ปี 2009-10
อายุ 25-26
ดุริยางคศาสตร์ปี 1
กิจกรรมรับน้อง ผ่านไปแบบที่ฉันไม่ได้ใส่ใจ แค่ทำตัวกลมกลืนให้ผ่านๆไป ไม่มีปัญหากับใคร เพราะฉันรู้ว่ามาที่นี่คือมาเรียนเอาวิชา เรื่องอื่นไม่สำคัญทั้งนั้นล่ะ ฉันไม่ได้เห่อชีวิตมหาลัยเหมือนตอนเรียนตรีใบแรก
การมาเรียนดนตรีอีกใบ ฉันต้องทิ้งชีวิตเก่าอย่างเด็ดเดี่ยว และแลกกับอะไรหลายอย่างเพื่อจะมาทำแบบนี้ ฉันจึงตั้งเป้าหมายไว้สามอย่างว่า
1. ฉันต้องการเกียรตินิยมอันดับ 1 (เผื่อไปต่อยอดขอทุนเรียนต่อต่างประเทศได้)
2. ต้องได้เป็นศิลปินอินดี้
3. ต้องประกอบอาชีพ มีงานทำ เป็น Composer / Producer ได้
ฉะนั้นฉันต้องตั้งใจเรียนกว่าปกติมากๆ มันไม่เหมือนตอนเรียนตรีใบแรกแล้ว เพราะนี่คือชีวิตที่ฉันเลือกแล้วอย่างแท้จริง
ฉันได้สัมผัสชีวิตเด็กดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ กิจวัตรในแต่ละวันคือ
- ขับรถไปเรียน ชั่วโมงกว่า ที่ตลิ่งชัน
- เรียนวิชาต่างๆ ทฏษฎี ปฏิบัติ ฝึกประสาทหู
- เวลาว่าง ซ้อมเปียโนที่คณะ
- ซ้อมรวมวงกับเพื่อน ในวิชารวมวง
- ขับรถกลับ ชั่วโมงกว่า แถวลาดพร้าว
- ซ้อมเปียโนอยู่บ้าน
- เสาร์มีซ้อมและเล่นดนตรีกับวง puzzle ที่ร้านแถว RCA
- อาทิตย์มีงานสอนเปียโนที่สุขุมวิท
จะเห็นได้ว่า มีแต่การเรียนแล้วก็ซ้อม...
ฉันตั้งใจเรียนมากกว่าที่เคยเป็นในชีวิตนี้หลายเท่า เพื่อต้องการตามคนอื่นๆในเส้นทางดนตรีให้ทัน โดยเฉพาะในช่วง ปี 1 ที่เน้นการปฏิบัติ เล่นเครื่องดนตรี เพื่อวางพื้นฐานให้แน่น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันอ่อนที่สุด)
การเสียเวลาขับรถไป-กลับ มากไป ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าไหว สุดท้ายก็ตัดสินใจอยู่หอ โดยอยู่กับรูมเมทที่เป็นเครื่องเอกเปียโนเหมือนกัน และการอยู่หอที่นั่นเอง ทำให้ได้รู้สึกถึงการขึ้นเขาไปฝึกวิชาอย่างแท้จริง เพราะแถวๆนั้นไม่ได้น่าอยู่เหมือนอยู่บ้าน...
ละแวกนั้นมีข่าวการลักขโมย ระเบิด ฆ่าตัวตาย ปล้น จี้ ชิงทรัพย์ ฯลฯ อยู่บ่อยครั้ง มิชฉาชีพเยอะ ต้องระวังตัวเอง แต่ต้องอยู่ เพื่อแลกกับชั่วโมงซ้อมที่มากขึ้น โดยสุดท้ายแล้ว เมื่อจบปีการศึกษาแรก ฉันรู้สึกคุ้มค่า เพราะได้อัพสกิลขึ้นมาค่อนข้างเยอะ
ฉันถือว่ายังโชคดีมากกว่าหลายๆคน ประสบการณ์การเล่นดนตรีแบบฝึกเองของฉันไม่ได้เสียเปล่าไปซะทั้งหมด แม้มันจะไม่เก่งพื้นฐานการเล่นเครื่องดนตรีเท่าคนอื่นๆ แต่ทักษะการร้องเพลง ประสาทหู การฟัง และ sense ทางดนตรี มันถูกหล่อหลอมมาเกือบสิบปี ฉันพบว่า ฉันเป็นคนหูดีมากในเชิงของตัวโน๊ต คือสามารถแยกแยะระดับเสียงตัวโน๊ตที่แตกต่างกัน หรือคอร์ดและขั้นคู่ต่างๆ ได้ถือว่าอยู่ในระดับดี และสามารถร้องออกมาได้ค่อนข้างตรงด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยได้มากๆ ในเส้นทางของ Composer
มีกรณีศึกษายกตัวอย่าง มีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง นามสมมุติ B
