เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
All are storyLanguor Earl Grey
ความเว้าแหว่งของนักจิตบำบัด
  • ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เราเคยรับมือกับเรื่องราวในชีวิตไม่ได้ จนต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง 
    เปิดประตูเข้าไปพบกับจิตแพทย์ผู้ชาย อายุน่าจะราวๆ 50 เสียงนุ่มทุ้ม ให้อารมณ์เหมือนกำลังคุยกับพ่อ
    เราไปหาอยู่หลายครั้ง และหลายครั้งที่ออกมาจากห้องนั้นเราจะรู้สึกว่า "ก็ไม่เห็นจะช่วยอะไรเราได้เท่าไหร่เลย"

    วันเวลาผ่านไป ขณะกำลังอยู่บนรถเมล์
    เราลองค่อยๆคิดทบทวนว่า
    ทำไมเรารู้สึกว่าหมอช่วยอะไรไม่ได้วะ? ทำไมเวลาไปเจอหมอรู้สึกเหมือนพูดไม่สุดวะ เหมือนมีอะไรค้างในใจ ทำไมวะ ทำไม ... แต่เค้าเป็นหมอนะ หมอต้องรักษาคนไข้ให้หายดีสิ
    เราคิดวนไปวนมาอยู่อย่างนั้นจนได้คำตอบว่า จริงๆแล้วคนที่จะช่วยเราได้มากที่สุดก็คือตัวเราเองนี่ 
    คนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด เข้าใจความรู้สึกได้ดีที่สุด ก็คือตัวเรา 
    หลังจากวันนั้นเราเลยตัดสินใจว่าจะไม่ขอความช่วยเหลือจากหมอต่อแล้ว 

    พอเรากลับมาให้ความสำคัญกับตัวเอง ดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ตลอดเวลา
    แต่ยังมีคำถามที่ติดค้างในใจเราอยู่ตลอดเวลา
    หมอที่มาให้คำแนะนำคนไข้นั้น เบื้องหลังเค้าเป็นยังไงนะ เค้าอาจจะไม่ค่อยมีเรื่องเศร้าเลยก็ได้มั้ง เคยได้ยินมาว่าคนที่เรียนจิตวิทยาก็มักบำบัดตัวเองไปด้วย พอเป็นหมอแล้วก็คงบำบัดตัวเองไปเรื่อยๆ ชีวิตคงดีอยู่เรื่อยๆเลย

    ความสงสัยเราถูกคลายออกเมื่อได้อ่านหนังสือ ปีแสง ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ 
    เรารู้จักเธอใน Podcast : R U OK ของ The Standard ก่อนจะมาเจอหนังสือเล่มนี้
    เธอคือผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว 

    ในหนังสือเล่มนั้น เราได้เห็นเบื้องหลังชีวิตของนักจิตบำบัด
    มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับเธอตั้งแต่ตอนที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศสมัยยังเป็น ด.ญ. ดุจดาว
    ความแข็งกระด้างไม่ยอมคน ถูกคุณครูที่โรงเรียนแกล้ง ไม่ชอบแม่ตัวเอง หรือปัญหาเรื่องความรัก

    เราจะลองหยิบบางส่วนของหนังสือเล่มนี้มาให้ได้อ่านกัน 

    - เย็นวันหนึ่งช่วงที่แดดกำลังหุบ เด็กเจ็ดขวบที่ออกมาจากห้องน้ำแล้วไม่เห็นใคร เกิดความกลัวขนาดใหญ่ แม้ว่าจะเห็นแม่ภายในห้าวินาทีต่อมา แม่กำลังยืนคุยกับป้าคนหนึ่งตรงลานหน้าบ้าน
    แต่ความรู้สึกใจหายวูบใหญ่นั้นไม่จางไป และรู้สึกไม่ดีที่แม่ไปใส่ใจคนอื่นมากกว่า
    จะทำอย่างไรให้แม่เข้าใจล่ะ...
    "แม่...แม่อยู่ไหน"
    เดินไป พูดไป ร้องไห้ไป เห็นแม่แล้วแต่แอ๊กติ้งหาแม่ไม่เจอ
    แอบชำเลืองมองตลอดว่าแม่เห็นไหม แม่เห็นหรือยัง อยากให้แม่รู้สึกถึงความตกใจของเรา อยากให้แม่รู้สึกผิดที่ทิ้งเราไว้อย่างนี้ 
    แม่หน้าตาหงุดหงิดและพูดด้วยเสียงกระแทกกระทั้น "ก็อยู่แค่เนี้ย! คุยกับป้าหญิง ไม่ได้ไปไหน"
    แม่แปลสารจากเด็กคนนี้ไม่ได้ เธอเป็นแค่เด็กเรียกร้องความสนใจที่แม่รำคาญ...ซึ่งก็ใช่ เด็กคนนั้นต้องการความสนใจและความเข้าใจ

