*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนวนิยาย*
YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ (イエスかノーか半分か Yes Ka No Ka Hanbun Ka) ผลงานนวนิยายแนว Boy's Love ของอิจิโฮะ มิจิ บอกเล่าเรื่องราวของคุนิเอดะ เคย์ ผู้ประกาศข่าวหนุ่มยอดนิยมผู้มีสองบุคลิกสุดขั้ว เบื้องหน้าหล่อเหลามาดดีดุจเจ้าชาย เบื้องหลังปากร้าย ชอบก่นด่าคนอื่นในใจเป็นนิจ วันหนึ่งเคย์ได้บังเอิญพบกับซึสึกิ อุชิโอะ ศิลปินผลิตแอนิเมชัน ทั้งสองจึงได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนความรักผลิบานทีละน้อย
หากมองโดยผิวเผิน ในแง่มุมความรักนั้น นิยายเรื่องนี้ก็เหมือนนิยาย BL ทั่วไป ตัวละครหลักทั้งสองค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ รักกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง มีการแทรกฉากรัก (หรือที่นิยมเรียกขานกันว่าฉาก NC) เอาไว้ประปรายตามวิสัยนิยาย BL จากแดนปลาดิบ
ทว่านวนิยาย Boy's Love เรื่องนี้มีดีมากกว่าความรัก
คุนิเอดะ เคย์ ตัวเอกของเรื่องมีอาชีพผู้ประกาศข่าว (Announcer) ทั้งยังเป็นถึงผู้ประกาศข่าวประจำรายการข่าว “เดอะนิวส์” ที่ออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ของญี่ปุ่น (เป็นเพียงรายการสมมติในเรื่องเท่านั้น) นวนิยายชุดนี้จึงมีเรื่องราวการทำงานและแนวคิดเกี่ยวกับสื่อมวลชนในปัจจุบันแฝงเร้นอยู่อย่างกลมกลืนในทุกๆ เล่ม
อาทิเช่น ประการแรก คาแรกเตอร์ของคุนิเอดะ เคย์นั้นคือภาพสะท้อนของผู้ประกาศข่าวมืออาชีพที่ดี แม้พื้นนิสัยจะเป็นคนซกมกเหลือรับประทาน แต่เมื่อเป็นเรื่องการทำงานแล้ว เคย์จะทำออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้ เคย์ใส่ใจการอ่านออกเสียงทุกพยางค์ พกพจนานุกรมการออกเสียงติดตัวประหนึ่งอาวุธคู่กาย แม้จะเป็นเพียงผู้ประกาศข่าวที่คอยอ่านสคริปต์ที่คนอื่นเขียนให้ แต่ก็ยังอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับทุกวันเพื่อตรวจสอบข่าวประจำวัน คอยเช็กข่าวจากช่องอื่นๆ และทบทวนผลงานของตัวเองในแต่ละวัน นำข้อผิดพลาดทั้งของตนเองและผู้อื่นมาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาให้การอ่านข่าวในวันรุ่งขึ้นดียิ่งขึ้นไปอีก
“เขาถือวิสาสะวางสายแล้วเปิดดูข่าวที่อัดไว้ ดูช่วงที่ตัวเองออกครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อตรวจสอบว่าพูดได้ลื่นไหลดีไหม ออกเสียงสูงต่ำแปลกหรือไม่ ความเร็วและการเว้นช่วงเป็นอย่างไร สายตาจ้องมองตรงเกินไปก็ใช่ว่าจะดีเพราะอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด การรับส่งกับผู้ร่วมรายการเหมาะสมหรือไม่ ตอนซูมออกยังรักษามาดเอาไว้ได้อย่างสวยงามหรือเปล่า เสื้อผ้าวันนี้เป็นอย่างไร...จุดที่ต้องตรวจสอบมีอยู่มากมาย” (YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ หน้า 20)
และทั้งหมดนี้เคย์ทำไปโดย (เจ้าตัวยืนกรานว่า) ไม่มีใจรักในอาชีพผู้ประกาศข่าวแม้แต่น้อย