B เป็นคนมุ่งมั่น เขาเพิ่งมาเริ่มสนใจและเล่นดนตรีได้ไม่นาน และพยายามซ้อมพื้นฐานเปียโนจนสอบติดเข้ามาได้ ในขณะที่พื้นฐานสามารถไล่สเกล ไล่คอร์ดได้ เล่นตามโน๊ตพอได้ แต่ B ไม่สามารถเล่นคอร์ดร้องเพลงได้ (ในขณะที่ฉันสามารถทำได้แบบสบายๆ) ทำให้ B มีปัญหาหนักยิ่งกว่าฉันซะอีก เพราะไม่เพียงแต่ปฏิบัติที่อ่อน แต่ ear training ก็อ่อน ทำให้ทุกอย่างอ่อนไปหมด ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานหลายปี กว่าจะกลบจุดอ่อนตรงนี้และตามเพื่อนๆทัน
ฉันคิดว่าความมุ่งมั่นของฉันกับ B ก็อาจจะพอๆกันน่ะแหละ แต่ความแตกต่างสิบปีนี้มันไม่สามารถย่นระยะกันได้ง่ายๆ ดนตรีมันไม่มีทางลัดจริงๆ และการเล่นเปียโน หรือกีตาร์ แบบตีคอร์ดร้องเพลงได้ นี่มันคือ sense พื้นฐานทางดนตรีอย่างหนึ่ง ที่ยิ่งเคยทำมาเยอะ มันก็ยิ่งหล่อหลอมให้ประสาททางดนตรีเฉียบคมขึ้นได้เช่นกัน นั่นคือสิ่งที่ฉันเพิ่งเข้าใจ
ช่วงนั้นฉันได้สรรหาโปรเจคมาเข้าร่วมเพื่อพัฒนาตนเองอีกแล้ว ตามประสาเด็กไฮเปอร์ เป็นโปรเจคฝึกแต่งเพลง โปรดิวซ์วง ฉันได้ตั้งวงดนตรีที่สองในชีวิตกับเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน ชื่อว่า "พลาสติกแตก" (Plastic Tag) ตอนนั้น อาทิเช่น เต๊นท์ (วง Summer Dress ในปัจจุบัน) (ปล. ชื่อวงถูกคิดโดนเต๊นท์นี่แหละ เจ้าพ่อครีเอทคำแปลกๆ)
เด็กๆ รุ่นเดียวกัน เพิ่งจบจากมัธยมซะเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่า แม้ฉันจะอ่อนเรื่องสกิลดนตรีมากกว่า แต่ฉันมีประสบการณ์มากกว่าในเรื่องการฟังเพลงที่มากกว่า ฉันเป็นเหมือนตัวแพร่ลัทธิเพลงอินดี้ต่างประเทศ เปิดมุมมองให้เด็กๆในรุ่นหลายๆ คน
ดังนั้น การรวมตัวกันทำวงกับเด็กๆ จึงทำให้เกิดการ ออสโมซิส ร่วมกัน ฉันก็ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ดนตรีไปด้วย
ฉันแต่งเพลงในวง เราเล่นวงนี้ด้วยกันอยู่ระยะหนึ่ง วงของเรามีการไปเล่นตามงานของคณะ และงานมหาวิทยาลัย โชว์สาวอะไรไปเรื่อย รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ในคณะอื่นๆ เข้าสังคมของศิลปากรเต็มตัว
ในสังคมศิลปากร จะเรียกเด็กดนตรีว่า เด็กดุริยางค์ หรือ "เด็กดุฯ" ซึ่งค่อนข้างจะ popular ในหมู่สาวๆคณะอื่น และประกอบกับที่คณะดุริยางค์ฯเอง มีจำนวนนักศึกษาหญิงน้อยมากๆ จึงเป็นเรื่องปกติมากๆที่จะเห็น หนุ่มดุริยางค์ฯ คบกับสาวคณะอื่นๆ อาทิ เช่น อักษร ,โบราณคดี หรือ มัณฆนศิลป์
มันสนุกอยู่พอสมควรแหละกับชีวิตในช่วงนั้น เจอคนหลากหลาย แต่ฉันที่โฟกัสแน่วแน่กับการเรียน และการฝึกฝนดนตรี เลยไม่ได้สนใจเรื่องสาวเท่าไรตอนนั้น
ในช่วงนั้นปลายๆของปีการศึกษานั้นเอง ฉันได้เข้าร่วมโปรเจคประกวดอีกโปรเจค คือการทำคัพเวอร์เพลงวงพราวในแบบของตัวเอง ทำให้ได้ตั้งวงดนตรีวงที่สามขึ้นมาในชีวิต นั่นคือวง "Handicat" และนี่เป็นวงที่ฉันเป็นหัวหน้าวงเองวงแรก ในโครงการประกวดนั้น ทำให้ได้รู้จัก อาจารย์พิซซ่า วงพราว ก่อนที่จะได้เรียนกับแกเต็มๆในปีถัดๆไป
ฉันมีแนวคิดเรื่องชื่อวงตั้งแต่วันนั้น คือ คิดว่าต่อไปถ้าจะสร้างชื่อวงหรือชื่อแบรนด์อะไร อยากให้มีคำว่า cat ต่อท้าย ด้วยความบ้าแมวอยู่ในสันดาน
