เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กลับเข้าสู่ช่วงต่อไปของรายการfungfa
วันอาทิตย์ 18.50: ดูเด็กร้องเพลง
  • นั่งดูรายการประกวดร้องเพลงเด็กรายการหนึ่ง วันนี้มาถึงรอบที่จะต้องให้เด็กขึ้นมาร้องเพลงเดียวกันด้วยกัน ทีละสามคน ก็นั่งดูบ้าง หันหลังไปทอดไข่บ้าง เคี้ยวข้าวไปได้ยินไม่ชัดบ้าง ผ่านไปหลายโชว์ มีหลายเพลงเป็นเพลงที่มีเนื้อหา มีอารมณ์ และเรียกร้องประสบการณ์ชีวิตค่อนข้างสูง ในการจะร้องถ่ายทอดมันออกมา น่าเสียดาย (หรือมันควรจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วก็ไม่รู้) ที่เด็กบางคนทำได้มากที่สุดคือการบีบสีหน้าตัวเองให้ออกไปตามถ้อยคำในเพลงนั้น

    สุดท้ายมีที่เราชอบอยู่แค่โชว์เดียว เป็นเพลงเร็ว เนื้อหาเบาๆ เด็กๆ พอเข้าถึงได้ เน้นเต้นเข้าว่า ร้องไม่ดีหรอก แย่งกันหลงคีย์ก็ปานนั้น แต่เราชอบ นี่แหละคือเด็ก ไม่ได้บอกว่าเด็กต้องสนุกตลอด เด็กเศร้าไม่เป็น แต่มันคือการให้เด็กได้ทำอะไรในสิ่งที่เขาทำความเข้าใจมันได้ ที่เขาเข้าถึงได้ มันก็จะออกมาเป็นเด็ก เป็นธรรมชาติ เป็นวัยของเขา ไม่ใช่มาร้องเพลงอกหัก ตัดพ้อคนรักเก่า อะไรก็ปานนั้น เด็กบางคนลูกกระเดือกยังไม่ทันขึ้น!

    นึกถึงรสนิยมในการดูทีวีของตัวเองตอนเด็กๆ คือเราจะชอบดูรายการเด็กแทบทุกรายการ ยกเว้นรายการที่มีเด็ก พูดง่ายๆ คือเราจะชอบดูเจ้าขุนทอง กล้วยหอมจอมซน การ์ตูนเนทเวิร์ค หรืออะไรเทือกนั้น มากกว่ารายการอะไรสักอย่างที่เอาเด็กมาเป็นพิธีกร ทำท่าโบกมือสุดแขน ร้องว่า "ตามมาครับเพื่อนๆ ไปดูกันเล้ยยย" (ใครเพื่อนแก?) หรือเอาเด็กมาโชว์ความสามารถอะไรสักอย่าง แล้วก็ยื่นไมค์สัมภาษณ์ให้เด็กตอบด้วยเสียงเหมือนซ้อมสคริปต์กันมาตั้งแต่ตีห้าแล้วอัดรายการกันตอนสิบเอ็ดโมงเช้า คือวิญญาณเด็กไม่เหลือแล้ว

    เรารู้สึกว่า ปัญหาของรายการเด็กบ้านเราคือ ผู้ใหญ่มักคิดได้แค่ว่า รายการเด็ก คือรายการที่มีเด็ก หรือถ้าเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ก็คือการ์ตูนที่มีตัวละครเป็นเด็ก เพื่อให้ดูเป็นคนวัยเดียวกัน หรือเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวัยเดียวกันได้ แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อผ่านกระบวนการอันมากมายที่ดำเนินการโดยผู้ใหญ่แล้ว เด็กหรือตัวคาแร็คเตอร์การ์ตูนเด็กเหล่านั้น ก็ได้ถูกปรุงและแต่งเสียจนกลายเป็นแค่ผู้ใหญ่ที่สิงร่างเด็กเท่านั้นเอง

