เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Album ReviewEARWAXED
[Album Review #5] Bleachers - Gone Now (2017) "สูญเสีย แต่ไม่เสียศูนย์"
  • หากพูดถึง Jack Antonoff หลายคนอาจทำหน้างง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการพูดถึงงานเพลงจากอัลบั้ม 1989 ของนางพญางู Taylor Swift อย่าง "Out of the Woods" (รวมถึงซิงเกิ้ลล่าสุดอย่าง "Look What You Made Me Do") คงอาจจะมีการร้องอ๋อหนักขึ้น เพราะพี่คนนี้แหละ คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสาวเทเล่อจากงานเพลงอัลบั้มนั้น แต่น้อยคนนักที่อาจจะรู้ว่า Jack Antonoff ก็คือหนึ่งในสมาชิกวง alternative rock อย่าง fun. ที่ดังเป็นพลุแตกจาก "We Are Young" ในปี 2011 และอัลบั้ม Some Nights ในปี 2012 และหลังจากที่วง fun. ประกาศพักวง พี่แจ็คก็เดินหน้าทำงานเพลงต่อในฐานะโปรดิวเซอร์ในกับศิลปินมากมาย อาทิ Lorde, Sia, P!nk, Tegan and Sara และ Carly Rae Jepsen

    นอกเหนือจากงานโปรดิวเซอร์แล้ว Jack Antonoff ก็ยังมีโปรเจคพิเศษของตัวเองที่มีชื่อ Bleachers กับการทำเพลงในแบบฉบับของพี่เค้าเอง และในรีวิวชิ้นที่ 5 นี้ก็จะเป็นการพูดถึงผลงานชุดที่สองจากโปร-เจคของวงนี้ที่มีชื่อว่า Gone Now


    Genre: Alternative rock, synthpop, new wave
    Release Date: June 2, 2017

    ก่อนที่จะพูดถึง Gone Now กันในเชิงลึก เราขอเกริ่นด้วยการพูดถึงเพลงจาก Bleachers กันก่อน Bleachers คือโปรเจคที่แจ็คบอกว่าเป็นเหมือน alter ego ของเขาที่ถูกทำขึ้นอย่างลับ ๆ ในช่วงที่ออกทัวร์กับ fun. โดยงานเพลงหลัก ๆ จะมีกลิ่นของความเป็นดนตรีจากยุค '80 และ '90 ที่มีส่วนผสมกับเทคนิคดนตรีใหม่ ๆ ในยุคปัจจุบันอย่างพวก synth งานเพลงชุดแรกจากวง Strange Desire ถูกปล่อยมาในปี 2014 กับซิงเกิ้ลเปิดตัว "I Wanna Get Better" ที่เป็นเพลง indie rock ที่เวลาเราเปิดให้ใครฟัง มักจะได้ฟีดแบ็คมาว่า "ทำไมฟังเพลงเก่าจัง" จากนั้นก็มี "Rollercoaster" ที่เป็นอีกหนึ่งซิงเกิ้ลของอัลบั้มที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างเพราะด้วยความเป็นเพลงสนุก ๆ เหมาะกับช่วง summer

    หนึ่งในซิลเกิ้ลจาก Strange Desire (2014) ที่ได้ป้า Sia มาช่วยร้องแทนให้
    (แต่ก็มีฉบับ studio version ปกติด้วยนะ คลิกเลย >> "
    Like a River Runs")
    นอกจากเนื้องานในด้านดนตรีที่เอาใจผู้ฟังเพลงสายย้อนยุคหรือแนว alternative เนื้อหาของเพลงที่พี่แจ๊คเขียนก็ยังมีมิติมากมายที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องความรัก เพราะหากได้ลองตามอ่านงานสัมภาษณ์ จะพบว่าพี่เค้าเป็นคนมีความคิดมากมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งในเรื่องการสูญเสีย ความตาย หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า (ซึ่งพี่เค้าก็เคยเป็นมาก่อนด้วย) และหลาย ๆ ครั้งที่แจ็คก็เขียนเพลงในเชิง pro-LGBT ให้กับศิลปินอย่าง Troye Sivan ("Heaven") หรือ Sara Bareilles ("Brave")


