เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
แด่ความรู้สึกบนแผ่นฟิลม์: a 2017 cinematic retrospective

  • “It is an example of what films can do, 
    how they can slip past your defenses and really break your heart.” 

    ― David Gilmour


    "นับเป็นตัวอย่างของพลังแห่งภาพยนตร์ 
    ที่สามารถเล็ดลอดผ่านเกราะป้องกันของเราและทำหัวใจเราแตกสลาย"

    ― เดวิด กิลมอร์


    ขอบคุณปี 2017 ที่ทำให้เราได้ดูหนังมากมาย หลากอารมณ์และความทรงจำ

    เรารักและขอบคุณหนังที่ทำให้การดูหนังเป็น ‘ประสบการณ์’ (experience) ที่ทำให้เรา ‘รู้สึก’ อะไรๆ ยาวนานหลังฉากสุดท้ายและเมื่อก้าวออกจากโรง

    หนัง 10 เรื่องต่อไปนี้เป็น 10 เรื่องที่กระทบความรู้สึก ความคิด และหัวใจเราหลังดู เป็น 10 เรื่องที่รวมกันเป็น 2017 ของเรา


    เพราะเด็กสาวคนนั้นคือตัวฉันในวันวาน

    หนัง coming of age ผลงานกำกับแรกของเกรต้า เกอร์วิคที่โดดเด่นด้วยตัวละครที่ทำให้เราหวลกลับถึงชีวิตวัยรุ่น ถึงคนที่เราเคยรู้จัก เด็กหนุ่มที่เข้ามาและจากไป เพื่อนสนิทที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย ปัญหาที่ถาโถมในวันที่รู้สึกเหมือนโลกไม่เข้าข้างพร้อมไม่มีใครเข้าใจ และความสัมพันธ์แม่ - ลูกที่สมจริงราวเขียนจากประสบการณ์ของเราเอง

    Lady Bird คือหนึ่งในหนังหายากที่สามารถผสานการดิ้นรนปรับตัวเข้ากับโลกของวัยรุ่น และสายสัมพันธ์ครอบครัว เข้ากับอารมณ์ขัน ฉากโดนใจ และการคืนสู่บ้านของเกอร์วิคอย่างสวยงาม

    หนังที่เคาะประตูห้องในความทรงจำของเรา ร้องขอจะเข้าไป เพราะเราก็เคยทำสิ่งนั้น รู้สึกแบบนั้น คิดอย่างนั้น พูดแบบนั้น และทุกสิ่งมันคือความจริง

    'of course, yes. i've had one of those. i did that. i was there. it was real.'


    เพราะเขาคนนั้นเคยทำให้ฉันเริ่มรู้สึก

    หนังแห่งรักแรกที่สร้างรอยร้าวในใจเรา เพราะการมองย้อนถึงช่วงเวลานั้นคือความทรงจำอันหวานขม เพราะการเฝ้ามองเอลลิโอและโอลิเวอร์คือการมองความรักอันบริสุทธิ์ในชีวิตที่เป็นไปและเวลาที่ผ่านพ้น 

    ลูก้า กัวดาญีโน่สร้างหนังด้วยความรัก ความรู้สึก อาบหน้าร้อนสั้นๆ ด้วยแสงแดด สีสัน และสองเรา

    Call Me By Your Name เป็นหนังรักที่เราดูซ้ำอีกได้ไม่รู้เบื่อ เพราะความรัก ความละเอียดอ่อนและความทรงจำถึงเขาคนนั้น ย่อมมีพื้นที่ในหัวใจเราเสม

    เพราะชีวิตเดิมพันด้วยการตัดสิน ‘ใจ'

    โลกโมโนโทน แนบนิ่งแต่กรีดลึกของยอร์กอส ลานติมอส การเขียนบทที่ตรงไปตรงมาเพื่อโฟกัสประเด็นธรรมชาติของมนุษย์ ตัวตนที่แท้จริงในการผ่าตัด ‘หัวใจ’ เพื่อหา ‘ศูนย์กลาง’ ของชีวิตตัวเองในยามคับขัน

    เสียงเพลงที่จงใจใส่เพื่อสั่นประสาทคนดู และความซับซ้อนของเรื่องราวและการกระทำ การตัดสินใจ และคำพูดของตัวละครที่ให้อิสระคนดูตีความกันเอาเอง

    หนังที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของยอร์กอสเกาะติดความคิดของเราหลายวันหลังดู เป็นความบันเทิงจากหนังที่ดูเรียบง่ายหากเป็นเขาวงกตที่ไร้ทางออกหนึ่งเดียว

