เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการฝึกงาน (Internship Diary)muksaiii
สัปดาห์ที่ 1: จะทำหนังสือ ก็ต้องอ่านหนังสือ
  •           การฝึกงานของฉัน ณ กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์บันลือสาส์น เริ่มต้นวันแรกเมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

    วันแรกของการฝึกงาน
              ฉันไปถึงที่บริษัทประมาณ 8.30 น.  เพราะเวลาเริ่มงานคือ 9.00 น. ตอนแรกฉันคิดว่าทำงานกับสำนักพิมพ์ต้องมีความเข้มงวดมากแน่ ๆ ประมาณว่ามีแต่คนดุ ๆ ครํ่าเคร่งกับการทำงาน แต่ความเป็นจริงแล้วพี่ ๆ ที่ทำงานในกองทุกคนดูใจดีมาก แต่ทุกคนครํ่าเคร่งกับการทำงานจริง ๆ พี่เลี้ยงที่คอยดูแลฉันกับเพื่อนอีกคนที่ไปฝึกด้วยกันชื่อว่า 'พี่ออมชอม' ส่วนหัวหน้าชื่อว่า 'พี่อุ้ม' เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์บันลือสาส์น แล้วอีกคนที่ฉันรู้จักชื่อ 'พี่กุ้ง' ทำหน้าที่พิสูจน์อักษร ส่วนคนอื่น ๆ ฉันยังจำชื่อไม่ได้เพราะยังไม่ค่อยได้พูดคุยกัน พี่ ๆ ทุกคนในกองค่อนข้างยุ่งกับงานมาก พี่ออมจึงให้ฉันอ่านหนังสือที่กองบรรณาธิการนี้เป็นผู้ดูแล วันแรกในช่วงเช้าก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรมาก มีเพียงแค่งานที่พี่ออมให้ช่วยคือ หาร้านหนังสือที่น่าจะมีนิตยสารขายหัวเราะฉบับเก่า ๆ ขาย ซึ่งถือว่าเป็นงานแรกของการฝึกงาน 

              งานนี้ทำให้ฉันได้รู้ประวัติคร่าว ๆ ของนิตยสารขายหัวเราะว่ามีมาอย่างยาวนานมากตั้งแต่ตอนที่ฉันยังไม่ลืมตาดูโลก ซึ่งเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยแนวคิดของคุณ 'วิธิต อุตสาหจิต' ทายาทของบริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ที่ต้องการทำการ์ตูนแนวสนุกเบาสมองแบบเป็นแก๊กเรียงลงมา 3 ช่องจบ จึงเกิดเป็นการ์ตูนขายหัวเราะ โดยฉบับแรก ๆ จะมีขนาดประมาณ A4 ขายเล่มละ 5 บาท ซึ่งนอกจากจะมีการ์ตูนสนุก ๆ แล้วก็มีเกร็ดความรู้ทั่วไป หรือเรื่องราวแปลก ๆ จากทั่วโลก จริง ๆ แล้วฉันก็เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าขายหัวเราะเป็นหนังสือการ์ตูน แต่เมื่อมาเรียนวิชาวารสารสำหรับเด็ก เอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก จึงได้รู้ว่าขายหัวเราะนั้นเป็นนิตยสาร เพียงแต่มีวิธีการนำเสนอแบบแก๊กการ์ตูน เพื่อที่จะให้ความสนุกสนานแก่ผู้อ่าน 

              ฉันทำงานนี้เสร็จในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายนั้นก็ยังไม่มีอะไรทำอีกเช่นเคย ฉันจึงใช้เวลาว่างนี้อ่านหนังสือต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์เพื่อทำความเข้าใจว่า สำนักพิมพ์นี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร ซึ่งเราจะรู้ได้ก็ต้องศึกษาจากงานที่เขาทำ ในช่วงเย็นฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้างานซึ่งก็คือ 'พี่อุ้ม' พี่อุ้มได้พูดคุยให้ฟังเกี่ยวกับงานที่ทำ โดยกฎระเบียบของที่นี่ไม่ค่อยเข้มงวดมาก เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น (แต่ฉันมักจะเห็นพี่อุ้มและพี่ออมเข้างานเช้ามาก และมักจะเลิกงานเย็นกว่าคนอื่นตลอด พี่สองคนนี้ทำงานอึดมากจริง ๆ) เที่ยงตรงก็พักกินข้าว กินเสร็จก็ขึ้นมาทำงานต่อ ไม่มีแสกนนิ้วบันทึกเวลาเข้าออกงาน (อันนี้ไม่แน่ใจ แต่เห็นทุกคนเหมือนไม่ได้บันทึกเวลาเข้าออกงาน) เพียงแต่ห้ามเอาอาหารเข้ามากินในกอง เพราะที่กองนั้นมีของเยอะมาก ๆ และอาจจะมีหนูจึงไม่ควรเอาอาหารเข้ามา ถึงแม้ว่าเรื่องกฎจะไม่เคร่ง แต่เรื่องงานอาจไม่แน่ เพราะทุกคนดูยุ่งกับงานตลอดเลย 