แม้ไม่มีใจรัก แต่ก็มุมานะที่จะทำออกมาให้ดีที่สุด เพราะนี่คือ “งาน” จัดว่าเป็นตัวละครที่เปี่ยมจิตวิญญาณในการทำงานแรงกล้า และเป็นภาพผู้ประกาศข่าวมือโปรในอุดมคติเลยก็ว่าได้
ประการถัดมา ตัวรายการเดอะนิวส์ที่เคย์ทำงานอยู่นั้นประกอบขึ้นจากการทำงานของผู้ร่วมรายการและทีมงานมากมาย ตัวละครแวดล้อมเหล่านี้เองก็นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรายการข่าวให้เห็นเช่นกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในเล่มที่ 2 สถานีโทรทัศน์อื่นได้ทำรายการข่าวใหม่เอี่ยมมาออกอากาศชนกับเดอะนิวส์ เปิดศึกชิงเรตติ้งกันซึ่งๆ หน้าโดยที่สไตล์ของรายการคู่แข่งมีอิสระและความเป็นกันเองมากกว่า รูปแบบรายการที่เข้าถึงง่ายและเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรายการแสดงความเห็นตามใจปากอย่างอิสรเสรีนั้นทำให้รายการคู่แข่งได้รับความนิยมจนเรตติ้งตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
กระนั้นก็ตาม ตัวละครที่ชื่ออะโซผู้เป็นพิธีกรหลักของเดอะนิวส์และเป็นรุ่นพี่ของเคย์กลับลงความเห็นชัดเจนว่ารูปแบบรายการที่มีอิสระนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะควรเอาเสียเลย
“สำหรับทีวี ไม่มีอะไรอันตรายมากเท่า ‘อิสระ’ แล้วล่ะ” (YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ 2 หน้า 60)
"นักวิเคราะห์ที่ไม่ได้ไปเก็บข้อมูลในสถานที่จริงด้วยตัวเองนำข้อมูลทุติยภูมิจากหนังสือพิมพ์หรืออินเทอร์เน็ตมาแพร่กระจายอย่างไร้ความรับผิดชอบ นั่นน่ะเป็นเรื่องไม่สมควรเลย พวกนั้นนำบทสนทนาเบาๆ ที่ผู้ชมคุยกันในอีกฟากของหน้าจอมาออกอากาศ เรียกเรตติ้งด้วยการทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปด้วย ฉันว่ามันอย่างไรๆ อยู่" (YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ 2 หน้า 61)
รูปแบบรายการเล่าข่าวที่มี “อิสระ” เช่นนี้ อันที่จริงแล้วก็คือรูปแบบของรายการข่าวที่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบันนั่นเอง แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีรายการประเภทนี้อยู่ เนื้อหาส่วนที่กล่าวถึงรายการคู่แข่งเหล่านี้จึงเป็นการวิพากษ์รายการประเภทเล่าข่าว ชวนให้ฉุกคิดว่ารูปแบบรายการที่ผู้ร่วมรายการจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ได้นั้นเป็นสิ่งสมควรแล้วจริงหรือ? ความคิดเห็นเหล่านั้นส่งผลกระทบหรือทำร้ายใครบ้างหรือไม่? ซึ่งนอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ นวนิยายชุดนี้ยังสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อที่น่าคิดอีกมากมายทีเดียว
นอกจากนั้น อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของการสร้างสรรค์รายการท่ามกลางแรงกดดันและการแข่งขัน วงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์นั้นเต็มไปด้วยการแข่งขันอันดุเดือด ทั้งแข่งขันชิงเรตติ้ง แข่งขันกันเองภายในช่อง และแข่งขันกับกาลเวลาที่โทรทัศน์เริ่มเสื่อมความนิยมลงทุกวัน การแข่งขันเหล่านี้กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้บรรดาผู้ผลิตรายการเอาเป็นเอาตายอยู่กับการรังสรรค์รายการ จนบางครั้งก็อาจเลยเถิดไปบ้าง เล่มที่นำเสนอประเด็นนี้ได้อย่างแยบคายคือภาคพิเศษ สะท้อนรักผ่านดวงตา (横顔と虹彩 Yokogao To Kousai)