    Album Overview

    Gone Now คือ studio album ที่สองจาก Bleachers ที่ยังคงสไตล์ของการทำเพลงในแบบฉบับของพี่เค้าไว้คงเดิมเป๊ะ ด้วยการร้องแบบเก๊กเสียงที่โคตรเท่ หรือแนวดนตรีที่มีความย้อนยุคเบา ๆ แต่ในงานชุดนี้ ตัวเพลงมีการพัฒนาไปในเชิงที่มีความ pop มากขึ้น โดยเพลงครึ่งนึงมีความติดหูหนักมาก ในขณะที่อีกครึ่งก็จะมีความยากในการเข้าถึง

    จุดเด่นสำหรับงานชุดนี้คือการสร้างงานออกมาให้มีลักษณะคล้ายกับ 'concept album' โดยใน Gone Now ได้ใช้ธีมหลักสองเรื่อง นั่นคือ การสูญเสีย (ที่ต่อยอดจากอัลบั้มที่แล้ว) บวกกับความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) สองธีมหลักนี้จะโยงไปถึงความหมายของชื่ออัลบั้มที่อาจตีความได้ว่า "ในการเดินทางของชีวิต คนเราจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องเดินไปข้างหน้า แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะคงความเป็นตัวเองไว้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะต้องรู้จักการปล่อยวาง ไม่ปล่อยให้เรื่องในอดีตมาคอยฉุดรั้งเราไว้"

    และสิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างของแทรคต่าง ๆ ใน Gone Now คือการที่พี่แจ็คแต่งเนื้อเพลงให้จุดเชื่อมโยงกันไปมา โดยผู้ฟังจะพบว่าท่อนหนึ่งในเพลงจะไปโผล่อยู่ในอีกเพลง เปรียบเหมือนกับการที่คนดูหนังต้องจ้องหา Easter Eggs ที่โผล่อยู่ตามฉากต่าง ๆ การฟังงานชุดสองของวงนี้จึงถือว่าเป็นงานหนักที่ต้องใช้การวิเคราะห์ตีความเนื้อร้องต่าง ๆ ที่บางอย่างก็ดูเข้าใจยากเหมือนกับตัวเจ้าของโปรเจคเอง แต่ตลอดการฟังก็จัดเป็น 40 นาทีกว่าที่มีความสุขและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์มากมาย


    Track-by-Track Review

    1. Dream of Mickey Mantle

    "Now Mickey Mantle left on a Sunday
    And all of the neighborhood rushes home to pray"

    แทรคเปิดอัลบั้มที่ยังไม่ทันไรก็ทำร้ายคนฟังด้วยการหยิบประเด็นเรื่องความตายมาเล่นก่อนเลย "Mickey Mantle" คือนักเบสบอลทรงอิทธิพลในยุค '90 ของอเมริกา Jack Antonoff หยิบนักเบสบอลท่านนี้มาใช้เป็น reference ในการพูดถึงประสบการณ์ที่ตัวศิลปินได้สัมผัสกับความสูญเสียเป็นครั้งแรกในบทสัมภาษณ์หนึ่ง พี่แจ็คได้กล่าวว่า การเสียชีวิตของ Mantle ทำให้เค้าได้รู้จักความตายเป็นครั้งแรก และพอเขาได้กลับมาบ้าน ก็ได้พบกับการที่คนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านละแวกนั้นต่างเสียใจความการจากไปของนักกีฬาคนนี้ และจุดนี้จึงทำให้ตัวเขาได้เรียนรู้ถึงความไม่ยั่งยืนในชีวิต ในเพลงยังมีการพูดถึง "ห้องนอน" ของแจ็คที่เป็นจุดเริ่มต้นทุกอย่างของงานเพลงของเค้า จากการฟังเพลงนี้ ผู้ฟังจะสัมผัสได้ถึงการรับมือเกี่ยวกับเรื่องความตายของตัวศิลปินที่เหมือนเป็นสิ่งที่ปั้นความ Jack Antonoff ออกมา