              ส่วนเรื่องการผลิตหนังสือนั้นกองบรรณาธิการนี้ทำงานหลายอย่างมาก เท่าที่ฉันทราบก็มีนิตยสารขายหัวเราะ มหาสนุก สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่ ไอ้ตัวเล็กปังปอนด์ และหนูหิ่นอินเตอร์ นอกจากนี้ยังมีหนังสือในเครือสำนักพิมพ์บันลือสาส์น หนังสือของสำนักพิมพ์พาสเทลซึ่งอยู่ในเครือของบันลือเช่นกัน มีเยอะมาก ๆ และฉันก็กำลังพยายามอ่านให้ครบทุกสำนักพิมพ์ ข้อดีของการทำงานสำนักพ์ก็คือเราจะได้อ่านหนังสือฟรี ซึ่งมีให้อ่านเยอะมาก ๆ ฉันชอบมาก ๆ เลยล่ะ ถึงตอนอ่านจะง่วงไปบ้างก็ตาม

              งานชิ้นแรกที่พี่อุ้มให้ฉันทำเป็นการบ้าน (ไม่นับงานช่วย) คือให้เลือกหนังสือของสำนักพิมพ์บันลือสาส์น หรือสำนักพิมพ์พาสเทลที่สนใจมา 1 เล่ม และคิด Content เกี่ยวกับการโปรโมทหนังสือเล่มนั้น ซึ่งการที่เราจะคิด Content ได้เราก็ต้องทำความเข้าใจหนังสือเล่มนั้นก่อน และหนังสือที่ฉันเลือกมาคือ 'เหตุเกิดจากความเหงา' ของ 'นพ. ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์' ซึ่งพูดถึงความเหงาในเชิงวิทยาศาสตร์ ฉันว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะมันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นเวลาที่เรารู้สึกเหงาขึ้นมา

    ตัวอย่างหนังสือ 'เหตุเกิดจากความเหงา' เขียนโดย 'นพ. ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์'
              
              ซึ่งการฝึกงานวันแรกของฉันก็มีเพียงเท่านี้ ดูเรียบง่าย แต่ไม่ว่างเปล่า อย่างน้อยก็มีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ได้ทำ

  • วันที่ 2 ของการฝึกงาน (9 มิ.ย. 63)
              ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในที่ฝึกงานฉันมักจะนั่งอ่านหนังสือ แต่ก็ยังพอมีอะไรให้ทำบ้าง วันนี้พี่อุ้มให้ฉันลองคิด Content ที่อยากให้มีในนิตยสารขายหัวเราะ โดยให้โจทย์มา (แอบกระซิบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอล) ฉันไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเป็นความลับของบริษัท แต่ถ้าทุกคนอยากรู้ก็ฝากติดตามนิตยสารขายหัวเราะด้วยนะคะ ^_^ 

              แต่งานชิ้นนี้ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มอีกค่ะ นอกจากจะให้คิด Content แบบภาพรวม ๆ ในเล่มแล้ว งานอีกชิ้นของฉันก็คือให้คิดเรื่องตลก ซึ่งเป็น Content แยกที่อยู่ภายในเล่มอีกที และเป็น Content ที่สำคัญด้วย (บอกไม่ได้อีกตามเคย) แต่งานที่ฉันคิดอาจจะไม่ได้นำไปใช้จริงหรอกค่ะ เพราะเป็นเพียงแค่บททดสอบ ส่วนงานจริงน่ะน่าจะทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วงานวันนี้ก็มีเพียงเท่านี้ค่ะ เพราะฉันก็นั่งคิดเรื่องตลกจนเลิกงานเลย555555

    วันที่ 3 ของการฝึกงาน (10 มิ.ย. 63)
              มันอาจจะฟังดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ฉันก็ยังอยากจะบอกว่า ฉันยังคงนั่งอ่านหนังสืออีกตามเคยในตลอดช่วงเช้าของวัน แม้ดูเหมือนจะน่าเบื่อแต่ก็มีข้อดี เพราะฉันรู้สึกเหมือนได้ฝึกสกิลการอ่านของตัวเอง และรู้สึกเหมือนว่าตัวเองอ่านหนังสือได้ไวขึ้น ปกติเป็นคนที่อ่านหนังสือช้ามาก บางทีอ่านได้วันละเล่มเอง แต่พอมาฝึกงานฉันอ่านหนังสือจบไปวันละประมาณ 3 เล่มได้ อย่างน้อยก็เหมือนได้พัฒนาทักษะบางอย่าง

              ส่วนช่วงบ่ายของวันนี้พี่ออมมีงานให้ช่วยทำแล้ว ฉันรู้สึกดีมากเวลาถูกเรียกใช้งาน เพราะมันดีกว่านั่งว่างเปล่าอยู่เฉย ๆ จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามก็ยังอยากให้เรียกใช้งาน แต่ก็ไม่ค่อยมีงานเท่าไรเพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานขีด ๆ เขียน ๆ ซึ่งต้องใช้ทักษะและความชำนาญ เพราะงานพวกนี้ล้วนเป็นงานที่ต้องขายจริง ๆ พวกพี่ในกองจึงดูยุ่งกันตลอดเวลา งานที่ฉันได้ทำจึงมักเป็นการหาข้อมูลเพื่อมา Support พี่ ๆ ในกองอีกที แต่ก็ไม่ใช่งานที่หนักหนาอะไร