Handicat มาจาก Handicap + Cat เรียกง่ายๆว่า วงแมวพิการ ด้วยความที่ฉันอยากให้คาแรกเตอร์มันดูกวนตีน และมีความประหลาดหน่อยๆ เลยหยิบยกเอาคำว่า พิการ มาใช้
ฉันแต่งเพลงใหม่ขึ้นมา ชื่อเพลง "No Way Out" ซึ่งบอกกันตรงๆเลยว่า reference มาจากแนวดนตรีของวง Shibuya-kei ญี่ปุ่น ที่ฉันอินมากในช่วงนั้น คือ Supercar
ฉันพยายามค้นหาว่าทำยังไงจะได้ซาวด์แบบวงนั้น แล้วเริ่มแต่งเพลงโดยใช้วิชาหลายๆอย่างที่เรียนมา รวมกับความรู้และประสบการณ์เสริมอย่างอื่น จนพอเมื่อเพลงคลอดออกมาคืนแรก ฉันตื่นเต้นกับมันมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ฉันเริ่มแต่งเพลงที่เข้าใกล้กับดนตรีในอุดมคติที่คิดไว้ได้เป็นครั้งแรก ฉันดีใจมากที่หลุดพ้นลายมือแบบเบเกอรี่ไปได้แล้วจริงๆ และสามารถสร้างสรรค์ดนตรีแบบที่ตัวเองออกแบบไว้ได้เป็นครั้งแรก
--- ย่อหน้าต่อไปเป็นศัพท์เฉพาะทางดนตรีซะเยอะ อ่านไม่รู้เรื่องข้ามได้ ---
มันเป็นเพลงที่สำคัญกับช่วงชีวิตฉันในตอนนั้น และเป็นจุดเริ่มของความสนใจในแนวคิดแบบ minimalism ที่ฉันเล่นกับ loop ของประโยคของตัวโน๊ต ที่ modulation ไปตาม mode ที่เปลี่ยนไประหว่าง Ionion และ mixolydian แบบเนียนๆ โดยมีโครงสร้างและซาวด์เพลงแบบ electronic dance แต่เล่นด้วยวงดนตรี rock band และมีสไตล์การร้องกลิ่นอาย uk punk มาผสม ซึ่งการใช้ mixolydian mode กับการเล่น loop และ electronic sound นี่แหละที่ฉันได้รับอิทธิพลมาจาก supercar และเป็นกุญแจดอกแรกสู่การทำดนตรีสำเนียงญี่ปุ่นสมัยใหม่เต็มรูปแบบในอีกหลายปีต่อมา
-----------------------------------------------------
เต๊นท์ Summer Dress ซึ่งตอนนั้นร่วมกันก่อตั้งวงในสมาชิกเซตแรก มีส่วนอย่างมากในกระบวนการนี้ loop ที่พูดถึงนี้ ทำร่วมกันกับเต๊นท์ ที่ขึ้นกีตาร์มาให้แล้วฉันนำไปพัฒนาต่อ และพัฒนาร่วมกันจนเป็นผลสำเร็จ
วง Handicat ทำเพลงส่งในโครงการนั้น โดยนอกจากเพลงที่แต่งเองแล้ว มีวงพราวอีก เพลงสองเพลง ที่เรานำมาเรียบเรียงใหม่ในแบบของเรา ซึ่งทำให้ได้ฝึกฝนฝีมือการทำดนตรีมากขึ้นไปอีก สรุปเราได้เข้ารอบสุดท้าย ไปเล่นให้กรรมการกับวงพราวฟัง แต่ไม่ได้รับรางวัล แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะ ฉันตื่นเต้นกับเพลงของตัวเอง และดีใจมากๆ เหมือนเราเจอแสงสว่าง เจอเสียงที่เราตามหา และเราเริ่มทำได้แล้ว เส้นทางเริ่มเปิดออก และเราได้เริ่มแล้ว
ฉันผ่านความลำบากของการซ้อม ได้รับประสบการณ์ที่มีค่า และดีมากๆ มากกว่าอะไรทั้งหมดในชีวิตที่เคยผ่านมา ในปีนั้น
ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนนั้นเอง เต๊นท์ได้แยกตัวไปตั้งวงในแนวทางของตัวเอง และวง Summer Dress ได้ถือกำเนิดขึ้น
จนในท้ายสุด เกรดออก ฉันผ่านพ้นปี 1 ไปด้วยคะแนนที่น่าพอใจ คือได้ A เกือบทุกวิชา (ยกเว้นการปฏิบัติ ได้ B) เท่ากับ ฉันได้เข้าใกล้เป้าหมายที่วางเอาไว้ได้อีกนิด
(คลิป handicat และ summer dress ในงานศิลปากร ครั้งก่อนนั้น)
(panda showcase 2010)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in