสดงว่า เขต Afar นั้นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทางทธรณีวิทยา จากที่ที่อุดมสมบูรณ์ค่อยๆกลายเป็นความแห้งแล้งอย่างทุกวันนี้
เมื่อความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลง ต้นไม้ก็เตี้ยลง และขึ้นห่างกันมากขึ้น การปีนป่ายแบบลิงเลยไม่จำเป็นอีกต่อไป การลงมาเดินเท้าเพื่อดินทางระหว่างต้นที่ห่างไกลกันจึงจำเป็นมากกว่า ยิ่งแห้งแล้งมากขึ้น มนุษย์ก็เดินมากขึ้น พออาหารหายากขึ้น จึงต้องพัฒนาสมองเพื่อเอาตัวรอดจากสัตว์นักล่า ที่มีโอกาสฆ่าเราได้ง่ายขึ้นกลางทุ่งกว้าง
เมื่อสมองพัฒนามากขึ้น ก็เริ่มจะมีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องไม้ เอาไว้ล่าสัตว์หาอาหารกินกันมากขึ้น เนื่องจากผลไม้จากต้นไม้ลดลง(ก็ต้นไม้ลดลง) พอได้โปรตีนที่คุณภาพดีขึ้นจากเนื้อสัตว์ พัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มือไม้ที่เคยห้อยโหนต้นไม้ ก็เปลี่ยนมาหยิบจับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องใช้ทักษะการจับที่ละเอียดอ่อน
นั่นเองมนุษย์สายพันธุ์หลังๆทั้ง Homo Electus เอย Homo อื่นๆรวมทั้งพวกเรา ต่างเกิดขึ้นจากความแห้งแล้ง ความยากลำบาก ในเขต Afar แห่งนั้น จนวันนึงที่ความแห้งแล้งมันสาหัสเกินกว่าที่จะมีใครอยู่อย่างสุขสบาย บีบให้พวกเขาออกเดินเท้าไปทั่วทวีปแอฟริกา แล้วกระจายออกไปทั่วโลก
ดิฉันอดที่จะเอาเรื่องที่ดิฉันมโน ไปเทียบกับเรื่องในพระคำภีร์ไบเบิ้ลไม่ได้ ถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ถ้าหากเขต Afar ครั้งหนึ่งเคยเป็นสวนอีเดน ที่มีต้นไม้ใหญ่ๆสูงๆสวยงามผลเยอะๆขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ต่างๆมากมายรวมทั้งสัตว์นักล่า ป้าลูซี่ก็เป็นแค่มนุษย์คนนึงที่อยากปีนขึ้นไปกินผลแห่งการรู้แจ้งบนยอดไม้ พอพระเจ้าท่านทราบ ก็ทรงพิโรธสาปดินแดนนี้ให้แห้งแล้งยากลำบาก โดยการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ให้ยกแผ่นทวีปรอบๆขึ้นเป็นภูเขาสูง (เขต Hi-landในเอธิโอเปียปัจจุบัน) กักฝนไม่ให้ไปตกในดินแดน Afar
และผลักภูเขาไฟที่ทรงพลังและน่ากลัวให้ผุดขึ้น เพลิงแห่งความตายคร่าทุกชีวิตที่หลงเหลืออยู่ เสมือนการยกสวนอีเดนออกไปจากโลกมนุษย์ ดินแดนเริ่มแห้งแล้ง ไร้ชีวิต ความลำบากและความทุกข์ยากมาเยือนเป็นการลงโทษมนุษย์ มนุษย์เพศชายถูกสาปให้ทำงานหนักด้วยการเดินสองเท้ามากขึ้น เดินไกลขึ้นเพื่อหาอาหาร มนุษย์เพศหญิงถูกสาปให้ทรมานจากการกำเนิดบุตร เนื่องจากกระดูกเชิงกรานที่วิวัฒน์เพื่อการเดินสองเท้า ทำให้ช่องสำหรับหัวทารกแคบกว่าที่เคยเป็นมา สวนทางกับหัวทารกที่มีวิวัฒนาการสมองที่ใหญ่ขึ้น การกำเนิดทารกมนุษย์จึงเป็นความทรมานอย่างแสนสาหัสกว่าสัตว์เผ่าพันธุ์ใดบนโลกใบนี้
อย่างนั้นเรื่อยมาจนวันนึงที่พวกเขาทนความทุกข์ทรมานจากสวนอีเดนเดิมที่พระเจ้าสาปไม่ไหว จึงออกเดินเท้าจากดินแดนต้องคำสาป แล้วกระจายออกไปทั่วโลก
ดิฉันยืนจ้องป้าอยู่อย่างนั้นเนิ่นนาน
ทั้งหมดนั่นก็คือตรรกะเชื่อมโยงในหัวของดิฉันเอง
ไม่เจตนาที่จะลบหลู่ความเชื่อของศาสนาใด
ฉันแค่คิดเล่นๆต่อไป
ไม่แน่ว่า โครงกระดูกของ Australopithecus afarensis ที่อยู่ตรงหน้าดิฉันนี่
อาจจะมีชื่ออื่นที่เป็นที่รู้จักมากว่า “Lucy”ก็เป็นได้
e
v
e
.....
อ่านบทก่อนหน้า บทที่ 4 <Mt. Entoto>
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in