    เพราะเราต่างต่อสู้สงครามของตัวเอง

    แด่ความแปลกใจของเราที่รักหนังสงครามเรื่องนี้มากกว่าจะคาดคิด

    จากเคยเดาผิดว่าคงจะเป็นหนังสงครามอีกเรื่องของปี Dunkirk ทำให้เราทึ่งด้วยการมอบ ‘ประสบการณ์’ การดูหนังแก่คนดู ประสบการณ์ ความรู้สึก การลุ้นระทึก กระวนกระวาย และตึงเครียดราวเป็นส่วนหนึ่งของสามไทม์ไลน์

    มากกว่าประสบการณ์คือการที่หนังให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นมนุษย์’ ในสงคราม การต่อสู้เอาตัวรอดของทหารบนหาด กลางทะเล และในฟากฟ้า

    Dunkirk คือความทุ่มเทและพิถีพิถันในการตัดต่อและถ่ายทำหนังที่เล่นกับเวลาและความรู้สึกคนดู คือการพาเรากลับไปหน้าร้อนของปี 1940 ตั้งแต่เสียงติ๊กแรกของนาฬิกาดังก้องในหัว

    เพราะยืนหยัดต่อคำตัดสินจากคนแปลกหน้า

    หนังที่ดูแล้ว ‘อิ่ม’ ในความรัก ความอบอุ่น และหัวใจเด็ดเดี่ยวของตัวละครหลักทั้งสาม แสงสีที่สื่อถึงยุคก่อนและแม่สาวมหัศจรรย์ในความคิด การตัดต่อที่น่าติดตาม บทและการแสดงที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก ความตั้งใจ เคมีที่ตรงกันและสัมผัสได้

    เพลง ‘Feeling Good’ ที่ทำให้หัวใจโบยบิน และความละเมียดละไมในทุกการกระทำและสายตาของตัวละคร ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่า ‘เรื่องหลังม่าน’ แห่งกำเนิดสาวมหัศจรรย์ แต่เป็นการตีแผ่ชีวิตที่กล้าจะรักและกล้าจะอยู่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่แท้จริงเป็นคนแปลกหน้าต่อความเป็นส่วนตัวและตัวตนของพวกเขา

    เป็นหนังที่ ‘กล้า’ จะเป็นตัวเองเพราะความรักแก่สาวมหัศจรรย์ในชีวิตจริง

    เพราะเป็นเขาก่อนจะกล้าสร้างโลกของตัวเอง

    ‘โลกส่วนตัว’ ของคนหัวใจศิลป์เป็นพื้นที่หวงห้ามที่อนุญาตให้น้อยคนเข้าถึง เพราะความคิดอันแรงเร็ว และสละสลวยเกินคนรอบข้างในเมืองแสนธรรมดาจะเข้าใจ ในเด็กหนุ่มที่ยังลังเลในความเป็นตัวของตัวเอง

    เราหลงรักสตีเว่น แพทริก มอริซซีย์ของแจ๊ค โลว์เดนแต่ฉากแรกที่เห็น ด้วยรายละเอียดการแสดงในท่าทาง น้ำเสียง และคำพูดที่แหวกแนว ยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง การกระทำที่สะท้อนถึงความขัดแย้งในตัว อย่างการอยากอยู่ ‘ท่ามกลางผู้คน’ แต่ไม่ได้อยู่ ‘กับคน’ ชนิดที่ introvert หลายคนเข้าใจเป็นอย่างดี การโต้เถียงกับตัวเองและขยำกระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่าเพราะถ้อยคำที่ไม่ได้ดั่งใจ

    หนังทำให้เรามอง Manchester ผ่านสายตาของมาร์ค กิลผู้กำกับ มองแสงไฟสีส้มจากโซเดียม (sodium streetlights) กลางสายฝน สายน้ำที่แปรเปลี่ยนพร้อมชีวิตของสตีเว่น และรับฟังเพลงย้อนยุคสะท้อนความรู้สึกของเขา

    เสียงของมอริซซีย์และเพลง Give Him a Great Big Kiss ยังอ้อยอิ่งในความคิดของเรา

    เพราะความรู้สึกที่ท่วมท้นในหัวใจศิลปิน

    ภาพวาดโดยจิตรกรนับร้อยชีวิตทำให้หนังเป็น ‘ศิลปะ’ ในตัวอย่างไม่ต้องสงสัย หนังผูกเรื่องได้น่าติดตาม พาเราไปรู้จักกับหลากตัวละครในชีวิตของศิลปินชื่อก้องโลกที่เรามักรู้จักและตัดสินเขาจากผลงานหลังความตาย

    พร้อมๆ กับทุกเฟรมที่งดงามด้วยลายเส้นและสีสัน ตัวละครเอกเป็นไกด์พาเราเข้าสืบเสาะเบื้องหลังชีวิตแวนโก๊ะอย่างเต็มด้วยชีวิตชีวาและสะเทือนใจ

