เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการฝึกงาน (Internship Diary)muksaiii
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: เพราะหนังสือคือบันทึกทางประวัติศาสตร์
  •           ตอนแรกฉันชั่งใจอยู่นานเลยค่ะว่าจะเขียนบทความนี้ดีไหม แต่ก็คิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ได้จากการฝึกงานในครั้งนี้เหมือนกัน ฉันจึงอยากจะถ่ายทอดออกมาในมุมมองของฉันค่ะ

              หากหลาย ๆ คนเป็นนักอ่านหรือนักเขียนก็อาจจะเคยเห็นประเด็นนี้ผ่านโซเชียลมาบ้าง นั่นก็คือประเด็นนวนิยายหรือวรรณกรรมทุกชนิดที่มีความเป็น 'จูนิเบียว' (Chuunibyou) หรือในโซเชียลเราก็มักจะเห็นคนเรียกกันสั้น ๆ ว่า 'เบียว' คนไทยหลายคนอาจจะเข้าใจว่าคำนี้มาจากคำว่า 'บิดเบี้ยว' ซึ่งฉันคิดว่าความหมายมันก็คลับคล้ายคลับคลากันอยู่นะ แต่แท้จริงแล้วคำว่า 'จูนิเบียว' เป็นคำภาษาญี่ปุ่นซึ่งหมายถึง 'โรคเด็ก ม.2' หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Middle School 2nd Year Syndrome' ซึ่งเป็นอาการของเด็กที่ทำเหมือนว่าตัวเองโตแล้ว มีความเป็นผู้ใหญ่ เชื่อว่าตัวเองวิเศษและมีอำนาจกว่าคนอื่น โดยอาการนี้จะแบ่งเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ

              1. DQN (Delinquent) หมายถึงความเหลวไหล การทำความผิด เป็นประเภทที่คิดว่าตัวเองเป็นวายร้ายหรือเป็นมาเฟีย หากเปรียบเทียบกับตัวละครในวรรณกรรมหรือคนในชีวิตจริงอาการนี้ก็จะเป็นประเภท Bad Boy / Bad Guy ร้าย ๆ เลว ๆ
              2. Subcultural เป็นพวกที่ชอบทำให้ตัวเองโดดเด่น และน่าสนใจกว่าคนอื่น คิดว่าตัวเองเป็นคนคูล ๆ เจ๋ง ๆ หรือชอบเรียกร้องความสนใจ
              3. Evil Eye หากแปลตรงตัวก็แปลว่า ดวงตาปีศาจ แต่ในที่นี้หมายถึงการเชื่อว่าตัวเองมีพลังวิเศษ มีเวทมนตร์ มีพลังเหนือธรรมชาติ ออกแนวเพ้อฝัน

              ซึ่งอาการจูนิเบียวเหล่านี้เรามักจะเห็นในตัวละครในนวนิยายหรือวรรณกรรมต่าง ๆ แล้วก็มักจะมีการแสดงความคิดเห็นกันว่า 'ตัวละครนี้เบียวว่ะ' ซึ่งฉันสามารถสรุปในมุมมองของตัวเองได้ว่า 'มันดูมีความเกินจริง' 

    แล้วมันเกี่ยวข้องกับเด็ก ม.2 อย่างไรล่ะ?
              ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ก็จะเป็นในเชิงวิทยาศาสตร์ จะพูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นเรื่องของฮอร์โมนวัยรุ่น ช่วงวัยประมาณ 13-15 ปี เรามักจะเห็นว่าช่วงวัยนี้มักจะทำอะไรโดยไม่ยั้งคิดก่อน พ่อแม่เตือนอะไรก็มักจะไม่ฟัง คิดว่าตัวเองโตแล้วเสมอ มีอาการดื้อรั้น ซึ่งจะมีอาการคล้ายจูนิเบียวตามที่อธิบายข้างต้นเลยล่ะค่ะ ถ้าเรียกแบบไทย ๆ ก็คือ 'พวกวัยรุ่นเลือดร้อน' แต่เมื่อเมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะคิดได้เองค่ะ ว่าสิ่งที่ทำตอนเป็นวัยรุ่น ม.ต้น นั้นช่างไม่สมเห็นสมผลเอาเสียเลย

    แล้วความเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมล่ะ?
              นี่ล่ะค่ะเป็นประเด็นสำคัญที่ฉันจะพูดต่อไปนี้ ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่