    2. Goodmorning

    "Woke up in the corner store, someone saying my name
    Everybody moving around, acting like nothing had changed"

    หลังจากค่ำคืนแห่งความโศกเศร้ากับการสูญเสีย การตื่นมาตอนเช้าในวันใหม่เปรียบเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยวางและออกเดินทางไปข้างหน้า แต่สำหรับแทรคที่สองนี้ การทักทายยามเช้าของพี่แจ็คกลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ใน "Goodmorning" ฉบับของ Bleachers กลับเป็นการตัดพ้อถึงการตื่นมาแล้วต้องพบกับความเป็นจริงต่าง ๆ ของโลกและชีวิต "Woke up in the corner store, someone saying my name / Everybody moving around, acting like nothing had changed" คือสิ่งที่พี่แจ็คได้คิดถึงการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันที่ดูเพิกเฉยกับเรื่องราวในชีวิต ในขณะที่ตัวเขาเองยังถูกอดีตและการสูญเสียคนรัก (น้องสาวของ Jack ได้เสียชีวิตไปจากโรคมะเร็งสมองตั้งแต่อายุ 13) ตัวเพลงนี้จึงยังคงคอนเสปการทำเพลงที่มีเนื้อหามืดหม่นแต่เดินด้วยดนตรีที่มีจังหวะ upbeat ชวนโยกได้

    3. Hate That You Know Me

    "Some days, I wish that I wasn't myself
    And I hate that you know me so well"

    แทรคที่สามของอัลบั้มที่ได้ Carly Rae Jepsen มาเป็นแขกรับเชิญในเพลงด้วย สำหรับ "Hate That You Know Me" เป็นงานที่มีแปลกที่สุดจากเพลงของ Bleachers ด้วยการทำเมโลดี้ในแนว electropop ด้วยซาวน์แบบอวกาศ จึงทำให้เป็นเพลงที่มี potential ในการปล่อยเป็น single ได้อย่างดี ในส่วนเนื้อหาก็มีส่วนผสมของความด๊าคกับความน่ารัก ๆ ของคนมีความรัก ในส่วนของความมืดมัว แจ็คพูดการธีมหลักคือการ move on จากอดีตด้วยการหยอดสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น "put my things into boxes" หรือ "Rubber band in my past time" แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่อาจจะต้องการใครซักคนมาเข้าใจ มุมน่ารัก ๆ ของเพลงนี้คือการพูดการกลัวจะเป็นตัวของตัวเองที่หดหู่และมืดมัวต่อหน้าคนที่เรารัก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่มีคนรักมาช่วยดึงเราออกจากภวังค์เหล่านั้น

    4. Don't Take the Money

    "Somebody broke me once
    Love was a currency"

    ซิงเกิ้ลเปิด Gone Now era ที่เป็นแทรคที่ดนตรีแน่นที่สุดในอัลบั้มแล้ว ด้วยการเดินเมโลดี้เป็นเพลงร็อคที่มีกลิ่นความเป็น '90 ตามฉบับของวง แถมเป็นเพลงที่ยังมีแขกรับเชิญมาช่วยจากน้อง Lorde ที่เธอทั้งช่วยร้องเป็น backup และยังแต่งเนื้อร้องให้อีกด้วย ในด้านเนื้อหา ก็เป็นเพลงที่ดูแปลกในเรื่องของธีมอัลบั้มนิดนึง เพราะ "Don't Take the Money" เป็นการพูดถึงความสำคัญของความรักที่อยู่เหนือทุกวัตถุต่าง ๆ แต่ Jack Antonoff ได้อธิบายไว้ด้วยเค้าเองว่าประโยค 'don't take the money' กลับเป็นเหมือน motto ส่วนตัวของเค้าที่ช่วยฉุดรั้งเค้าไว้ในการเดินตามล่าสิ่งความฝันหรือตัวตนของคุณ (ซึ่งสำหรับแจ็คก็คือดนตรี) และทุกคนควรซื่อสัตย์กับความเป็นตัวเอง สำหรับตัวศิลปินคนนี้แล้ว การไม่เดินตามความฝันหรือมั่นคงกับตัวเองคือสิ่งที่อาจทำลายชีวิตของคุณได้

