เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ตกหลุมรักอ่าน-คิด-เขียน
ใครว่าความรักไม่มีเงื่อนไข




  • ใครว่าความรักไม่มีเงื่อนไข 

    ตอนบอกเขาว่าทำเพื่อเธอ จริง ๆ แล้วทำเพื่อใคร … ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเอง



                ความรักนั้นยิ่งใหญ่—อา ก็ใช่

                ความรักคือการให้—อืม ไม่เถียง

                ความรักคือการเสียสละอันไร้เงื่อนไข—


                มาถึงจุดนี้คุณอาจจะหวนนึกไปถึงตอนที่แฟนนอนหนุนไหล่ คุณคิดในใจว่า ‘โคตรเมื่อยเลยเว้ย’ แต่เพราะเห็นแก่แฟนที่อยู่ในอารมณ์อยากอ้อนหรือเหนื่อยก็แล้วแต่ คุณกัดฟันทน และคุณก็พยักหน้ายิ้ม ๆ กับตัวเองว่า นั่นแหละคือความรัก .. ก็คุณเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อคนที่คุณรักนี่นา


               จริงเหรอ


               คุณแน่ใจได้ยังไงว่ามันไม่ได้มาจาก 1) ความกลัวว่าแฟนจะไม่ชอบเราถ้าเราไม่ยอม 2) ความรู้สึกอิ่มเอมที่แฟนแสดงความรักความไว้ใจในตัวเรา 3) ความรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นที่พึ่ง ได้ช่วยเหลือคนอื่น

               แล้วคุณจะเรียกสามอย่างนี้ว่าการเสียสละได้เต็มปากได้ยังไง ในเมื่อทุกตัวเลือกมีแต่ ตัวคุณ เต็มไปหมด


               โอเค พักเรื่องนี้ไว้ก่อน ตอนนี้คุณอาจมีคำตอบหรือข้อแย้งในใจ แต่ขอให้ฟังกันก่อน บางทีคุณอาจจะเห็นด้วยกับฮอบส์ก็ได้ นักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อดังคนนี้เป็นผู้เขียน Leviathan ที่เป็นรากฐานของแนวคิดปรัชญาการเมืองตะวันตกมากมาย รวมไปถึงสัญญาประชาคมที่พวกคุณรู้จักกันดีด้วยน่ะแหละ โทมัส ฮอบส์ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิด “อัตนิยมจิตวิทยา” (psychological egoism) ที่ยืนยันว่าพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความเห็นแก่ตัว กล่าวคือ ทุกการกระทำของเรามาจากความต้องการของตัวเราและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเราทั้งสิ้น หนึ่งในคำพูดที่โด่งดังของเขาคือ “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดให้โดยปราศจากเจตนาเอาดีเข้าตัว เนื่องด้วยการให้มาจากความสมัครใจ และทุกการกระทำที่สมัครใจของมนุษย์เป็นไปเพื่อความสุขของตนเองทั้งสิ้น” ดังนั้นการที่คุณให้แฟนซบไหล่มันก็อาจเป็นเพราะคุณรู้สึกดีที่ได้ถูกพึ่งพิง ได้รู้สึกว่าตัวเองมีค่าเพราะเป็นที่รัก และกลัวเขาจะทิ้งคุณไปจนทำให้คุณรู้สึกแย่ก็ได้


    ตอนนี้คุณอาจจะขมวดคิ้ว เบ้ปากแล้วคิดว่า เฮ้ย ลุงแกมั่วรึเปล่า ถึงความสัมพันธ์กับแฟนมันอาจจะเป็นแบบนั้นจริง แต่มันก็มีตัวอย่างการกระทำที่เป็นการเสียสละเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังผลถมเถ ดูอย่างพ่อแม่เรา ดูอย่างน้องสาวเราที่รักศิลปินสิ ดูอย่างแม่ชีเทเรซ่าสิ คนเหล่านี้เขาหวังผลที่ไหน ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขน่ะ มันมีอยู่แน่ ๆ!



    จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คุณจะคิดแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้รับอิทธิพลจากความรู้และคุณค่าของศาสนาคริสต์ซึ่งได้แทรกซึมไปทุกมุมโลกจากการเผยแผ่ศาสนาและปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ ความรักแบบ ‘agape’ คือความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรา เป็นความรักที่ไม่แยกแยะคุณค่าของผู้รับ ด้วยเหตุที่ความรักของพระเจ้าเป็นรูปแบบความรักและเสียสละเพื่อมนุษยชาติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น การแบ่งปันความรักในรูปแบบนี้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนตามหลักการ “love thy neighbor” ที่เน้นความเมตตาและการให้อภัย จึงเป็นสิ่งสูงส่งและบริสุทธิ์ และเป็นความรักที่คู่ควรกับสังคมที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นจริง และดำรงอยู่ในคู่ความสัมพันธ์ที่หลากหลายด้วย


    หากคุณลองเปิดใจ สวมใส่แว่นตาของฮอบส์เวลามองผู้คนรอบตัวดูสักวันสองวัน ไม่แน่คุณอาจจะเห็นโลกที่เย็นชาและโหดร้าย โลกที่สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ทำให้แก่กันอาจมาจากการหวังผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ .. ความรักก็เช่นกัน มันก็เป็นไปได้ไม่ใช่เหรอ ว่าบ่อเกิดของความรักก็คือความเห็นแก่ตัว น่ะ


    เราเอาแต่โฟกัสว่ารักคือ “การให้” และ “เสียสละ” แต่จริง ๆ แล้วรักก็เป็นเรื่องของ “การรับ” และ “เติมเต็ม” ด้วยเหมือนกันนะ ดูอย่างความรักโรแมนติกที่เห็นอยู่ทุกวันนี้สิ



    คุณคงอาจเห็นภาพยนตร์ที่เพิ่งเข้าโรงช่วงวาเลนไทน์นี้ (ปี 2562) ผ่านตามาบ้าง บางคนอาจจะได้ไปดูพร้อมคนรัก บ้างก็อาจจะไปดูพร้อม “เพื่อนที่แอบรัก” ใช่แล้ว นั่นก็คือภาพยนตร์จากค่ายดัง  GDH อย่าง Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน นั่นเอง ใครที่ไม่ได้ดูก็ไม่ต้องรีบกดปิด ตรงนี้ไม่ได้มีสปอยล์แต่อย่างใด แค่อยากชวนให้มองที่ตัวพระเอก บทของเพื่อนสนิทที่แอบรักและทำทุกอย่างเพื่อนางเอก คอยอยู่ข้างกัน ดูแล “เพื่อน” คนนี้อยู่เสมอ สำหรับคนที่เคยอยู่ในเฟรนด์โซนเหมือนกันก็คงอินได้ไม่ยาก ความรักที่มีให้ไปแบบไม่ได้รับกลับ แต่เราก็ยังยินดีให้ได้ทุกอย่าง “เหมือนหมาที่รักเจ้าของ” อย่างที่ตัวละครในเรื่องพูดเอาไว้


    แต่ว่าถ้ามองดูดี ๆ แล้ว อาจจะมีอีกด้านหนึ่งซ่อนอยู่ก็ได้ ดังเช่น บทพูดจากตัวอย่างหนังที่ว่า “บอกว่าอยู่กับเราแล้วสบายใจ แต่สุดท้ายแม่xก็ไม่เลือกGu” คำพูดนี้กำลังแสดงให้เห็นถึงอะไรอยู่กันนะ ตัวเพื่อนที่แอบรักนั้น “ให้และเสียสละ” เพื่ออีกฝ่ายอย่างเดียวจริง ๆ น่ะหรือ หรือว่าเขากำลังทำเพื่อตัวเองอยู่ด้วย


    หรือถ้าลองเปลี่ยนจากเฟรนด์โซนมาดูหนุุ่ม/สาวสายเปย์กันบ้าง เวลามองเพื่อนที่มีแฟนซื้อนู่นซื้อนี่ให้อาจจะเผลอรู้สึกว่า แฟนเปย์อะ อิจฉา กลุ่มคนกระเป๋าหนักเหล่านั้นช่างดูเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