    -  ช่วงวัยรุ่นคนเราไม่รู้หรอกว่าจะต้องจัดการกับความรู้สึกแย่ยังไง
    เพราะฉะนั้นเทคนิคที่วัยรุ่นใช้เหมือนกันคือประชดโลกทั้งใบไปเลย
    แทนที่จะค่อยๆไตร่ตรองหาความจริง เรากลับเลือกทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง
    เออ แกมันแย่ 
    นี่คือเสียงที่บอกตัวเองลึกๆ และเสียงนี้ก็กำหนดวิถีที่เราเลือกปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆในชีวิต รวมถึงโยนความรู้สึกแย่ออกไปให้คนรอบข้างช่วยแบกรับไว้ เพื่อทำให้คนอื่นรู้ว่า "แกก็แย่เหมือนกัน" "เธอนี่มันแย่มากนะ" "นี่คิดว่าดีแล้วหรอ" "ไม่ได้เรื่องเลยสักนิด"

    หลังอ่านจบ วางหนังสือลงก็พบว่า สิ่งที่เราเคยคิดไปก่อนหน้าว่านักจิตบำบัดสามารถบำบัดตัวเองได้ก็ถูกแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเราลืมนึกไปว่า นักจิตบำบัด ก็คือ "คน" เหมือนกัน 
    ไม่ว่าเค้าจะมีเรื่องราวในชีวิตแบบไหน หรือมีปัญหามากน้อยแค่ไหน 
    อาจจะมีช่วงที่รับไม่ไหวและต้องขอความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดท่านอื่นด้วยเหมือนกัน
    สมัยที่คุณดุจดาวเรียนเป็นนักจิตบำบัดก็ยังต้องไปหานักจิตบำบัดอาทิตย์ละครั้ง
    เพื่อแกะตัวเองออก ให้เห็นส่วนประกอบของจิตใจตัวเองและทำความเข้าใจมัน
    ตอนที่คุณดุจดาวมีปัญหาเรื่องชีวิตคู่ก็ยังต้องขอความช่วยเหลือเช่นกัน
    (การไปหานักจิตบำบัดนั้น คุณดุจดาวจะลองไปคุยดูว่าโอเครึเปล่า คุยกันลื่นไหม เคมีเข้ากันได้รึเปล่า เพราะนักจิตบำบัดแต่ละคนก็มีสไตล์ที่ต่างกัน)

    คนเรามักแสดงนิสัยด้านแย่ออกมาได้ง่ายเวลาที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นคง
    เหมือนที่คุณดุจดาวเผยด้านเด็กก้าวร้าว พูดจาแรงๆ กับคนรัก และสุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน
    เราไม่ได้หมายถึงว่าคุณดุจดาวเป็นต้นเหตุ เพราะในหนังสือจะมีรายละเอียดมากกว่านั้น
    แต่เรากำลังจะสื่อว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม บางมุมน่ารัก บางมุมน่าเกลียด 
    อยู่กับแฟนเราอยากจะเปิดด้านไหนให้ดู อยู่กับเพื่อนเราจะเปิดด้านไหนให้ดู 
    สุดท้ายแล้วเราต่างก็เคยเผยด้านน่าเกลียดทั้งนั้น 
    แต่สิ่งที่สำคัญคือเรายอมรับความน่าเกลียดของตัวเองได้หรือเปล่า 


    "ถ้าวันนี้ฉันยังไม่สามารถโอบกอดชิ้นส่วนที่ผุพังที่สุดของตัวเองได้ คนอื่นจะรู้วิธีโอบกอดมันได้อย่างไร และถ้าวันนี้ฉันยังยอบรับส่วนเว้าแหว่งของตัวเองไม่ได้ ฉันจะสามารถยอมรับความเว้าแหว่งของใครได้
    ฉันจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้อย่างไร ถ้าฉันยังไม่สามารถเห็นอกเห็นใจตัวเองได้อย่างอ่อนโยน"- ดุจดาว

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in