    5. Everybody Lost Somebody

    "I'm standing here in the cold and
    I gotta get myself back home soon"

    ในปี 2017 เรื่องราวของภาวะโรคซึมเศร้า (depression) ได้กลายมาเป็นหนึ่งในทอปปิกหลักที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคม ด้วยสาเหตุหนึ่งมาจากการจากไปของนักร้องชื่อดังอย่าง Chester Bennington แห่งวง Linkin Park แทรคลำดับที่ 5 จาก Gone Now ก็จัดว่าเป็นงานเพลงที่เอาเรื่องราวของภาวะซึมเศร้ามาถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนที่ต้องสูยเสียคนรักไป เพลงถูกเปิดมาด้วยเสียงพูดว่า "The pain of waiting alone at the corner / Trying to get myself back home" ที่เป็นการเปิดเพลงให้รู้ถึงสถานการณ์ของคนที่เพิ่งจะพบกับความเจ็บปวดจากการสูญเสีย และพยายามแบกตัวเองกลับบ้านที่เปรียบเสมือนที่พึ่งสุดท้าย จากนั้นตัวเพลงก็พาผู้ฟังลงดิ่งสู่ความมืดมนด้วยการบรรยายสภาวะของคนที่ถูกเล่นงานจากความเศร้าจนสติกระเจิงได้อย่างชัดเจนมาก "Everybody Lost Somebody" จึงเป็นงานที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดใน Gone Now เพราะด้วยความไพเราะและติดหูของตัวเพลงที่มีจังหวะ upbeat และเสียงของทรัมเป็ตที่ฉาบความมืดดำของเนื้อเพลงไว้ บวกกับเนื้อหาที่ผู้เขียนเข้าใจถึงความรู้สึกที่ Jack Antonoff พยายามจะสื่อให้กับผู้ฟัง หากพูดถึงอัลบั้มชุดนี้ เพลงนี้คือเพลงแรกที่เราจะแนะนำให้ทุกคนได้ฟังก่อนเลย

    6. All My Heroes

    "When all your heroes get tired
    I'll be something better yet"

    ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกคนย่อมมีฮีโร่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ที่อยู่ในรูปแบบคนหรือสิ่งของใด ๆ ก็ตาม แต่เคยคิดกันบ้างมั้ย ว่าบางครั้งฮีโร่เหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของตัวคุณเอง "All My Heroes" คืองานเพลงที่พี่แจ็คทำให้เราได้ฉุกคิดเกี่ยวกับความโหดร้ายของชีวิตที่ทำร้ายเราสารพัดรูปแบบ แต่สุดท้ายแล้ว ความบ้าบอเหล่านั้นแหละคือตัวผลักดันที่ทำให้เกิดพลังในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพราะพี่เค้าก็ได้ร้องให้ผู้ฟังได้รู้ว่า "In the focus, I'll be something better." แทรคที่หกใน Gone Now จึงเป็นงานที่ค่อนข้างขัดแย้งกับเพลงอื่น ๆ ในแง่ของการสร้างอารมณ์ฮึกเหิมให้กับผู้ฟังด้วยเนื้อหาให้กำลังใจ เสริมด้วยดนตรีที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงแบบ stadium rock ชวนให้โยกหัวหรือกระทืบเท้าไปกับจังหวะตลอดทั้งเพลง


    7. Let's Get Married

    "I’m gonna look good for you honey
    Get my myself together, spend you all of my money, yeah
    And I know it’s hard enough to love me
    But woke up in a safe house singing, 'Honey, let’s get married'"