    แต่ว่า…มันคือการให้อย่างเดียวจริงหรือเปล่านะ


    เราอยู่ในโลกทุนนิยม ทุกอย่างต่างขับเคลื่อนด้วยทุนและถูกตีค่าอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คริสเทน อาร์ ก็อดซี  (Kristen R. Ghodseeนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันกล่าวไว้ในงานเขียนของเธอว่า สังคมแบบทุนนิยมที่เราอาศัยอยู่นั้นทำให้ความรักเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนสินค้า แน่นอนว่าการแลกเปลี่ยนนั้นก็มีทั้งให้และรับ ฝ่ายหนึ่งอาจจะให้ของขวัญ ให้กระเป๋า อีกฝ่ายก็อาจจะแลกเปลี่ยนด้วยการดูแลเอาใจใส่ แสดงออกว่าเชื่อฟัง สังคมปัจจุบันเอื้อให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่า จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแฟนสายเปย์ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชาย และฝ่ายที่อำนาจน้อยกว่าจึงต้องสร้างทุนในแบบของตัวเองเพื่อพึ่งพาอำนาจนั้น พอมองแบบนี้แล้ว ฝ่ายที่ให้ก็ใช่ว่าจะให้อย่างเดียว ฝ่ายที่รับก็ใช่ว่าจะรับอย่างเดียว ความรักจึงเกิดขึ้นพร้อมเงื่อนไขล่องหน เพราะสภาพของสังคมกระตุ้นให้เป็นเช่นนั้นนั่นเอง


    เพราะฉะนั้นแล้ว การกระทำที่ดูแสนดีต่าง ๆ อันที่จริงอาจไม่ได้ทำเพื่ออีกฝ่ายเสียทีเดียว แต่กำลังเป็นการเติมเต็มตัวเราอยู่ด้วย เราทั้งให้และรับ (หรือหวังว่าจะได้รับ) ไปพร้อม ๆ กัน จะว่าเป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนเลยก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก หรือถ้าบอกว่าทำเพื่อให้เขามีความสุข ถ้าอย่างนั้นการที่เขามีความสุข รอยยิ้มเขามันก็ตีค่าเป็นอะไรบางอย่างสำหรับเราด้วยหรือไม่ อย่างในกรณี Friend Zone การที่คอยช่วยเหลือ คอยให้กำลังใจ ยอมเก็บความรักไว้โดยไม่บอก ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากทำลายความสัมพันธ์ดี ๆ ด้วยกลัวว่าอีกฝ่ายจะห่างเหินตัวเองไป หรืออาจเติมเต็มความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตน เพราะถือว่าเราได้รับบทพระรอง/นางรองที่แสนดี ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีใครอยากดูเป็นตัวร้ายในสายตาอื่นหรอก

                


         ยกมือไม่อินความรักโรแมนติก แต่อินความรักระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน แบบนี้คือการให้และเสียสละแบบไม่มีเงื่อนไขโดยแท้จริงหรือเปล่า

               


    มองจากมุมคนนอก ความรักที่แฟนคลับมีต่อศิลปินนั้นเป็นความรักที่มอบให้คนที่เขาอาจไม่เคยเห็นหน้าเรา เป็นความทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อเขา แต่หากลองคิดในมุมมองคนในดูบ้าง จริงๆ แล้วทุกการทุ่มเทของแฟนคลับที่ให้ศิลปินไปคือคุณค่าทางจิตใจที่พวกเขาได้รับด้วยเหมือนกันนะ 


               คุณค่าทางจิตใจ ของจำพวกอัลบั้ม โปสเตอร์ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนศิลปินแล้ว ล้วนแต่ให้ความสุขแก่แฟนคลับทั้งสิ้น ลองมองไปที่โปสเตอร์ข้างผนังห้องของคุณดูสิ กลุ่ม “มักเกิล” (คนที่ไม่ต่ิ่ง) อาจไม่เข้าใจ แต่สำหรับกลุ่มแฟนคลับแล้ว สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจมาก  ถ้าให้เทียบก็คงเหมือนของรักของหวงของแต่ละคนนั่นแหละ การเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ตก็เพื่อเจอศิลปินตัวเป็น ๆ ก็เช่นกัน จากที่เห็นในจอก็กลายเป็นเห็นเขาอยู่ตรงหน้า การได้เจอเขาก็คือความสุขของเรานั่นเอง

    ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อาจกล่าวได้ว่า ศิลปินเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของแฟนคลับ  ทำให้มีแรงสู้ต่อ หลายคนเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ตก็เพื่อเจอศิลปินตัวเป็น ๆ จากที่เห็นในจอก็กลายเป็นเห็นเขาอยู่ตรงหน้า แบบนี้การได้เจอเขาก็คือความสุขที่เราได้รับนั่นเอง


    เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ความรักที่แฟนคลับให้ศิลปินไปนั้นก็ย้อนกลับมาหาตัวเองด้วยไม่ต่างจากกรณีที่แล้ว แต่ไม่ต้องคิดหรอกนะว่า โอ้ เรานี่ช่างเห็นแก่ตัว เพราะความสัมพันธ์รูปแบบนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้าง “ได้กับได้” อยู่เหมือนกัน เพลง Pied Piper ของวงบอยแบนด์เกาหลีที่กำลังมาแรงอย่าง BTS ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนคลับบนพื้นฐานแห่งความจริงที่อาจไม่สวยหรูนัก ศิลปินก็เป็นเหมือนชายนักเป่าปี่ (piper) ที่ล่อลวงเด็ก ๆ หรือก็คือแฟนคลับ ให้เดินตามเสียงเพลงไป แต่แน่นอนว่า “เด็ก ๆ” ก็ยินยอมที่จะตามออกไป เพราะสุดท้ายต่างฝ่ายก็ต่างตัดขาดจากกันไม่ได้ และยังช่วยเติมเต็มบางส่วนของกันและกันด้วย



    แล้วความรักของพ่อแม่ล่ะ ? ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข  ความรักความหวังดีที่อยากให้ลูกประสบความสำเร็จและมีความสุข นี่ไง ความรักที่ไม่ได้มีเพื่อตัวเอง



    หากจะพูดอย่างนี้ก็คงต้องย้อนต้นตอไปถึงคำถามว่า ทำไม พ่อแม่ถึงอยากให้ลูกมีความสุข เพราะสัญชาตญาณของพ่อแม่ที่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่แรก หรือเพราะความสุขของลูกมันทำให้พ่อแม่มีความสุขด้วยเหมือนกัน  ทำไมพ่อแม่ถึงอยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือทำอาชีพดี ๆ เพราะพ่อแม่หวังดี อยากให้ลูกเลี้ยงตัวเองได้ หรือเพราะความมั่นคงของลูกมันสามารถเติมเต็มความฝัน เพิ่มความสบายใจ และลดความกังวลของตัวพ่อแม่ได้ 


    ใครที่เคยเห็นพ่อแม่ประเภทเฮลิคอปเตอร์—ที่ชอบโอ๋ลูกจนเสียคนหรือไม่ก็บังคับให้ลูกทำตามกรอบที่ตนกำหนด—ก็อาจจะเข้าใจประโยคข้างต้นได้ไม่ยาก เพราะพ่อแม่เหล่านี้จะช่วยเหลือและปกป้องลูกทุกอย่าง  ต้องการให้ลูกสุขกายสบายใจไร้ปัญหา วางแนวทางดำเนินชีวิต หรือบางทีถึงขนาดคิดแทน เพราะพวกเขามักจะคิดว่า พ่อแม่น่ะ รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกเสมอ ซึ่งก็น่าคิดนะว่าดีที่สุดสำหรับลูก วัดจากอะไร ใช่วัดจากความรู้สึกสบายใจของพ่อแม่ไหม  แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น จะเรียกว่าพ่อแม่หวังดีกับลูกแบบไม่มีเงื่อนไข ก็คงจะพูดยากหน่อย แถมอาจต้องมาพิจารณาดี ๆ ว่า


    ไอ้เจ้าความหวังดีนั้น มันเพื่อให้ลูกมีความสุข หรือให้พ่อแม่มีความสุขกันแน่ 


    เรื่องบางเรื่องก็อาจจะต้องลองมองจากมุมของลูกดูบ้างเหมือนกันนะ 




    แล้วบุคคลสำคัญของโลกอย่าง มหาตมะ คานธี หรือว่าแม่ชีเทเรซ่าล่ะ?



    หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ มหาตมะคานธี ผู้นำคนสำคัญในการเรียกร้องอังกฤษให้ปลดปล่อยอินเดียออกจากการเป็นอาณานิคม  นักต่อสู้ที่เสียสละเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับมวลมนุษยชาติด้วยสันติวิธี หรือแม่ชีเทเรซ่า  นักพรตหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ในหลายประเทศ


    ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้เรียกร้องของคานธีรวมถึงความช่วยเหลือของแม่ชีเทเรซ่านั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคม เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน รวมถึงสร้างความเท่าเทียม ความรัก และปลุกเร้าแนวคิดความตระหนักคุณค่าในตัวมนุษยชาติได้อย่างมหาศาล


    ดังนั้นหากจะสรุปรวมว่าความรัก ความทุ่มเทที่ท่านทั้งสองเสียสละให้กับพลเมืองเป็นสิ่งที่ไร้เงื่อนไขหรือเป็นการให้โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ นั้นก็ไม่ผิดหรอก  แต่หากเราลองหยิบแว่นตาของฮอบส์มาใส่ เราก็จะพบว่านอกจากเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความรักและความเสียสละดังกล่าว มีส่วนช่วยเติมเต็มภาพในอุดมการณ์ ลบเลือนบาดแผลบางอย่าง รวมถึงสร้างความรู้สึกที่มีค่าและเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้ร่วมด้วย  การเสียสละที่ชุบชูจิตใจและชีวิตให้มีคุณค่า นี้อาจเป็นความหมายของการทำเพื่อผู้อื่นที่มีต่อตัวเราเอง แล้วคุณล่ะ เคยสัมผัสความรู้สึกแบบนี้แล้วหรือยัง?




    สุดท้ายแล้วความรักที่ไม่มีเงื่อนไขมีอยู่จริงหรือไม่ ?


    พูดกันตามตรงแล้วก็ยังฟันธงไม่ได้ มันอาจจะมีอยู่จริงเพียงแค่เรายังนึกไม่ถึง แต่มันก็อาจเป็นเพียงภาพมายาที่ทุกคนต่างยอมเดินเข้าไปหาด้วยความสมัครใจ



    ทว่าจากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ไม่ว่าจะใส่แว่นตาของฮอบส์อยู่หรือไม่ อย่างน้อยเราก็เห็นได้เลยว่าไม่ว่าความรักแบบไหนก็ยิ่งใหญ่และสวยงามได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรักต่อมวลมนุษยชาติ ความรักในครอบครัว ความรักแบบคู่ชีวิต หรือแม้แต่ความรักของศิลปินที่มีต่อแฟนคลับ แม้ว่าความรักเหล่านี้ต่างก็มีบ่อเกิดมาจากความเห็นแก่ตัว แต่เฮ้!!  ไอ้เจ้าความเห็นแก่ตัวนี้มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมดหรอกคุณ มันอาจจะเป็นคำที่ฟังดูแย่ แต่ทั้ง ๆ ที่คุณหวังผล คุณก็ยังยอมปวดไหล่ให้แฟนคุณหนุน ยอมซื้อเครื่องสำอางให้แฟน เปย์ศิลปิน และมันก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าพ่อแม่หวังดีกับเรา หรือลบล้างความดีงามของคานธีและแม่ชีเทเรซ่าสักหน่อยจริงไหม เพราะฉะนั้นหากถึงวันนั้นที่คุณเดินทางไปสุดขอบโลกแล้วยังไม่เจอไอ้ความรักไร้เงื่อนไขนั่นสักที ก็คิดเสียว่า ถึงมันจะเป็นการกระทำแบบอัตนิยม แต่ถ้าผลของการกระทำนั้นคือสิ่งที่ดี ... 



    ก็ถือเสียว่าเป็นเพียงพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่เป็นดินร่วน คอยหล่อเลี้ยงให้ดอกรักเบ่งบาน



    -----------------------------------

    **ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้างผลงาน ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง**

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชาศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2561


    เรื่องและภาพ: เมธินี โสภา ชัญญานุช ปั้นลายนาค  และพิชญา วินิจสร 


    บรรณาธิการ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป


    แหล่งอ้างอิง:

    https://plato.stanford.edu/entries/love/#LoveBestValu

    https://www.iep.utm.edu/egoism/#SSH2b.i

    https://thaipublica.org/2017/04/pridi44/

    https://www.youtube.com/watch?v=4S81gZQ68LE

    https://colorcodedlyrics.com/2017/09/bts-bangtansonyeondan-pied-piper

    WHY WOMEN HAVE BETTER SEX UNDER SOCIALISM And Other Arguments for Economic Independence by Kristen R. Ghodsee

    https://www.voathai.com/a/helicoper-parents-ct/3184499.html

    pixabay.com

    pexels.com






เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in