              แต่งานนี้ล่ะของจริง พี่อุ้มให้ฉันและเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันอีก 2 คน (อีกคนชื่อ 'นุ่น' มาจากเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กด้วยกัน ดีใจมากมีเพื่อนไปฝึกงานด้วย ไม่เหงาดี ส่วนอีกคนชื่อ 'ไอซ์' เรียนวรรณคดีไทยอยู่ ม.เกษตร เข้ากันดีจริง ๆ วรรณกรรมกับวรรณคดี) คิด Content ในการโปรโมตนิตยสารขายหัวเราะฉบับ...(ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ด)... บอกไม่ได้อีกตามเคย555 (แต่แอบกระซิบว่าเกี่ยวกับสัตว์) เพราะอยากให้ทุกคนติดตามผลงานของสำนักพิมพ์จริง ๆ ค่ะ แต่วันนี้ฉันยังคิดไม่ออกหรอกค่ะ คงต้องนอนพักเอาแรงก่อน วันนี้จึงจบลงเพียงเท่านี้ ZZZ

    วันที่ 4 ของการฝึกงาน (11 มิ.ย. 63)
              หลังจากที่นอนพักเอาแรงเมื่อคืนที่ผ่านมาไปแล้วฉันก็พอจะคิดงานออกบ้าง การที่เราจะขายของนั้นเราก็ต้องรู้ว่าเราจะขายอะไร และตลาดต้องการอะไร การขายหนังสือก็เช่นกันค่ะ ดังนั้นการที่ฉันจะคิดแผนโปรโมตได้ฉันก็ต้องรู้ว่าฉันจะขายอะไรให้ผู้อ่าน และผู้อ่านอยากได้อะไร ฉันจึงเข้าไปดูการโปรโมตต่าง ๆ ที่ผ่านมาของสำนักพิมพ์ว่าเขาโปรโมตกันยังไง และก็ค้นหาเกี่ยวกับ Content ของเรื่องนั้น ๆ ว่าตอนนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วฉันก็เห็นคน ๆ หนึ่งที่ฉันกำลังติดตามแชร์เรื่องที่ฉันค้นหาผ่านไทม์ไลน์
    เฟซบุ๊กพอดี ฉันจึงคิดไอเดียออก 

              นอกจากนี้ก็ค้นหาว่าในยุคสมัยนี้เขาโปรโมตสินค้าอย่างไรกัน แล้วฉันจึงนำมาปรับใช้ค่ะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าไอเดียที่ฉันจะนำเสนอนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงได้ไหม ดังนั้นวันนี้ฉันจึงอยากมาแนะนำวิธีการโปรโมตสินค้าที่มักใช้กันในปัจจุบันนะคะ

              1. เนื้อหา Content ต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร สินค้าของเราคืออะไร และเราต้องการโปรโมตสินค้าออกมาในรูปแบบไหน ถ้าเรารู้สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เราไปได้ถูกทางค่ะ
              2. ต้องโปรโมตสินค้าอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อให้ลูกค้าเห็นสินค้าบ่อย ๆ อย่างที่เราเห็นสินค้าที่โฆษณาในโทรทัศน์นั้นมักจะโฆษณาซํ้าแล้วซํ้าอีก นั่นก็เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าบ่อย ๆ นั่นเองค่ะ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าได้
              3. เล่าเนื้อหาผ่านทางรูปภาพ หรือ Infographic แทนเนื้อความที่ยืดยาว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่อยากอ่านข้อมูลที่ยาวเหยียด แต่อยากอ่านอะไรสั้น ๆ กระชับ และรู้เรื่องได้ทันที
              4. โปรโมตสินค้าด้วยกิจกรรมแจกของรางวัล เช่น การกดไลก์ กดแชร์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าใหม่ได้เห็นสินค้า เพราะคนไทยชอบของแจก ของฟรี การแจกของรางวัลจึงเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและเรียกลูกค้าได้ดีมาก ๆ เลยค่ะ

              การฝึกงานในสัปดาห์แรกก็มีเพียงเท่านี้ แม้จะมีเวลาว่างมาก ๆ จนอ่านหนังสือได้หลายเล่ม แต่ก็มีงานที่ทดสอบศักยภาพ แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ฉันก็จะพยายามทำให้ได้ค่ะ ^_^

    อ้างอิง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Punpunch Natcha (@pphpunt)
สู้สู้นะคะ?
muksaiii (@muksaiii)
@pphpunt ขอบคุณนะคะ ฝากติดตามบทความต่อ ๆ ไปด้วยนะคะ จะพยายามแบ่งปันเรื่องราวที่มีประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านค่ะ