    อีกหนึ่งแทรคใน Gone Now ที่มีเนื้อหาเพลงไม่ได้ทำร้ายจิตใจผู้ฟังมากมาย ทั้งตัวดนตรีและเนื้อหาต่าง ๆ "Let's Get Married" น่าจะเป็นงานที่ฟังง่ายที่สุดในอัลบั้มนี้แล้ว เพราะด้วยท่อนฮุคที่ชวนไปร้องตามได้ง่าย และเนื้อร้องที่ไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะในระดับผิวเผิน หลายคนอาจคิดว่าเพลงนี้เป็นการที่ Jack ได้แต่งขึ้นมาเพื่อบอกรักหวานใจของเค้า คือ Lena Dunham แต่สำหรับเราแล้ว เพลงนี้อาจถูกตีความในเชิงของการนำเอาสัญลักษณ์ของการแต่งงานที่เป็นการทำพันธสัญญาด้านความสัมพันธ์กับอีกหนึ่งชีวิตมาเล่นกับเพลง ตลอดในเพลงจะพบว่า Jack ยังหยิบเอาแนวคิดว่าความรักจะเป็นตัวเยียวยาให้กับความทุกข์ได้ เพลงนี้จึงอาจไม่ใช่แค่ข้อความที่ส่งถึงคนรักในเชิง romantic relationship แต่อาจเป็นการพยายามกระชับความสัมพันธ์กับบุคคลรอบกายที่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว

    8. Goodbye

    "Goodbye to the friends I've had
    Goodbye to my upstairs neighbor
    Goodbye to the kids downstairs and
    Anybody who lent me a favor"

    ตามขนบของการสร้าง tracklist ของอัลบั้มทั่วไป เพลงแบบ "Goodbye" ควรจะต้องไปอยู่ในลำดับสุดท้าย แต่ด้วยความที่ Bleachers ไม่ใช่วงดนตรีที่ทำเพลงธรรมดา ๆ เพลงนี้จึงมาอยู่ในลำดับที่ 8 ความงงของเพลงนี้มีด้วยกันหลายประการ อย่างแรกคือเนื้อเพลงที่พูดถึงการบอกลาสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ที่ตรงกับคอนเสปและชื่อของอัลบั้ม ทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ ไม่ไปเป็น closing track และอย่างที่สองคือ "Goodbye" เป็นแทรคที่เพลงประหลาดที่สุดด้วยการร้องเนื้อเพลงแบบบ่น ๆ จนไม่เหมือนเพลง และในช่วงท่อน verse พี่แจ็คก็ยัดเสียงพูดของแฟนพี่เค้ามาใส่เพื่อเพิ่มมิติไปอีก แทรคนี้จึงเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะในการฟังเพลงขั้นหนักมาก แต่อย่างหนึ่งที่ได้มาจากเพลงนี้คือความรู้สึกเศร้าแบบแปลก ๆ กลับการต้องบอกลาเรื่องราวในอดีตและเดินต่อไปข้างหน้า

    9. I Miss Those Days

    "We talk about getting older
    But there's so much we haven't done yet"

    หลายคนมักคิดถึงว่าอดีตเป็นสิ่งที่เราควรปล่อยให้ผ่านไปและหันมาให้ความสำคัญกับปัจจุบันและอนาคตดีกว่า แต่ในแทรคที่ 9 "I Miss Those Days" คือบทเพลงที่ทำให้ผู้ฟังอาจได้รู้สึกถึงความสำคัญของอดีตที่ผ่านไปแล้ว งานเพลงส่วนใหญ่ของ Jack มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องของอดีตและการสูญเสีย แต่สิ่งที่ทำให้งานของ Bleachers ไม่น่าเบื่อคือการนำสองเรื่องราวนี้มาเล่าให้มีดูมีหลายมิติ อย่างเพลงนี้พี่แจ็คเอาเรื่องราวการสูญเสียน้องสาวของเค้ามาเป็นธีมในเพลง โดยเหตุการณ์นี้ถึงแม้จะมีผลกระทบต่อชีวิตของตัวนักร้องขั้นหนัก แต่เค้าก็ยังนำเรื่องราวนี้มาถ่ายเป็นเพลงที่ทำให้รู้สึกในแง่บวกได้ "I Miss Those Days" ก็เป็นอีกหนึ่งแทรคแนะนำของงานชุดนี้เพราะด้วยจังหวะสนุก ๆ บวกกับเสียงของ saxophone ที่ฟังแล้วก็ทำให้เราได้นึกถึงความสุขในช่วงเวลาอดีตจริง ๆ 

