***คำเตือน***
รีวิวนี้ไม่กล่าวถึงเนื้อเรื่อง แต่กล่าวถึงแนวคิดและปัญหาของหนังสือ ซึ่งอาจนับเป็นการสปอยล์ หากไม่ต้องการโดนสปอยล์ในทุกแง่มุม ขอให้ยุติการอ่านเมื่อถึงรูปภาพนะคะ
หนังสือ: สิงโตนอกคอก
ผู้เขียน: จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
หนังสือชนะเลิศซีไรต์ปีล่าสุด จับพลัดจับผลูอ่านตามที่น้องแนะนำ ทั้งที่ไม่ได้อ่านซีไรต์มาหลายปีแล้ว
หนังสือเป็นรวมเรื่องสั้น 9 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นแนวสะท้อนปัญหา ทั้งด้านสังคม ศาสนา การเมือง ศีลธรรม โดยทุกเรื่องมีฉากเป็นโลกแฟนตาซี ภาษาของผู้เขียนใช้ได้ทีเดียว ไม่สั้นห้วน ไม่เนิบนาบยืดยาว มีประโยคคมคายบ้าง เป็นสไตล์ภาษาที่อ่านแล้วไม่ขัดใจ
ผู้เขียนมีความเก่งกาจอย่างหนึ่ง คือสามารถดึงประเด็นที่ต้องการกล่าวถึงขึ้นมาแสดงให้เห็นกันชัดๆโต้งๆ เรารู้สึกว่าไม่ค่อยได้เห็นวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะเท่าที่เคยเจอ นักเขียนส่วนมากมักจะใช้สัญลักษณ์ ใช้อุปมา หรือใช้กลวิธีอะไรก็ตามที่จะซ่อนสารของเรื่องลงไปให้ลึก อ่านแล้วต้องตีความเอา แต่คนนี้อาศัยการสร้างโลกแฟนตาซีที่เจ้าตัวน่าจะถนัด เอามาใช้วางรากฐานทุกอย่างในเรื่องเพื่อสื่อประเด็นโดยตรงไปเลย ซึ่งเราว่าเก๋ เรื่องที่ทำได้ดีมันก็ดีมากเลยทีเดียว
แต่รวมๆแล้ว เราไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ว่ะ
จาก 9 เรื่อง เราเห็นว่ามีดีเด่นเพียงเรื่องเดียว คือ "จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว" เรื่องนี้ดีจริง ซับซ้อน คมคาย ตัดสินใจยาก ปล่อยให้คนอ่านซึมซับปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ตรงนั้นแหละ
นอกจากเรื่องแรก เราขอชมเรื่อง "อดัมกับลิลิธ" อีกเรื่อง ส่วน "โอนถ่ายความเป็นมนุษย์" นี่ได้คะแนนเสน่หาพิเศษ เพราะเราชอบประโยคจบ (แค่นั้นจริงๆ ๕๕๕) แต่เรื่องแนวนี้นี่บอกเลยว่าเล่ม "เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว" ของวินทร์ เลียววาริณเจ๋งกว่าเยอะ
จบเรื่องดีอันแสนสั้น มาดูปัญหาของหนังสือเล่มนี้กันบ้างค่ะ
ประเด็นแรกที่เรามองว่าแย่มาก คือการใช้ฉากซ้ำซาก ก็อปตัวเองเป๊ะๆมาถึง 3 เรื่อง (นั่นคือ 1/3 ของเล่มเลยนะเฮ้ย) ไม่ใช่การสร้างโลกเดียวแล้วใช้กับทุกเรื่อง แต่เป็นการอุตส่าห์สร้างโลกใหม่แต่ยังเหมือนกันไปหมด สังคมแบบเดิมเป๊ะ ความผิดแบบเดิมเป๊ะ ไอเทมวิเศษแบบเดิมเป๊ะ ประหนึ่งว่าโลกแฟนตาซีมีอยู่แบบเดียวจนน่าผิดหวัง มันใช้ได้ในฐานะเรื่องสั้นที่อยู่เป็นเอกเทศ ส่งประกวดแยกเวทีกัน แต่พอมารวมเล่มแบบนี้ ถึงแต่ละเรื่องจะมีรางวัลพะหน้า ก็นับว่าเป็นการฆ่าตัวตายพอสมควร
นอกจากนี้ เรื่องส่วนใหญ่ซึ่งเป็นธีม "จงใจสะท้อนปัญหาสังคม" เราเห็นว่าเป็นปัญหาเสียเองหลายประการ เช่นว่า โลกแฟนตาซีที่ผู้เขียนสร้างมาถ่ายทอดปัญหานั้นๆได้ยัดเยียดและขยายปัญหาจนเกินพอดี มีแต่ขาวกับดำ ดีกับร้ายเท่านั้น โดยตัวเอกคือคนดีผู้ตระหนักถึงปัญหาและหาทางออกจากปัญหา ส่วนตัวร้ายคือสังคมหรือรัฐซึ่งถูกปั้นมาให้เลวสมบูรณ์แบบ เรื่องจึงดำเนินไปในแนวทาง "การต่อสู้ระหว่างตัวเอกผู้ถูกต้องกับระบบอันโสมม" ทั้งสิ้น แล้วตัวเอกก็มีแต่พวกอ่อนแอ ไร้อำนาจต่อกร หลายเรื่องตัวเอกแพ้โง่ๆจนไม่รู้ผู้เขียนจะอุตส่าห์ยกปัญหาขึ้นมาทำไม ถ้าจะบอกว่า 'ยังไงก็สู้มันไม่ได้หรอก' แบบนี้
และเนื่องจากสร้างโลกให้มีเพียงสองขั้วเสียแล้ว การสะท้อนปัญหาจึงไม่สามารถจะลุ่มลึกไปกว่าแง่มุมพื้นฐานได้เลย อีกทั้งผู้เขียนก็ไม่ได้นำเสนอมุมมองใหม่ๆต่อปัญหาเหล่านั้น และแน่นอนว่าไม่เอ่ยถึงแนวทางแก้ไขด้วย
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้เหมาะมากสำหรับเด็กมัธยม มหาลัย และคนที่เพิ่งหัดอ่านตีความหรือเริ่มสนใจวิเคราะห์สังคม เพราะมันตื้นและชัดมาก เป็นแบบฝึกหัดที่ดีสำหรับเตรียมความพร้อมสู่หนังสือที่ลุ่มลึกกว่านี้ต่อๆไป
และถ้าคุณชอบสิงโตนอกคอกไปแล้ว อย่าปักใจแค่นี้ เพราะบรรณพิภพมีดีกว่านี้อีกเยอะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in