    ถ้าเอาความรู้สึกส่วนตัว ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบรายการแบบนั้น เราว่ารายการเหล่านั้นมันเข้าไม่ถึงเรา เราเป็นเด็กบ้านนอก กลางภูเขา ล้อมด้วยดอกไม้ใบหญ้า กลางวันปีนต้นไม้ กลางคืนดูดาว (แบบไม่มีกล้องและไม่ต้องฝันถึงท้องฟ้าจำลอง) แต่รายการเหล่านั้น มันคือไลฟ์สไตล์ของเด็กในเมือง วันหยุดไปเรียนบัลเล่ต์ เรียนเปียโน จนเก่งพอจะมาโชว์ในรายการ  มีดาราตัวการ์ตูนในรายการทีวี ไปออกบูธร่วมทำกิจกรรมในโรงเรียนดัง หรือห้างใหญ่ๆ ที่ดูเหมือนจะคิดแล้วว่า ทุกคนจะสามารถเข้าถึง "เสาร์นี้ขอชวนน้องๆ ไปพบกับพี่มังกี้ได้ที่.... ร่วมเล่นเกมสุดสนุก ลุ้นรับของรางวัลมากมาย ไปพบกันให้ได้นะคร้าบบบ" เป็นสคริปต์ที่เหมือนคิดเองเออเองว่าเด็กทุกคนอยู่ในศูนย์กลางของประเทศ --- มันไม่ใช่รายการของเรา

    ไม่ได้จะบอกว่ารายการที่มีเด็กเป็นตัวละครหลัก (ขอเรียกรวมๆ อย่างนี้) นั้นไม่ดี แต่เราคิดว่ารายการเด็กที่ดี ควรเป็นรายการที่ให้เด็กในรายการได้ใช้ศักยภาพสมวัยของเขา อย่างรายการของฝรั่งบางรายการ ที่แบ่งทีมให้เด็กเข้าครัวทำอาหาร โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลให้คำแนะนำ เด็กที่ยังไม่โตมากก็ทำอะไรง่ายๆ อย่างเช่นขูดมันฝรั่ง ขูดแครอท เรียงสตรอว์เบอร์รี่ใส่จานไป ส่วนเด็กโตก็ไปอยู่หน้าเตาทำอะไรที่ยากและอันตรายขึ้น อะไรที่อันตรายมาก ผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนทำ ส่วนอีกทีมก็ไปจัดโต๊ะอาหารสำหรับปาร์ตี้ เป็นอะไรที่ทำกันเองได้ สวยบ้างไม่สวยบ้างก็อยู่ที่วัยของเขา ความสามารถ ความคิด หรือแม้กระทั่งกล้ามเนื้อมือ การทำงานที่สัมพันธ์กันของประสาทสัมผัสของเขาจะทำได้ มันจึงออกมาเป็นรายการที่เด็กก็ดูได้ ผู้ใหญ่ก็ดูเพลิน เพราะเด็กในทีวี ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ โชว์เหนือ ไปกว่าที่เด็กนอกทีวีทำได้ และพ่อแม่ที่ดูทีวีก็ไม่ได้รู้สึกว่า มีพ่อแม่ที่ไหนไม่รู้ กำลังอวดลูกตัวเองแข่งกับลูกของฉันอยู่

    แปลกดีที่คิดไปคิดมา วัฒนธรรมการปั้นลูกแข่งกัน มันอาจเริ่มมาจากตรงนี้ ตรงที่เด็กในทีวีออกมาโชว์ว่าเขาสามารถทำอะไรได้เกินวัยของพวกเขาบ้าง แล้วพวกผู้ใหญ่ก็พากันอึ้งทึ่งชื่นชม จนต้องรีบพาลูกตัวเองเข้ารับการเรียนรู้อบรมต่างๆ นานา ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จนมาถึงยุคที่มีการเตรียมสอบอนุบาล ติวสอบเข้าป.หนึ่ง

    บางทีอาจจะลืมไปนะว่า... ทีจะเป็นพ่อแม่คน ไม่เห็นต้องสอบอะไร ก็เป็นได้เลย ง่ายจัง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in