    10. Nothing Is U

    "And I can’t be alone anymore
    Since nothing has changed me quite like you"

    ตามมาต่อที่แทรคที่สิบที่เป็นเหมือน interlude ขนาดย่อม ๆ ขั้นอารมณ์ ในเพลง "Nothing Is U" ก็มีเนื้อหาหวาน ๆ น่ารัก ๆ ถึงการพูดถึงการที่คนรักของเราได้เข้ามาในชีวิตและเปลี่ยนแปลงตัวตนเราให้ไปในทางที่ดีขึ้น ในเพลงนี้ ผู้ฟังจะได้รับรู้ถึงเกร็ดเล็ก ๆ ของ Jack ด้วย ซึ่งนั่นการที่ตัวที่เค้าเป็นโรค anxiety และ OCD จากท่อนหนึ่งที่ว่า "I clean my glasses and phone / Frankie says it’s worthless" ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง แจ็คได้บอกไว้ว่า หลังจากที่น้องสาวของเค้าได้เสียชีวิตไป เค้าได้กลายเป็นโรค germaphobe (โรคกลัวเชื้อโรค) และทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ในด้านพฤติกรรมของเค้า จากตรงนี้ก็ทำให้ผู้เขียนประทับใจกับงานของพี่เค้ามากขึ้นไปอีก เพราะน้อยครั้งที่เราจะได้ฟังเพลงที่มีการใส่เรื่องราวส่วนตัวหนัก ๆ ลงไปแอบแฝงในเพลงรักมุ้งมิ้งแบบนี้


    11. I'm Ready to Move On/Mickey Mantle Reprise

    "I got one dream, been hurting me forever
    Why wait a minute to tell her I’m better?"

    แฟน ๆ เพลงของ Bleachers น่าจะเริ่มชินกับการทำเพลงมหากาพย์ภาคต่อและ reprise กันแล้ว ซึ่งแทรคที่ 11 ก็คือเพลงนั้น Gone Now ในรอบนี้ Antonoff ยังคงทำเพลงแบบนี้ในชื่อ "I'm Ready to Move On" ต่อ แล้วก็เอา opening track มาเป็น reprise (ในอัลบั้มชุดที่แล้วก็มีเพลงชื่อนี้ แล้วเอาแทรคแรกมาทำเป็น reprise เหมือนกัน ["I'm Ready to Move On/Wild Heart Reprise"] แถมป้า Yoko Ono ยังมาช่วยร้องอีกด้วย) ในแทรคนี้ ประเด็นยังคงเป็นการพูดการเสียชีวิตของน้องสาวของพี่แจ็ค แต่ในครั้งนี้เนื้อหาเริ่มเป็นไปในทางบวก โดยที่แจ็คได้ร้องถึงการที่เค้าสามารถเดินผ่านความเจ็บปวดของการสูญเสียครั้งนี้ไปได้แล้ว ถึงแม้จะต้องเจ็บปวดกับการฝันร้ายมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ตาม

    12. Foreign Girls

    "Thinking what's gone now
    Like a part of me walked out"