สะท้อนรักผ่านดวงตา กล่าวถึงรายการวาไรตี้ซึ่งถึงแม้จะเป็นรายการโทรทัศน์เหมือนรายการข่าว แต่ก็จัดเป็นสื่อคนละประเภทกับรายการข่าวโดยสิ้นเชิง ขณะที่รายการข่าวขับเคลื่อนด้วยเนื้อหาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น รายการวาไรตี้ที่ต้องผลิตทุกอย่างจากศูนย์นั้นจำต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตมากขึ้นอีกระดับ
“วาไรตี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อมอบความสนุกให้ผู้ชม เพียงแต่มันแตกต่างจากข่าวที่มีวัตถุดิบอยู่แล้ว การทำวาไรตี้จำเป็นต้องอุทิศตนเหมือนนกกระเรียนทอผ้า เค้นเอาความเยาว์วัยและเซนส์ออกมาจนหมด” (สะท้อนรักผ่านดวงตา หน้า 177)
ในตอนท้ายของสะท้อนรักผ่านดวงตา ผู้กำกับรายการคนหนึ่งพ่ายแรงกดดันจนบีบให้นักแสดงเล่นโลดโผนเสี่ยงตาย สุดท้ายก็ถึงขั้นบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล ส่งผลให้รายการโดนสั่งยุติการออกอากาศถาวร เพราะ “ทีวีไม่ใช่ของยิ่งใหญ่ระดับที่ต้องทำให้คนบาดเจ็บเพื่อสร้างรายการขึ้นมาหรอกนะ” (สะท้อนรักผ่านดวงตา หน้า 162)
ความน่าสนใจของประเด็นนี้อยู่ตรงที่มันคือภาพเบื้องหลังของผู้ผลิตสื่อที่ผู้ชมอย่างเราๆ ไม่ได้พบเห็นโดยตรง สิ่งที่เรามองเห็นผ่านจอนั้น แท้ที่จริงแล้วรังสรรค์ขึ้นท่ามกลางสภาวะกดดันเพียงใด ผู้ผลิตรีดเร้นเค้นสมองมากแค่ไหน ผู้ชมที่เพียงแค่นั่งดูรายการอยู่หน้าจออาจไม่มีวันรับรู้เลยสักนิด
นอกเหนือจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว นวนิยายชุดนี้ยังนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับแวดวงสื่อมวลชนที่น่าสนใจอีกหลายประการ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อ โดยที่เนื้อหาโดยรวมมิได้เคร่งขรึมจริงจังไปเสียทั้งหมด หากว่ากันตามตรง นวนิยายชุดนี้เขียนออกมาด้วยสไตล์ Feel Good สนุกสนานเฮฮา เรียกเสียงหัวเราะด้วยซ้ำ ทว่าท่ามกลางโทนคอเมดี้และเรื่องราวความรักชวนอมยิ้มของตัวละครหลักนั้น มันกลับแฝงด้วยประเด็นเกี่ยวกับสื่อมวลชนที่ดูเหมือนผู้คนในปัจจุบันอาจไม่ทันฉุกคิดอยู่มากมาย ซึ่งประเด็นเหล่านั้นล้วนผสมผสานไปกับเรื่องราวอย่างเป็นธรรมชาติ กลายมาเป็นนวนิยายที่ทั้งรื่นเริงบันเทิงใจและได้แง่คิดในคราวเดียวกัน
หากจะเปรียบเปรยกับน้ำ นวนิยายแนวทำงานเรื่อง YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ จากประเทศญี่ปุ่นชุดนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นนิยายน้ำดีที่ผ่านการกลั่นออกมาอย่างประณีตล้ำลึก ทั้งยังให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รวมถึงซาบซ่านเป็นบางเวลา
(YES OR NO คนที่ใช่ ใครที่ชอบ ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ BLY ในเครือบงกช)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in