    Loving Vincent ตีแผ่ผ่านตัวละครและคำจากจดหมายของจิตรกรถึงประเด็นการต่อสู้ของศิลปินผู้โดดเดี่ยวเพราะสังคมยากจะเข้าใจความอัจฉริยะของเขา การพยายามหาพื้นที่ระหว่าง ‘ความฝัน’ และ ‘ความจริง’ และการจากไปที่ทิ้งไว้แต่ประกายฝันในดวงดาว

    เพราะชีวิตเป็นสิทธิ์ของฉัน

    หนังอินดี้ย้อนยุคฟอร์มเล็กที่ทำให้เรารู้จักกับ Florence Pugh นักแสดงหญิงมากฝีมือและการแสดงที่นิ่ง แต่ทรงพลังของเธอ

    Lady Macbeth ฉีกกฏของหญิงเรียบร้อยอยู่เหย้าเฝ้าเรือนในสมัยก่อนด้วยความเด็ดเดี่ยวของเด็กสาวผู้ทวงคืนชีวิตตัวเองกลับมาจากการถูกจับแต่งงานที่ไร้รัก ผ่านการทำตามใจตัวและซ้อนแผนอย่างชาญฉลาดและแยบยล

    หนังเนิบ ช้า และอาศัยการแสดงของนางเอกในการเดินเรื่อง หากธรรมชาติอันสวยงามของอังกฤษ โทนตลกร้ายตัดความเงียบงันของหนัง และการแสดงของ Florence Pugh ที่สะกดเราอยู่หมัด ทำให้ Lady Macbeth ร้ายฝังในใจคนดู

    เพราะการสร้างหนังคือฉันและเธอ

    ม้ามืดที่ทำให้เราเสียน้ำตากลางโรงทั้งที่กะดูเล่นๆ

    ยอมใจและพ่ายแพ้แก่หนังเกี่ยวกับ ‘คนสร้างหนัง’ ที่ ‘พูดถึงหนัง’ และ ‘เบื้องหลังเบื้องหน้า’ ของหนังเป็นทุนเดิม เราเทใจให้ Their Finest ไปหมดเมื่อโลน เชอร์ฟิค เติมเต็มหนังเกี่ยวกับการสร้างหนังปลุกใจประชาชนด้วยตัวละครหญิงที่แข็งแกร่ง กล้าพูดกล้าทำ โต้ตอบโลกของผู้ชายด้วยความคิดของเธอ 

    หนังค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระ - นางจากความคุ้นเคยฉันเพื่อน การถกเถียงระหว่างเขียนบท (เป็นการจีบกันสไตล์นักเขียนที่ทำเราฟินจนยิ้มแก้มปริ) สู่ความรักที่ต่างคนนับถือและเข้าใจอีกฝ่าย 

    หัวใจของ Their Finest คือ ‘ชีวิต’ ของ ‘คนสร้างหนัง’ ในการเขียนบทที่บอกใบ้ถึงการคลี่คลายของชีวิตตัวเอง การทำงานกับนักแสดงมาดมากแต่แอบใส่ใจคนรอบข้าง พระเอกที่เคยแสดงแข็งทื่อแต่กลายเป็นคนที่คนในกองรัก และการหักมุมของชีวิตที่สอนให้เราเข้มแข็งและกล้าจะก้าวต่อไป

    เพราะหลงรักในภาษาของคนช่างฝัน

    มีความสุขตั้งแต่ฉากแรกถึงฉากสุดท้าย

    บางครั้งเราก็ต้องการหลีกหนีความจริงเพียงชั่วขณะ The Greatest Showman คือการแสดงชั้นยอดและเพลงแห่งความสุข ซึ้ง เหงาเศร้า และฮึกเหิม ที่เปิดความรู้สึกและหัวใจคนดูให้โลดแล่นไปตามจังหวะการเต้นของตัวละคร

    เรารัก Rewrite the Stars เพราะ dynamic ความโต้แย้งระหว่าง ‘โลกจริง’ และ ‘โลกฝัน’ ของตัวละครคู่นี้ รักในคำร้องของพาเซกและพอลที่อมตะ เข้าถึงง่ายกับยุคสมัย (contemporary) ติดหู และตอบ - รับในเพลงกันเองอย่างกินใจและน่าจดจำ

    เนื้อเรื่อง การตัดต่อ เทคนิคการถ่ายทำ และตัวละครอาจบางเบา ตื้นเขิน แต่จะคิดอะไรมากกับหนังที่กระโดดเข้าไปอยู่ในใจเราทันทีที่ได้โอกาส เพราะความสุข รอยยิ้ม และหัวใจที่พองโตด้วยเสียงเพลงนั้นเป็นของจริงที่เรารู้สึกได้จริง.


    //


    cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ. 




    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3


    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 
    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ



    x

    ข้าวเอง.






Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in