    ประเด็นแรก
              ฉันจะพูดในมุมมองของการเป็นทั้งนักอ่านและมุมมองของผู้ที่เรียนการสร้างสรรค์วรรณกรรมนะคะ ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่หัวหน้าที่ฝึกงาน ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการ มีประโยคหนึ่งซึ่งเขาได้พูดไว้และฉันคิดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ 'การทำหนังสือนั้นเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้น' บางครั้งเราอาจจะสงสัยว่า 'นักเขียนเขียนเรื่องนั้นลงไปได้อย่างไร ไม่ได้กรั่นกรองออกมาก่อนหรือ?' หรือว่า 'เมื่อก่อนฉันอ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไรนะ' นี่แหละค่ะฉันอยากจะอธิบายเพราะว่าวรรณกรรมหรือนวนิยายบางเรื่องได้เขียนขึ้นเมื่อนานมาแล้ว แล้วเมื่อเรากลับมาอ่านอีกทีเราจึงเกิดความสงสัยว่าอ่านได้อย่างไร เขียนออกมาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่านักเขียนไม่ได้กรั่นกรองเรื่องก่อนวางขายเป็นหนังสือนะคะ เพียงแต่ว่ามันเป็นเรื่องของ 'วิวัฒนาการของการยอมรับเรื่องบางเรื่องในแต่ละยุคแต่ละสมัย' ซึ่งมีความแตกต่างกันไป เช่นเรื่องที่เราอ่านตอนเด็กมันเคยสนุกมากในความคิดเรา แต่เมื่อเราโตขึ้นแล้วกลับไปอ่านอีกทีกลับรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เห็นจะสนุกเลยฉันอ่านลงไปได้อย่างไรนะ นั่นเป็นเพราะว่าสมองของเราก็มีวิวัฒนาการในการยอมรับเรื่องนั้นเปลี่ยนไปเช่นกัน หรือรู้จักคิดวิเคราะห์กับเรื่องราวที่เราอ่านได้มากขึ้นนั่นเอง ส่วนตัวของนักเขียนเองก็มักจะเขียนเรื่องราวที่ถูกพูดถึงมากในยุคนั้น หรือเรื่องราวที่เป็นที่นิยมของยุคนั้น ๆ อย่างเช่นเรื่องวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในยุคสมัยก่อนแต่ไม่ได้รับการยอมรับในยุคสมัยนี้ หรือกลุ่มเพศทางเลือกที่มักจะไม่ได้รับการพูดถึงในยุคสมัยก่อน แต่ยุคปัจจุบันมีการพูดถึงมากและเริ่มได้รับการยอมรับในสังคม ไม่ใช่แค่นักอ่านหรอกค่ะที่รู้สึกแปลกเวลากลับไปอ่านหนังสือเล่มเก่า ๆ แต่นักเขียนเองก็เป็นเช่นกัน นี่แหละค่ะความเป็นจูนิเบียวที่สะท้อนผ่านวรรณกรรม แต่ยังไงอดีตก็คืออดีตค่ะเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขมันได้ แต่เราสามารถนำอดีตมาเป็นบทเรียนหรือเป็นกรณีศึกษาในการพัฒนางานเขียนในอนาคตต่อไปได้เสมอค่ะ เป็นกำลังใจให้นักเขียนทุกคนนะคะ และอยากให้คุณนักอ่านทุกคนเข้าใจในประเด็นนี้ด้วยเช่นกันค่ะ

    ประเด็นที่สอง
              อันนี้ฉันอยากจะพูดถึงเรื่อง 'รสนิยมความชอบ' เป็นเรื่องปกติค่ะที่คนเราจะชอบอะไรไม่เหมือนกัน หรือว่ามีความชอบแตกต่างไปเมื่อเราโตขึ้น ฉันก็เป็นคนหนึ่งค่ะที่มีรสนิยมความชอบเปลี่ยน ถ้าพูดถึงเรื่องนวนิยายหรือวรรณกรรมเมื่อก่อนนี้ฉันก็ชอบอ่านเรื่องความรักสดใสของวัยรุ่นมากเลยล่ะค่ะ เพราะว่ามันสนุกไม่ต้องคิดอะไรเยอะ มีฉากกุ๊กกิ๊กน่ารักสไตล์วัยรุ่น พออ่านมาก ๆ มันทำให้ฉันอยากมีความรักแบบนั้นบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปฉันโตขึ้นได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบจริง ๆ มันทำให้ฉันรู้ว่าชีวิตจริงไม่ได้ง่ายแบบในนิยายเลย เพราะมันทั้งเครียดทั้งกดดัน มันไม่ได้เป็นแบบที่เราจินตนาการไว้ตอนเด็ก ๆ เลย และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนของฉันค่ะ ฉันรู้สึกว่าตัวเองชอบวรรณกรรมแนวรักหวานแหววนั้นลดลง แต่ก็ยังอ่านได้นะคะแค่พอคลายเครียด แต่ฉันกลับรู้สึกชอบวรรณกรรมที่แฝงแง่คิด มีความเป็นนามธรรม ให้ความรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจ หรืออาจจะเป็นแนว Fantasy ที่แผงความคิดแบบ Realistic ไว้ ประมาณว่าฉันต้องได้คิดวิเคราะห์อะไรบ้างหากได้อ่านเรื่องนี้ ที่ฉันอยากจะบอกก็คืออย่าดูถูกความชอบสมัยเด็กเลยค่ะ เก็บมันไว้เป็นความประทับใจในตอนเด็กและนำมาเป็นบทเรียนในอนาคตจะดีกว่าค่ะ และเราก็ไม่ควรดูถูกความชอบของผู้อื่นเช่นกันค่ะ เพราะเรื่องที่เราไม่ชอบอาจเป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับผู้อื่นมากมายก็ได้ค่ะ

              ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การฝึกงานที่ฉันอยากจะแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่าน หวังว่าทุกคนจะได้อะไรดี ๆ และเป็นประโยชน์จากการอ่านบทความของฉันนะคะ :)

    อ้างอิง
    https://www.wecomics.in.th/blogs/2125 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in