    และเรื่องราวของ Gone Now ก็ได้จบลงกับแทรคสุดท้าย "Foreign Girls" เพลงนี้คือที่มาของชื่ออัลบั้ม โดยหลัก ๆ เป็นการพูดถึงการเดินหน้าสู่อนาคตและทิ้งอดีตไว้ภายหลัง ถึงแม้ว่าการปล่อยวางจะเป็นธีมหลักของเพลงนี้รวมถึงเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มชุดนี้ เพลง "Foreign Girls" ยังมีความ ironic ในเชิงที่พี่แจ็คได้พูดถึงความสับสนในการค้นหาตัวหรือการใช้ชีวิตของผู้คนจนทำให้พวกเขาต้องพยายามหาทางกลับบ้าน ซึ่ง "บ้าน" ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ใน Gone Now  และมีความหมายถึงสถานที่ที่เก็บความทรงจำดี ๆ ในอดีตและเหมือนเป็นที่พักใจของคน ผู้ฟังยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า "foreign girls" ในเพลงเป็นใคร แต่ลึก ๆ หนึ่งในสาว ๆ เหล่านั้นน่าจะเป็นน้องสาวของแจ็คที่การตายได้พรากจากเธอไปจากเขา จนทำให้เป็นเหมือนคนที่อยู่คนละโลกและกลายเป็นคนแปลกหน้าในที่สุด ในช่วงท้ายของเพลง ยังมีการโยงกลับไปถึงท่อนบอกลาจากเพลง "Goodbye" และปิดด้วยการบอกรัก "I loved you all" ที่เหมือนบอกทั้งผู้คนในชีวิตของ Antonoff รวมถึงผู้ฟังอีกด้วย แทรคนี้จึงเป็น closing track ที่สวยงามตามท้องเรื่องมาก


    เกร็ดเล็ก ๆ : ภาพ Jack กับห้องรก ๆ นี้คือตัวพี่เค้าในห้องนอนจริง ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใน Gone Now
    พี่แจ็คได้ทำการถอดห้องนอนของพี่เค้าจริง ๆ แล้วเอาไปเดินสายโชว์ให้แฟนเพลงของเค้าใน Gone Now Tour ได้สัมผัสจริง ๆ ถือว่าเป็นอะไรที่สุดจะน่าอิจฉา อยากให้ Bleachers มาเปิดคอนในไทยบ้างจัง แต่ดูน่าจะยากมาก TT
    Conclusion

    เมื่อเทียบกับงานชุดก่อนแล้ว Gone Now อาจจะสู้ไม่ได้ในเรื่องของกระแส แต่คุณภาพของเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มชุดไม่ได้ลดน้อยไปกว่ากันเลย เพราะด้วยความ coherent และ cohesive ของเพลงต่าง ๆ บวก unity ของธีมที่ชัดเจน ทำให้อัลบั้มชุดนี้เป็นอีกงานที่ทรงพลังมากในปี 2017 เชื่อว่าชื่อของ Jack Antonoff จะต้องเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับการจดจำและเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากในวงการเพลง pop ของศตวรรษที่ 21 นี้ ในอีก 10-20 ข้างหน้า งานเพลงต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ภายใต้การชื่อของ Bleachers หรือเพลงที่ Jack ได้ไป produce ก็คงเป็นผลงานที่ควรค่าให้คนยุคต่อ ๆ ไปได้ฟังกัน เพราะบอกเลยว่าศิลปินคนนี้คือคนที่ทำเพลงได้มีความชัดเจนและสมกับเพลงของคนยุคนี้จริง ๆ 

    หากใครได้ฟังงานชุดนี้แล้วมีประเด็นอะไรอยากพูดคุยกัน ก็เหมือนเดิม มาคอมเม้นพูดคุยกันได้ข้างล่างเลยนะครับ และถ้ามีคำแนะนำหรือข้อติเตียนอะไรก็บอกกันได้เลยครับผม แล้วเจอกับงานรีวิวชิ้นต่อไปนะครับบบบ ขอบคุณที่ติดตาม :)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
koojunxxx (@koojunxxx)
ขอบคุณสำหรับการรีวิวนะคะ :)
เราชอบเพลงของ The Bleacher มาตั้งแต่อัลบัมก่อน
แต่เพิ่งได้มารู้รายละเอียดต่างๆ มันน่าสนใจมาก ๆ เลยค่ะ
เราชอบมาก ๆ อัลบัมนี้เราชอบเพลง Everybody lost somebody กับ I Miss Those Days มากเลยค่ะ เป็นอีกหนึ่งวงที่เราคงติดตามไปเรื่อยๆ ^^
EARWAXED (@earwaxed)
@koojunxxx เพลงโปรดเหมือนกันเลยคับบบ ขอบคุณที่ตามอ่านนะครับบบ